การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การดำรงชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปในวิถีใหม่ (new normal) เกิดการเปลี่ยนแปลงกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยกระจายรายได้และสร้างเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อเราต้องดำเนินชีวิตด้วยการรักษาระยะห่าง กักตัวอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดและการพบปะ ทำให้วิถีการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อหลายประเทศไม่สามารถปล่อยให้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเสียหายไปได้มากกว่านี้ จึงมีนโยบายกระตุ้น และเอื้อให้คนสามารถออกมาท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย เช่น การพกหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนก่อนเข้าสถานที่ท่องเที่ยว (vaccine passport) การลงทะเบียนเพื่อติดตามการเดินทาง การกำหนดขอบเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รวมไปถึงแนวคิดทางการท่องเที่ยวสีเขียว (green tourism) ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และแนวคิด building back better ที่ส่งเสริมการปรับตัวหลังจากผ่านสถาการณ์ที่เลวร้าย ถือเป็นการทบทวนสถานการณ์เพื่อวางแผนจัดการการท่องเที่ยวในอนาคตต่อไปให้มีความปลอดภัยและยั่งยืน
แม้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ทำให้แหล่งท่องเที่ยว ป่า ภูเขา ทะเล และเกาะ ไร้คนไปเยี่ยมเยียน แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับพบว่า สัตว์น้อยใหญ่ได้กลับมาปรากฏตัวจากที่ไม่เคยได้เห็นมานาน เช่น การพบฉลามหูดำที่เกาะห้อง จังหวัดกระบี่, พบกระรอกบินที่อุทยานภูซาง จังหวัดพะเยา และการพบฝูงพะยูนที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นต้น บ่งชี้ว่า ทั้งสัตว์และพืชกำลังเจริญเติบโต ภายหลังจากที่จำนวนของมนุษย์ที่เข้าไปพื้นที่ลดลง ธรรมชาติได้ช่วงระยะเวลาในการฟื้นตัวกลับคืนมาอีกครั้งได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์
เราเริ่มเห็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูได้ สัตว์และพืชสามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากมนุษย์ เหมือนแนวคิดปรัชญาสิ่งแวดล้อมเรื่อง “Land Ethic” หรือ “จริยธรรมที่ดิน” ของ Aldo Leopold ชาวอเมริกันผู้เป็นอาจารย์สาขาจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชีววิทยาการอนุรักษ์ที่ผลักดันการศึกษาธรรมชาติในรูปแบบดั้งเดิมและสนับสนุนการฟื้นฟูธรรมชาติที่ปราศจากการรุกล้ำจากมนุษย์ (Human civilization) แต่ปัจจุบัน เมื่อมนุษย์เรายังอยู่และเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ นักท่องเที่ยวเองก็คงต้องรักษาระยะห่างจากธรรมชาติ เปลี่ยนบทบาทจากผู้จัดการทรัพยากรไปเป็นผู้เฝ้ามองชื่นชมอย่างเข้าใจว่า ธรรมชาตินั้นมีข้อจำกัด และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ทั้งหมด เมื่อเกิดการคุกคามที่มากเกินไปสัตว์ป่าจะหนีหายไป ทรัพยากรจะเสื่อมสลายทรุดโทรมลงไป เสน่ห์หรือเอกลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวจะหายไปและไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อีก เป็นเพียงพื้นที่เสื่อมโทรมที่เคยได้รับความนิยมเพียงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องจัดการตัวเองให้เข้ากับทรัพยากรทางธรรมชาติเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
แนวทางการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างยั่งยืนสามารถทำได้หลายแนวทาง ทั้งการรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยว การกำหนดระยะเวลาเปิดปิดการเข้าชมเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู รวมถึงการคำนวณหาความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติให้พอเหมาะกับจำนวนนักท่องเที่ยว
ที่ผ่านมา การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นมาตรการที่ใช้ในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เพื่อแก้ไขภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism) ซึ่งส่วนมากมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ดีให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น ป้องกันความแออัด ลดปัญหาการจราจร เพิ่มความปลอดภัยทางทรัพย์สิน รักษาความสงบของการท่องเที่ยว แต่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน …เราจำเป็นต้องนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาปรับใช้ เพราะนิยามของเศรษฐศาตร์ คือ “การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด” แนวคิดนี้จึงสามารถนำมาใช้ในการประเมินขีดความสามารถในการรับนักท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักทองเที่ยวได้ พร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการหาความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยว ร่วมกับทรัพยากรในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งรวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย หมายถึง การท่องเที่ยวที่ไม่รบกวนสัตว์ป่าและระบบนิเวศ ไม่ก่อให้เกิดขยะหรือมลพิษ และเอื้อให้ธรรมชาติยังคงอยู่ในภาวะที่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้
ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism) ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติเพียงเท่านั้น เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวมีเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการท่องเที่ยวในเมือง การท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อเกิดแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจ ก็จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่ เริ่มมีผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยว เกิดโรงแรมขนาดใหญ่ท่ามกลางชุมชนเก่า รถบริการนักท่องเที่ยวที่วิ่งถี่ขึ้น สถานบันเทิงที่ให้บริการในเวลากลางคืน ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือคนที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ความวุ่นวายแออัดเหล่านี้ทำให้สูญเสียบรรยากาศของชุมชนหรือสถานที่ไป เพื่อแลกกับรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยว ดังนั้น การบริหารจัดการการท่องเที่ยวนอกจากจะต้องคำนึงถึงความสามารถของพื้นที่ที่รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวกับการฟื้นฟูทางธรรมชาติแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ประสบการณ์การรับรู้ที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นที่อาจจะต้องแลกกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
เมื่อยกเลิกการล็อคดาวน์หรือการกักตัวลงแล้ว ผู้คนย่อมต้องการที่จะออกท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่เราไม่ควรลืมบทเรียนครั้งนี้ ที่ทำให้ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและพฤติกรรมของมนุษย์แล้วว่า ธรรมชาติมีความสวยงามเพียงใดเมื่อมนุษย์เข้าถึงน้อยลง เราคงต้องปรับตัวสำหรับการท่องเที่ยวแบบใหม่ เมื่อการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวถูกจำกัดเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมหรือเอกลักษณ์ของสถานที่ไว้อย่างยั่งยืน ให้นักท่องเที่ยวรุ่นหลังยังคงได้ชื่นชมไม่สูญสลายไปเสียก่อน เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเจ้าของผู้ใช้ทรัพยากร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์รักษาระบบนิเวศ
วิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอาจทำให้ไม่สามารถสนองต่อความต้องการต่อการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด บริการและที่พักต่างๆ อาจปรับราคาสูงขึ้น แต่นั่นก็เพื่อรักษาสมดุลกับธรรมชาติ แบ่งปันทรัพยากรร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สร้างความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เป็นวิถีชีวิตใหม่เพื่อการดำรงอยู่ของทุกสิ่งอย่างยั่งยืน