ความแปรปรวนของสภาพอากาศในปัจจุบันที่มีความถี่และความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดการรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงเป็นหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกป่าสร้างพื้นที่สีเขียว แต่รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเลือกใช้วัสดุ การลดขยะ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ จนไปถึงการตั้งภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและส่งผลกระทบต่อวงการธุรกิจด้วย
ในระดับของบุคคลหรือครัวเรือน ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ทุกคนจะคุ้นเคยกับหลักการ 3Rs นั่นคือ Reuse, Reduce และ Recycle กับกระบวนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุดด้วยการใช้ซ้ำหรือนำมาใช้ใหม่ ต่อยอดไปจนถึง 7Rs(เพิ่ม Refuse Refill Repair Return) ที่ให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำเดิม เปลี่ยนรูปแบบร้านค้าให้ลูกค้านำภาชนะมาบรรจุสินค้าเอง เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ขวดแก้ว ถุงผ้า จานใบไม้ หลอดแสตนเลสพกพา เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้พลาสติกซึ่งจะเป็นการสร้างขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากต่อไป
จากการเลือกใช้วัสดุในชีวิตประจำวัน ไปสู่การประยุกต์ใช้วัสดุธรรมชาติในการก่อสร้าง เนื่องจากการก่อสร้างแบบเดิมที่ใช้คอนกรีตนั้นก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 5-8 % ของกิจกรรมปล่อยก๊าซของโลก เพราะจะต้องเผาหินปูนเพื่อผลิตผงปูนซีเมนต์ ปัจจุบัน จึงได้มีการคิด Green Concrete ที่นำเถ้าจากการเผาถ่านมาเป็นส่วนผสมของคอนกรีต แต่ยังคงมีราคาสูงกว่าคอนกรีตแบบเดิม ดังนั้น การก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงคำนึงถึงการใช้คอนกรีตให้น้อยที่สุดและใช้วัสดุอื่นประกอบแทน เช่น เส้นใยจากพืชผสมปูนขาวที่มีความแข็งแรงเหมือนก้อนอิฐหรือขยุ้มรา (Mycelium) พลาสติกรีไซเคิล แผ่นไม้อัดจากเศษไม้ ไม้ไผ่ที่อบขึ้นเพื่อกำจัดมอดจนสามารถยืดอายุการใช้งานได้ ดินผสมฟางที่สามารถสร้างบ้านดินที่รักษาความเย็นไว้ได้ รวมไปถึงการวางแผนการก่อสร้างโดยใช้ขนาดวัสดุมาตรฐานทางอุตสาหกรรม เพื่อการลดเศษวัสดุที่เหลือจากการก่อสร้าง และการก่อสร้างที่รวดเร็ว ลดปัญหาฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง
นอกจากการลดมลพิษจากการก่อสร้างแล้ว Green Building จะนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในอาคารเพื่อให้อาคารสามารถพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ (solar tech) แผงโซล่าร์เซลล์ใสเป็นกระจกผิวอาคาร สร้างพื้นที่สีเขียวซึ่งสามารถกักเก็บน้ำฝนและลดความร้อนของอาคาร การใช้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและระบบปรับอากาศประหยัดพลังงานงานตามมาตรฐาน BEC (Building Energy Code) และการใช้ระบบ Smart Building เพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคารในส่วนที่ไม่มีความจำเป็น
เราไล่เรียงแนวคิดกรีน ๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับเคหสถาน ไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนกับแนวคิด ECO Village ในการสร้างชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพิงธรรมชาติ ลดการใช้ทรัพยากรจากส่วนกลางหรือรัฐบาล ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ น้ำ ลม หรือก๊าซชีวมวลจากปศุสัตว์และพืช สร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝนให้เพียงพอกับการใช้งาน การบำบัดน้ำเสียจากอาคารและการทำการเกษตรเพื่อการนำกลับมาใช้ต่อไป ดังนั้น การใช้ทรัพยการของชุมชนจะต้องใช้อย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด มีการใช้ซ้ำ โดยในชุมชนนั้นจะต้องเห็นพ้องกันในการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ต่างจากแนวคิดเดิม ๆ ที่ว่า “เหลือดีกว่าขาด”
ไม่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคล การปรับเปลี่ยนแนวคิดในสังคม โดยมีเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสนับสนุน จนมาถึงการใช้นโยบายการทางการเงินเพื่อสร้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น BCG Model (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) และ ESG ( Environment, Social, และ Governance ) แนวคิดเหล่านี้ก็คือความพยายามเปลี่ยนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ครอบคลุมด้านต่างๆ
ไม่เพียงแค่ผลกำไรจากการทำธุรกิจ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้นำมาด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อความยั่งยืน แต่ก็ได้ประโยชน์ตรงที่สร้างความเท่าเทียมให้กับแรงงาน เพื่อความยั่งยืนทางสังคม และเมื่อทุกภาคส่วนล้วนเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนนี้จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ในการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ในการผลิตและบริการ สร้างจิตสำนึก จัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในที่สุด
เครื่องมือต่างๆ อย่าง Zero Carbon, Zero Waste, Food Waste หรือ Carbon credit ที่พัฒนามาจากแนวคิดกรีน ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ หากขาดการนำไปใช้อย่างจริงจังและรวดเร็วทันทีให้ตรงกับสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ การรณรงค์เพื่อขอความร่วมมือที่ได้ดำเนินการมาตลอด 20 ปีนี้ หรือ พิธีสารเกียวโต พ.ศ. 2548 ยังคงไม่เป็นผล อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะผลักดันให้มีการบังคับใช้ในระดับกฎหมายที่ทำให้ประชาชนทุกคนอยู่รอดในท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตนี้ไปได้
—————————————————–