ตั้งแต่ราคาทองคำตามตลาดโลก (รหัส XAUUSD) พุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาล (All-Time High) ที่ประมาณเกือบ $2,100 ต่อทรอยออนซ์ เมื่อช่วงกลางปี 2563 จากเหตุการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดในระลอกแรก จนนักลงทุนทั่วโลกพยายามหันกลับมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปิดประเทศ และความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chain) แต่ไม่สามารถยืนเหนือแนวต้านที่บริเวณ $2,050-$2,100 ได้ จึงเข้าสู่ระยะพักตัว (continuation pattern) แล้วขยับอยู่ในกรอบราคาระหว่าง $1,675 และ $1,950 เป็นเวลามากกว่า 1 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยยังไม่หลุดออกจากแนวรับสำคัญของกรอบสามเหลี่ยมพักตัว (ตามภาพที่ 1) ซึ่งจะเห็นได้ว่าทองคำมีการปฏิเสธราคาอย่างรุนแรงทุกครั้งที่ถูกเทขายจนราคาดิ่งลงไปบริเวณแนวรับของกรอบสามเหลี่ยม ทั้งบริเวณ $1,150 $1,300 $1,675 และ $1,745 เป็นสิ่งสะท้อนได้ดีว่าทองคำยังไม่หลุดออกจากตลาดขาขึ้น (bull trend) และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกในอนาคต หากสามารถทะลุแนวต้านกรอบสามเหลี่ยมออกไปได้
เมื่อช่วงมกราคม 2565 ที่ผ่านมาทองคำได้พยายามทะลุแนวต้านที่ $1,830 แล้วขึ้นไปแตะแนวต้านที่ $1,850 แต่ถูกแนวต้านตามกรอบสามเหลี่ยมปฏิเสธราคา ทำให้ดิ่งลงมาสัมผัสแนวรับด้านล่างที่บริเวณ $1,780-$1,790 โดยหากทองคำต้องการจะให้นักลงทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อไป ไม่ควรจะราคาหลุดลงมาต่ำกว่า $1,675 เนื่องจากเป็นแนวรับสำคัญของราคาทองคำตลอดช่วงพักตัวที่ผ่านมา หากหลุดลงไปต่ำกว่าแนวดังกล่าวนี้ มุมมองของตลาดอาจเปลี่ยนจากช่วงพักตัวเป็นจุดเริ่มต้นของขาลง (new low) แล้วทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายจนราคาดิ่งลงไปถึงบริเวณ $1,580 ได้ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น/ระดับเดือน (monthly expectation) นั้น ทองคำอาจจะยังคงเคลื่อนที่ไป-มา ระหว่างแนวรับที่ $1,745 และแนวต้านที่ $1,830 ต่อไป เพื่อสะสมแรงซื้อ แล้วพยายามทดสอบแนวต้านที่ $1,830 อีกครั้งในกุมภาพันธ์ โดยหากยังไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าว ราคาทองคำอาจร่วงลงไปแตะบริเวณ $1,745 ในช่วงปลายเดือนได้ ซึ่งจะถือเป็นการส่งสัญญาณที่แนวรับของกรอบสามเหลี่ยมรับราคาไว้ไม่ไหวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี บริเวณดังกล่าวนี้จึงเป็นจุดเฝ้าระวังที่นักลงทุนในตลาดควรประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าซื้อทองคำ เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งการทุบราคาเพื่อสร้างสถานการณ์ลวงให้เหมือนเป็นตลาดขาลง (Fake-out) ก่อนการสิ้นสุดระยะพักตัว และการทะลุในลักษณะของการเปลี่ยนจากตลาดขาขึ้นเป็นขาลงจริงๆ
เมื่อพิจารณาจากเครื่องมือวัดแรงซื้อ-แรงขาย (Relative Strength Index: RSI) จะเห็นว่าปัจจุบันกราฟกำลังอยู่ในระยะพักตัวตามกรอบสามเหลี่ยมเช่นเดียวกับกราฟราคาทองคำ โดยค่า RSI กำลังพยายามสร้างฐานที่บริเวณ 50-55 แต่ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านกรอบบนได้ (ตามภาพที่ 2) ทำให้ต้องลงมาทดสอบแนวรับด้านล่าง มุมมองเดือนกุมภาพันธ์ของกราฟแรงซื้อใน RSI จึงยังคงเป็นบวกและยังมีโอกาสให้ขึ้นไปทดสอบแนวต้านอีกครั้ง ตามเป้าหมายเดิม คือ การทะลุแนวต้านขึ้นไปยืนเหนือบริเวณค่า 55-57 ให้ได้ก่อนมีนาคม เนื่องจากหากยังไม่สามารถผ่านแนวต้านดังกล่าวได้ กราฟ RSI อาจหักหัวลงไปอยู่ในโซนต่ำกว่าแนวรับเดิมช่วง 48-50 และเกิดการเสียทรงของกราฟ (new low) ที่ทำให้มุมมองของนักลงทุนในตลาดเอนเอียงไปยังแนวโน้มตลาดขาลงมากกว่าขาขึ้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบัน ยังไม่พบสัญญาณการกลับตัวใดๆ ทั้งสัญญาณที่บ่งชี้ถึงตลาดขาขึ้น (bullish divergence) และขาลง (bearish divergence)
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***