ปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรกรรม…อาจดูไกลตัวหากเราไม่ใช่เกษตรกรหรือมีอาชีพที่ต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ถ้าบอกว่า ปัญหาน้ำเค็มรุกอาจทำให้ปริมาณข้าว พืชผัก และผลไม้ขาดแคลน อีกทั้งส่งผลต่อการขยับให้ราคาในตลาดเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็อาจต้องเตือนให้ประชาชนประหยัดน้ำ เพราะน้ำประปากำลังจะกลายเป็นน้ำเค็มที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภคไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวก็เชื่อมโยงกับสภาวะโลกร้อน (Global warming) อย่างแยกไม่ได้ ก็อาจทำให้เราควรทำความเข้าใจปัญหาดังกล่าวมากขึ้นอีกสักนิด เพื่อเรียนรู้ที่จะแก้ไขและอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสมดุล
“น้ำเค็มรุก” คือปัญหาที่มาจากระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ส่งผลต่อแหล่งน้ำหรือแม่น้ำในหลาย ๆ เมือง และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำหลายรูปแบบ ทั้งภาคเกษตรกรรมและการใช้น้ำในรูปแบบอื่น ๆ เพราะโรงกรองน้ำและโรงผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเผชิญกับน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มที่ไม่สามารถนำมาใช้กรองให้กับประชาชนได้ เช่น กรณีน้ำเค็มรุกคืบไปถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำหลักให้กับเมือง ทำให้ต้องมีการพิจารณาย้ายสถานีไปที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแทน
“ปัญหาดินเค็ม” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดั้งเดิมในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลและบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลทั้งจากการไหลหนุนของน้ำทะเลในแหล่งน้ำผิวดิน และการซึมของน้ำเค็มใต้ดิน นอกจากนี้ พื้นที่ที่เคยอยู่ใต้ทะเลมาก่อน ก็เป็นอีกแหล่งที่ได้เผชิญปัญหาดินเค็ม เช่น นครนายก ระยอง จันทบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา และสกลนคร พื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญกับสภาพดังกล่าวมาเป็นเวลานาน แม้บางพื้นที่จะมีปริมาณน้ำฝนตกชุก 1,600 – 2,800 มิลลิเมตรต่อปีโดยเฉลี่ย จนมีศักยภาพสูงในการทำเกษตรกรรม แต่เมื่อน้ำเค็มหนุนสูงขึ้น พื้นที่นาและสวนผลไม้หลายแห่งที่ไม่สามารถผลิตพืชผลได้ จึงกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจให้เกษตรกร และท้ายที่สุดอาจต้องลงเอยด้วยการขายที่ดินทำกิน
จะเห็นได้ว่า ปัญหาดินเค็ม ส่งผลกระทบมากกว่าภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมเป็นเหมือน “แนวหน้า” ที่จะเผชิญความสูญเสียเป็นอันดับแรก ๆ หากไม่ปรับตัวในการทำเกษตรกรรม เพื่ออยู่ให้ได้กับปัญหาดินเค็ม ซึ่งบทความนี้ขอนำเสนอแนวทางที่จะส่งเสริมการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดินเค็มให้มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้เทคนิคพิเศษเหนือจินตนาการ ดังนี้
- ใช้น้ำจืดกดน้ำเค็ม หรือสร้างแหล่งน้ำผิวดิน ไม่ว่าจะเป็นหนอง คลอง ร่องน้ำ เพื่อกักน้ำฝนที่ตกลงมาปล่อยให้น้ำค่อยๆ ซึมลงไปในดิน เพื่อเป็นการ “เติมน้ำจืดลงดิน” และกดไม่ให้น้ำเค็มใต้ดินหนุนขึ้นมา โดยตามธรรมชาติ ถ้าหน้าดินโดนแสงแดดเรื่อย ๆ จะทำให้น้ำจืดในดินระเหยออกไป และทำให้น้ำเค็มใต้ดินขึ้นมาแทนที่ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องคอยเติมน้ำจืดลงดินอยู่เรื่อย ๆ เพื่อกดน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาในระดับดินที่ทำการเกษตร ซึ่งหากไม่มีแหล่งน้ำกักน้ำฝนไว้ น้ำฝนจะไหลไปยังพื้นที่อื่น
- ถมดิน ดินที่ได้จากการขุดแหล่งเก็บน้ำจากข้อ 1 สามารถนำมาใช้ถมเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างรากไม้กับระดับน้ำเค็มใต้ดิน เช่น หากระดับน้ำเค็มใต้ดินอยู่ที่ 1.5 เมตร ทำสวนผลไม้ที่ลำต้นสูง 2 – 3 เมตร รากไม้จะลึกที่ 2 เมตร หากถมดินมากกว่า 0.5 เมตร จะทำให้รากไม้พ้นจากระดับน้ำเค็มได้ ทั้งนี้การถมดินเพื่อทำการเกษตรควรคำนึงถึงการเก็บรักษาหน้าดินเดิมด้วย
- ใช้วัสดุห่มดิน เพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำจืดที่ซึมอยู่ในดิน โดยสามารถใช้เศษวัสดุที่เหลือจากการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นฟางหรือเศษใบไม้ นำมาคลุมดินไว้ เพื่อไม่ให้แสงแดดกระทบกับหน้าดินโดยตรง จืดน้ำที่ระเหยออกจากดินเพราะความร้อนก็จะน้อยลง เพราะจะกระทบกับเศษใบไม้บริเวณผิวดิน ควบแน่นและตกลงไปที่ผิวดินอีกครั้ง นอกจากนี้การคลุมดินยังถือเป็นการรีไซเคิลวัสดุทางการเกษตรและสร้างปุ๋ยหน้าดินตามธรรมชาติได้อีกด้วย
- ปลูกพืชที่เหมาะสม มีพืชหลายชนิดหรือต้นไม้หลายสายพันธุ์ที่สามารถปลูกในพื้นที่ดินเค็มได้ เช่น ขี้เหล็ก มะพร้าว หน่อไม้ฝรั่ง ละมุด มะขาม หรือหญ้าดิกซี่ที่สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ การปลูกพืชหลากหลายที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศตามธรรมชาติให้คงอยู่ เพราะถ้าหากเลือกวิธีการแก้ปัญหาดินเค็มด้วยการใช้สารเคมี อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และส่งผลต่อคุณภาพดินในระยะยาว
ทั้ง 4 วิธีการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการปรับตัวเบื้องต้น ที่เกษตรกรจะนำไปปรับใช้เพื่อยังคงทำการเกษตรในพื้นที่ดินเค็มได้ และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่ตนเอง ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ตามต้นทุนที่เหมาะสม ผนวกกับความต้องการผลผลิตของตลาด ในยุคที่สภาวะอากาศมีความแปรปรวน ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง การทำเกษตรที่เป็นอาชีพพื้นฐานในการอยู่รอดของมนุษย์จำเป็นที่จะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่พึ่งพาหรือใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต แต่รวมถึงการใช้องค์ความรู้ทุกด้านเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน
————————————————————————