เมื่อฝนตกลงมาปริมาณมาก มักจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในเมืองเนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป คลองระบายน้ำตื้นเขิน ท่อระบายน้ำอุดตันจากขยะ นอกจากจะท่วมขังแล้ว ยังเป็นน้ำที่เน่าเสียจากสิ่งสกปรกตามท้องถนน ส่งผลเสียต่อสุขภาวะของประชาชนในเมือง สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรกว่า 5.7 ล้านคน มีการสร้างเมืองที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เกิดการทับถมแหล่งน้ำเพื่อเปลี่ยนเป็นตึกสูง ทุ่งนาเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ป่าคอนกรีตค่อยๆ รุกล้ำไปเรื่อยๆ และเปลี่ยน “พื้นที่สีเขียว” ให้กลายเป็น “พื้นที่ดาดแข็ง” ไม่ว่าจะเป็น ถนนลาดยาง ลานคอนกรีต อาคารสูง จนไม่เหลือพื้นที่ซับน้ำ เมื่อฝนตกในเมือง น้ำจะไหลลงสู่ท่อเพื่อระบายน้ำ ท่อระบายน้ำนี้จะเปรียบเหมือนกับระบบรากไม้ในพื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่ป่า โดยระบบรากไม้ที่แทรกอยู่ในดินจะช่วยซับน้ำลงไปในดิน ทำให้ปริมาณน้ำผิวดินลดลง รวมทั้งช่วยอุ้มน้ำไว้ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี แต่เมื่อมีการก่อสร้างและเทคอนกรีตกั้นระหว่างฝนกับดิน ทำให้น้ำฝนไม่สามารถไหลลงดินสู่ระบบน้ำใต้ดินได้ น้ำก็จะไหลอยู่ที่ผิวดินไปลงคลองหรือลงท่อ หากท่อหรือคลองจุไม่ได้ก็จะเกิดการ “ท่วมขังรอระบาย” ดังนั้น พื้นที่เมืองจึงมีความสามารถในการซับน้ำฝนต่ำกว่าพื้นที่ในย่านชานเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่า พื้นที่ในเมืองจะท่วมมากกว่าชานเมือง เพราะความสามารถในการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันทำให้เราสามารถระบายน้ำท่วมภายในเมืองไปสู่พื้นที่สีเขียวบริเวณชานเมืองได้ อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำจากเมืองไปสู่ชานเมืองคงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการน้ำรอระบายนี้ โดยปกติ การบังคับใช้ผังเมืองมีการกำหนดผังสี เพื่อระบุขอบเขต (zone) ของแต่ละพื้นที่ ให้เหมาะสมกับกิจกรรมเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามความเหมาะสม และได้มีการกำหนด “อัตราส่วนพื้นที่โล่งต่อพื้นที่อาคารรวม” หรือ Open space…