ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย โดยเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก จึงมีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 15 ของมูลค่ารวมในตลาดหลักทรัพย์ไทย อย่างไรก็ดี ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลงตั้งแต่ก่อนเ กิดวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากการ disruption ของเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ยังเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น และรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ระหว่างกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเดิมด้วยกันเอง กับกลุ่มผู้เล่นใหม่ (new player) ได้แก่ กลุ่ม non-bank หรือ ผู้ให้บริการทางการเงินข้ามอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนผู้เล่นที่ไม่มีตัวตน (no player) ได้แก่ ระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralised Finance-DeFi) และไม่มีตัวกลาง ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
การแข่งขันที่จะเข้มข้นขึ้นข้างต้น รวมถึงการเร่งพัฒนาธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อของผู้เล่นรายใหม่ทั้ง non-bank และ DeFi กำลังสร้างความท้าทายมากขึ้นให้กับผู้กำหนดนโยบายของไทยในการเข้ามากำกับดูแลและสร้างกติกาให้เป็นธรรมต่อการแข่งขันของทุกฝ่าย ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบดิจิทัลและธุรกิจแพลตฟอร์มในอุตสาหกรรมนี้ เสี่ยงจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดของธุรกิจรายใหญ่ในภาคการธนาคารเพียงไม่กี่ราย เนื่องจาก network effect ที่หากมีสมาชิกใช้บริการในแพลตฟอร์มมาก ก็จะมีอำนาจทางการตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกัน การแข่งขันดังกล่าวกำลังสร้างผลดีให้กับผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างไร้ขอบเขต สะดวกสบาย ต้นทุนต่ำมาก และรวดเร็ว จากการใช้ข้อมูลด้านดิจิทัลมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจธนาคารไทยในครั้งนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม คงจะหนีไม่พ้นกรณีของธนาคารกสิกรไทย ที่ได้จับมือกับแอปพลิเคชัน Line จดทะเบียนดำเนินธุรกิจร่วมกันภายใต้ผลิตภัณฑ์ “Line BK” หรือ “กสิกรไลน์” ที่ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งสินเชื่อ ประกัน และการลงทุน ง่ายเหมือนการส่งไลน์หาเพื่อน ขณะที่ความกล้าหาญชาญชัยของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่พยายามจะ “disrupt” ตัวเอง ยังเป็นที่ฮือฮาในวงการธนาคารไทย โดย SCB กล้าที่จะ “delist” ตัวเองออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยาก เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ให้เป็น “SCBX” ในการเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งยกระดับสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคน และเชื่อมต่อ ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลไม่เพียงพอจะทำให้ธุรกิจธนาคารไทยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนแม้จะปรับตัวได้รวดเร็วมากเพียงใดก็ตาม เพราะเมื่อเศรษฐกิจไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดรุนแรงของ COVID-19 ก็ส่งผลกระทบให้การเติบโตของธุรกิจธนาคารไทยชะลอลง เพราะธุรกิจรายย่อยและ SMEs ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญ และมีสัดส่วนการจ้างงานกว่าร้อยละ 80 ของแรงงานทั้งประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น หากธุรกิจธนาคารไทยต้องการกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกครั้ง ก็จำเป็นจะต้องดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการกระจายการเติบโตและความมั่งคั่งของกลุ่มลูกค้า ซึ่งมีทั้งธุรกิจทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็กทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นส่งเสริมให้รายเล็กและ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและแหล่งรายได้มากขึ้น พร้อมกับช่วยสร้างวินัยทางการออมระยะยาว เพื่อให้ SMEs และรายย่อย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญ มีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้น
หากธุรกิจธนาคารและ non-bank ของไทย รวมถึงผู้ประกอบการใน De-Fi ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในไทย เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจของตนเองให้ตอบโจทย์กับธุรกรรมทางการเงินยุคดิจิทัลให้มีความสะดวกสบายและ real time ได้มากที่สุด พร้อมทั้งส่งเสริมความยั่งยืนของกลุ่มลูกค้าหรือผู้กู้ ธุรกิจนี้ก็จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งจะกลายเป็นกลุ่ม “เศรษฐกิจใหม่” ที่ยังไม่ตายหายไปจากเศรษฐกิจโลกในยุคการ disruption ที่เข้มข้นและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ไทยมีศักยภาพสูงในการขยายธุรกิจดังกล่าวไปสู่อาเซียนและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถแสวงประโยชน์จากจุดแข็งด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยมีอยู่แล้วและยังโดดเด่นเป็นผู้นำในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี เพื่อเจาะตลาดในภูมิภาคโดยไม่ต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศปลายทางในการเปิดสาขาย่อยให้มากที่สุดเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเหมือนกับในอดีต