นับตั้งแต่ก่อนตอลีบันยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บทบาทของจีนเป็นที่จับตามองมาโดยตลอดจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะจีนถือเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามสร้างสมดุลทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเดิมของอัฟกานิสถาน และกลุ่มตอลีบันมาโดยตลอด
น่าสนใจว่าจีนเป็นไม่กี่ประเทศที่ไม่มีการสั่งอพยพนักการทูตซึ่งประจำอยู่ที่กรุงคาบูล แม้ว่ากรุงคาบูลจะโดนปิดล้อม หรือภายหลังถูกเปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือของตอลีบันแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนจีนจะกลายเป็นประเทศแรก ๆ ที่กลุ่มตอลีบันเดินเข้าหาเพื่อขอความช่วยเหลือด้วย
เห็นได้จากการเข้าพบทูตจีนประจำอัฟกานิสถานหลายครั้งของบรรดาผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ของตอลีบัน ในหลายโอกาส และหลายวาระ ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของโฆษกรัฐบาลรักษาการที่เชิญชวนให้จีนเข้ามาลงทุนในการพัฒนาอัฟกานิสถาน
ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับบทบาท สถานะ และความสัมพันธ์ของจีนต่ออัฟกานิสถานภายหลังการขึ้นมามีอำนาจของตอลีบัน โดยเฉพาะปัจจัยความสำคัญของอัฟกานิสถานที่มีต่อจีน ตลอดจนท่าทีของจีนในอนาคตต่อตอลีบันและอัฟกานิสถาน
หากพิจารณาในแง่ความสำคัญของอัฟกานิสถานที่มีต่อจีนอาจมองได้ 3 มิติ สำคัญคือ
- มิติทางด้านความมั่นคง: มิตินี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของจีนเลยก็ว่าได้ เห็นได้จากบทวิเคราะห์ของนักวิชาการจีนที่เชี่ยวชาญด้านอัฟกานิสถานหรือประเทศในเอเชียใต้ ทั้งในภาษาจีนและอังกฤษต่างลงความเห็นตรงกันว่าจีนจำเป็นต้องพูดคุยและสานสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานต่อแม้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ในอำนาจของกลุ่มตอลีบัน
เพราะต้องไม่ลืมว่าอัฟกานิสถานและจีนนั้นมีพรมแดนร่วมกัน และบริเวณดังกล่าวก็ติดกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนด้วย ซึ่งกำลังมีปัญหาการแบ่งแย่งดินแดน และการก่อการร้ายซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อจีน ฉะนั้นจีนจึงย้ำกับทางอัฟกานิสถานหลายครั้งไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ตามคือการร่วมกันกำจัดกลุ่มเคลื่อนไหวเตอร์กิสตะวันออก และจีนก็ใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการช่วยเหลือตอลีบันเช่นกัน
- มิติทางด้านเศรษฐกิจ: มิตินี้ถือเป็นอีกหนึ่งมุมที่ยากจะตัดออกไปจากสมการทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอัฟกานิสถาน เพราะประเทศแห่งนี้นั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรและแร่ธาตุหายากจำนวนมหาศาลซึ่งจะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนในอนาคต ยังไม่นับรวมว่าก่อนหน้านี้จีนเองได้เข้ามาประมูลสัมปทานน้ำมันและเหมืองทองแดงอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งส่งผลให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้
ฉะนั้นอัฟกานิสถานจึงถือเป็นพื้นที่การลงทุนที่จีนเองก็มองว่าจะสามารถทำกำไรได้อย่างมากในมุมที่ทรัพยากรจำนวนมากยังคงอุดมสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ตอลีบันมีอำนาจแข็งแกร่งเพียงพอก็อาจมีส่วนช่วยในการยืนยันความปลอดภัยให้บริษัทและแรงงานชาวจีนได้มากขึ้นด้วย
และ 3. มิติภูมิรัฐศาสตร์: หากเราพิจารณาประเทศอัฟกานิสถานบนแผนที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศนี้เป็นจุดเชื่อมสำคัญของภูมิภาคเอเชีย และยูเรเซีย ทำให้ดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญต่อเส้นทางการค้าของจีนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์
ฉะนั้นการที่จีนสามารถขยายอิทธิพลของตัวเองเข้าไปในอัฟกานิสถานได้ หมายถึงจีนจะสามารถเชื่อมโยงตัวเองกับโลกเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มแถบและเส้นทางของจีนอย่างมาก
เมื่อพิจารณามิติความสำคัญต่าง ๆ ข้างต้นที่อัฟกานิสถานมีต่อจีนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่จีนยังอยู่เพื่อพูดคุยเจรจากับตอลีบันต่อ แม้ว่าจีนจะมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องความสุดโต่งทางศาสนาอยู่บ้าง แต่จีนเองก็ยังต้องการให้ตอลีบันพิสูจน์ให้เห็นว่าอุดมการณ์ดังกล่าวจะไม่ขยายข้ามไปยังฝั่งจีน
ดังนั้นท่าทีของจีนต่ออัฟกานิสถานภายใต้การนำของตอลีบันจึงค่อนข้างประนีประนอม และวางอยู่บนเงื่อนไขสำคัญว่าตอลีบันต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายใช้แผ่นดินอัฟกานิสถานเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีจีนในอนาคต ซึ่งเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความจริงใจของตอลีบันที่มีต่อจีนด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน
นายศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
นักศึกษาปริญญาเอกที่คณะการจัดการ และนักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแถบและเส้นทาง มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน สนใจประเด็นการต่างประเทศ การเมือง และการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียใต้และจีน