ราชอาณาจักรสวีเดน
Kingdom of Sweden
เมืองหลวง กรุงสตอกโฮล์ม
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป พื้นที่ 450,295 ตร.กม. แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 410,335 ตร.กม. และพื้นที่ทางน้ำ 39,960 ตร.กม. พรมแดนทางบกมีความยาวทั้งสิ้น 2,211 กม. และแนวชายฝั่งมีความยาวทั้งสิ้น 3,218 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับนอร์เวย์ และฟินแลนด์ (545 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวบอทเนีย
ทิศใต้ ติดกับทะเลบอลติก
ทิศตะวันตก ติดกับนอร์เวย์ (1,666 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ บางแห่งเป็นเนินเขา พื้นที่ 58% เป็นป่าไม้ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 8%
ภูมิอากาศ ภาคใต้อากาศหนาวเย็น และมีเมฆมากในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ช่วงฤดูร้อนอากาศเย็น และมีเมฆปกคลุมบางส่วน ภาคเหนือมีลักษณะอากาศแบบกึ่งอาร์กติกหรือแบบหนาวชื้น ช่วงฤดูหนาวยาวนาน อากาศหนาวจัด และมีหิมะมาก ส่วนช่วงฤดูร้อนจะสั้น อากาศเย็นปานกลาง
ศาสนา ประชากรนับถือศาสนาคริสต์ นิกายลูเทอแรน 57.6% ส่วนอีก 8.9% นับถือศาสนาอื่น ๆ (คริสต์นิกายอื่น ๆ อิสลาม ยูดาย และพุทธ) ขณะที่ 33.5% ไม่นับถือศาสนาหรือไม่ได้ระบุไว้
ภาษา ภาษาประจำชาติ คือ ภาษาสวีเดน นอกจากนี้ มีการใช้ภาษาพูดของชนกลุ่มน้อยเชื้อสายซามี โรมานี (ยิปซี) ยิดดิช เมแอนเคียลิ (Meänkieli) และฟินแลนด์
การศึกษา งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษา 7.2% ของ GDP (ปี 2563)
วันชาติ 6 มิ.ย.
นายอูล์ฟ คริสเตอร์สสัน
(Ulf Hjalmar Kristersson)
(นรม.สวีเดน)
ประชากร 10,554,692 คน (ปี 2566) เพิ่มขึ้น 0.4%
รายละเอียดประชากร เชื้อชาติ สวีเดน 80.3% ซีเรีย 1.9% ฟินแลนด์ 1.4% อิรัก 1.4% และอื่น ๆ 15%
อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 17.26% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.05% วัยชรา (65 ปี ขึ้นไป) 20.69% อายุขัยเฉลี่ย 82.8 ปี เพศชาย 81.3ปี เพศหญิง 84.73 ปี อัตราการเกิด 10 คนต่อประชากร 1,000 คน และอัตราการตาย 9 คนต่อประชากร 1,000 คน
การก่อตั้งประเทศ ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 สวีเดนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพคาลมาร์ (เกิดจากการรวมตัวของอาณาจักรต่าง ๆ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน รวมถึงบางส่วนของฟินแลนด์ เข้าอยู่ภายใต้กษัตริย์องค์เดียวกัน)
ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 สวีเดนได้ออกจากสหภาพคาลมาร์และต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะกับรัสเซีย เดนมาร์ก และนอร์เวย์ที่ไม่ยอมรับการที่สวีเดนออกจากสหภาพคาลมาร์ คริสต์ศตวรรษที่ 17 สวีเดนได้ขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไปด้วยการทำสงคราม
ปี 2457 สวีเดนสูญเสียพื้นที่อาณาเขต รวมถึงฟินแลนด์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสวีเดน และนับตั้งแต่นั้น สวีเดนกลายเป็นประเทศที่สงบสุข มีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในช่วงสันติ และวางตัวเป็นกลางระหว่างสงคราม
การเมือง สวีเดนมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีกษัตริย์เป็นประมุข
ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (King Carl XVI Gustaf) เป็นประมุขแห่งรัฐ (ระบอบกษัตริย์ใช้การสืบราชสันตติวงศ์ รัชทายาทองค์ปัจจุบัน ได้แก่ เจ้าหญิง Victoria Ingrid Alice Desiree พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ล กุสตาฟ) ส่วน นรม. ได้แก่ นาย Stefan Löfven หัวหน้าพรรค Social Democratic Party (SAP) แนวคิดกลางซ้าย
พรรคการเมือง : ที่สำคัญ แบ่งเป็นพรรคการเมืองแนวคิดฝ่ายซ้าย ได้แก่ พรรค Social Democratic Party (SAP) พรรค Green Party (MP) และพรรค Left Party (V) ส่วนพรรคการเมืองแนวคิดฝ่ายขวา ได้แก่ พรรค Moderate Party (M) พรรค Liberal Party (L) พรรค Center Party (C) พรรค Christian Democrats (KD) และพรรค Sweden Democrats (SD)
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : รัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว จำนวนผู้แทน 349 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนทั่วประเทศ มีวาระ 4 ปี ปัจจุบัน พรรค Social Democratic (SAP) ของ นรม.Stefan Löfven จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยร่วมกับพรรค Green (MP) มีที่นั่งในสภา 116 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดใน ก.ย.2565
ฝ่ายตุลาการ : มีศาลสูงสุดหรือ Hogsta Domstolen ซึ่งผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งโดย นรม. และ ครม.
