ไฟฟ้าเป็นพลังงานสำคัญที่ไม่ว่าชุมชนแห่งหนไหนก็ต้องการทั้งสิ้น และเราพบว่า ความต้องการไฟฟ้ามีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องมากขึ้นตาม ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าได้หลายวิธีตามแหล่งทรัพยากรที่แตกต่างกัน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานจลน์หรือพลังงานความร้อนสร้างไอน้ำเพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า ทรัพยากรต่างๆที่ใช้ในการสร้างกระแสไฟฟ้าก็มีอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ กันไป
ทางเลือกในการผลิตที่หลากหลายได้สร้างโอกาสที่จะทำให้เกิดโรงงานผลิตไฟฟ้ากระจายไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ได้มากขึ้น กระจายโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าได้ทั่วถึงมากขึ้น นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานตามท้องถิ่นเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้มากขึ้นแล้ว การสร้างโรงไฟฟ้ายังมีผลต่อบริบทพื้นที่รอบข้างอีกด้วย โดยเราจะชวนให้มาทำความรู้จักกับแหล่งผลิตพลังงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่ 3 ตัวอย่าง ตามนี้…
“โรงไฟฟ้าพลังงานหญ้า”
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มีแนวคิดในการก่อตั้ง โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ห่างไกล ชุมชนบนดอยหรือหมู่บ้านกลางทุ่ง ที่การตั้งเสาเดินสายไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ต้องใช้งบประมาณสูง ชุมชนเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานเดิมอยู่ในป่า ทำการเกษตรและหาของป่าเลี้ยงชีพ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟหรือโซล่าเซลล์ การใช้ไฟฟ้ายังขาดความเสถียรตามสภาพอากาศของวัน การตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กตามชุมชนจะช่วยให้ชุมชนมีพลังงานไฟฟ้าทางเลือกมากขึ้น และยังเป็นการพลิกฟื้นผืนดินด้วยการปลูกหญ้าเนเปียที่นำใช้ในการหมักเป็นก๊าซสำหรับการสร้างความร้อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า หญ้าเนเปียสามารถทำการเพาะปลูกได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูก ปลอดภัยต่อสัตว์ป่า และทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์มากขึ้น
“โรงไฟฟ้ากับการประมง”
สำหรับประเทศที่หนาวเย็นอย่างประเทศฮังการี น้ำในทะเลสาบที่มีอุณหภูมิต่ำไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำสักเท่าไหร่ แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป สำหรับทะเลสาบโบโกดี (Bokodi tó horgászat) ที่มีการใช้น้ำในทะเลสาบในการหล่อเย็นเครื่องผลิตไฟฟ้า น้ำร้อนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจะถูกปล่อยลงทะเลสาบทำให้น้ำในทะเลสาบมีอุณภูมิอุ่นขึ้น 10 องศาเซลเซียส สัตว์น้ำมีขนาดตัวโตมากขึ้นจากพืชน้ำที่เป็นแหล่งอาหารและระยะเวลาในการเจริญเติบโตที่มากขึ้น พ้นฤดูหนาวที่ทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อระยะเวลาในการกลายเป็นน้ำแข็งลดลงด้วยความอุ่นของน้ำ ระยะเวลาในการเจริญเติบโตของปลาก็จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการตกปลา สร้างอาชีพและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง
โรงไฟฟ้ากับอาณานิคมต่างดาว
เมื่อแนวคิดที่มนุษย์จะออกไปท่องอวกาศกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้น พลังงานจากพระอาทิตย์เทียม (artificial sun) ก็อาจจะช่วยสานฝันนั้นก็เป็นได้ แน่นอนว่าในปัจจุบันการสร้างพระอาทิตย์เทียมอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและมีแนวโน้มที่จะทำสำเร็จอย่างต่อเนื่อง จากการทดลองของจีนและสหราชอาณาจักร ในการบีบรวมอะตอมของไฮโดรเจน สร้างปฏิกิริยาฟิวชัน เกิดความร้อนมหาศาลกว่า 70 ล้านองศาเซลเซียส สามารถนำความร้อนนี้ไปต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำปั่นกระแสไฟได้อย่างต่อเนื่องและมีความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยความพิเศษของพลังงานนี้ จะช่วยผลักดันสภาพแวดล้อมของมนุษย์ที่แตกต่างไปเมื่อพลังงานที่มหาศาลสามารถสร้างได้จากทรัพยากรเพียงเล็กน้อย พระอาทิตย์เทียมอาจไม่ได้ให้พลังงานบนโลก แต่อาจไปได้ถึงการใช้พลังงานในอวกาศเพื่อการสร้างอาณานิคมบนดาวดวงอื่นที่มีความหนาวเย็นก็เป็นไปได้
ไม่ว่าจะเป็นหุบเขาอันห่างไกล ทะเลสาบที่หนาวเย็น หรือแม้กระทั้งในอวกาศ… ความรู้และเทคโนโลยีที่เกิดจากการสร้างสรรค์เพื่อการผลิตไฟฟ้า ได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขหรือพัฒนาพื้นที่บริบทรอบๆ โรงงานไฟฟ้านั้นด้วย ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อการผลิตพลังงานเท่านั้นและการเลือกใช้แหล่งพลังงานอย่างเหมาะสมจะช่วยส่งเสริมบริบทรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าไปได้ด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ทั่วโลกรณรงค์ให้หยุดการเปิดพื้นที่เหมืองถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า บทบาทของโรงไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป จากผู้ตักตวงทรัพยากรกลายเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและชุมชนรอบข้าง
————————————————-