การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปี 2565 เป็นเหตุการณ์ที่ควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงเพราะเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจภายในฝรั่งเศสที่ยังคงเผชิญกับปัญหาหลายประการ แต่ยังมีสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ร้อนระอุทางภาคตะวันออกของยุโรป นั่นคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่าฝรั่งเศสกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของมารีน เลอแปน คู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีนี้ต้องจัดขึ้นสองรอบ เนื่องจากในรอบแรกยังไม่มีผู้สมัครคนใดได้ผลโหวตเกิน 50% โดยรอบแรกเมื่อ 10 เมษายนนั้น แอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน สังกัดพรรค La Republique En Marche! (The Republic On The Move!) ได้คะแนน 27.85% ขณะที่มารีน เลอแปน ผู้ท้าชิงจากพรรค Rassemblement National (National Rally) ได้คะแนนลำดับที่สองที่ 23.15%
จากผลการเลือกตั้งในรอบแรก ประชาชนฝรั่งเศสจะต้องลงคะแนนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 24 เมษายน เพื่อตัดสินว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระหว่างมาครงหรือเลอแปน โดยการเปลี่ยนตำแหน่งจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
ถึงแม้ประเด็นปัญหาภายในประเทศของฝรั่งเศสจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับประชาชนชาวฝรั่งเศสที่จะตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนขณะนี้ เป็นตัวแปรภายนอกประเทศที่ตัดออกไม่ได้เช่นกัน โดยสงครามได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบลงในเร็ววัน
ล่าสุด มารีน เลอแปนได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางนโยบายต่างประเทศของตนหากได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส ข้อเสนอดังกล่าวสมควรนำมาพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแนวนโยบายที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากจุดยืนของของกลุ่มประเทศอียูและนาโต้ในภาพรวม
เลอแปนมีท่าทีที่ค่อนข้างอ่อนข้อต่อรัสเซีย โดยระบุว่า หากสงครามรอบนี้จบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ นาโต้และรัสเซียควรมีการสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ (strategic rapprochement) และถึงแม้เลอแปนจะประณามการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันและแก๊สจากรัสเซีย เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น
นอกจากนี้ เลอแปนยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดิมของตนซึ่งมองว่าการผนวกดินแดนไครเมียเข้ากับรัสเซียในปี 2557 นั้นไม่ถือว่าเป็นการรุกรานของรัสเซีย เนื่องจากมีการทำประชามติในไครเมีย อีกทั้ง เลอแปนยังชี้ว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียจะช่วยป้องกันไม่ให้รัสเซียใกล้ชิดจีนมากเกินไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นผลดีกับฝรั่งเศส ยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ อาจไม่น่าแปลกใจนัก….มารีน เลอแปนเคยมีประวัติที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยในการเลือกตั้งปี 2560 เลอแปนเคยเดินทางไปพบกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียที่กรุงมอสโคว นอกจากนี้ พรรคการเมืองของเลอแปนเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารซึ่งใกล้ชิดกับรัสเซีย เป็นมูลค่าราว 9 ล้านยูโร
ในเรื่องนาโต้นั้น เลอแปนเสนอให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากกองบัญชาการผสมของนาโต้ (integrated military command) รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายที่จะต้องตกอยู่ใต้อาณัติของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แม้จะตั้งคำถามกับนาโต้ แต่เลอแปนไม่ได้เสนอให้ฝรั่งเศสออกจากนาโต้
ในการเลือกตั้งปี 2560 นั้น เลอแปนเคยเสนอให้ฝรั่งเศสออกจากอียู เหมือนอย่างที่อังกฤษเคยทำมาแล้วในกรณีของเบร็กซิต อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งในรอบนี้เลอแปนระบุชัดเจนว่าไม่ต้องการพาฝรั่งเศสออกจากอียู เพียงแต่ต้องการลดจำนวนเงินสนับสนุนที่จ่ายให้กับอียู
หากการเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ 24 เมษายนนี้ ผลปรากฏว่าเลอแปนเป็นผู้ชนะ เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองยุโรป ฝรั่งเศสที่เอนเอียงเข้าหารัสเซียมากเกินไปอาจทำให้ระเบียบโลกเสรีสั่นคลอนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี โพลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักยังคงชี้ว่ามาครงจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยคะแนนทิ้งห่างจากเลอแปนไม่มากนัก แม้กระนั้น หากมาครงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง ก็ยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ความท้าทายที่รออยู่ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทั่วโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
————————