เศรษฐกิจ
มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีที่มีความก้าวหน้ากับระบบการจัดรัฐสวัสดิการ แรงงานมีทักษะสูง ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยภาคการบริการ คิดเป็นสัดส่วน 65.3% ของ GDP ปี 2564 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 22% ของ GDPและภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนเพียง 1.33% ของ GDP อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในการผลิตวิทยุ โทรศัพท์และอาวุธ ผลิตภัณฑ์จากเยื่อไม้ เยื่อกระดาษอาหารแปรรูป และยานยนต์ ผลผลิตการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี เนื้อสัตว์ และนม ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ไม้สัก ทองแดง เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี ทองคำ เงิน ทังสเตน และยูเรเนียม ทั้งนี้ สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคพลังงานของสวีเดน เช่นเดียวกับประเทศยุโรปอื่น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : โครนา (Swedish Krona-SEK)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 โครนา : 0.09 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 โครนา : 3.22 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 597,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -0.7%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 55,220 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 5,144,000 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 7.5%
อัตราเงินเฟ้อ : 5.8%
มูลค่าการส่งออก : 139,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : เครื่องจักร ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ เยื่อกระดาษและไม้ ผลิตภัณฑ์จากเหล็กและเหล็กกล้า และเคมีภัณฑ์
มูลค่าการนำเข้า : 140,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อาหาร และเสื้อผ้า
คู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เบลเยียม
การทหารและความมั่นคง
งบประมาณด้านการทหารของสวีเดนเมื่อปี 2566 ประมาณ 1.5% ของ GDP กำลังพลรวม 14,600 นาย แยกเป็น ทบ. 6,850 นาย ทร. 2,100 นาย ทอ. 2,700 นาย และอื่น ๆ 2,950นาย สวีเดนรื้อฟื้นการบังคับเกณฑ์ทหารตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 หลังจากยกเลิกไปเมื่อปี 2553 โดยชายหญิงสัญชาติสวีเดนที่เกิดปี 2542 จะต้องยื่นเรื่องรายงานตัวเพื่อให้ทางการสวีเดนคัดเลือกไปเป็นทหาร มีวาระประจำการ 12 เดือน ทั้งนี้ สวีเดนจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณด้านการทหารเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (เนโต) ที่อย่างน้อย 2% ภายในปี 2567
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวา การเติบโตของกระแสเกลียดกลัวต่างชาติ (Xenophobia) และกลุ่มคลั่งคนผิวขาว (White Supremacist) ซึ่งเป็นผลมาจากผู้อพยพจำนวนมาก
2) การก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและกลุ่มแนวคิดขวาจัดที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็น
การปฏิบัติการโดยลำพัง (Lone Actor) ทั้งจากที่ได้รับอิทธิพลจากเนื้อหาที่มีความรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ และปฏิบัติการตอบโต้การเผาคัมภีร์อัลกุรอานเนื่องจากกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia)
3) ภัยคุกคามจากรัสเซีย จีน และอิหร่าน โดยเฉพาะการจารกรรมข้อมูลข่าวสาร และการก่อวินาศกรรมโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ WTO, UN, EU (แต่ไม่ได้ใช้เงินยูโร), IMF, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, OSCE, Paris Club, AIIB, ADB, AFDB, OPCW, OECD, ILO, ICAO, IAEA, ICC นอกจากนี้ สวีเดนสมัครเป็นสมาชิก NATO เมื่อปี 2565 และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากตุรกี
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวีเดนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ และโทรคมนาคม อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่สำคัญในประเทศได้หลากหลาย อาทิ การนำไปใช้ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ในอุตสาหกรรมป่าไม้ การให้บริการทางการแพทย์ออนไลน์ นอกจากนี้ สวีเดนยังมีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ ในสาขาประสาทวิทยา (Neuroscience) ภูมิคุ้มกันวิทยา(Immunology) และจุลชีววิทยา (Microbiology) มีผู้ประกอบธุรกิจในด้านชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) ประมาณ 400 บริษัท ทำให้หลายประเทศพยายามส่งเสริมความร่วมมือกับสวีเดนในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ
