หลังจากที่ภูเขาไฟบนเกาะลาปัลมา ประเทศสเปนได้ระเบิดและปล่อยลาวาไหลออกมาปริมาณมากเป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์และยังไร้วี่แววที่จะดับลงอย่างรวดเร็ว ก็เริ่มมีการส่งสัญญาณของภูเขาไฟอีก 2 แห่ง ได้แก่ ภูเขาไฟคิลาเว เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และภูเขาไฟอะโซะ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแรงสั่นสะเทือนต่างๆ ที่เป็นสัญญาณว่าจะเกิดการระเบิดของภูเขาไฟขึ้นอีก โดยเฉพาะในพื้นที่วงแหวนแห่งไฟ (Ring of fire หรือแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟและบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลกในมหาสมทุรแปซิฟิก) ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่หวาดหวั่นต่อความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติชนิดนี้ว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์เรามีความพร้อมมากเพียงใด เพื่อลดระดับความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ท่ามกลางช่วงเวลาที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญทั้งโรคระบาดและภัยพิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วม หลุมยุบ โคลนถล่ม ไฟป่า พายุ ที่วนเวียนและถาโถมใส่พื้นที่ต่างๆ ไม่หยุดยั้ง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนมากมาย ให้เราต้องกลับมาซ่อมแซมฟื้นฟูเพื่อแก้ไขให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่ความเสียหายที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิดนั้นร้ายแรง ไม่เฉพาะแรงระเบิดที่ทำลายภูมิประเทศ แต่ยังรวมถึงก๊าซพิษที่พวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศอันตรายต่อระบบหายใจ ฝุ่นควันที่ทำให้บริเวณนั้นอยู่ในความมืดมิด ขี้เถ้าที่หล่นทับอาคารบ้านเรือน และยังมีความร้อนจากลาวาที่ไหลเผาพลาญทุกอย่างที่ขวางทาง ไม่เพียงแต่ความร้อนจะเผาพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกไว้ แต่กำมะถันที่มาพร้อมกับลาวาสามารถกัดกร่อนเหล็กได้ด้วย
เรียกได้ว่า…ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภูเขาไฟระเบิดสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยรอบไปอย่างสิ้นเชิง แม้เมื่อเวลาผ่านไปจนการระเบิดสงบลงแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะรื้อฟื้นคืนความทรงจำเกี่ยวกับภาพบรรยากาศเดิมของพื้นที่ได้อีก ภูเขาอาจจะยุบลง แผ่นดินจะเกิดใหม่ ต้นไม้จะสูญหายไปหมด บ้านเรือนจะคงเหลือเพียงแค่ซากเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับภัยพิบัติอื่นๆ ภูเขาไฟระเบิดอาจไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและเกิดขึ้นได้หลายพื้นที่ และการระเบิดของภูเขาไฟไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์เราเพิ่งได้เผชิญเป็นครั้งแรก มีการระเบิดของภูเขาไฟตั้งแต่การกำเนิดโลก ผ่านประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย และจนถึงยุคปัจจุบันเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เรามี ก็ยังไม่สามารถทำให้เราปลอดภัยจากการปะทุของภูเขาไฟได้ ที่ผ่านมา…เราทำได้เพียงการบรรเทาความเสียหาย อพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่คนหลายร้อยคนยังคงต้องสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร เมื่อลาวาได้เผาต้นไม้ทั้งหมดไป ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพออกจากพื้นที่และใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีกว่าจะกลับเข้าพื้นที่ได้ ทำให้กลายเป็นการอพยพถาวร คนตกงานเป็นจำนวนมาก ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่หรืออ้างอิงกรรมสิทธิ์ได้อีก และที่เลวร้ายที่สุดคือการเสียชีวิตของผู้คนทั้งจากการระเบิดโดยตรงหรือการเสียชีวิตจากการเกิดสึนามิที่เป็นผลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ
ดังนั้น การรับมือกับภูเขาไฟระเบิดจึงมีความจำเป็นที่ต้องนำมาคิดกันใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ ด้วยลักษณะของความถี่ในการปะทุของภูเขาไฟส่วนใหญ่จะอยู่ในรอบ 10 ปี จนถึง หลายร้อยปี จึงทำให้คาดการณ์ได้ยาก ความสงบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานทำให้เกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึง และไม่พร้อมจะเตรียมตัวรับมือกับภูเขาไฟระเบิด ปัจจุบัน มีการลักลอบเข้าไปใช้งานพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรืออยู่ในแนวทางการไหลของลาวา เช่น การรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร หรือการปลูกบ้านที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากบ้านเหล่านี้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคได้เองและพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบควบคุมการเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงรวมถึงการให้ความช่วยเหลือเมื่อภูเขาไฟระเบิด ทำให้เกิดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจาก “ความเคยชิน” ต่อความสงบของพื้นที่ และการขาดความตระหนักถึงความอันตรายของภัยธรรมชาติ
มีมนุษย์หลายกลุ่มที่คิดจะใช้ประโยชน์จากการระเบิดของภูเขาไฟ เช่น การท่องเที่ยวเข้าชมภูเขาไฟที่ยังไม่สงบและแหล่งน้ำพุร้อนในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งการวิจัย โดยมีการทำการศึกษาธารลาวาที่ยังไม่แห้งเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติและธรณีวิทยา นอกจากนี้ ยังมีการเพาะปลูกบนธารลาวาที่แห้งแล้วเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุที่ถูกดันออกมาจากใต้เปลือกโลก รวมถึงการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์และไอซ์แลนด์ แม้จะอันตราย…แต่มนุษย์ยังคงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูเขาไฟ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีความอันตรายนี้
โลกเรามีภูเขาไฟประมาณ 1,500 แห่งทั่วโลก มีทั้งภูเขาไฟที่ตายแล้ว มีโอกาสระเบิดต่ำ หรือมีความเสี่ยงสูง และยังมีภูเขาไฟอีกมากที่ยังไม่ถูกสำรวจโดยเฉพาะภูเขาไฟใต้น้ำ ที่ยากต่อการพบเห็นและทำการสำรวจ การระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำสามารถก่อให้เกิดสึนามิ หรือพ่นควันพุ่งเหนือน้ำ หรือทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นพิษได้จากสิ่งที่ออกมาจากภูเขาไฟ และเมื่อเปลือกโลกยังเคลื่อนตัวเบียดและเสียดสีกัน แม้จะเป็นกระบวนการที่ใช้ช่วงเวลายาวนาน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์เรื่อยมา
เรายังไม่สามารถควบคุมหรือบรรเทาความรุนแรงจากการระเบิดของภูเขาไฟได้ และในทางกลับกัน ผลจากการกระทำของมนุษย์เรายังเอื้อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ภาวะโลกร้อนได้ทำให้หิมะหรือความเย็นบริเวณปากปล่องภูเขาไฟลดลง ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ภายในง่ายที่จะปะทุออกมา การก่อสร้าง ฝังเสาเข็มหรือโครงสร้างใต้ดินก็สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพชั้นดิน การเปลี่ยนแปลงตามวัฏจักรของธรรมชาติยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และกิจกรรมของมนุษย์ก็ยังดำเนินต่อไป หากสถานการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ขาดความสมดุลระหว่างกัน คงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติได้ และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ไม่มีครั้งไหนที่เราสามารถเอาชนะได้ เรายังคงทำได้เพียงเอาตัวรอดมาเพียงเท่านั้น!!
เรากำลังเผชิญกับความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ และเหตุการณ์การระเบิดของภูเขาไฟบนเกาะลาปัลมา ประเทศสเปน ได้ทำให้เราเห็นถึงความอันตรายจากภัยพิบัตินี้ ที่ทำให้คนสูญเสียที่อยู่ที่ทำกิน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ ยากที่จะกลับไปฟื้นฟูได้โดยเร็วเมื่อเทียบกับภัยพิบัติอื่นๆ สัญญาณเตือนจากการระเบิดของภูเขาไฟค่อยๆ บอกให้เราเตรียมตัวรับมือกับหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังมีหลายพื้นที่ทั่วโลกที่อยู่ในความเสี่ยง และการกระทำของมนุษย์ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การระเบิดเกิดถี่ขึ้น หากเรายังเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนเหล่านี้ต่อไป ไม่เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับภัยพิบัติ ความขาดแคลนทรัพยากรและการอพยพครั้งใหญ่ที่สืบเนื่องภายหลังจากการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ย่อมทำให้เกิดความสูญเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง แออัด และไม่เคยเผชิญเหตุการณ์มาก่อน…อย่างประเทศไทย
———————————————————————