ในยุคที่ผู้คนใช้เวลาส่วนใหญ่บนโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งการทำงาน การรับชมความบันเทิง การติดต่อสื่อสาร ทำให้การใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่วงเวลาการทำ “สงคราม” แย่งชิงจำนวนผู้ใช้งาน (user) ระหว่างแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการรับข้อมูลหรือแสดงโฆษณาให้กับผู้ใช้งาน แอปพลิเคชั่นใดมีผู้ใช้งานเยอะก็จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตได้มากขึ้น facebook, twitter, instragram, tiktok, youtube, shopee และ lazada แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ต้องแข่งขันกันเพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้เวลาและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้มากที่สุด และผู้ที่สามารถดึงข้อมูลจากผู้ใช้งานได้มากที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ชนะทางการตลาดไป
สภาพการณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างจากการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะเงินดิจิทัล ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนกว่า 700,000 บัญชี (account) โดยมีแนวคิดว่า เงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) จะเป็นสินทรัพย์ในยุคใหม่ที่สามารถใช้จ่ายได้ แม้จะยังมีความเสี่ยงสูงจากมูลค่าที่ผันผวน แต่แนวโน้มการเข้าสู่ตลาดเงินดิจิทัลและการเติบโตทางมูลค่ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาพร้อมกับ “การยอมรับ” มากขึ้นด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ยอมรับเงินดิจิทัลในการซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการและสินค้า เช่น เทสล่าร์ สตาร์บัค บางกอกแอร์เวย์ส เดอะมอลล์ บ้านและคอนโดในเครืออนันดา ไปจนถึงการเริ่มยอมรับในระดับประเทศ เมื่อเอลซัลวาดอร์ประกาศยอมรับบิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายและสามารถใช้ชำระหนี้ต่างๆ ได้ และได้ลงทุนซื้อบิทคอยน์เข้าคลังไปกว่า 400 เหรียญแล้ว ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายประเทศไม่ยอมรับบิทคอยน์ แต่ยังนำระบบของเงินดิจิทัลมาใช้แทนเงินสด เป็นสกุลเงินดิจิทัลประจำประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในการทำธุรกรรมด้านการเงิน
“บาทดิจิทัล หยวนดิจิทัล” เป็นชื่อสกุลเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนระบบการใช้เงินสด โดยมีความแตกต่างจากเงินดิจิทัลอื่น ๆ คือ การมีมูลค่าเงินของประเทศนั้น ๆ รองรับในอัตราส่วนที่เท่ากัน ไม่แตกต่างจากการชำระเงินผ่าน Mobile banking เป็นการสร้างความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้จ่าย ซึ่งความสำคัญและความหมายที่ซ่อนอยู่ของ สกุลเงินดิจิทัลประจำประเทศ (Central Bank Digital Currency – CBDC) คือ ขอบเขตการใช้งานที่อยู่ในระดับประเทศ สกุลเงินประเทศต่าง ๆ จะมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และยังบ่งบอกถึงมูลค่าและความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น ๆ แฝงอยู่ด้วย
แต่ในยุคที่สังคมออนไลน์ทำให้การแบ่งขอบเขตประเทศไม่สามารถแยกคนในโลกออกจากกันได้อีกต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การซื้อขาย และการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ จนเกิดการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีบางเหรียญให้สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนบนแอปพลิเคชั่นได้ สกุลเงินที่ผูกพันอยู่กับเชื้อชาติอาจสูญสิ้นความหมายไปโดยทันที จนไปถึงการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของแต่ละแอปพลิเคชั่น ทำให้เกิดการแบ่งแยกรูปแบบหรือกลุ่มคนแบบใหม่ หรือ การแบ่งขอบเขตกลุ่มคนตามกลุ่มผู้ใช้แอปพลิเคชั่นแทน ดังนั้น แอปพลิเคชั่นที่มีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมากก็เปรียบเสมือนประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้สกุลเงินดิจิทัล จนกลายเป็นเงินดิจิทัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือและมีมูลค่าสูงกว่าเหรียญดิจิทัลที่มีคนนิยมน้อยกว่า ก็เปรียบเสมือนประเทศด้อยอำนาจ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า
โลกของเงินดิจิทัลจำเป็นต้องมีความนิยมจากจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการใช้งาน ซึ่งการสร้างกลุ่มคนที่มีความต้องการใกล้เคียงกันนั้น… ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จ เพราะการครอบครองการเงินจะสร้างอำนาจให้กับเจ้าของแอปพลิเคชั่นไปโดยอัตโนมัติ ปัจจุบัน แม้กระทั้งแอปพลิเคชั่นยอดฮิตอย่าง facebook ที่มีผู้ใช้งานกว่า 1.9 พันล้านคน ตั้งเป้าที่จะทำเงินดิจิทัล Libra เพื่อใช้ในการใช้จ่ายภายในโลกของ facebook ตั้งแต่ปี 2562 ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาการสร้างเสถียรภาพเพื่ออ้างอิงกับสกุลเงินต่างๆ ทั่วโลก ก่อนนำเงินเข้าสู่ระบบออนไลน์ จึงทำให้การดำเนินการใช้เงินในระบบออนไลน์ทั่วโลกยังไม่สำเร็จ
ดังนั้น แนวโน้มสงครามการแย่งชิงทรัพยากร “ข้อมูลของมนุษย์” และ “จำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชั่น” จะดำเนินไปอย่างเข้มข้น จนอาจเกิดการล่าอาณานิคมใหม่ในรูปแบบการควบรวมแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้ขอบเขตที่แบ่งแยกกลุ่มคนเกิดการ สเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่อิงตามภูมิศาสตร์หรือการปกครอง และเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมใหม่ๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตต่อไป
————————————-