การขนส่งและโทรคมนาคม ด้านการขนส่ง มีท่าอากาศยาน 231 แห่ง ที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยาน Stockholm-Arlanda มีลานจอด ฮ. 2 แห่ง เส้นทางรถไฟระยะทาง 14,127 กม. ถนนระยะทาง 573,134 กม. เส้นทางสัญจรทางน้ำ ระยะทาง 2,052 กม. ด้านโทรคมนาคม ปี 2563 มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 1.47 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 127เลขหมายต่อประชากร 100 คน รหัสโทรศัพท์ +46 ทั้งนี้ สวีเดนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในระดับสูง รวมถึงสายเคเบิลใต้น้ำ เชื่อมโยงกับประเทศกลุ่มนอร์ดิกและประเทศในยุโรป และมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน ได้แก่ สถานีดาวเทียมของ Intelsat 1 แห่ง (มหาสมุทรแอตแลนติก) ของ Eutelsat 1 แห่ง และของ Inmarsat 1 แห่ง (มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย) จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อปี 2563 คิดเป็น 95% ของจำนวนประชากร รหัสอินเทอร์เน็ต .se เว็บไซต์การท่องเที่ยว : http://www.visitsweden.com/
การเดินทาง การบินไทย เป็นสายการบินเดียวที่มีเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-สตอกโฮล์ม โดยให้บริการ 10 เที่ยว/สัปดาห์ ระยะเวลาในการบิน 11 ชม. 30 นาที เวลาที่สวีเดนช้ากว่าไทย 5 ชม. (ปลายมีนาคม-ปลายตุลาคม) และ 6 ชม. (ปลายตุลาคม-ปลายมีนาคม) ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการของไทยได้รับการยกเว้น
การตรวจลงตราจากสวีเดน โดยพำนักได้ไม่เกิน 90 วัน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเดินทางเข้าไทย พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน
ความสัมพันธ์ไทย-สวีเดน
ไทยกับสวีเดนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 18 พ.ค.2411 โดยไทยและสวีเดนสนับสนุนและร่วมมือกันในเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วยดีมาโดยตลอด รวมทั้งในกรอบความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) กรอบ EU อาเซียน และเอเชีย-ยุโรป (ASEM)
ราชวงศ์ไทยและสวีเดนยังมีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน สำนักพระราชวังสวีเดนได้จัดพิธีอัญเชิญพระราชลัญจกรพิเศษ (ตราพระครุฑพ่าห์) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปยังโบสถ์รีดดาร์โฮล์ม(Riddarholmskyrkan) กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อ 26 ต.ค.2560 เวลา 11.55 น.ตามเวลาท้องถิ่น และมีพิธีตีระฆังแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม (The Order of the Seraphim) เป็นเวลา 1 ชม. ระหว่างเวลา 12.00-13.00 น. เพื่อถวายพระเกียรติฯ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีม ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสวีเดนเมื่อ 5 เม.ย.2493 และเป็นแนวปฏิบัติที่สำนักพระราชวังสวีเดนจะจัดทำพระราชลัญจกรพิเศษ สำหรับพระประมุขที่ได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว
ด้านการค้า เมื่อปี 2566 สวีเดนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 39 ของไทยและอันดับ 8 ของไทยในสหภาพยุโรป (EU) มูลค่าการค้าไทย-สวีเดน ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 อยู่ที่ 35,662 ล้านบาท ลดลง 0.22% จากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2565 มูลค่าการส่งออก 13,575 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 22,087 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 8,511 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญจากสวีเดน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ด้านการท่องเที่ยว ห้วง ม.ค.-ก.ย.2566 มีนักท่องเที่ยวสวีเดนเดินทางมาไทย 113,963 คน ทั้งนี้ ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวสวีเดน และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุที่มาท่องเที่ยวเชิงรักษาสุขภาพเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายไม่สูงและมีความทันสมัย
