ราชอาณาจักรไทย
Kingdom of Thailand
เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 5 องศา 37 ลิปดาเหนือกับ 20 องศา 27 ลิปดาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 97 องศา 22 ลิปดาตะวันออกกับ 105 องศา 37 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 513,120 ตร.กม. (คิดเป็น 0.34% ของพื้นที่โลก) หรือประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 510,890 ตร.กม. และพื้นที่ทางทะเล 2,230 ตร.กม. มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก เป็นอันดับที่ 12 ในเอเชีย และอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและเมียนมา ระยะทางจากจุดเหนือสุดถึงใต้สุด 1,640 กม. ความกว้างจากจุดตะวันตกสุดไปจุดตะวันออกสุด 780 กม. พรมแดนทางบก 5,673 กม. พรมแดนทางทะเล 3,219 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเมียนมาและลาว จุดเหนือสุดอยู่ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ทิศตะวันออก ติดกับลาวและกัมพูชา จุดตะวันออกสุดอยู่ที่ อ.โขงเจียม
จ.อุบลราชธานี
ทิศใต้ ติดกับมาเลเซีย จุดใต้สุดอยู่ที่ อ.เบตง จ.ยะลา
ทิศตะวันตก ติดกับเมียนมา จุดตะวันตกสุดอยู่ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน
ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ติดกับอ่าวไทย
ภูมิประเทศ อยู่ในเขตโซนร้อน ภาคเหนือเป็นพื้นที่สูง มียอดเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย ยอดเขาสูงสุด คือ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ สูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่สูงหรือที่ราบสูง ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ขณะที่ทิศใต้ของภาคกลางติดกับอ่าวไทย ส่วนภาคใต้มีพื้นที่เป็นทิวเขาสูงสลับที่ราบลุ่มและมีชายหาดทะเลทั้งฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) และฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
(นรม. และ รมว.กระทรวงกลาโหม)
ประชากร ประมาณ 66.18 ล้านคน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ณ ปี 2563) เป็นหญิง 33.81 ล้านคน ชาย 32.37 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ประชากรมากที่สุด : กรุงเทพฯ 5.58 ล้านคน ประชากรน้อยที่สุด: สมุทรสงคราม 192,052 คน จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุดรธานี ชลบุรี นครศรีธรรมราช และศรีสะเกษ ตามลำดับ อายุขัยเฉลี่ย: ชาย 72.4 ปี หญิง 78.9 ปี อัตราการเกิด : 10.7 คน/ประชากร 1,000 คน อัตราการตาย: 8.3 คน/ประชากร 1,000 คน
ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ โดยเขตการปกครองแบ่งเป็น 1) การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางตามหลักการรวมอำนาจ (Centralization) ทั้งการตัดสินใจ กำหนดนโยบาย วางแผนจัดสรรงบประมาณ ควบคุมตรวจสอบ และบริหารราชการในกิจการสำคัญให้หน่วยงานต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มีหน้าที่รับผิดชอบ 4 ส่วน คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงส่วนราชการระดับกรมที่เป็นอิสระ และองค์กรส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองตามกฎหมาย 2) การปกครองส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 76 จังหวัด (ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 21 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 5 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด) และ 3) การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 เม.ย.2560 ประกอบด้วย 279 มาตรา 16 หมวด และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1) ที่มาของ นรม. ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น แต่ต้องมาจากการเสนอชื่อของสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็น นรม. ได้ไม่เกิน 3 คน และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ขณะที่มาตรา 272 กำหนดว่าหากไม่อาจแต่งตั้ง นรม. ในบัญชีรายชื่อที่เสนอโดยพรรคการเมืองได้ ให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 คน เสนอชื่อบุคคลภายนอกบัญชีได้ 2) กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 7 ด้าน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการ อีกทั้งกำหนดลักษณะต้องห้ามของทั้ง ส.ส. สว. หรือ รมต. เป็นกลไกป้องกันไม่ให้คนทุจริตเข้าสู่การเมือง และ 3) ที่มา สว. ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี สว. จำนวน 200 คน จากการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพหรือประโยชน์ร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้เลือกกันเอง ส่วนระยะ 5 ปีแรกตามมาตรา 269 กำหนดให้มี สว. จำนวน 250 คน โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 194 คน ส่วนอีก 50 คน มาจากการคัดเลือกกันเอง และมีผู้เป็น สว. โดยตำแหน่งอีก 6 คน นอกจากนี้ สว.ยังมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือก นรม.ร่วมกับ ส.ส.
