สถานการณ์รัสเซียและยูเครน ทำให้หลายๆ คนกลัวกันว่า “ไต้หวันในวันพรุ่งนี้ จะเป็นอย่างยูเครนวันนี้” เพราะทั้งสองกำลังเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน โดยต้องเผชิญหน้ากับประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนกับรัสเซีย แต่รู้มั้ยว่า ที่จริงแล้วสถานการณ์ของยูเครนและไต้หวันมีจุดแตกต่างกันอยู่มาก!! วันนี้ขอหยิบยกความต่างใน 4 ประเด็นที่เห็นได้ชัด มาเล่าก่อนนะ
ประการแรก เทคโนโลยีทางการทหารและภูมิศาสตร์ ยูเครนมีไม้เด็ดสำคัญคือ กองกำลังป้องกันตนเอง (Civilian Defense Force) นอกเหนือจากกองทัพยูเครนแล้ว ชาวยูเครนส่วนใหญ่ยังมีทักษะทางทหารและการใช้อาวุธเบื้องต้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2564 ที่สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนตึงเครียดสุดๆ ชาวยูเครนร่วมฝึกซ้อมการใช้ Man-portable air defence systems & anti-tank weapons ซึ่งเป็นอาวุธป้องกันการโจมตีทางอากาศจากภาคพื้นดิน น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ยาว 180 เซนติเมตร (จำลองภาพผู้ชายใส่ชุดทหารพาดปืนใหญ่บนไหล่ แล้วเล็งไปบนฟ้า) และยูเครนมีพรมแดนเชื่อมต่อกับรัสเซียทางบก ทำให้ถูกบุกยึดได้ง่าย
ส่วนไต้หวันนั้น มีหน่วยงานทหารเพียงหน่วยเดียวที่รับผิดชอบด้านการป้องปราม ขณะที่ชาวไต้หวันยังไม่คุ้นมือกับการฝึกรบมากนักเมื่อเทียบกับชาวยูเครน แต่ไต้หวันมีช่องแคบไต้หวันเป็นพรมแดนป้องปรามตามธรรมชาติ หากจีนบุกยึดไต้หวันการเคลื่อนกำลังพลของจีนเป็นไปได้ยาก และจะต้องทำสงครามสะเทินน้ำสะเทินบกเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถบุกยึดไต้หวันอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ไต้หวันใช้จังหวะนี้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ได้ทันการณ์
ประการที่สอง การทำโฆษณาชวนเชื่อ โฆษณาชวนเชื่อของยูเครนค่อนข้างประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการเผยแพร่เรื่องเล่า “Ghost of Kyiv” ซึ่งเป็นเรื่องเล่านักบินยูเครนที่สามารถทำลายเครื่องบินรบของรัสเซียตก 6 ลำ นักบินคนนี้ได้กลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ไปแล้ว แต่กลับยังไม่มีหลักฐานระบุชัดว่าเป็นเรื่องจริง นักวิชาการต่างคาดเดากันว่าเป็นการสร้างเรื่องเล่าเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวยูเครนเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย ขณะที่ชาวไต้หวันมีสำนึกความเป็นชาวไต้หวันเข้มข้น แต่ยังไม่ได้อยู่ระดับแข็งกร้าวเช่นเดียวกับยูเครน ที่เผชิญภัยคุกคามจากรัสเซียที่รุนแรงกว่า ประกอบกับการทำโฆษณาชวนเชื่อของไต้หวันจะเป็นไปได้ยากที่จะเอาชนะ The Great wall ของจีน
ประการที่สาม บุคลิกภาพผู้นำรัสเซียและจีนที่เป็นเผด็จการคล้ายกัน หรือที่เราจะคุ้นหูว่า one-man show แต่ท่านสี จิ้นผิง ยังคำนึงถึงปากท้องของประชาชน และความกินดีอยู่ดีของชาวจีนเป็นที่ตั้ง และรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้นโยบายต่างประเทศของจีนคงเส้นคงวา ขณะที่ท่านวลาดีมีร์ ปูติน บริหารประเทศเกือบสองทศวรรษ ทำให้มีนโยบายต่างประเทศคาดการณ์ได้ยากและเปลี่ยนแปลงได้กะทันหัน
ประการสุดท้าย พันธมิตรยูเครนได้รับการยอมรับในฐานะประเทศและได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก เช่นจากสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนเช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่ร่วมกันประณามและกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอาวุธจากเนโต ขณะที่ไต้หวัน ยังไม่มีประเทศขนาดใหญ่-กลาง ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศอย่างชัดเจน รวมทั้งสหรัฐฯ ที่แม้มีพันธกรณีตาม Taiwan Relations Act แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะร่วมรบกับไต้หวัน หากจีนบุกยึดไต้หวัน
เหตุผล 4 ประการนี้น่าจะพอยืนยันได้ว่า กรณีของไต้หวันกับยูเครนไม่เหมือนกันนะทุกคน ทางจีนย้ำบ่อยเสียเหลือเกินว่าปัญหาไต้หวันเป็นกิจการภายใน อีกทั้งไต้หวันนั้นก็มีความสำคัญกับทางภูมิรัฐศาสตร์และห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก
————————————–