ด้านการลงทุน บริษัทชั้นนำของสวีเดนเข้ามาลงทุนและจัดตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างน้อย 85 แห่ง อาทิ บริษัท SAAB (ด้านความมั่นคง และโครงการ Amata Aerospace City) บริษัท Volvo Truck (ผลิตและประกอบรถบรรทุก และชิ้นส่วนรถยนต์) บริษัท Electrolux (เครื่องซักผ้าและตู้เย็น) บริษัท Molnlycke Health Care (เสื้อกาวน์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์) บริษัท Scandinavian Village (โครงการที่พักสำหรับผู้สูงอายุ และผู้เกษียณ) บริษัทอิเกีย (เฟอร์นิเจอร์)
ด้านแรงงาน อุตสาหกรรมผลไม้ป่าของสวีเดนพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะแรงงานไทย คิดเป็น 90% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด โดยเมื่อปี 2563 สวีเดนเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติ (Special Income Tax-SINK tax) ส่งผลให้แรงงานที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ปี 2564 ผ่านการจ้างงานจากบริษัทนายจ้าง ต้องชำระภาษีประมาณ 25% ของรายได้ตามกฎหมาย หากมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 183 วัน/ปี ทั้งนี้ ประมาณการว่าคนงานจะมีรายได้ขั้นต่ำคงเหลือประมาณ 13,237.50-31,156.50 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษี โดยในปี 2564 แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน
เก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนกว่า 7,000 คน
สอท.สวีเดน/กรุงเทพฯ มีเขตอาณาครอบคลุม สปป. ลาวกับเมียนมา และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 4 แห่ง อยู่ที่เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และหัวหิน ขณะที่ไทยมี สอท.ไทย/สตอกโฮล์ม มีเขตอาณาครอบคลุมฟินแลนด์และลัตเวีย โดยในปี 2564 มีคนไทยในสวีเดนจำนวนประมาณ 80,000 คน มีวัดไทย/สำนักสงฆ์ จำนวน 12 แห่ง ร้านอาหารไทยอย่างน้อย 1,000 ร้าน สถานบริการนวดแผนไทยประมาณ 631 แห่ง สมาคมไทย 39 สมาคม
ด้านความมั่นคง สวีเดนให้ความสนใจกับปัญหาความมั่นคงของไทย โดยมีบทบาทสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเพื่อนบ้านในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งสวีเดนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านการพัฒนาในเมียนมา ขณะเดียวกัน เป็นแกนนำสนับสนุนให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮีนจามาลงโทษ
ข้อตกลงสำคัญ : ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษกิจ วิชาการ และวิทยาศาตร์ (26 ก.ย.2532) ความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (29 ก.ย.2548) Memorandum of Understanding on Joint Fellowship Programme for Doctoral Studies (3 ก.พ.2558) นอกจากนี้ ไทยและสวีเดนมีข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สวีเดน (Joint Plan of Action) จำนวน 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 2 คือ ระหว่างปี 2556-2560 เป็นการสานต่อจากแผนปฏิบัติการร่วมฉบับก่อนหน้า (ปี 2548-2552) เนื้อหาในแผนปฏิบัติการครอบคลุมถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่ เกษตรกรรมและป่าไม้ การทหารและความมั่นคง การออกแบบ การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ การฟื้นฟูหลังเหตุภัยพิบัติ การขยายความร่วมมือในโครงการพัฒนาระดับภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับโลก ต่อมาเมื่อปี 2556 ไทยและสวีเดนได้ลงนามความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายในการต่อต้านอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร การลักลอบค้ายาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น การค้ามนุษย์ การก่อการร้ายและอาชญากรรมร้ายแรงอื่น ๆ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) เสถียรภาพของรัฐบาลและความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลแนวคิดขวา ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
2) ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย ภัยคุกคามจากปัญหาการเติบโตของกระแสเกลียดกลัวอิสลาม และกระแสเกลียดชังทางเชื้อชาติ รวมทั้งความนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคการเมืองฝ่ายขวา
3) ภัยคุกคามจากรัสเซีย จีน และอิหร่าน โดยเฉพาะการจารกรรมข้อมูลข่าวสาร และการก่อวินาศกรรมโครงสร้างพื้นฐาน
4) ความคืบหน้าในการเข้าเป็นสมาชิกสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือเนโต (NATO)