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 65 เพื่อเกิดการปฏิบัติให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง (การรักษาความสงบภายในประเทศ/ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง/พัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ/บูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ/พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบบูรณาการ) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จในปี 2580 ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ อาทิ ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก การนำเสนอแนวความคิดริเริ่มและหนทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศตามโอกาสที่เหมาะสม
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาไทยเป็นระบบสองสภา (Bicameral) ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
1) สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 500 คน สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ดังนี้ 1) แบบแบ่งเขต มีจำนวน 350 คน คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. 2) แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 150 คน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่งให้กรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จากพรรคต่างๆ ทั้งประเทศ มาคำนวณจำนวน ส.ส.ของพรรคการเมืองที่จะได้รับในการเลือกตั้ง ส.ส.มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี
2) วุฒิสภา จำนวน 200 คน ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรก วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งมีที่มา 3 แบบ ดังนี้ 1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดเลือกผู้ได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ได้ จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรอง จำนวน 50 คน โดยการคัดเลือกดังกล่าวให้คำนึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง 2) คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาให้ได้ จำนวน 194 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองจากบัญชีรายชื่อ ที่ได้รับการสรรหา จำนวน 50 คน 3) ผู้ดำรงตำแหน่ง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ : ไทยเป็นระบบศาลคู่ ที่มีการจัดตั้งศาลเฉพาะ เพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนแยกจากศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดศาลไทยไว้ 4 ประเภท คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร การพิจารณาคดีของศาลไทยใช้ระบบกล่าวหา (Accusatorial System) ที่คู่ความดำเนินเรื่องทั้งหมดโดยศาลมีหน้าที่รับฟังตัดสินคดี ขณะที่ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี อำนาจหน้าที่ของแต่ละศาล มีดังนี้
1) ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือข้อพิพาทเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรต่าง ๆ การวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการการเลือกตั้ง การวินิจฉัยชี้ขาดสมาชิกภาพของ รมต. ส.ส. หรือ สว. รวมถึงการควบคุมตรวจสอบพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
2) ศาลยุติธรรม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลอื่น โดยศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ประเภทคดีตามอำนาจศาล อาทิ คดีแพ่ง คดีอาญา คดีล้มละลาย คดีแรงงาน และอื่น ๆ ตามกฎหมายกำหนด ศาลยุติธรรมมีบทบาทเป็นศาลหลักตามเขตอำนาจเป็นการทั่วไปต้องรับคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมมีแผนกคดีพิเศษรวม 11 แผนก สำหรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ ได้แก่ คดีเยาวชนและครอบครัว คดีแรงงาน คดีผู้บริโภค คดีเลือกตั้ง คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลาย คดีภาษีอากร คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ คดีสิ่งแวดล้อม และคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา
3) ศาลปกครอง (Administrative Court) เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว สัญญาทางปกครอง การกระทำละเมิดทางปกครอง การละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติงานล่าช้าเกินสมควร หรือคดีพิพาททางปกครองอื่น ๆ ตามเขตอำนาจศาล โดยมีการพิจารณา 2 ชั้น คือ 1) ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลางและศาลปกครองภูมิภาค) และ 2) ศาลปกครองสูงสุด
4) ศาลทหาร อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม จัดตั้งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารและความผิดต่อกฎหมายทหารหรือตามบัญชีแนบท้ายกฎอัยการศึก ปกติเป็นคดีที่ทหารประจำการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ทั้งนี้ คดีนอกอำนาจศาลทหารให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน แม้จะปรากฏภายหลังว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้
พรรคการเมือง : ข้อมูลเมื่อ ก.ย.2564 พรรคการเมืองที่ยังดำเนินการเป็นพรรคการเมือง รวม 83 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคเพื่อชาติ
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 501.712 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : ติดลบ -6.099% คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปี 2564 ประมาณ 0.9%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 7,187.855 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
