สหพันธรัฐรัสเซีย
(Russian Federation)
เมืองหลวง กรุงมอสโก
ที่ตั้ง อยู่ทั้งภูมิภาคเอเชียตอนเหนือและภูมิภาคยุโรป มีเทือกเขาอูราลเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองทวีป พื้นที่ 17,098,242 ตร.กม. (พื้นที่ใหญ่กว่าไทยประมาณ 35 เท่า) พื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยพื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย แบ่งเป็นพื้นดิน 16,377,742 ตร.กม. และพื้นน้ำ 720,500 ตร.กม. ระยะทางจากด้านตะวันออกจรดตะวันตก 9,000 กม. และจากด้านเหนือจรดใต้ 4,000 กม. มีชายแดนยาวรวมกัน 22,408 กม. และชายฝั่งทะเลยาวรวมกัน 37,653 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดมหาสมุทรอาร์กติก
ทิศตะวันออก ติดมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดจีน
ทิศใต้ ติดเกาหลีเหนือ จีน มองโกเลีย คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย
ทิศตะวันตก ติดยูเครน เบลารุส ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดฟินแลนด์ และนอร์เวย์
ภูมิประเทศ ทางตะวันตกของเทือกเขาอูราลเป็นที่ราบกว้างใหญ่และเนินเขา ภาคไซบีเรียมีป่าสนขนาดใหญ่และเป็นที่ราบผืนใหญ่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง พื้นที่ทางใต้เป็นที่ราบสูงและเทือกเขา ชายฝั่งทะเลมีทั้งชายฝั่งลาดชัน ชายฝั่งราบเรียบ และชายฝั่งราบลุ่ม มีอ่าวขนาดต่าง ๆ มากมาย มีคาบสมุทรขนาดใหญ่ คือ คาบสมุทรคัมชัตกาอยู่ทางตะวันออก และคาบสมุทรไตมีร์อยู่ทางเหนือ โดยติดทะเล 13 แห่ง ได้แก่ 1) ทะเลโอคอตสก์ 2) ทะเลญี่ปุ่น 3) ทะเลแคสเปียน 4) ทะเลอะซอฟ 5) ทะเลดำ 6) ทะเลบอลติก 7) ทะเลขาว 8) ทะเลแบเรนตส์ 9) ทะเลคารา 10) ทะเลลัปเตฟ 11) ทะเลไซบีเรียตะวันออก 12) ทะเลชุกซี และ 13) ทะเลแบริง และมี 11 เส้นแบ่งเวลา (UTC +2 ถึง UTC+12)
ภูมิอากาศ หลากหลายและแตกต่างตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ มีฤดูหนาวยาวนาน อากาศหนาวจัดและพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิมะเป็นเวลานานถึง 6 เดือน โดยมีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสเตปป์ทางตอนใต้ ภูมิอากาศแบบชื้นภาคพื้นทวีปในพื้นที่ด้านยุโรป และภูมิอากาศกึ่งอาร์กติกในไซบีเรียกับทุนดราในเขตขั้วโลกเหนือ รัสเซียมี 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) และฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.)
ทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก ถ่านหิน ป่าไม้ แร่ธาตุสำคัญทางยุทธศาสตร์และแร่ธาตุหายาก อาทิ แร่ใยหิน (Asbestos) แร่โคลัมเบียม (Columbium)หรือไนโอเบียม (Niobium) และแร่สแกนเดียม (Scandium)
ศาสนา คริสต์นิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์ 75% อิสลาม 10-15% หรือประมาณ 20 ล้านคน (มีกว่า 40 กลุ่ม ส่วนมากเป็นอิสลาม (ซุนนี) และคริสต์นิกายอื่น ๆ 2%
ภาษา ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ มีผู้ใช้ 85.7% ภาษาตาตาร์ 3.2% ภาษาเชเชน 1% และภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่น 10.1%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.7%
วันชาติ 12 มิ.ย. (วันประกาศอิสรภาพ)
นายวลาดีมีร์ วลาดิมีโรวิช ปูติน
Vladimir Vladimirovich Putin
(ประธานาธิบดีรัสเซีย)
ประชากร 146,447,424 คน(ปี 2566)
รายละเอียดประชากร
สัดส่วน ชาย 46.26% หญิง 53.74% ที่อยู่อาศัยในเมือง 74.8% (เมืองที่หนาแน่น 6 อันดับแรก ได้แก่ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โนโวซีบีรสค์ ยากาเตรินบุร์ก คาซาน และนิจนีนอฟโกรอด) ชนบท 25.2% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 17.24% วัยรุ่น (15-24 ปี) 9.54% วัยทำงาน (25-54 ปี) 43.38% วัยเริ่มชรา (55-64 ปี) 14.31% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 15.53% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 72.72 ปี เพศชาย 67.22 ปี เพศหญิง 78.54 ปี อัตราการเกิด 9.22 คน ต่อ 1,000 คน อัตราการตาย 13.27 คนต่อ 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร -0.24% อัตราการย้ายถิ่นฐาน 1.7 คนต่อ 1,000 คน อายุเฉลี่ยหญิงตั้งครรภ์แรก 25.2 ปี (ปี 2556)
การก่อตั้งประเทศ ราชวงศ์โรมานอฟปกครองรัสเซียตั้งแต่ปี 2156 จนกระทั่งการโค่นล้มราชบัลลังก์ของซาร์นิโคลัสที่ 2 ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มบอลเชวิก ที่มีนายวลาดีมีร์ เลนิน เป็นผู้นำ เมื่อปี 2460 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1) กลุ่มบอลเชวิก
เข้าบริหารประเทศและจัดตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republic-USSR) หรือสหภาพโซเวียต (Soviet Union) ขึ้นเมื่อปี 2465
พรรคคอมมิวนิสต์บริหารปกครองสหภาพโซเวียตอยู่จนถึงปี 2528 หลังจากนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ดำเนินนโยบายปฏิรูประบบสังคมนิยมภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเปิดเสรีทางการเมือง (Perestroika และ Glasnost) ซึ่งการเปิดเสรีทางการเมืองนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 โดยแยกออกเป็น 15 ประเทศ ดังนี้ 1) รัสเซีย 2) มอลโดวา 3) เบลารุส 4) ยูเครน 5) อาร์เมเนีย 6) อาเซอร์ไบจาน 7) จอร์เจีย 8) คาซัคสถาน 9) อุซเบกิสถาน 10) เติร์กเมนิสถาน 11) คีร์กีซสถาน 12) ทาจิกิสถาน 13) ลัตเวีย 14) เอสโตเนีย และ 15) ลิทัวเนีย
การเมือง
ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและมีอำนาจบริหารประเทศ โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี (ขยายจากเดิมวาระละ 4 ปีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 มี.ค.2555) ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งในนามผู้สมัครอิสระ เมื่อ 18 มี.ค.2561 และชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง76.66% ถือเป็นการครองตำแหน่งสมัยที่ 4 ดำรงตำแหน่งถึงปี 2567
รัสเซียมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 12 ธ.ค.2536 และมีการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ห้วง 25 มิ.ย.-1 ก.ค.2563 มีผู้มาใช้สิทธิทั้งสิ้น 67.97% ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบร่างแก้ไข สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ การขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียได้มากกว่าสองสมัยติดต่อกัน (ส่งผลให้ประธานาธิบดีปูติน อาจอยู่ในอำนาจต่อเนื่องยาวนานถึงปี 2579) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้ง รวมถึงประเด็นการขยายอำนาจรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญรัสเซีย รวมทั้งการปรับโครงสร้าง สว.ให้ดำรงตำแหน่งตลอดชีพ ได้แก่ อดีตประธานาธิบดีซึ่งจะมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกจาก ครม. หรือรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่ง สว.ตลอดชีพได้อีก 7 คน และกฎหมายเอกสิทธิ์การคุ้มครองประธานาธิบดีตลอดชีวิต แม้สิ้นสุดสถานะตำแหน่งประธานาธิบดี
รัสเซียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 เขตสหพันธ์ (Federal Districts) แต่ละเขตบริหารโดยผู้ว่าราชการเขต ซึ่งประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนประธานาธิบดี ได้แก่ 1) เขตสหพันธ์กลาง (Central Federal District) 2) เขตสหพันธ์ใต้ (Southern Federal District) 3) เขตสหพันธ์ตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwestern Federal District) 4) เขตสหพันธ์ตะวันออกไกล (Far Eastern Federal District) 5) เขตสหพันธ์ไซบีเรีย (Siberian Federal District) 6) เขตสหพันธ์อูราลส์ (Urals Federal District) 7) เขตสหพันธ์วอลกา (Volga Federal District) 8) เขตสหพันธ์คอเคซัสเหนือ (North Caucasian Federal District) และ 9) เขตสหพันธ์ไครเมีย (Crimean Federal District) จัดตั้งเมื่อ 21 มี.ค.2557 หลังจากผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งแต่ละเขตสหพันธ์ยังแบ่งย่อยเป็น สาธารณรัฐ (Republics) ดินแดน (Territories) แคว้น (Provinces) นครสหพันธ์ (Federal cities) แคว้นปกครองตนเอง (Autonomous oblast) และเขตปกครองตนเอง(Autonomous districts)
สหพันธรัฐ ประกอบด้วย หน่วยการปกครองรวมทั้งหมด 85 หน่วย แบ่งเป็น 22 สาธารณรัฐ (Republics) 9 เขตการปกครอง (Krais) 46 มณฑล (Oblasts) 3 นคร(Federal cities) ได้แก่ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเซวาสโตปอลซึ่งมีสถานภาพเดียวกับมณฑล 4 ภาคปกครองตนเอง (Autonomous Okrugs) และ 1 มณฑลปกครองตนเอง(Autonomous Oblast)
การเมืองในรัสเซียยังมีเสถียรภาพ แม้มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล ได้แก่ 1) กลุ่มที่สนับสนุนนาย Navalny ซึ่งศาลรัสเซียพิพากษาให้จำคุกเพิ่มอีก 19 ปี ฐานก่อตั้งและจัดหาเงินทุนสนับสนุนองค์กรหัวรุนแรง (เมื่อ 8 ก.พ.2560 สั่งจำคุกฐานละเมิดทัณฑ์บนปี 2556 จากข้อหายักยอกเงิน 2) การปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน เมื่อ 24 ก.พ.2565 กระตุ้นให้ประชาชนเคลือบแคลงใจต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูติน และนโยบายของรัฐบาล อาทิ การสั่งระดมพลสำรองจำนวน 300,000 นาย เป็นการระดมพลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดการประท้วงใน 38 เมือง และความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ของกลุ่ม “The Youth Democratic Movement-Vesna” กลุ่ม Feminist Anti-War Resistance–FAWR กลุ่ม Anarchism และกลุ่มการประท้วง North Caucasian เป็นต้น เมื่อ ก.ค.2566 สภาผู้แทนราษฎรรัสเซียลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายปรับเพิ่มอายุสูงสุดสำหรับการเกณฑ์ทหารเป็น 30 ปี (เดิม 27 ปีจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567) และกำหนดห้ามชายชาวรัสเซียที่ได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ข้อหาทำให้กองทัพเสื่อมเสียชื่อเสียง เผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับปฏิบัติการทหารของรัสเซียในยูเครน หรือยุยงให้ผู้ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเข้าร่วมการประท้วง และ 3) ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ จากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น และกระแสเรียกร้องให้ประธานาธิบดีปูตินลาออกจากตำแหน่ง
