มหาวิหารนอร์ททอดาม (ฝรั่งเศส) ปราสาทโอซาก้า (ญี่ปุ่น) พระราชวังเคลมลิน (รัสเซีย) และนครวัด (กัมพูชา) คือแลนด์มาร์คสำคัญที่เป็นตัวแทนภาพจำของแต่ละประเทศ สถานที่เหล่านี้ทำหน้าที่ในการสะท้อนเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของประเทศออกมาอย่างเด่นชัด ไม่ใช่เพียงแค่สถานที่สำคัญเชิงศาสนา แต่ลักษณะของอาคารบ้านเรือนในอดีตยังช่วยบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ได้อีกด้วย เช่น การสร้างบ้านดินในแถบทะเลทราย การสร้างบ้านด้วยอิฐในแถบยุโรปที่มีหน้าต่างเล็ก บ้านทรงกลมที่ทำจากน้ำแข็งของชาวเอสกิโม และบ้านยกใต้ถุนสูงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ประกอบกับความเชื่อและวิถีชีวิตได้หล่อหลอมให้อาคารบ้านเรือนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน จนเราสามารถใช้รูปลักษณ์ของอาคารมาใช้ในการบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะประจำพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
ในอดีตที่มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก มีความซับซ้อนทางสังคมน้อย สถาปัตยกรรมจึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อการ “เอาชีวิตรอด” ในภูมิประเทศและภูมิอากาศต่างๆ สำหรับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้นและฝนตก เราเลือกทำบ้านหลังคาทรงสูง เพื่อระบายน้ำได้ไว ตัวเรือนมีห้องเล็กน้อยเพราะใช้ชีวิตส่วนมากอยู่ภายนอกบ้านหรือบริเวณใต้ถุนบ้าน ต่างจากบ้านในแถบทะเลทรายที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลังคาที่มีความลาดเอียงสูงเนื่องจากฝนตกน้อย
ในอดีตมนุษย์เราดำรงชีพด้วยการทำเกษตรเป็นหลัก อาคารที่ก่อสร้างขึ้นจึงไม่ได้มีแค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ภูมิปัญญาในการก่อสร้างยุ้งฉาง คอกสัตว์ โรงนา ก็เป็นรูปทรงอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย มนุษย์มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้รอบตัวในการสร้างบ้าน อย่างที่จะเห็นได้จากบ้านในประเทศซิมบับเว ที่ใช้ดินในการสร้างบ้าน เนื่องจากไม้เป็นทรัพยากรที่หาได้ยากในพื้นที่แห้งแล้ง นอกจากนี้ พวกเขาก็ไม่ต้องกลัวว่าฝนจะละลายบ้านดินของเขา เนื่องจากรูปแบบหลังคาหญ้ากันฝนและสภาพแห้งแล้งไร้ฝนของพื้นที่ทำให้ชาวซิมบับเวไม่ต้องกังวลเรื่องนั้น ในขณะที่หมู่บ้านชิราวาโกะ ในประเทศญี่ปุ่นแม้จะต้องเผชิญกับฤดูกาลที่หลากหลายกว่า ทั้งฝนและหิมะที่ตกลงบนหลังคาฟางข้าวเช่นกัน แต่ได้ปรับทรงหลังคาให้มีความลาดชันสูงเพื่อไม่ให้หิมะเกาะหนาป้องกันการถล่มของหลังคา ทับตัวเรือนที่ทำด้วยไม้ วิธีการเปลี่ยนวัสดุหลังคานี้ได้กลายเป็นประเพณีท้องถิ่นของผู้คนที่นั่น เอกลักษณ์และวิถีชีวิตนี้ทำให้หมู่บ้านชิราวาโกะเป็นมรดกโลก และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากจนถึงทุกวันนี้
นอกจากบ้านเรือนแล้ว สถาปัตยกรรมที่ยังคงหลงเหลือและเล่าเรื่องราวของคนในอดีตอีกนั่นก็คือสถานที่สำคัญทางศาสนา ซึ่งเป็นอาคารที่ประกอบกันด้วยความเชื่อของมนุษย์เข้าไปอย่างเต็มเปี่ยม โบสถ์รูปแบบโกธิค (สมัยคริสตจักรยุคกลาง) ที่มีเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารนอร์ททอดาม เดอ ปารีส ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการพัฒนาระบบโครงสร้างแบบโค้งปลายแหลม (pointed arches) ที่สามารถรับน้ำหนักหลังคาเพิ่มความกว้างให้ห้องโถง ซึ่งทำให้อาคารมีความยิ่งใหญ่ ประกอบด้วยความสูงและยอดแหลมต่างๆ ด้วยเสาค้ำยัน (flying buttresses) ที่ช่วยเพิ่มความสูงของอาคารให้ดูศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ไปจนถึงการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างไม้กางเขนในการวางผังอาคาร การใช้ “แรงศรัทธาและความเชื่อ” ทางศาสนาในการผลักดันให้เกิดการคิดค้นระบบโครงสร้างและการใช้วัสดุตกแต่งอาคารอย่างหรูหรา จนทำให้ได้อาคารที่มีคุณค่ามาตลอดทุกยุคสมัย
