เนิร์ด (Nerd) ตามพจนานุกรมฉบับ Oxford Advance Learner’s ได้ให้ความหมายของเนิร์ดเอาไว้ 2 รูปแบบด้วยกัน ความหมายแรกคือบุคคลที่แสนจะน่าเบื่อ งี่เง่า และเชยแหลก ในอีกความหมายหนึ่งคือ บุคคลที่บ้าคลั่งในคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาพลักษณ์ในสังคมของเนิร์ดจะมากกว่าแค่ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ แต่มักจะเชี่ยวชาญในสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แม้แต่ด้านภาษาก็นับได้ (อาจจะพ่วงความเป็นคนน่าเบื่อตามนิยามแรกมาด้วย) ถ้าจะให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือเด็กชายหรือเด็กหญิงใส่แว่นหนาเตอะ ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือทุกพักกลางวัน คนที่คุณอาจจะมองเขาเป็นฮีโร่เมื่อต้องการลอกการบ้านหรือข้อสอบในวัยเรียน
มิใช่ว่าเหล่าเนิร์ดจะถูกทำให้ดูแย่ในสื่ออย่างภาพยนตร์หรือการ์ตูน แต่ด้วยบทที่นำเนิร์ดไปเป็นตัวเอกในแนวโรงเรียนไฮสคูล เขาเหล่านั้นจะต้องถูกบูลลี่จากเหล่านักกีฬาโรงเรียนบ้าง หัวโจกบ้าง เชียร์ลีดเดอร์ตัวแม่บ้าง (กรณีเป็นเนิร์ดสาว) เพื่อเป็น Conflict ในชีวิตให้ตัวละคร ซึ่งรูปแบบนี้ก็ได้นำมาจากสังคมทางตะวันตกที่มองเนิร์ดจริง ๆ แต่ถ้าเป็นในประเทศไทยจะตรงกันข้าม เพราะคนมีความรู้อย่างเนิร์ดนี่แหละที่จะถูกเชิดชูในฐานะนักปราชญ์
เมื่อพูดถึงซีรี่ส์การ์ตูนต่อสู้ ระเบิดดวงดวงเผาจักรวาลอย่าง Dragon Ball ซึ่งเป็นที่รู้จักมายาวนานนั้น character เนิร์ดที่เรียกได้ว่าโด่งดังในระดับเป็นตัวเอกของเรื่องก็คือ “ซุนโกฮัง” ลูกชายคนโตของตัวเอกหลักอย่างโกคู ซึ่งในการกลับมาขึ้นสู่จอภาพยนตร์อีกครั้งของ Dragon Ball Super: Super Hero (2565) ที่ได้ผู้เขียนเรื่องต้นฉบับ อาจารย์อากิระ โทริยาม่า มาเขียนเนื้อเรื่องด้วยตนเอง โกฮังจึงได้รับบทตัวเอกในภาพยนตร์ภาคนี้ ด้วยความที่อาจารย์โทริยาม่าอยากให้โกฮังมีบทบาทที่โดดเด่น
ในช่วงที่โกฮังเป็นตัวดำเนินเรื่อง หลังจากที่โกคูตายไประหว่างการต่อสู้กับมนุษย์ดัดแปลงเซล ตัวโกฮังกลับไม่ประสบความสำเร็จในสายตาคนอ่านเท่ากับผู้เป็นพ่อ อาจารย์โทริยาม่าจึงจำต้องให้โกคูคืนชีพกลับมาอีกครั้ง และหลังจากนั้นไม่ว่าจะมีซีรี่ส์ภาคต่อใด ๆ ตามมา โกฮังก็ไม่เคยได้กลับมาเป็นตัวเอกที่มีบทดำเนินเรื่องเลย
สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการวางลักษณะนิสัยเด็กเนิร์ดให้กับโกฮังด้วย ใน Setting ของโลก Dragon Ball ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ของคนมีพลังเหนือมนุษย์ระดับทำลายดาวกันได้เป็นว่าเล่น และพวกโกคูนั้นเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้วายร้ายสุดโหดมาเยี่ยมเยือนอยู่ไม่ขาดสาย ตัวละครนักสู้ในเรื่องนี้จึงมักจะฝึกฝนวิชาอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับมือกับภัยร้ายที่มาได้ทุกเมื่อ แต่ว่าโกฮังนั้นถูกเลี้ยงดูแบบเด็กธรรมดามาตั้งแต่แบเบาะ ทั้งยังเป็นเด็กที่เรียนหนังสืออย่างหนัก ด้วยการ Home School (เรียนด้วยตัวเองที่บ้าน) จากจีจี้ผู้เป็นแม่ (โดยที่โกคูก็ไม่สามารถพาลูกมาฝึกวิชาแบบตัวเองได้ เพราะชายที่แกร่งที่สุดในจักรวาลก็ยังกลัวภรรยา) ถึงจะดูเหมือนถูกแม่กวดขันและเคี่ยวเข็ญ แต่ตัวโกฮังเองก็เป็นเด็กที่มีนิสัยรักการเรียนอยู่แล้ว ชอบศึกษาหาความรู้ มีความฝันที่จะโตขึ้นไปเป็นนักวิชาการ เรียกว่าเป็นเด็กเนิร์ดที่ดันไปเติบโตในจักรวาลของนักสู้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โกฮังก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางของนักสู้ได้ ตั้งแต่การบุกโลกของชาวไซย่า ผู้ที่เล็งเห็นว่าโกฮังเป็นเด็กมีพรสวรรค์และทรงพลังมากก็คือพิคโกโร่ เขาจึงนำตัวโกฮังมาฝึกต่อสู้กับเอเลี่ยนอย่างไม่เต็มใจตั้งแต่ 4 ขวบ จากนั้นด้วยความวุ่นวายที่ถาโถมใส่ชีวิตตั้งแต่เด็ก โกฮังก็แข็งแกร่งขึ้นมาจนเหนือกว่าพ่อในช่วงหนึ่ง เป็นซูเปอร์ไซย่าในวัย 10 ขวบที่สามารถโค่นเซลได้เลยทีเดียว ถึงจะเป็นเด็กที่แข็งแกร่งขนาดนั้น แต่ตัวโกฮังก็ยังไม่เคยทิ้งความฝัน จนเมื่อเติบโตขึ้น มีครอบครัว เขาก็สามารถเป็นนักวิชาการได้สำเร็จ เมื่อต้องหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยและขาดการฝึกฝน ตัวโกฮังจึงอ่อนแอลงไปตามวิถีชีวิตตน
เด็กเนิร์ดที่เรียนจนประสบความสำเร็จอย่างโกฮัง ได้รางวัลทางวิชาการมาประดับบ้าน เขาคงจะเป็นที่ชื่นชมของครอบครัวและสังคมแน่ ๆ หากเป็นในโลกแห่งความจริง แต่กับในท้องเรื่องนั้น คนที่ภูมิใจเห็นจะมีแต่คุณแม่จีจี้กับภรรยาสาวอย่างบีเดล สังคมใกล้ตัวของพรรคพวกที่เป็นนักสู้ไม่ได้สนใจว่าเขาเขียนงานวิจัยเรื่องอะไร แต่จะสนว่า “สู้ไหวไหม?” “ยังฝึกวิชาอยู่หรือเปล่า?” “ศัตรูคราวนี้แกร่งมากนะ” เหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่แม้แต่บรรดาแฟนคลับของตัวละครโกฮังก็ไม่ได้สนภูมิความรู้ของเขา แต่สนว่าเมื่อไรอาจารย์โทริยาม่าจะเขียนบทให้โกฮังกลับมาปราบศัตรูแบบโคตรเท่อีกครั้ง ดั่งเช่นมีม “Make Gohan Great Again” แน่นอนว่าตัวของโกฮังก็ไม่ได้รังเกียจถ้าหากเพื่อน ๆ จะชื่นชมในฝีมือการต่อสู้ ทว่าภายในใจก็คงอยากให้เพื่อนสนใจความรู้ที่เขามีมากกว่าการแปลงร่างกับพลังคลื่นเต่า เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่สังคมมองเนิร์ดว่าเป็นแค่พวกเด็กเรียน ไม่มีสีสันอะไรที่น่าสนใจ
ซึ่งจุดที่ทำให้เหล่าเนิร์ดสามารถยอมรับในคำเรียกนี้ได้ คือจุดที่ภูมิความรู้ที่พวกเขามีทำให้เกิดการปฏิวัติโลกในด้านเทคโนโลยี มองกันว่า 90% ของเทคโนโลยีที่เราใช้กันอยู่ล้วนเกิดขึ้นจากมันสมองของเหล่าเนิร์ด ตั้งแต่ Bill Gates แห่ง Microsoft ขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจไอทีระดับโลก การคิดค้นสื่อโซเชียลมีเดียที่คุณจะต้องตื่นขึ้นมาไถหน้าฟีดทุกวันอย่าง Facebook อันเป็นผลงานของ Mark Zuckerberg หรือวิศวกรที่ดังที่สุดแห่งยุคสมัยนี้ Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX เจ้าของสมญา Iron Man ในโลกแห่งความเป็นจริง
กระทั่งการเติบโตขึ้นของวงการจักรวาลภาพยนตร์ในยุคโซเชียลมีเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งที่ยืนที่ทำให้เหล่าเนิร์ดได้มีพื้นที่ฉายแสง เนิร์ดในทุกวันนี้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนที่รู้แต่เรื่องทฤษฎีวิทยาศาสตร์ยาก ๆ อีกต่อไป นิยามของมันขยายไปยังกลุ่มผู้ที่เสพสื่อภาพยนตร์และการ์ตูน มีความรู้ในด้านนี้ คัมภีร์ของพวกเขาก็คือหนังสือการ์ตูนที่เรียงอยู่บนชั้น ถ้วยรางวัลวิชาการไม่จำเป็น หากคุณมีของสะสมเป็นฟิคเกอร์ซูเปอร์ฮีโร่ต่าง ๆ ประกอบฉากอยู่ด้านหลังเวลาถ่ายคลิป เนิร์ดเหล่านี้จะปรากฏตัวขึ้นมาในช่อง Youtube หรือตามเพจต่าง ๆ ทั่วไปหมด ซึ่งนำเสนอ Content เกี่ยวกับสื่อที่พวกเขาสนใจและรู้ลึกรู้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซูเปอร์ฮีโร่จากทั้งฝั่งญี่ปุ่นหรืออเมริกัน เรื่องของสัตว์ประหลาด หนังสยองขวัญ วงการเกม เราจะเห็นได้ว่าเหล่าเนิร์ดทำ Content แข่งกันอย่างแพร่หลาย แม้แต่มานั่ง Reaction ตัวอย่างภาพยนตร์เฉย ๆ ก็ยังสามารถสร้างผู้ติดตามจำนวนมหาศาล เรียกสปอนเซอร์ให้เข้ามาสนับสนุนได้
อีกทั้งจะมีกลุ่มคนอยู่อีกจำพวกที่ถูกเรียกว่า กี๊ค (Geek) ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าแตกต่างกันกับเนิร์ดอย่างไร เพราะความหมายที่นิยามนั้นแทบจะเหมือนกับเนิร์ด คือเป็นคนที่สนใจอะไรบางอย่างมาก ๆ เหมือนกัน โดยไม่ต้องแคร์กระแสสังคม บ้างก็ว่าแยกกันได้ด้วยระดับความสนใจที่มีต่อเรื่องนั้นหรือ Passion เช่น เนิร์ดในเรื่อง The Lord of the Rings อาจจะชอบอ่านหรือดูภาพยนตร์ไตรภาคนั้นมากจนจำบทพูดได้ทุกประโยค แต่กี๊คจะศึกษาลงลึกไปถึงขนาดอ่านเขียนภาษาเอลฟ์ในเรื่องได้เลยทีเดียว
การเป็นเนิร์ดหรือกี๊คอาจจะมีคนเข้าใจผิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีทักษะในการเข้าสังคม ซึ่งจริง ๆ แล้วชื่อเรียกพวกนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เป็นนิสัยเฉพาะของแต่ละบุคคลเอง คนที่อ่านการ์ตูนมาก ๆ ไม่ใช่ว่าเขาจะไปพูดคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง และอาจจะสามารถอยู่ได้กับทั้งสังคมปกติและสังคมความชอบ
กลุ่มคนที่ถูกมองว่าเข้ากับสังคมไม่ได้จริง ๆ คือพวกที่ถูกเรียกว่า “โอตาคุ” ของฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มนี้เรียกได้ว่าภาพลักษณ์จากสังคมแย่กว่าเนิร์ดกับกี๊คมาก โดยในพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น “Koenji” ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 6 ได้ให้ความหมายโอตาคุไว้ว่า “คนที่เอาแต่สนใจกับหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างผิดปกติ จนอยู่ในระดับที่มากเกินไป และบกพร่องทางการเข้าสังคม” แถมการถ่ายทอดภาพลักษณ์ของโอตาคุลงบนสื่อบันเทิงญี่ปุ่นจนกลายเป็นที่จดจำคือ หนุ่มอ้วนใส่แว่น สะพายกระเป๋าที่มีโปสเตอร์ไอดอลหรือตัวการ์ตูนสาว วนเวียนอยู่ในละแวกย่าน Akihabara ที่เป็นแหล่งรวมฟิคเกอร์ (และมักจะไปซื้อแต่ฟิคเกอร์การ์ตูนสาวเซ็กซี่) ไปตามงานจับมือของวงไอดอลหญิงต่าง ๆ จึงได้เกิดเป็นที่มาของคำเรียกย่อ ๆ ว่า “โอตะ” ซึ่งใช้กันในประเทศไทยด้วย
สำหรับในประเทศไทย การเข้ามาของวัฒนธรรมไอดอลจากกลุ่ม BNK48 และการเกิดโอตะไม่ได้ดูแย่เหมือนที่เกิดในญี่ปุ่น เรียกได้ว่าปกติ ไม่ต่างจากการมองกลุ่มเด็กสาวที่ชื่นชอบวัฒนธรรม K-Pop หรือ “ติ่งเกาหลี” ซึ่งเคยถูกมองในแง่ลบเช่นกันจากยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียเกิดความนิยมในไทยแรก ๆ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นความปกติตามกาลเวลา ถ้าหากจะมีปัญหาก็คือการบูชาตัวบุคคลของพวกเขา ที่นำทัวร์ไปลงเวลามีใครก็ตามวิจารณ์ไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบในแง่ลบ กลายเป็นไม่มีใครแตะต้องไอดอลของพวกเขาได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้ว คนที่เรียกตัวเองว่าโอตะในไทยจะมีความภูมิใจในตัวเองอยู่ และการที่มีคนดังจำนวนมากกล้าประกาศว่าตัวเองเป็นโอตะไอดอล เช่น “โอ๊ต ปราโมทย์” “แน็ป ชนัทธา” (อดีตนักร้องนำวง Retrospect) หรือ “โย่ง อาร์มแชร์” เป็นต้น จึงทำให้ผู้คนในสังคมไทยสามารถยอมรับความเป็นโอตะได้อย่างไม่เคอะเขิน
ไม่ว่าเราจะเรียกกลุ่มคนผู้มีคลังความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจว่า เนิร์ด กี๊ค หรือโอตาคุ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนเหล่านี้แค่ต้องการจะแสดงความรู้ในสิ่งที่ตัวเองมีให้โลกได้เห็น ไม่ว่าจะในเรื่องวิชาการหรือทางบันเทิงคดี และเมื่อพวกเขามีพื้นที่แสดงออก สื่อที่พวกเขาสร้างจะดึงดูดผู้ที่มีความสนใจมาหาเอง แม้แต่เรื่องของการเข้าสังคม หากเนิร์ดไม่มีทักษะเข้าสังคมจริงอย่างที่หลาย ๆ คนชอบนิยาม เขาจะสามารถบรรยายหรือแสดงออกได้อย่างในคลิปของพวกเขาหรือ? ซึ่งเนิร์ดที่ทำ Content หลายคนเองก็มีทักษะการแสดงที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มความน่าสนใจในสิ่งที่กำลังนำเสนอได้ดีมาก อีกทั้งด้วยสื่อที่สามารถนำเสนอให้เนิร์ดกลายเป็นฮีโร่ที่มีคนชื่นชอบเป็นจำนวนมากอย่างโกฮังหรือ Spider-Man รวมถึงเนิร์ดที่กลายเป็นฮีโร่ผู้เปลี่ยนโลกได้จริง ๆ อย่างยอดนักประดิษฐ์หลาย ๆ ท่าน เนิร์ดจึงเกิดความภูมิใจในสิ่งที่ตนเป็น หากว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ใคร คนแบบเนิร์ดก็เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และความสามารถที่น่าสนับสนุนอย่างมาก
อ้างอิง
https://www.majorcineplex.com/news/dragon-ball-super-super-hero-characters
https://www.majorcineplex.com/news/super-hero-success
https://www.kroobannok.com/blog/9852
https://www.womjapan.com/column/trend/update-trend/meaning-of-the-word-otaku/