หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานเมื่อ 12 ส.ค.65 ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมแบบใหม่ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลอานฮุยได้เปิดเผยวิธีการใหม่ในการสร้างการพัวพันของโฟตอน (entangled photons) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสารระยะไกลของควอนตัมเพื่อส่งข้อมูล ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการโจมตีด้านการสื่อสารได้
การพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมและอุปกรณ์สื่อสารที่รวดเร็วนั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องผลิตอนุภาคที่มีการพัวพันเป็นจำนวนมากก่อน โดยอนุภาคที่พัวพันกันจะยังคงต้องเชื่อมต่อกันอยู่แม้จะอยู่ห่างไกลกัน จึงใช้ส่งข้อมูลได้
ปกติวิธีการที่นิยมมากที่สุดในการสร้างการพัวพันของโฟตอนในห้องปฏิบัติการ คือ การฉายแสงเลเซอร์แบบเข้มข้นไปที่คริสตัลแบบพิเศษ ในขณะที่โฟตอนส่วนใหญ่เดินตรงผ่านคริสตัล อนุภาคของแสงบางส่วนจะผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการแปลงค่าพารามิเตอร์ลงโดยธรรมชาติ (Spontaneous parametric down-conversion) และแบ่งออกเป็นคู่โฟตอนพลังงานต่ำที่มีการพัวพันซึ่งกันและกัน แต่วิธีการนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และคาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้ เพราะมีคู่โฟตอนพัวพันกันเพียงคู่เดียวจากโฟตอนหลายสิบล้านตัว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลอานฮุย ได้พัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมด้วยการจับอะตอมรูบิเดียมหลายร้อยตัวสร้างเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “ซูเปอร์อะตอม” จากนั้นก็กระตุ้นหนึ่งในกลุ่มอะตอม ให้เป็นสถานะตื่นตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชื่อว่า Rydberg (ตั้งชื่อตามนักฟิสิกส์ชาวสวีเดน Johannes Rydberg )
เมื่ออะตอมดูดซับพลังงานจนขยายใหญ่ขึ้นจะมีปฏิสัมพันธ์กับอะตอมที่อยู่ใกล้เคียงกัน จนเปลี่ยนแปลงระดับของพลังงานของอะตอมเหล่านั้นและเข้าไปพัวพันกันในที่สุด นักวิจัยยืนยันการทดลองว่ามีการพัวพันของโฟตอนมากถึง 6 ตัว
ที่มา : https://www.scmp.com/news/china/science/article/3188752/chinese-team-produces-quantum-computing-ingredients-record?module=more_top_stories_int&pgtype=homepage