ในกันยายน 2564 สหประชาชาติ (United Nations-UN) จะจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ในหัวข้อ Food Systems Summit ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เป้าหมายเพื่อผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหารให้เป็นวาระสำคัญของมนุษยชาติ รวมทั้งเพื่อให้ทั่วโลกให้ความสนใจการเปลี่ยนระบบอาหาร ซึ่งหมายถึงการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ทั้งการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป การจำหน่าย การตลาด การบริโภคและการจำกัดของเสียให้ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของ UN ในปี 2573
UN ผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกมาโดยตลอด เพราะการจัดการระบบอาหารที่ดีจะทำให้โลกมีความมั่นคงทางอาหาร ลดขยะจากการผลิตอาหาร และซึ่งนอกจากจะพยายามพูดคุยกับนานาชาติในเรื่องนี้แล้ว UN ยังเชื่อมโยงประเด็น Food Systems กับการพัฒนาเมือง รวมถึงเอาวาระดังกล่าวไปเป็นหัวข้อในการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ของ UN ด้วย เช่น เมื่อ 12 สิงหาคม 2564 ที่เป็นวันเยาวชนสากล (International Youth Day-IYD) สหประขาชาติก็เอาหัวข้อ Food Systems เนี่ยแหละเป็นประเด็นหารือและสนับสนุนให้เยาวชนทั่วโลกเป็นแรงขับเคลื่อนประเด็นนี้ โดยกำหนดธีมหลักของการประชุมเนื่องในวันเยาวชนสากลของปี 2564 เป็นเรื่อง “Transforming Food Systems: Youth Innovation for Human and Planetary Health” นอกจากนี้ สหประชาชาติทำให้ “ทุกคน” สามารถมีส่วนร่วมในเรื่องการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนได้ ด้วยการทำโครงการ #FoodSystemsHero ให้ผู้ที่สนใจความมั่นคงทางอาหารได้แบ่งปันข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านโครงการออนไลน์
เรื่องระบบอาหาร หรือ Food Systems เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace มาอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ระบบอาหารของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังสร้างมลพิษให้กับโลก เพราะทุกอย่างกลายเป็นอุตสาหกรรม จึงมีการรณรงค์ทั้งการลดบริโภคเนื้อสัตว์ และสนับสนุนวิถีเกษตรกรรมที่ยั่งยืน คือ การลดสารเคมี ส่วนกลุ่มอื่น ๆ เช่น BIOTHAI สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ และการรับประทานอาหารอย่างเคารพธรรมชาติ หมายถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เน้นความสะอาดและเป็นธรรม
สำหรับวาระการประชุมระดับโลกในเวทีสหประชาชาติปีนี้ UN น่าจะยกเรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food Systems: SFS) ที่ให้ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการแก่ทุกคนในมิติด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไปเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบอาหารที่ดี สำหรับเป้าหมายของการปรับปรุงระบบอาหารของโลก มีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ (1) กำหนดแผนปฏิบัติการและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบอาหารเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนมีส่วนร่วม (2) ยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร เพื่อมนุษย์และโลก (3) เสนอหลักการให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตาม และ (4) สร้างกลไกติดตามความคืบหน้าในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลก
กิจกรรมอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและอาหาร กำลังจะได้รับการผลักดันเป็นวาระระดับโลก และนี่อาจเป็นโอกาสให้ไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญและเป็นประเทศส่งออกอาหารของโลก ได้เสนอแนวทางให้นานาชาติเห็นว่าไทยมีความพยายามสร้างระบบอาหารให้มั่นคง ด้วยการส่งเสริมการบริโภคอาหารในท้องถิ่น การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลาย พัฒนาอาหารในอนาคต (future food) เร่งแก้ไขปัญหาโภชนาการ รวมทั้งเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางสร้างระบบอาหารของประเทศ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand-GCNT) จัดเสวนาออนไลน์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เรื่อง “บทบาทภาคเอกชนไทยในการส่งเสริมการพัฒนาระบบอาหารที่ยั่งยืน” ภายใต้กรอบการประชุมสุดยอดด้านระบบอาหารของสหประชาชาติ (UN Food Systems Summit 2564)