ในปัจจุบันไม่ว่าเราเดินทางไปยังมหานครหรือเมืองหลวงที่มีความหนาแน่น สิ่งที่เราต้องพบอย่างแน่นอนคือ ตึกสูงระฟ้า ที่ประกอบด้วยกระจกอยู่กับโครงสร้างเหล็กและคอนกรีต ที่ประกอบซ้อนกันขึ้นไปสู่พื้นที่ว่างบนอากาศ จากชุมชนที่ใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรรคอนกรีตที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกันไปหมด เทคโนโลยีการก่อสร้างใน “ยุคอุตสาหกรรม” ที่ยิ่งทำซ้ำยิ่งถูกลง ทำให้รูปแบบบ้านไม่แตกต่างกัน เป็นบ้านก่ออิฐโปกปูนเหมือนกัน และยังแพร่กระจายสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก กลุ่มอาคารสำหรับเครือญาติที่ตั้งอยู่เป็นชุมชนใกล้พื้นที่เกษตร เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านบริเวณชานเมืองที่ห่างไกลจากแหล่งงานภายในเมือง ขณะเดียวกัน ความรู้และเทคนิคในการก่อสร้างก็พัฒนามากขึ้น จนสามารถสร้างตึกสูงซ้อนกันหลายชั้นได้ ทำให้เราเริ่มย้ายมาอยู่ในคอนโดมิเนียมกันมากมาย อาคารปิดทึบเหล่านี้มีระบบปรับอากาศทั่วทั้งอาคาร ทำให้เราสามารถเดินช็อปปิ้งตากแอร์เย็นๆ ได้ในเมืองกลางทะเลทรายเมืองดูไบ อ่านหนังสือในหอสมุดที่อบอุ่นในวันที่มีพายุหิมะ นอนในห้องพักชมบรรยากาศใต้ท้องทะเลที่สิงคโปร์ นั่นคือการพัฒนาของ “เทคโนโลยี” ที่ช่วยทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายขึ้น จนทำให้ความแตกต่างของภูมิอากาศมีผลต่อวิถีชีวิตของเราน้อยลง
นอกจากนี้ ด้วยความสามารถในการสื่อสารของมนุษย์ เราได้เผยแพร่เทคโนโลยี องค์ความรู้ ในการก่อสร้างออกไปทั่วโลก จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นอาคารที่มีความคล้ายคลึงกันได้ทุกมุมโลก ในเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตใกล้เคียงกันเป็นวัฒนธรรมสากล รูปแบบการแต่งกาย อาหาร หรือภาพลักษณ์เริ่มถูกหลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมของโลก (global culture) ที่กำลังจะก้าวต่อไป อาคารบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์จึงกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในชนบทเพียงเล็กน้อย แม้เอกลักษณ์ที่สะท้อนวัฒนธรรมเหล่านั้นยังคงอยู่ แต่บางส่วนก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “การอนุรักษ์และการท่องเที่ยว” โดยไม่ได้อยู่คู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์อีกต่อไป
สถาปัตยกรรมได้สะท้อนลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ วิถีชีวิต สถานะ ความเชื่อของมนุษย์มาในแต่ละยุคแต่ละสมัย และเรายังคงก้าวต่อไป เทคโนโลยีการก่อสร้างยังคงพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง แนวคิดการทำอาคารสีเขียวหรืออาคารที่สามารถผลิตพลังงานเองได้ขึ้นเพื่ออยู่กับโลกต่อไปอย่างยั่งยืน แต่ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้อาคารมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะวิถีชีวิตของมนุษย์นั้นเองที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนไปของการใช้งานอาคาร ในขณะที่เราสามารถทำงานที่บ้านได้ผ่านการสื่อสารออนไลน์ เราสามารถใช้เวลาในที่พักได้มากขึ้น แต่กิจกรรมที่เราทำกลับไม่ได้เกิดขึ้นที่บ้าน โลกที่มีปฎิสัมพันธ์กับเรากำลังย้ายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นโลกเสมือนที่ไร้ขอบเขต (ลองคิดถึงโปรเจค Metaverse หรือ “การใช้ชีวิตจริงในโลกเสมือน” ที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง facebook เพิ่งอธิบายไปเมื่อ 2-3 วันก่อน) โลกที่กฎเกณฑ์และข้อจำกัดไม่เหมือนเดิม จะทำให้อาคารถูกพัฒนาต่อไปเกินกว่าที่จะจินตนาการได้!!
—————————————————————-