สหรัฐฯ แม้จะยุ่ง ๆ อยู่กับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานในห้วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งอินโด-แปซิฟิก โดยยังประกาศยืนยันให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จะเดินหน้ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี (Free and open Indo-Pacific) รวมทั้งจะสนับสนุนบทบาทของอาเซียนให้เป็นแกนกลางของภูมิภาค (ASEAN Centrality) พร้อมกับเสนอตัวสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนที่เคารพการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายของทุกประเทศ
ท่าทีดังกล่าวมาจากรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริสของสหรัฐฯ ระหว่างการเยือนสิงคโปร์เมื่อ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯ ที่เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้สื่อมวลชนต่างประเทศไม่ได้ให้ความสนใจการเยือนเอเชียครั้งนี้มากเท่ากับการถอนทหารในอัฟกานิสถาน แต่รองประธานาธิบดีแฮร์ริสก็ยังทำตามหน้าที่ โดยแถลงที่ Garden by the Bay ว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถานทำให้สหรัฐฯ มั่นใจว่าความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วนนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรมีความมั่นคงในยุคสมัยใหม่ (New Era) ที่มีความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ตลอดเวลา สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับสิงคโปร์ เวียดนาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพราะสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งและมีผลประโยชน์อยู่ภูมิภาคนี้ ซึ่งแม้นางคามาลา แฮร์ริสไม่ได้พูดตรง ๆ แต่นั่นหมายถึงมูลค่าการค้าที่มากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเส้นทางเดินเรือในภูมิภาค
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับถ้อยแถลงของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเด็นแรก คือ วิสัยทัศน์ (vision) ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค ซึ่งยังคงผูกโยงอยู่กับค่านิยมและอุดมคติหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ สันติภาพ เสถียรภาพ เสรีภาพในการเดินเรือ การค้าที่ราบรื่น ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นในกฎระเบียบระหว่างประเทศ (rules-based order) ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนสิ่งที่สหรัฐฯ เพียรบอกให้ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกยึดมั่น เพื่อให้ทุกประเทศสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้อย่างราบรื่นต่อไป
ประเด็นที่ 2 คือ นางแฮร์ริสบอกว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในอินโด-แปซิฟิกจะตรงไปตรงมา (candor) เปิดกว้าง (open) ครอบคลุม (inclusiveness) และเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน (shared interest and mutual benefit) ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับพหุภาคีมากขึ้น ทั้งในกรอบอาเซียน ความร่วมมือ 4 ฝ่าย (QUAD ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย) และความร่วมมือแม่โขง-สหรัฐฯ (U.S.-Mekong Partnership) รวมทั้งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2566 ต่อจากไทยด้วย
รัฐบาลชุดนี้กำลังสื่อสารว่า สหรัฐฯ จะทุ่มเททรัพยากรทางการทูตให้กับกรอบความร่วมมือพหุภาคี แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ที่เน้นความสัมพันธ์ทวิภาคี นอกจากนี้ ท่าทีดังกล่าวอาจทำให้ประเทศที่มีความร่วมมือกับสหรัฐฯ รู้สึก “อุ่นใจ” ว่าจะมีโอกาสและช่องทางปฏิสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากขึ้น ตลอดจนทำให้อาเซียนและกรอบความร่วมมือในภูมิภาคได้รับความสนใจ
ประเด็นที่ 3 ไม่พ้นเรื่องของจีน เพราะสหรัฐฯ มีมุมมองว่าจีนเป็นคู่แข่ง เป็นผู้ท้าทาย และมีพฤติกรรมที่ขัดขวาง “อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี” และแม้ว่านางแฮร์ริสจะย้ำว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ขัดขวางใคร แต่ก็พูดว่า ปัจจุบันจีนแสดงบทบาทในทะเลจีนใต้อย่างแข็งกร้าวและขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น สหรัฐฯ จะอยู่ข้างพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อเผชิญกับความท้าทายดังกล่าว นี่อาจจะเป็นสัญญาณบอกว่า สหรัฐฯ จะไม่ละทิ้งปฏิบัติการทางทะเล (Freedom of Navigation Operations) ในพื้นที่ทะเลจีนใต้
ประเด็นที่ 4 สหรัฐฯ สนใจจะลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น เพราะมีการพูดการกระจายห่วงโซ่การผลิตให้หลากหลาย ทั้งสินค้าเทคโนโลยีและสาธารณสุข รวมทั้งสนใจจะร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วย และสุดท้าย..นางแฮร์ริสไม่ลืมที่จะย้ำการส่งเสริมค่านิยมสิทธิมนุษยชน โดยหยิบเอาสถานการณ์ในเมียนมามาเป็นความห่วงใยของสหรัฐฯ และเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันในประเด็นดังกล่าวต่อไป
ในแถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และจะสนใจพัฒนาความสัมพันธ์กับสิงคโปร์และเวียดนามมากเป็นพิเศษ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพจะเป็นแหล่งกระจายห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ดูจากการที่รองประธานาธิบดีแฮร์ริสย้ำประเด็นดังกล่าวในการเยือนครั้งนี้
นอกจากนี้ แม้สิงคโปร์ไม่ใช่ “พันธมิตร” ของสหรัฐฯ ตามสนธิสัญญาเหมือนไทย แต่ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นที่ประจำการหมุนเวียนเรือรบ USS Tulsa เครื่องบิน P-8 และเจ้าหน้าที่อเมริกันกว่า 1,000 นาย ทำให้สหรัฐฯ เห็นว่าสิงคโปร์มีความพร้อมที่จะร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลกับสหรัฐฯ ส่วนเวียดนามก็มีจุดแข็งที่พร้อมเพิ่มความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอิทธิลกับจีน ดังนั้น..การที่สิงคโปร์และเวียดนามพร้อมตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค จึงย่อมทำให้ทั้ง 2 ประเทศอยู่ในความสนใจของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่กำลังมองหา “ห่วงโซ่อุปทาน” ที่แข็งแกร่งและความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เป็นรูปธรรม