การปะทะคารมระหว่างผู้นำออสเตรเลียกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลียเป็นแกนนำเรียกร้องให้นานาประเทศสืบสวนต้นกำเนิดของโรค COVID-19 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน แต่ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอร์ริสันอาจไม่พอใจกว่าครั้งไหน ๆ เมื่อจีนกับหมู่เกาะโซโลมอนเตรียมลงนามร่างข้อตกลงสำคัญที่เปิดประตูให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองกำลังติดอาวุธ หรือหน่วยบังคับใช้กฎหมายไปยังหมู่เกาะโซโลมอนได้ เพื่อปฏิบัติพันธกิจควบคุมความสงบในสังคม และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติด้วย
ช่วงหลังมานี้ จีนกับหมู่เกาะโซโลมอนใกล้ชิดกันมาก ตั้งแต่หมู่เกาะโซโลมอนเปลี่ยนมาสนับสนุนหลักการจีนเดียว ด้วยการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากนั้น จีนเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ตอบโจทย์ผู้นำเกาะโซโลมอนที่ต้องการพัฒนาถนนหนทาง และสนามกีฬา เพื่อเตรียมรับการเป็นเจ้าภาพ Pacific Games ในปี 2566 จีนยังสนับสนุนอุปกรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหมู่เกาะโซโลมอน เพื่อปราบจราจลในปลายปี 2564 หลังมีการวางเพลิงในชุมชนจีนในหมู่เกาะโซโลมอนมาแล้วสองครั้ง
ในช่วง 8 ปีมานี้ อิทธิพลจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคแปซิฟิก จีนสนับสนุนเงินช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคนี้สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากออสเตรเลีย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับจีนคือ ภูมิภาคแปซิฟิกมีขุมทรัพย์อันล้ำค่าอย่างไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง และยังมีแร่ธาตุอื่นๆ อีกมหาศาล ประกอบกับในด้านภูมิศาสตร์ อนุภูมิภาคเมลานีเซีย ซึ่งหมายถึงพื้นที่ในทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ยังเป็นมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมหมู่เกาะแปซิฟิกและชายฝั่งเอเชียตะวันออกได้อย่างลงตัวอีกด้วย
ทำไมเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญไปได้ แม้จีนออกมายืนยันแล้วว่าไม่มีการตั้งฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอน ก็เพราะที่ผ่านมา ออสเตรเลียไม่เคยนิ่งเฉย และพยายามต้านทานอิทธิพลจีนในทุกรูปแบบ ในมีนาคมปี 2564 ออสเตรเลียสนับสนุนเวชภัณฑ์ ตลอดจนเงินสนับสนุนประมาณ 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้กับประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อต้านทาน Vaccine Diplomacy ของจีน ต่อมาในตุลาคมปีเดียวกัน ออสเตรเลียสนับสนุนการซื้อบริษัท Digicel Pacific ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในฟิจิ ปาปัวนิวกินี วานูอาตู ซามัว ตองกา และนาอูรู เพื่อสกัดกั้นการลงทุนของบริษัทโทรคมนาคมของจีน ถัดมาในธันวาคมของปี 2564 ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่นร่วมกันลงทุนสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ให้กับนาอูรู คิริบาส และไมโครนีเซีย
เพราะฉะนั้น ออสเตรเลียเชื่อว่าจีนอาจใช้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการตั้งกองกำลังต่างประเทศในหมู่เกาะโซโลมอน ที่ห่างจากออสเตรเลียเพียง 3,000 กิโลเมตร หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่หลังบ้านของออสเตรเลีย และข้อตกลงฉบับนี้อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในหมู่เกาะแปซิฟิก ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งสันติภาพมาหลายสิบปี ซึ่งจะกระทบต่อผู้นำเจ้าถิ่นอย่างออสเตรเลียแน่นอน
———————