แรงงาน : 38.41 ล้านคน (ปี 2563)
อัตราการว่างงาน : 2%
อัตราเงินเฟ้อ : ติดลบ 0.9%
เงินสำรองระหว่างประเทศ : 280,186.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,337,490.36 ล้านบาท (พ.ย.2564)
การจัดเก็บรายได้ : 2,394,076 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562–ก.ย.2563)
หนี้ต่างประเทศ : 168,390.72 ล้านบาท (ก.ย.2564)
มูลค่าการค้ากับต่างประเทศ : 13,659,835.04 ล้านบาท (ปี 2563)
มูลค่าการส่งออก : 7,183,567.61 ล้านบาท
มูลค่าการนำเข้า : 6,476,267.43 ล้านบาท
ดุลการค้า : เกินดุล 707,300.18 ล้านบาท
คู่ค้าสำคัญ : จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และไต้หวัน
สินค้าส่งออก : 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3) อัญมณีและเครื่องประดับ 4) ผลิตภัณฑ์ยาง 5) เม็ดพลาสติก
ตลาดส่งออกสำคัญ : สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
สินค้านำเข้า : 1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 2) น้ำมันดิบ 3) เคมีภัณฑ์ 4) แผงวงจรไฟฟ้า 5) เหล็ก
แหล่งนำเข้าสำคัญ : จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยอรมนี
การค้าชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 760,241.08 ล้านบาท (ลดลง 8.01% จากปี 2562) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 448,027.17 ล้านบาท (ลดลง 7.45%) และการนำเข้ามูลค่า 312,213.91 ล้านบาท (ลดลง 8.80%) ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 135,813.27 ล้านบาท โดยมีการค้าชายแดนด้านมาเลเซียสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 32.82% ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม รองลงมา คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา
ขณะที่การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 584,901 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.63%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 357,727 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22.17%) และการนำเข้ามูลค่า 227,174 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11.12%) ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 130,553 ล้านบาท
1) การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 249,498.85 ล้านบาท (ลดลง 9.10%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 124,193.11 ล้านบาท (ลดลง 2.03%) และการนำเข้ามูลค่า 125,305.74 ล้านบาท (ลดลง 15.18%) ไทยขาดดุลการค้า 1,112.63 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และยางยานพาหนะ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้าอื่น ๆ และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 208,622 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 37.24%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 112,346 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 52.24%) และการนำเข้ามูลค่า 96,276 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.08%) ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าทั้งสิ้น 16,070 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เทปแม่เหล็ก ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ไดโอด และเม็ดพลาสติก
2) การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 164,778.86 ล้านบาท (ลดลง 14.74%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 87,090 ล้านบาท (ลดลง 12.38%) และนำเข้ามูลค่า 77,688.71 ล้านบาท (ลดลง 17.24%) ไทยได้ดุลการค้า 9,401.45 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผ้าผืนและด้าย น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช สัตว์น้ำ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และปลาหมึกสด แช่เย็น แช่แข็ง
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 126,530 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 10.56%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 71,800 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.37%) และการนำเข้ามูลค่า 54,730 ล้านบาท (ลดลง 1.01%) ซึ่งไทยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 17,070 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล ผ้าผืนและด้าย สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และสัตว์น้ำ
3) การค้าชายแดนไทย-ลาว ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 189,836.10 ล้านบาท (ลดลง 3.85%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 103,622.44 ล้านบาท (ลดลง 12.10%) และการนำเข้ามูลค่า 86,213.66 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.37%) ไทยได้ดุลการค้า 17,408.78 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ รถยนต์นั่ง น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ (พลังงานไฟฟ้า) ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้ง เครื่องรับวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และผักและของปรุงแต่งจากผัก
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 140,142 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.64%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 81,715 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 18.91%) และการนำเข้ามูลค่า 58,427 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.01%) ซึ่งไทยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 23,288 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่น ๆ (ไฟฟ้า) ทองคำ ทองแดงและผลิตภัณฑ์
4) การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 156,127.26 ล้านบาท (ลดลง 3.15%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 133,121.46 ล้านบาท (ลดลง 4.94%) และการนำเข้ามูลค่า 23,005.79 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.63%) ไทยได้ดุลการค้า 110,115.67 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก ลวดและสายเคเบิลที่หุ้มฉนวน อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และสัตว์น้ำ
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 109,607 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.99%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 91,865 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.80%) และการนำเข้ามูลค่า 17,742 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.64%) ซึ่งไทย ได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 74,123 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ รถยนต์นั่ง สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก อลูมิเนียม ลวดและสายเคเบิล
มูลค่าการค้าผ่านแดนของไทย-ประเทศในภูมิภาค (จีนตอนใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม)
ปี 2563 มีมูลค่ารวม 386,818.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13.38%) โดยการค้ากับจีนตอนใต้เป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 61.73% ของมูลค่าการค้าผ่านพรมแดนรวม รองลงมา คือ สิงคโปร์ 22.94% และเวียดนาม 15.33%
ขณะที่ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 การค้าไทย-ประเทศในภูมิภาค (จีนตอนใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม) มีมูลค่ารวม 382,305 ล้านบาท
1) การค้าผ่านแดนไทย-จีนตอนใต้ ปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 238,789.88 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20.01%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 121,984.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8.68%) และการนำเข้ามูลค่า 116,805.46 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 34.67%) โดยไทยได้ดุลการค้า 5,178.96 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้แปรรูป สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เทปแม่เหล็ก จากแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้งโทรศัพท์ และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 256,962 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 67.24%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 146,931 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 78.95%) และการนำเข้ามูลค่า 110,031 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 53.79%) ซึ่งไทยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 36,900 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องรับ-ส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้งโทรศัพท์ และเทปแม่เหล็ก
2) การค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2563 มีมูลค่าการค้าผ่านแดนรวม 88,728.68 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.16%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 35,547.56 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.96%) และการนำเข้ามูลค่า 53,181.12 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20.14%) โดยไทยขาดดุลการค้า 17,633.57 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และนมและผลิตภัณฑ์นม สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่น ๆ และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 78,560 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 38.37%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 34,607 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 53.68%) และการนำเข้ามูลค่า 43,953 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 28.31%) ซึ่งไทย ขาดดุลการค้าทั้งสิ้น 9,346 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เทปแม่เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลอื่น ๆ
3) การค้าไทย-เวียดนาม ปี 2563 มีมูลค่าการค้าผ่านแดนรวม 59,299.74 ล้านบาท (ลดลง 10.79%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 44,023.58 ล้านบาท (ลดลง 17.76%) และการนำเข้ามูลค่า 15,276.16ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 18.09%) โดยไทยได้ดุลการค้า 28,747.42 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ลำไยแห้ง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชอื่น ๆ วงจรพิมพ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับติดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
