นึกย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 14 ปีที่แล้ว ภาพสนามกีฬารังนก และพิธีเปิดที่อลังการด้วยนักแสดงจำนวนมหาศาล คือภาพความยิ่งใหญ่ที่จีนถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก จนชาวโลกจำนวนมากประกาศยอมแพ้ล่วงหน้า ว่าจีนสร้างมาตรฐานไว้สูงมากจนคงไม่มีเจ้าภาพชาติไหนทำได้เท่านี้อีกแล้ว
ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 (พ.ศ.2551) ต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน คือการเป็นสัญญะที่มองเห็นเป็นรูปธรรมของ “จีนที่ยิ่งใหญ่” จีนใช้สื่อมวลชนต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดภาพดังกล่าวสู่สายตาชาวโลก จนกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้นถูกกำหนดเป็นหมุดหมายแห่งการผงาดอีกครั้งของจีน หลังจากก้มหน้าก้มตาพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำตัวโดดเด่นตามแนวทาง “keeping a low profile policy” ของท่านผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง รวมทั้งบาดเจ็บหนักจากการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 2532
ความยิ่งใหญ่ที่จีนแสดงต่อชาวโลก ยังเป็นคุณูปการต่อมิติภายในประเทศ ภาพความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของกีฬาโอลิมปิกครั้งนั้น ปลุกกระแสรักชาติและความภาคภูมิใจในชาติจีนของชาวจีน มรดกจากกระแสรักชาติเข้มข้นในระยะนั้น สอดรับกันได้ดีกับแนวทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนปี 2555) ที่ชูแนวคิด “ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่” ให้จีน พร้อมด้วยสารพัดสารพันแนวทางเร้าอารมณ์รักชาติมาจนถึงปัจจุบัน
14 ปีถัดมา กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอีกครั้ง คราวนี้เป็นกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เป็นครั้งแรกที่จีนชนะการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เช่นเดียวกับเมื่อปี 2551 ที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรก (ไทยคือหนึ่งในประเทศที่เสนอตัวและแพ้จีนไปในครั้งนั้น)
ความแตกต่างคือ จีนในตอนนั้นกับจีนในตอนนี้ไม่เหมือนกันแล้ว ในตอนนั้นจีนเป็นประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาตัวเอง โน้มตัวเข้าหาชาวโลกเพื่อแสวงหาการยอมรับ ขณะที่ประเทศตะวันตกในตอนนั้นก็เชื่อว่า การรับเอาจีนเข้าสู่ประชาคมโลก และสนับสนุนให้จีนพัฒนาเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในจีนในที่สุด แต่จีนในตอนนี้คือจีนที่เป็นมหาอำนาจ มีความภาคภูมิใจและทระนงในตนเอง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งมหาอำนาจอันดับ 1 อย่างเต็มตัวกับสหรัฐฯ และกำลังอยู่ในสถานการณ์แข่งขันกันดุเดือดในทุกมิติ ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งด้วยในบางมิติ
ภาพของโอลิมปิกคราวนั้นกับคราวนี้จึงต่างกันมาก จีนใหญ่โตพอที่จะไม่สนใจสายตาโลกตะวันตกว่าจะชอบพอจีนหรือไม่ จึงไม่ได้มุ่งใช้โอลิมปิกครั้งนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์น่าเสน่หา (ที่เป็น soft power อย่างหนึ่ง) ในสายตาชาวตะวันตกเหมือนกับคราวนั้น จึงมีข่าวเรื่องนักข่าวต่างชาติถูกจำกัดขอบเขตการทำงาน ต่างจากครั้งที่แล้วที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงมาจากความระแวงเนื้อหาที่นำเสนอ จากความขัดแย้งจีน-ตะวันตกที่ดำเนินอยู่
