ผลการจัดอันดับคนรวยที่มีทรัพย์สินระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ Global Rich List ประจำปี 2565 ของสถาบัน Hurun ไม่ได้เกินไปกว่าความคาดหมายนัก….ในแง่ที่ว่าเศรษฐีพันล้านกระจุกตัวอยู่ใน 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนและสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 55 โดยจีนมีจำนวนเศรษฐีพันล้าน 1,133 คน มากกว่าสหรัฐฯ ที่มี 716 คน แต่ถ้าว่าในแง่ของจำนวนทรัพย์สินแล้วยังถือว่าสหรัฐฯ รวยกว่าจีน เพราะเศรษฐีสหรัฐฯ ถือครองทรัพย์สินรวมกันร้อยละ 32 ของทรัพย์สินของเศรษฐีพันล้านทั้งหมด ส่วนเศรษฐีจีนถือครองร้อยละ 27
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่องของภาคเศรษฐกิจที่นำพาความร่ำรวยแก่เศรษฐีเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ใช้บอกได้คร่าว ๆ ว่าเศรษฐกิจของมหาอำนาจทั้งสองพึ่งพาภาคเศรษฐกิจใดบ้าง ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับข่าวคราวเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน ปัญญาประดิษฐ์บ้าง บิ๊กดาต้าบ้าง ควอนตัมบ้าง แต่เมื่อไปดูในรายชื่อดังกล่าวจะพบว่า….
เศรษฐีจีนส่วนใหญ่ร่ำรวยมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ สินค้าอุตสาหกรรม และสาธารณสุข ขณะที่เศรษฐีสหรัฐฯ ส่วนใหญ่รวยจากภาคเทคโนโลยี การเงิน และอุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ แอปเปิล ไมโครซอฟท์ อะเมซอน และอัลฟาเบท มีมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) รวมกันมากกว่าบริษัทเอกชน 500 อันดับแรกของจีนรวมกัน ซึ่งก็พอจะบอกได้ว่าภาคเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์ของจีนยังคงตามหลังสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย
ส่วนประเด็นที่น่าสนใจและเกินความคาดหมายคือจำนวนเศรษฐีพันล้านที่เป็นผู้หญิง และร่ำรวยจากการทำมาหากินด้วยตนเอง (ไม่ใช่เพราะมรดก) ผลการจัดอันดับเศรษฐีนีประเภทดังกล่าวทำให้เห็นว่าเศรษฐีนีพันล้านส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยมีจำนวนถึง 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 60 ของเศรษฐีนีพันล้านทั่วโลก และก็เป็นอย่างนี้มา 16 ปีต่อเนื่องกันแล้ว
เราไม่ค่อยได้ยินชื่อนักการเมืองผู้หญิงจีนเมื่อเทียบกับโลกตะวันตก แต่ทำไมในมุมของนักธุรกิจ ผู้หญิงจีนจึงร่ำรวยกว่าประเทศอื่น?…… สำนักข่าว Axios วิเคราะห์เหตุผลไว้น่าสนใจและก็ฟังดูน่าจะเป็นไปได้ เหตุผลที่ว่าคือนโยบายลูกคนเดียว (one-child policy) ของรัฐบาลจีน (เริ่มเมื่อปี 2523 ยกเลิกไปเมื่อปี 2558) ทำให้ผู้หญิงจีนตั้งครรภ์เพียงครั้งเดียว จึงมีเวลาทำมาหากินมากกว่าผู้หญิงประเทศอื่น และมีภาระด้านครอบครัวน้อยกว่า นอกจากนั้น โครงสร้างทางสังคมแบบเอเชียของจีน ที่ญาติพี่น้องอาศัยอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวขยาย จึงมีพี่น้องปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงลูกและดูแลบ้าน ภาระทางบ้านที่น้อยลงทำให้ผู้หญิงจีนทุ่มความสนใจด้านธุรกิจได้มากกว่าผู้หญิงโลกตะวันตกที่ต้องดูแลครอบครัวด้วยตนเอง
เศรษฐีนีพันล้านของจีนมี 78 คน จากทั้งหมด 124 คนทั่วโลก นำโดยอู๋ หยาจุน อายุ 58 ปี ฟ่าน หงเว่ย อายุ 55 ปี และหวัง หล่ายชุน อายุ 55 ปี สามคนนี้คือผู้หญิงที่รวยที่สุดสามอันดับแรกของโลกถ้านับเฉพาะผู้ที่รวยด้วยตนเอง ถ้าพิจารณาอายุของหญิงเหล่านี้ที่ใช้ชีวิตวัยสาวในยุคของนโยบายลูกคนเดียว ก็สอดคล้องกันดีกับข้อวิเคราะห์ของ Axios ดังกล่าวข้างต้น