
ขอบคุณภาพประกอบจาก : NASA
ภัยคุกคามต่อระบบคอมพิวเตอร์มีจำนวนมากอาทิ ไวรัสคอมพิวเตอร์ การหลอกลวง (ฟิชชิ่ง) เครือข่ายไร้สายที่ถูกบุกรุก และ USB ที่ไม่รู้จัก แต่ภัยคุกคามที่อันตรายและเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย คือการแฝงมัลแวร์มากับรูปภาพ
มัลแวร์ในปัจจุบันนั้นแฝงมากับรูปภาพได้อย่างแนบเนียน โดยใช้เทคนิคที่ชื่อว่า Steganography เป็นการซ่อนไฟล์ไปยังอีกไฟล์หนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่มุ่งร้ายเสมอไป วิธีการนี้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในรูปภาพ และยิ่งรูปภาพดูน่าสนใจมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ James Webb เพิ่งถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีของมัลแวร์ เป็นต้น
รายละเอียดของภัยคุกคามนี้จะแตกต่างกันไป เช่น อาจมาในรูปแบบไฟล์แนบท้าย หรือผ่านการปรับแต่งเล็กน้อยในแต่ละบิตของโค้ด หรือผ่านการเปลี่ยนแปลงข้อมูลคำอธิบายภาพ (Meta) ที่จะจัดเก็บเวลาและวันที่ถ่ายภาพ และข้อมูลอื่นฯ
ในการโจมตีครั้งล่าสุด มัลแวร์ ObliqueRAT ถูกซ่อนไว้ในไฟล์ Bitmap ซึ่งเป็นนามสกุลไฟล์ภาพชนิดหนึ่ง ที่ดูเหมือนภาพปกติแสดงในแท็บเบราว์เซอร์ หรืออีกกรณีที่ไฟล์แนบอีเมลของ Microsoft Office ถูกใช้เป็นไฟล์แนบมัลแวร์ เมื่อผู้ตกเป็นเหยื่อโหลดรูปภาพหรือไฟล์ ช่องโหว่ก็สามารถทำงานได้เสมอ เช่น รูปภาพสามารถแนบมากับรหัสที่สร้างความเสียหายให้กับระบบ อาจจะแฝงมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือเพื่อเริ่มการขุด crypto บนคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ รูปภาพเกือบทั้งหมดที่เห็นในสื่อสังคมออนไลน์นั้นได้รับการแก้ไขและบีบอัดระหว่างทางก่อนถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งทำให้แฮกเกอร์สามารถซ่อนมัลแวร์และไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย
การป้องกันการแสดงรูปภาพผ่านบราวเซอร์อาจจะสามารถช่วยบรรเทาความเสียหายได้ ตัวอย่างเช่น ใน Chrome เข้าไปในเมนู Settings และเลือก Privacy and security จากนั้นไปที่เมนู Site settings และImages นอกจากนี้ การใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสควรจะอัพเดทให้เป็นรุ่นใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภัยคุกคามใหม่ ๆที่จะเกิดขึ้น