ในทางกลับกัน การเป็นเจ้าภาพคราวนี้ยังถูกใช้เป็นเวทีโจมตีจีนโดยรัฐบาลประเทศตะวันตก มีประเทศที่คว่ำบาตรทางการทูตด้วยการไม่ส่งผู้แทนทางการเข้าร่วม เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee-IOC) ก็ยังยืนยันร่วมมือกันจัดงานกับทางการจีน มีภาพการพบกันระหว่างนาย Thomas Bach ประธาน IOC กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และ IOC ยืนยันนโยบายเป็นกลางทางการเมือง แล้วก็หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นด้านลบของจีนตามการกดดันของฝั่งประเทศตะวันตก
เป้าหมายปลายทางที่จีนหมายมั่นปั้นมือในครั้งนี้ น่าจะมุ่งไปที่กลุ่มชาวจีนในประเทศมากกว่า การเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลก เป็นโอกาสที่ดีที่จะใส่ภาพความยิ่งใหญ่ของจีนเข้าไปในหัวชาวจีน ตามนโยบายปลุกความรักชาติของประธานาธิบดีสี แต่ก็โชคร้ายเหลือเกินที่โลกนี้มีโรค COVID-19 เกิดขึ้น และนโยบาย COVID ต้องเป็นศูนย์ (zero-tolerance policy) ของจีน ทำให้โอลิมปิกคราวนี้ต้องจัดการแข่งขันในระบบปิด นักกีฬาจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับบุคคลภายนอกระบบ นั่นก็หมายความว่าประชาชนจีนก็ไม่ได้ใกล้ชิดกับนักกีฬาเหล่านี้ด้วยประสาทสัมผัสของตนเองเช่นกัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเมื่อคิดว่านักกีฬาระดับโลกมาแข่งให้ดูถึงที่แต่ชาวเมืองไม่มีโอกาสได้มีประสบการณ์ร่วม จึงทำให้ความเห่อ ความตื่นเต้น ความรู้สึกร่วม ลดลงไปแทบไม่เหลือ ไม่เหมือนเมื่อตอนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน
จีนไม่ประสบความสำเร็จนักในการทำให้กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้เป็นกระแสเหมือนการเป็นเจ้าภาพครั้งที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหากวัดลำดับกันแล้วโอลิมปิกฤดูหนาวไม่ได้รับความนิยมเท่าโอลิมปิกฤดูร้อน และกีฬาฤดูหนาวอย่างสกี ฮอกกี้ ฯลฯ เป็นกีฬาของชาวตะวันตก ชาวจีนไม่ได้นิยมกีฬาฤดูหนาวมากมายนัก ไม่เหมือนประเทศฝั่งนั้น เห็นได้จากที่จีนมีสกีรีสอร์ทเพียง 11 แห่งเมื่อปี 2539 (ปัจจุบันมี 300 กว่าแห่ง) และอีกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือการที่มีสมาชิกทีมฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติจีนถึง 15 คนที่เกิดในต่างประเทศ
ความทรงจำที่เด่นชัดของชาวจีนและชาวโลกต่อโอลิมปิกครั้งนี้ น่าจะเป็นภาพของ Eileen Gu หรือ Gu Ailing สาวสวยนักสกีลูกครึ่งจีน-สหรัฐฯ วัย 18 ปี เธอมีพ่อเป็นอเมริกัน มีแม่เป็นจีน เลือกเปลี่ยนทีมชาติจากสหรัฐฯ มาเป็นจีนตั้งแต่ปี 2562 และชนะเลิศได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินให้กับจีนในโอลิมปิกครั้งนี้ ในด้านหนึ่ง เธอโด่งดังขึ้นมาทันทีในจีน งานโฆษณาวิ่งเข้าหามากมาย และสร้างกระแสความภาคภูมิใจให้กับชาวจีน ส่วนในอีกด้านหนึ่ง การที่เลือกเปลี่ยนมาเล่นให้จีนโดยที่เกิดและโตในสหรัฐฯ (ซึ่งหมายความว่าเธอคงจะต้องสละสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายจีนที่ไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ) นำไปสู่คำถามและความไม่พอใจในสังคมอเมริกัน ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นภาพแทนที่ชัดเจนของยุคสมัยแห่งความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ
————————