สหรัฐฯ ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) ฉบับประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เรียกได้ว่าเป็นฉบับใหม่ล่าสุดที่จะบอกชาวอเมริกันและประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ว่า สหรัฐฯ ต้องการอะไรและจะทำอะไรต่อไปกับภูมิภาคนี้ในห้วง 2 ปีข้างหน้า
ทำเนียบขาวประกาศไว้ในยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ มีความมุ่งหมายต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอยู่อย่างน้อย ๆ 5 ประการ ซึ่งได้แก่ (1) ต้องการให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ “เปิดกว้างและเสรี” หรือ Free and Open ซึ่งหมายถึงทุกประเทศมีเสรีภาพที่จะเลือกดำเนินนโยบายได้ ตราบใดที่สอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายทางทะเลและอากาศที่ทำให้ทั่วโลกมีเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน นอกจากนี้ สหรัฐฯ จะส่งเสริมค่านิยมประชาธิปไตย สิทธิพลเรือน และเสรีภาพของสื่อมวลชน ควบคู่กับต่อต้านการคอร์รัปชัน การใช้เครื่องมือด้านเศรษฐกิจข่มขู่คุกคามประเทศอื่น
(2) ต้องการให้มีความเชื่อมโยง (connection) ทั้งในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล และประชาชนกับประชาชน ผ่านเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงอย่างไทย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น หรือหุ้นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงกลุ่มประเทศอย่างอาเซียน และประเทศนอกภูมิภาคอย่างสหภาพยุโรปและเนโต
(3) ต้องการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ จะประกาศกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework เพื่อให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ แบบพหุภาคี แม้ปัจจุบันจะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือดังกล่าว แต่สหรัฐฯ เปรย ๆ ว่าความร่วมมือนี้จะสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัล เครือข่าย 5G ที่ปลอดภัย และการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับ APEC ที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่อจากไทยในปี 2566 ด้วย
(4) อินโด-แปซิฟิกต้องมีความมั่นคง โดยสหรัฐฯ จะผลักดันแนวคิดการป้องปรามเชิงบูรณาการ (integrated deterrence) ซึ่งหมายถึงการใช้ทุกเครื่องมือมาส่งเสริมความสามารถในการป้องกันประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร สิ่งแวดล้อม ต่อต้านการก่อการร้าย ไซเบอร์ หรืออวกาศ ทุก ๆ อย่างสหรัฐฯ ต้องควบคุมได้ และมี “เครือข่าย” หรือ network ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ช่วยขับเคลื่อน สำหรับประเทศที่เราคาดว่าจะเป็นหัวหอกสำคัญในเครือข่ายของสหรัฐฯ ในอนาคต ได้แก่ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ดูจากการที่มีความร่วมมือด้านการทหารและนโยบายต่างประเทศที่ใกล้ชิดกันอย่างมากในห้วงที่ผ่านมา
และ (5) สหรัฐฯ ต้องการให้อินโด-แปซิฟิกมีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ ๆ เพราะทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ฉับพลันรุนแรง โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ที่สหรัฐฯ เห็นว่าเผชิญภัยพิบัติอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ มีพัฒนาการด้านสาธารณสุขที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความสามารถในการ “พัฒนาอย่างยั่งยืน”
เรียกได้ว่าสหรัฐฯ มีความมุ่งหมายต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการประกาศแผนปฏิบัติการ หรือ action plan เพื่อให้ความมุ่งหมายดังกล่าวประสบความสำเร็จด้วย เช่น จะเพิ่มบุคลากรสหรัฐฯ ในภูมิภาคเพื่อพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านการทูต การทหาร และความร่วมมือกับประชาชน จะสนับสนุนบทบาทของอินเดียในฐานะผู้นำของภูมิภาค จะสนับสนุนอาเซียนให้เข้มแข็ง จะให้ความสำคัญกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกมากขึ้น และจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เมียนมากลับสู่ระบอบประชาธิปไตย
เรามีความเห็นว่า ความมุ่งหมายของสหรัฐฯ แต่ละประการเป็นไปตามผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ที่มุ่งรักษาความเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 และแสวงหาประโยชน์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจให้กับประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ จะสำเร็จหรือไม่…ก็ขึ้นอยู่กับความจริงจังของรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ควรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง และให้สอดคล้องกับ “ความมุ่งหมาย” ของประเทศในภูมิภาคด้วย เพราะหากสหรัฐฯ เดินหน้าเพื่อเป้าหมายของตัวเองอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าประเทศอื่น ๆ จะว่าอย่างไร ก็อาจจะทำให้สหรัฐฯ ไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่น ๆ เท่าที่ควร
————————————————————-