ผลสำรวจความเห็นของบริษัทและมนุษย์วัยทำงานในประเทศเอเชียตะวันออกเมื่อห้วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 บ่งชี้ว่า ทิศทางตลาดแรงงานกำลังเผชิญความผันผวน !! ไม่ใช่เพราะการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานจนต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้มีร่องรอยสะดุดเป็นระยะ ๆ หรือเพราะโลกกำลังจะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน …แต่เป็นเพราะมนุษย์เราเนี่ยแหละที่ไม่อยากทำงานแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อ 29 สิงหาคม 2564 ว่า คนรุ่น Gen Z (อายุระหว่าง 18-24 ปี) และ Millennials (อายุระหว่าง 25-30 ปี) ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกกำลังสิ้นหวัง (พฤติกรรมนี้เรียกว่า Lying flat ในภาษาอังกฤษ หรือ 躺平 (tang ping) ในภาษาจีน) พวกเขากำลังท้อแท้เพราะปัญหาจากนานามิติที่ถาโถมและขัดขวางชีวิตวัยเริ่มต้นทำงานอัน (น่าจะ) สดใสหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย กลุ่ม Gen Z และ Millennials เผชิญประสบการณ์ ณ จุดเริ่มต้นของการทำงานในทำนองที่ว่า “อะไร ๆ ก็ไม่เป็นดั่งใจ” จนทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงาน หรือกระทั่งจะทะเยอทะยานเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่อยู่ตรงหน้ากำลังบอกพวกเขาว่า…ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ต้องพยายามไปอีกเรื่อย ๆ เพราะจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานี้ส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่น Gen Z และ Millennials ในจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเผชิญการแข่งขันสูงปรี๊ดในตอนเรียนในมหาวิทยาลัยและการสมัครงาน และแม้พวกเขาจะเรียนจบมาอย่างดี มีคุณสมบัติที่ดีพร้อมเป็นพนักงานหน้าใหม่ไฟแรง แต่การที่ต้องทำงานแบบโมเดล “996” หรือ 9 am จรด 9 pm ตลอด 6 วันเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยได้รับค่าตอบแทนแบบ “เด็กใหม่” ขณะที่ราคาข้าวของเครื่องใช้ ค่าเช่าคอนโด รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ก็ทะยานสูงขึ้น คนรุ่น Gen Z และ Millennials เริ่มเห็นว่า ความฝันที่จะมีความก้าวหน้าหรือบ้านหลังแรกจากน้ำพักน้ำแรงห่างไกลมากกว่าที่คิด และซ้ำยังเจอ COVID-19 ที่ทำให้พวกเขาไม่มีประสบการณ์เดินทางไปดูงานในต่างประเทศ บางคนตกงาน บางคนทำงานซ้ำเดิมโดยไร้จุดหมายจนเกิดภาวะ “หมดไฟ”
ในญี่ปุ่นเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “satori sedai” หรือ “resignation generation” ที่เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอการเติบโต จนคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นว่าพวกเขามีโอกาสตรงไหน
ในการสำรวจระดับโลก คนรุ่น Gen Z และ Millennials ส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการทำงานในปัจจุบัน และมีแผนจะเปลี่ยนงานในปีหน้า สาเหตุที่ทำให้ไม่พอใจกับงาน ได้แก่ การทำหน้าที่ซ้ำ ๆ ที่ไม่ได้รับความสำคัญ การไม่สามารถสร้าง work life balance ได้ การไม่ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการทำงาน และการพบว่าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อทำให้งานมันง่ายขึ้น (Gen Z และ Millennials คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และมองว่าเป็นเครื่องทุ่นแรง ทุ่นเวลา มากกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก)
หลาย ๆ บริษัท รวมทั้งฝ่าย Human Resources ของหลายหน่วยงานก็รับทราบปัญหาดังกล่าว และพยายามแก้ไขด้วยการเพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการให้แรงงานรุ่น Gen Z และ Millennials ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปหลังยุค COVID-19
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจพบว่า เงินเดือนสูงก็อาจไม่สามารถรั้งมนุษย์กลุ่มนี้ไว้ให้นั่งทำงานให้นายจ้างเดิม หรือการทำงานรูปแบบเดิม ๆ ได้ จากนี้ไป ตารางงานที่ยืดหยุ่น การทำงานแบบนอกกรอบ (out-of-the-box work style) การเปลี่ยนงานบ่อย ๆ การทำงานนอกสถานที่ ประสบการณ์ใหม่ ๆ การปรับใช้เทคโนโลยีกับการทำงานเพื่อให้มันง่ายขึ้น (digital-first mindset) รวมทั้งการทำงานที่ไม่กดดันมากจนเกินไป และให้ความสำคัญกับสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งเรื่องคุณค่าภายใน Passion และงานอดิเรก มากกว่าอะไรที่เป็นรูปธรรม หรือ materialistic อาจเป็นสิ่งที่ Gen Z และ Millennials ต้องการ และอาจดึงดูดให้ Gen Z และ Millennials ขับเคลื่อนอย่างมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้
ภาวะสิ้นหวังนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน หรือความท้าทายในการกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ทะเยอทะยานเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อความมุ่งหมายในการแต่งงานหรือมีบุตรของคนรุ่นนี้ด้วย ซึ่งส่อแววซ้ำเติมปัญหาสังคมสูงอายุในเอเชียตะวันออก
แม้การสำรวจดังกล่าวจะบอกทิศทางพฤติกรรม Gen Z และ Millennials ในจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ที่เคยมีภาพลักษณ์ “ขยันขันแข็ง” กลายเป็นผู้มีความสามารถสูง แต่ไม่ทะเยอทะยานทางด้านวัตถุ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบางส่วนให้ความเห็นว่า ภาวะสิ้นหวังนี้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อีกในอนาคต เพราะโอกาสใหม่ ๆ อาจมาจากห้วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลายลงแล้วก็เป็นได้
The Great Resignation ในหลาย ๆ ประเทศชวนให้นึกถึงคนรุ่น Gen Z และ Millennials ในไทย ที่จริงแล้วก็เผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ต่างกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่ามีการทำสำรวจพฤติกรรม ความคิดเห็น และความต้องการอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ ภาคส่วนต่าง ๆ เตรียมพร้อมอย่างไร…เพราะการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ในการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนรุ่นนี้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป