ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติอยู่รอด …และในอนาคตอันใกล้ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในห้วงอวกาศเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์โลกอาจไม่ได้จำกัดแค่เพียงการส่งดาวเทียมขึ้นไปเชื่อมต่อการสื่อสารหรือติดตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น เพราะสถาบัน Lunaria One ของออสเตรเลีย กำลังคิดค้นแนวทางใช้ประโยชน์ด้านชีวภาพจาก “ดวงจันทร์” เพื่อการทำเกษตร หรือการทำสวนบนดวงจันทร์
สำนักข่าววีโอเอของสหรัฐฯ รายงานเมื่อ 6 ตุลาคม 2565 ว่า นักวิชาการในออสเตรเลียเริ่มกลับไปให้ความสำคัญกับภารกิจไปทำเกษตรกรรมบนดวงจันทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นบนโลก โดยภารกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิดและการวิจัยของสถาบัน Lunaria One องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อหาแนวทางการทำเกษตรกรรมบนดวงจันทร์โดยเฉพาะ เพื่อทำให้โลกมีอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น
ที่ผ่านมา สถาบันดังกล่าวเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ โดยใช้วิทยาการด้านชีววิทยา วิศวกรรม การศึกษา และจิตวิทยา เพื่อสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ สำหรับก้าวต่อไปสู่อนาคต และโครงการ ALEPH-1 ของสถาบันนี้ก็ได้รับเลือกเมื่อ เมษายน 2565 ให้เป็นโครงการที่ได้โควตาเดินทางไปดวงจันทร์ในปี 2568 โดยยาน Beresheet 2 ของอิสราเอล
ไอเดียของสถาบัน Lunaria One ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่ามนุษย์ทดลองปลูกพืชบนดินที่นำกลับมาจากดวงจันทร์แล้ว และโครงการครั้งนี้ยังมีสถาบันวิชาการอย่าง Australian National University และ Queensland University of Technology รวมไปถึงภาคเอกชน และสถาบันวิชาการ Ben Gurion University ของอิสราเอล รวมทั้งสหรัฐฯ และแอฟริกาใต้สนับสนุนอยู่ด้วย ภายใต้โครงการชื่อ “การทดลองทำสวนบนดวงจันทร์” หรือ Lunaria One’s Australian Lunar Experiment Promoting Horticulture (ALEPH)
สำหรับแนวคิดในการดำเนินโครงการนี้ มาจากการที่นักวิชาการประเมินว่า เกษตรกรรมบนโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากวิกฤตโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่รุนแรงและผันผวน ดังนั้น การไปทำเกษตรกรรมบนดวงจันทร์อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งนักวิจัยชาวออสเตรเลียตั้งเป้าหมายไว้ว่า พวกเขาจะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวได้สำเร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นโครงการระดับนานาชาติที่มีหลายประเทศสนับสนุนและเข้าร่วม นอกจากนี้ นักวิจัยจากสถาบันวิชาการต่าง ๆ มองว่า โครงการนี้จะเป็นโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ
โครงการดังกล่าวในระยะแรก จะเน้นการผลูกพืชเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับการนำไปขยายพันธุ์ (propagation) บนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมทั้งทนต่อสภาพอากาศในอวกาศที่ผันผวนรุนแรงยิ่งกว่าบนพื้นโลกได้ จากนั้นจะเป็นการปลูกพืชเพื่อผลประโยชน์ด้านการแพทย์ และการปลูกพืชเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนบนดวงจันทร์ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต หากประชากรโลกส่วนหนึ่งจะต้องไปอยู่อาศัยบนดวงจันทร์นั่นเอง
ดูเหมือนว่าเป้าหมายของภารกิจของ Lunaria One จะค่อนข้างยิ่งใหญ่และท้าทายค่อนข้างมาก แต่เรามองว่า ประโยชน์ของโครงการนี้อาจไม่ได้อยู่มี่ปลายทางเสมอไป เพราะ “ระหว่างทาง” ที่มีการคิดค้นเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ ๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถทำเกษตรกรรมบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวทางการทำเกษตรกรรมบนโลกให้มีความยั่นยืนและได้ผลผลิตที่ดีมากขึ้นก็เป็นได้
เหมือนกับการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum) หรือซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่มีความซับซ้อนและท้าทายอย่างมาก กว่าที่บริษัทหรือประเทศใดจะสามารถครอบครองเทคโนโลยีเหล่านั้นได้จริง ๆ ตามเป้าหมาย แต่…ระหว่างทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้น เรามักจะเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีวิทยาการล้ำหน้าถูกผลิตออกมาให้เราได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเลเซอร์ การปกป้องข้อมูล การสื่อสารในรูปแบบ 5G และ 6G และเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ
ดังนั้น ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็นการพัฒนาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขยายพันธุ์ได้เร็วและตอบสนองความต้องการทางโภชนนาการของมนุษย์ ที่มาจากโครงการของ Lunaria One ซึ่งไม่ว่าผลการดำเนินโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อย เราน่าจะเห็นความพยายามของนักวิชาการสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ได้แนวทางการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในโลกใบนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน…
————————————————————————————–