ในห้วง ม.ค.-ส.ค.2564 มีมูลค่ารวม 46,783 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 17.77%) คิดเป็นการส่งออกมูลค่า 30,964 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.19%) และการนำเข้ามูลค่า 15,818 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 49.75%) ซึ่งไทย ได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 15,146 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เคมีภัณฑ์อื่น ๆ ไอโอดและทรานซิสเตอร์
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
กระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อ 13 ม.ค.2563 เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนเดินทางมาจากนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย จีน ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 นอกประเทศจีน จากนั้นทางการได้ดำเนินการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ และพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากจีน หรือพำนักอยู่ในจีน ส่วนผู้ติดเชื้อที่เป็นคนไทย หรือการติดเชื้อในประเทศ พบครั้งแรกเมื่อ 31 ม.ค.2563 เป็นพนักงานขับรถแท็กซี่ที่คาดว่าติดเชื้อจากผู้โดยสารชาวจีน ทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง มี.ค.2563 จากกรณีการแพร่ระบาด แบบกลุ่มก้อน (cluster) ที่เชื่อมโยงกับการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่าวันละ 100 ราย ทั้งนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวันสูงสุดเมื่อ 22 มี.ค.2563 จำนวน 188 ราย
ทางการไทยดำเนินการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการคัดกรอง การติดตามผู้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และการสอบสวนโรค เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณท่าอากาศยาน โรงพยาบาล ด่านพรมแดน และแหล่งชุมชน โดยในช่วงปลาย มี.ค.2563 รัฐบาลออกคำสั่งจำกัดการเดินทาง ปิดห้างร้าน ธุรกิจ และสถานศึกษา โรงเรียน ในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้ เมื่อ 26 มี.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน ยามวิกาล เมื่อ 3 เม.ย.2563 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลเร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจและประชาชน
ไทยได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (World Health Organization–WHO) จากผลการดำเนินงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 โดย ผอ.WHO ยกย่องไทยให้เป็นประเทศตัวอย่างที่ดีเยี่ยม ที่สามารถวางแนวทางรับมือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ แม้ปราศจากวัคซีน ในระหว่างพิธีปิดการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 73 (World Health Assembly-WHA) เมื่อ 13 พ.ย.2563 โดยเฉพาะการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับวิกฤตโรค COVID-19 การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขของไทย และความร่วมมือจากภาคประชาชน
นอกจากนี้ ไทยยังพยายามจัดหาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ซึ่งเป็นหนทางที่จะช่วยยุติการแพร่ระบาดได้ โดยไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนทุกบริษัทของประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ 1) บริษัท AstraZeneca ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขไทย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทเอสซีจี ในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโรค COVID-19 2) การเยือนไทยของนายหวางอี้ มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อ ต.ค.2563 ให้คำมั่นว่า จะจัดให้ไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกที่จะเข้าถึงวัคซีนเมื่อจีนพัฒนาได้สำเร็จ 3) การเร่งพัฒนาวัคซีนของไทยจากความช่วยเหลือและความร่วมมือ ด้านการแพทย์ อาทิ ผ่านหน่วยแพทย์ทหารบกสหรัฐฯ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) 4) กระชับความร่วมมือในกรอบเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย-ไทยมีอยู่ อาทิ เมื่อปี 2562 กรมควบคุมโรค ร่วมกับรัสเซีย จัดประชุมเตรียมความพร้อมและตอบโต้โรคติดเชื้อที่อาจมีแนวโน้มเกิดการระบาดในภูมิภาค และ 5) การที่ไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX เมื่อ 9 ก.ค.2563 เป็นโอกาสให้ไทยได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม โดยคาดว่า ไทยพร้อมจะแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้กับประชาชนได้ในกลางปี 2564
อย่างไรก็ตาม ห้วง ธ.ค.2563 ไทยเผชิญการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และต่อมาสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยรุนแรงเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยเมื่อห้วง เม.ย.2564 พบการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จากกรณีการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน (cluster) กรณีสถานบันเทิงในพื้นที่ทองหล่อ กรุงเทพฯ ส่งผลให้การแพร่ระบาดกระจายอย่างรวดเร็วในพื้นที่กรุงเทพฯ และกระจายสู่ต่างจังหวัด จนถึงปัจจุบัน (14 พ.ย.2564) ไทยพบผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 2,018,410 คน และเสียชีวิต 20,036 ราย ทั้งนี้ ไทยมีความพยายามดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง และมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้ง ไทยสามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 1 พ.ย.2564 เพื่อเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