สำนักข่าว Press TV รายงานเมื่อ 6 ก.ย.64 อ้างพลจัตวา Ahmad Abdollahi รองผู้อำนวยการด้านสุขภาพ การศึกษาด้านการแพทย์ และการป้องกันทางชีวภาพ ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps-IRGC) ของอิหร่านเปิดเผยเมื่อวันเดียวกันว่า อิหร่านเริ่มการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 2 สำหรับวัคซีน Noora ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) ที่มหาวิทยาลัย Baqiyatallah ซึ่งเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอิหร่าน คิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยวัคซีน Noora เป็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิดที่ 5 ที่หน่วยงานรัฐและเอกชนในอิหร่านพัฒนาขึ้นเองในประเทศ ใช้เวลาในการพัฒนานาน 16 เดือน และเริ่มการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 เมื่อ มิ.ย.64 ส่วนวัคซีนป้องกัน COVID-19 อีก 4 ชนิด ที่อิหร่านพัฒนาขึ้นเอง ได้แก่ 1) วัคซีน Barekat (COVIran Barekat) ชนิดเชื้อตาย (inactivated) ซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน อนุมัติการใช้วัคซีน Barekat เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศ เมื่อ มิ.ย.64 และเริ่มนำไปฉีดให้ประชาชนแล้ว แม้ว่าการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในมนุษย์ยังไม่เสร็จสิ้น 2) วัคซีน Razi COV-Pars ชนิด Protein subunit vaccine ที่ Razi Vaccine and Serum Research Institute (RVSRI) รัฐวิสาหกิจด้านเภสัชกรรมของอิหร่านพัฒนาขึ้น เริ่มการทดลองระยะที่ 3 ในมนุษย์แล้ว เมื่อ 24 ส.ค.64 3) วัคซีน Fakhravac ชนิดเชื้อตาย (inactivated) ที่องค์กรนวัตกรรมและการวิจัยการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมอิหร่าน ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยด้านการแพทย์และบริษัทผู้ผลิตยา อยู่ในขั้นตอนเริ่มการทดลองระยะที่ 2 ในมนุษย์ และ 4) วัคซีน Osvid-19 ที่บริษัท Osvah Pharmaceutical ผู้ผลิตยาเอกชนในอิหร่านพัฒนาขึ้น คาดว่าการทดลองระยะแรกในมนุษย์จะเสร็จสิ้นใน ก.ย.64