Dogecoin เป็นเหรียญล้อเลียนเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากชุมชนออนไลน์หลายแห่งทั่วโลก ทั้งในไทย สหรัฐฯ และในยุโรป เนื่องจากเป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยแนวคิดคล้ายๆกับ Bitcoin ที่ไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง (decentralized protocol) อีกทั้งยังมีกระบวนการทำเหมือง (proof-of-work mechanism) รูปแบบเดียวกับ Bitcoin ด้วย ทำให้นักลงทุนหลาย ๆ กลุ่มรวมถึงบริษัทบางบริษัทเริ่มเข้ามาเก็งกำไรกับเหรียญ Dogecoin มากขึ้นเมื่อปี 2564 จนราคาพุ่งขึ้นจาก 10 สตางค์มาเป็น 2.6 บาท และทำราคาสูงสุดที่เกือบ 23 บาทในช่วงกลางปี ก่อนจะร่วงลงมาเหลือ 5.2 บาท ตามกระแสการเทขาย Bitcoin และสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่น ๆ ในช่วงตลาดขาลง และเข้าสู่สภาวะเคลื่อนที่แบบไร้ทิศทาง (sideway) ตามกรอบระหว่าง 5.2 บาทและ 11.65 บาท ตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือน จนถึงช่วงสิ้นปี 2564 และเริ่มเคลื่อนที่ในลักษณะเกาะโซนแนวรับ 5.2 บาทมากยิ่งขึ้น ในช่วงปลายปีและต้นปี 2565 จากกระแสข่าวเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะทำสงครามกับยูเครน จนหลุดแนวรับ 5.2 บาทมาอยู่บริเวณ 4.2 บาทในท้ายที่สุด
จากมุมมองเชิงเทคนิคัลนั้น จะเห็นได้ว่ามีแท่งเทียนการปฏิเสธราคา (rejection candles) ปรากฏแบบทิ้งไส้ขึ้นมาตลอดเวลาที่กราฟเข้าใกล้กับแนวต้านเส้นสีฟ้าราคา 11.6 บาท (ตามภาพที่ 1) โดยเมื่อไม่สามารถผ่านขึ้นไปได้ Dogecoin จึงถูกเทขายจนราคาลงมาอยู่ติดกับแนวรับเส้นสีแดง ภาพรวมขณะนี้จึงค่อนข้างเป็นตลาดขาลงสำหรับ Dogecoin โดยที่แท่งเทียนยังมีการทำจุดที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง (lower low) เป้าหมายที่เป็นจุดสิ้นสุดขาลงของ Dogecoin อาจอยู่ที่ราคาบริเวณ 2.6-2.7 บาท ตามแนวรับเส้นสีเขียว ซึ่งมีสถานะเป็นแนวต้านเดิมเมื่อช่วงต้นปี 2564 ทั้งนี้ สิ่งที่สนับสนุนมุมมองในช่วงขาลงของ Dogecoin คือ ทฤษฎีการนับคลื่น Elliott Wave ที่นักลงทุนสายเทคนิคในต่างประเทศนิยมใช้ ซึ่งประเมินว่าการลงมาต่ำกว่าบริเวณ 5.2 บาท ครั้งนี้ อาจเป็นการปรับตัวลงในลักษณะคลื่น 5 ย่อย ของคลื่น C ใหญ่ ที่ราคาจะต้องถูกกระชากลงมาในจุดที่ต่ำกว่าช่วงตลาดขาลงเมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ก่อนจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อย่างไรก็ดี มุมมองดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงทันที หาก Dogecoin สามารถกลับขึ้นมาเหนือกว่าบริเวณราคา 7 บาท ซึ่งเป็นแนวต้านเดิมได้
หากมองจากด้านของกราฟแสดงผลแรงซื้อ-แรงขาย (RSI) จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสาเหตุหลักที่ Dogecoin ยังไม่สามารถกลับตัวออกจากตลาดขาลงไปเป็นขาขึ้นได้นั้น เป็นเพราะมีเส้นแนวต้านทแยงสีแดง (ตามภาพที่ 2) ทำหน้าที่เป็นกำแพงคอยกดราคาของ Dogecoin ไว้ตลอดตั้งแต่ช่วงเมษายนปี 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ Dogecoin ไม่เคยสามารถทะลุขึ้นไปอยู่บริเวณดังกล่าวได้เลย นอกจากนี้สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคา Dogecoin ร่วงลงอย่างต่อเนื่องนั้นยังมีแนวรับเส้นสีเขียวที่ Dogecoin หลุดลงมาเมื่อช่วงพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนทำให้เส้นสีเขียวดังกล่าวนั้นกลายเป็นแนวต้านจุดสำคัญที่ Dogecoin จะต้องผ่านไปให้ได้พร้อมๆกับแนวเส้นสีแดง ทั้งนี้ มุมมองเชิงบวกชุดเดียวที่พบได้จากกราฟค่า RSI ของ Dogecoin ขณะนี้จึงมีเพียงแนวรับเส้นสีดำที่ Dogecoin สามารถเคลื่อนที่โดยเกาะเอาไว้ โดยไม่หลุดลงมาเลยตลอดเวลา 3-4 เดือน จนเกิดรูปทรงกราฟที่ส่งสัญญาณถึงโอกาสในการกลับตัว (bullish divergence) ได้ หากการดิ่งลงของราคาในครั้งถัดไปกราฟราคาไม่ได้ลากกราฟ RSI ลงมาจนหลุดเส้นแนวรับสีดำ
***บทความนี้เป็นบทความสรุปความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนฯลฯ ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน The Intelligence มีข้อพิจารณาว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจลงทุน***