หากมองการเมืองโลกเป็นหนังเป็นละคร โดยยกเอาความอาทรต่อชีวิตมนุษย์ที่กำลังเสี่ยงอันตรายออกไปก่อน สถานการณ์ความตึงเครียดที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากสำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์ด้านการระหว่างประเทศที่เกิดหลังทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ด้วยความที่ว่าคนรุ่นนี้เด็กเกินกว่าจะรู้ความในตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายอันเป็นจุดจบของสงครามเย็นเมื่อปี 2534 จึงไม่มีประสบการณ์ร่วมโดยตรงกับ “สงครามเย็น” แต่ก็โตมากับช่วงรอยต่อที่สงครามเย็นยังไม่สิ้นกลิ่น จึงได้ยินคำว่า “สงครามเย็น” ลอยเข้าหูตั้งแต่เด็กยันโต
จากที่เคยมีความสัมพันธ์แบบที่คุ้นเคยแต่ไม่เคยพบหน้า จึงเป็นความตื่นตาตื่นใจกับการได้พบเจอด้วยตนเองและติดตามสถานการณ์เรียลไทม์พร้อมกับคนทั้งโลกเกี่ยวกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นมรดกตกทอดจากสงครามเย็น และยังเป็นสถานการณ์ที่ชวนให้สำรวจถึงความพยายามสร้างดุลอำนาจ (balance of power) ของรัสเซีย เพื่อตอบสนองต่อบริบทเชิงโครงสร้างของประเทศหลังสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ครอบครองความเป็นเจ้าในระบบโลกแบบขั้วเดียว
รากฐานของความขัดแย้งที่มาจากความไม่สบายใจของรัสเซียต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ และพันธมิตรในพื้นที่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นเขตอิทธิพลดั้งเดิมของรัสเซีย เห็นได้จากข้อเรียกร้องของรัสเซียที่ต้องการหลักประกันด้านความมั่นคง (security guarantee) ที่สำคัญคือการไม่ให้ NATO รับประเทศอดีตสหภาพโซเวียต (รวมทั้งยูเครน) เข้าเป็นสมาชิก
จุดยืนของรัสเซียดังกล่าวชัดเจนมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มฟื้นสภาพความเป็นมหาอำนาจขึ้นมาได้ เห็นได้จากที่ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ประกาศหลักการ 5 ข้อ เมื่อปี 2551 ที่รวมถึงการจะสนใจเป็นพิเศษต่อภูมิภาคนี้ที่เป็นผลประโยชน์พิเศษ (privileged interests) ของรัสเซีย และรัสเซียก็เคยทำสงครามกับประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่เอาใจฝักใฝ่ตะวันตกและอยากเข้าร่วม NATO มาก่อนแล้ว (สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย ปี 2551 และการผนวกเอาดินแดนไครเมียของยูเครน ปี 2557)
ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ เสนอว่า ระบบขั้วอำนาจเดียวเป็นระบบที่นับถอยหลังสู่วันล่มสลาย เพราะการที่ประเทศมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งครองความเป็นเจ้าอยู่ฝ่ายเดียว จะทำให้มีอำนาจมากเกินไป จนประเทศมหาอำนาจระดับรองลุกขึ้นมาจับมือกันต่อต้านเพื่อรักษาดุลแห่งอำนาจ ในกรณีนี้คือสหรัฐฯ ขยายอำนาจเข้าไปในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตที่เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย แม้ว่ารัสเซียจะยังไม่มีขีดความสามารถเทียบเคียงสหรัฐฯ แต่ก็ต้องลุกมาท้าทายความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ด้วยเครื่องมือทางการทหาร
ภายใต้สมมติฐานนี้ เป้าประสงค์ของรัสเซียคือการรักษาความมั่นคงในเขตอิทธิพลของตนเอง ซึ่งเป็นความพยายามเชิงรับในการรักษาตำแหน่งแห่งที่ของตน ไม่ใช่การรุกเพื่อสร้างอำนาจเพิ่มเติม การรุกรานยูเครนเพื่อยึดครองทั้งประเทศอย่างเต็มรูปแบบจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าสุดท้ายแล้วมีการใช้กำลัง ก็น่าจะออกมาในรูปของการใช้กำลังทหารปลดปล่อยหรือสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพื่อบ่อนทำลายรัฐบาลฝักใฝ่ตะวันตกของยูเครน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนรัฐบาลยูเครนให้เป็นฝ่ายฝักใฝ่รัสเซีย ทั้งนี้ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อรักษาดุลแห่งอำนาจด้วยการไม่ให้สหรัฐฯ ครอบงำในพื้นที่อิทธิพลของรัสเซีย
—————————————————————-
ข้อมูลส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “สภาพจริงนิยมเชิงโครงสร้างกับนโยบายต่างประเทศของรัสเซียต่อคิวบา (ปี ค.ศ.2008-2018)” (ปิ่นทิพย์ เอกพิริยไพบูลย์,2562)