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี มีอำนาจแต่งตั้ง นรม. และ ครม. การแต่งตั้ง นรม. ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการโดยตรงต่อ รมต. หรือหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และมีอำนาจยุบสภา ประธานาธิบดีปูตินดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 เมื่อ 7 พ.ค.2561
ปัจจุบันรัสเซียมีทั้งหมด 21 กระทรวง 20 หน่วยงานขึ้นตรง (Federal Services and Agencies) 2 นิติบุคคลจัดตั้งโดยรัฐเพื่อภารกิจเฉพาะ และมี 3 กองทุนของรัฐบาล โดยโครงสร้างบริหารหน่วยงานของรัฐแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) ภายใต้กำกับดูแลของประธานาธิบดีจำนวน 14 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม หน่วยข่าวกรอง 2) หน่วยงานระดับกระทรวงภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาล จำนวน 16 กระทรวง อาทิ กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษา และ 3) หน่วยงานของรัฐภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาล จำนวน 10 หน่วยงาน
ปี 2565 มีการแต่งตั้ง รมต. 2 ตำแหน่งคือ รอง นรม.คือ นาย Denis Manturov (เมื่อ ก.ค.2565) แทนนาย Yury Borisov โดยดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า อีกตำแหน่งหนึ่ง และ นาย Alexander Kurenkov (เมื่อ พ.ค.2565) ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงป้องกันพลเรือน สถานการณ์ฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย แทนนาย Yevgeny Zinichev ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่เมื่อ ก.ย.2564
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบ 2 สภา รัฐสภา ประกอบด้วย 1) สภาสหพันธรัฐ(Federation Council) หรือสภาสูง มีสมาชิก 170 คน (โดยผู้บริหารระดับสูงและ จนท.กฎหมายจากเขตการปกครอง 83 เขต แต่งตั้งเขตละ 2 คน) วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (Duma) มีสมาชิก 450 คน ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบผสม คือ การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 225 คน และระบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่อของพรรค 225 คน วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ขยายจากเดิมวาระละ 4 ปีนับแต่การเลือกตั้ง เมื่อ 4 ธ.ค.2554) การเลือกตั้งครั้งล่าสุดห้วง 17-19 ก.ย.2564 พรรค United Russia ได้รับเลือกมากที่สุด 50.88% ได้ 324 ที่นั่ง (ลดลง 19 ที่นั่ง) พรรค Communist Party of the Russian Federation ได้ 57 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 15) พรรค A Just Russia ได้ 27 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 4) พรรค Liberal Democratic Party of Russia ได้ 21 ที่นั่ง (ลดลง 18) พรรค New People ได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก 13 ที่นั่ง พรรค Rodina ได้ 1 ที่นั่ง (เท่าเดิม) พรรค Party of Growth ได้ 1 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 1) พรรค Civic Platform ได้ 1 ที่นั่ง (เท่าเดิม) และผู้สมัครอิสระ 5 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 4) การเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นภายใน 20 ก.ย.2569
การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่สำคัญของรัสเซีย อาทิ ปี 2555 เพิ่มนิยาม “Foreign Agents” ในกฎหมายควบคุม NGOs ปี 2560 กฎหมายควบคุมสื่อมวลชน ปี 2562 รัสเซียแก้ไขปรับปรุงกฎหมายครั้งใหญ่โดยพิจารณากลั่นกรองและยกเลิกกฎระเบียบเก่าที่ล้าสมัยซึ่งนำโดยนายดมิตรี เมดเวเดฟ (นรม.ขณะนั้น) อาทิ กฎหมายอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย (Sovereign Internet Law) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ย.2562 นอกจากนี้ มีการแก้ไขกฎหมายสำคัญหลายฉบับปี 2563 อาทิ กฎหมายให้สัญชาติรัสเซียแก่ชาวต่างชาติ กฎหมายสินทรัพย์การเงินดิจิทัลในรัสเซีย และปี 2565 รัสเซียปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนที่รัสเซียเข้าครอบครอง บทลงโทษที่เกี่ยวเนื่องกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน รวมถึงการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออก และกฎหมายต่อต้านกลุ่มหลากหลายทางเพศ เช่น เพิ่มบทลงโทษการเผยแพร่ข่าวสารอันเป็นเท็จเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในยูเครน หรือสร้างความเสื่อมเสียแก่กองทัพรัสเซีย บังคับให้ภาคธุรกิจจัดหาสินค้าให้กับกองทัพเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการในยูเครน และสนธิสัญญาผนวกดินแดนกับผู้บริหารแคว้นโดเนตส์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย หลังส่วนบริหารท้องถิ่นเสร็จสิ้นการจัดทำประชามติผนวกดินแดนกับรัสเซียระหว่าง 23-27 ก.ย.2565
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) และพัฒนาการกฎหมายรัสเซียได้รับอิทธิพลจากการกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law) สำหรับกระบวนพิจารณาของศาลได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญรัสเซีย เป็นอิสระจากอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร มีการปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 สำหรับปัจจุบัน รัสเซียมีศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐ (Constitutional Court) โดยมีศาลรัฐธรรมนูญรัฐต่าง ๆ จำนวน 16 ศาล ขณะที่ศาลฎีกาแห่งสหพันธรัฐ (Supreme Court) มีเขตอำนาจศาล 1) พิจารณาคดีทั่วไป ได้แก่ คดีแพ่ง (แพ่ง/ครอบครัว/แรงงาน) คดีอาญา คดีปกครอง คดีการเมือง (ระดับ รัฐ/เมือง/เขต/ท้องถิ่น) และมีระบบศาลชำนัญพิเศษ ได้แก่ ศาลทหาร (ระดับ ทหารภาคและทหารเรือ/ทหารในฐานทัพ) และ 2) คดีพาณิชย์ (ระดับภาค/อุทธรณ์/รัฐและเมือง) โดยครอบคลุมศาลเมืองมอสโกและศาลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นการรวมศาลพาณิชย์สูงสุดเข้ากับศาลฎีกา เมื่อ ก.พ.2556 เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพิจารณาคดี
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรค พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ 1) พรรคUnited Russia เป็นพรรครัฐบาล (ปี 2563 มี 338 ที่นั่ง) มี นายดมิตรี เมดเวเดฟ เป็นหัวหน้าพรรค 2) พรรค Communist Party of the Russian Federation (CPRF) (43 ที่นั่ง) มีนาย Gennady Zyuganov เป็นหัวหน้าพรรค 3) พรรค Liberal Democratic Party of Russia (LDPR) (40 ที่นั่ง) มีนาย Vladimir Zhirinovsky เป็นหัวหน้าพรรค 4) พรรค Just Russia (23 ที่นั่ง) มีนาย Sergey Mironov เป็นหัวหน้าพรรค 5) พรรค Rodina (1 ที่นั่ง) มี นาย Aleksei Zhuravlyov เป็นหัวหน้าพรรค และ 6) พรรค Civic Platform (CP) (1 ที่นั่ง) โดยมีนาย Rifat Shaykhutdinov เป็นหัวหน้าพรรค
เศรษฐกิจ
รัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดในโลก มีถ่านหินสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับ 8 ของโลก รัสเซียผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 และส่งออกน้ำมันอันดับ2 ของโลก (ปี 2558) รัฐบาลสะสมทองคำ 2,246 ตัน (มูลค่า 108,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ 11 ต.ค.2562) และเป็นประเทศที่ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมในอันดับต้นของโลก อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจรัสเซียพึ่งพาภาคการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้ประสบปัญหาจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก
เศรษฐกิจรัสเซียเมื่อปี 2560 เริ่มฟื้นตัวจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัสเซียเอง ทั้งการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ การขยายตัวของภาคเกษตรกรรม และการแสวงหาตลาดส่งออกให้มีความหลากหลายในทุกภูมิภาค และการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ ค่าเงินรูเบิลมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการที่ราคาน้ำมันดิบลดความผันผวนลง เนื่องจากข้อตกลงการจำกัดการผลิตน้ำมันของ OPEC (รูเบิลเคยผันผวนตามราคาน้ำมันมากที่สุดถึง 80% เมื่อปี 2558 โดยปี 2560 ลดเหลือ 30%) อย่างไรก็ตาม การคงมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อรัสเซียทำให้รัสเซียแสวงหาตลาดส่งออกใหม่อย่างจริงจัง เพื่อชดเชยตลาดยุโรปที่ยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของรัสเซีย
สำหรับปี 2561-2563 รัสเซียยังคงได้เปรียบดุลการค้ายุโรป โดยสินค้าที่ยุโรปนำเข้าจากรัสเซียส่วนใหญ่ ได้แก่ วัตถุดิบ พลังงาน และอาหาร โดยปี 2562 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union-EU) ที่นำเข้าสินค้าปริมาณมากอันดับต้น ได้แก่ ฟินแลนด์ ลิทัวเนีย ขณะที่ประเทศที่นำเข้ามูลค่าสูงอันดับต้น คือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และโปแลนด์ นอกจากนี้ รัสเซียแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งระดับทวิภาคี เฉพาะอย่างยิ่งจีน อินเดีย อิหร่าน สิงคโปร์ และซาอุดีอาระเบีย และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ กับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EurasianEconomic Union-EAEU) ที่รัสเซียเป็นแกนนำ
รัสเซียยังร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกให้มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ดี ห้วงปี 2563 ภาคผู้ประกอบการน้ำมันของรัสเซีย ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตกต่ำที่สุดในรอบ 18 ปี เนื่องจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบโต้รัสเซียที่ปฏิเสธการปรับลดการผลิตน้ำมันตามข้อเสนอของ OPEC เมื่อ 6 มี.ค.2563 และความต้องการน้ำมันของโลกลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ทั้งนี้ เมื่อ 10 มิ.ย.2563 นรม.มิคาอิล อนุมัติแผนยุทธศาสตร์พลังงานรัสเซีย ปี 2578 (Energy Strategy 2035)
ตลาดหลักทรัพย์รัสเซีย คือ MICEX-RTS ซึ่งเป็นการรวมตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งสำคัญ เมื่อ ธ.ค.2554 ระหว่าง Russian Trading System (RTS) กับ Moscow Interbank Currency Exchange (MICEX) ทั้งนี้ ลักษณะพื้นฐานระบบการเงินและธนาคารรัสเซียมีผู้ประกอบการสถาบันการเงินกว่า 396 ธนาคาร โดยมีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จำนวน 3 ราย ถือครองทรัพย์สินกว่า 51.4% ของทรัพย์สินธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในรัสเซีย (สถานะเมื่อ 1มี.ค.2563) โดยมีรัฐบาลถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Sberbank และ VTB Group และเป็นของเอกชนคือ Alfa Bank ทั้งนี้ ธนาคารต่างชาติในรัสเซียไม่อนุญาตให้จัดตั้งในลักษณะสาขา แต่สามารถจัดตั้งบริษัทย่อย ตามเงื่อนไขการจดทะเบียนขออนุญาต
รัสเซียเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้รัสเซียสูญเสียงบประมาณในการปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ขณะที่การส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัสเซียลดลงจากการสูญเสียตลาดส่งออกในยุโรป ส่วนการคว่ำบาตรทางการเงินของชาติตะวันตก ได้แก่ การอายัดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย และการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของรัสเซียในระยะยาว
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูเบิล (Ruble : หรือ RUB)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 63.480 รูเบิล/ดอลลาร์สหรัฐ (25 ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : (อัตรากลาง) 2.5864 รูเบิล (25 ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 1,862,4700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ : 2.2% (ปี 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 13,005 ดอลลาร์สหรัฐ
งบประมาณ : ขาดดุลประมาณ 29.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ห้วง ม.ค.–มี.ค.2566)
หนี้ต่างประเทศ : 329,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 14% จากปี 2565
หนี้สาธารณะ : 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2566)
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 225,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.–พ.ย.2565)
ทุนสำรองทองคำและเงินตราระหว่างประเทศ : 599,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( พ.ค.2566 )
แรงงาน : 75 ล้านคน (ต.ค.2565)
อัตราการว่างงาน : 3.7% (2565)
อัตราเงินเฟ้อ: 12 % (ปี 2565) คาดการณ์ปี 2566 ประมาณ 5.5%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 332,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
มูลค่าการส่งออก : 592,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ โลหะ เคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณีและโลหะมีค่า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สิ่งทอและรองเท้า ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ทั้งด้านพลเรือนและการทหาร
ตลาดส่งออก : จีน 14.7% เนเธอร์แลนด์ 8.0% สหรัฐฯ 5.6% สหราชอาณาจักร 5.1% อิตาลี 4.5% เบลารุส 4.2 ตุรกี 4.1 เยอรมนี 3.9% คาซัคสถาน 3.7% เกาหลีใต้ 3.4% (ปี 2564)
มูลค่าการนำเข้า : 259,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565)
สินค้านำเข้า : เครื่องจักร ยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะกึ่งสำเร็จรูป เครื่องนุ่งห่ม เหล็กและเหล็กกล้า สุขภัณฑ์ และเครื่องดื่ม
ตลาดนำเข้า : จีน 24.9% เยอรมนี 11.5% เบลารุส 5.8% เกาหลีใต้ 3.8% โปแลนด์ 3.2% อิตาลี 3.1% ญี่ปุ่น 2.9% เนเธอร์แลนด์ 2.8 ฝรั่งเศส 2.7% สหรัฐ 2.6% (ปี 2564)
การทหาร
รัสเซียเป็นมหาอำนาจด้านการทหารและมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ Arms Control Association ประเมินเมื่อ มิ.ย.2566 ว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,889 ลูก รัสเซียเริ่มปฏิรูปการทหารตั้งแต่ปลายปี 2551 ทั้งการบริหารจัดการกำลังพลด้วยการขึ้นเงินเดือนและเงินบำนาญเมื่อต้นปี 2555 เพื่อดึงดูดบุคลากร พร้อมกับพยายามลดการเกณฑ์ทหารเพื่อเพิ่มทหารอาชีพ จัดสรรอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่เข้าประจำการในกองทัพตามแผนปรับปรุงภายในปี 2563 ตั้งเป้าหมายยกระดับการพัฒนาอาวุธไว้ 70% มีการฝึกทางทหารอย่างสม่ำเสมอทั้งภายในและกับประเทศพันธมิตร เช่น เบลารุส จีน มองโกเลีย และประเทศอดีตสหภาพโซเวียต รวมถึงการฝึกแบบฉับพลัน และพัฒนากองกำลังรบให้มีขนาดเล็กแต่มีประสิทธิภาพสูง รัสเซียประกาศหลักนิยมทางทหารใหม่ เมื่อ ธ.ค.2557 และหลักนิยมทางทะเลใหม่ เมื่อ ก.ค.2560 และระบุว่าการรับสมาชิกใหม่ของเนโต โดยเฉพาะยูเครน จอร์เจีย และมอลโดวาเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อรัสเซีย รวมถึงกรณีมอนเตเนโกรเป็นสมาชิกเนโตอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 มิ.ย.2560 เนื่องจากเป็นการลดทอนอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ และรัสเซียประกาศหลักการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Basic Principles of the State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence) เมื่อ 2 มิ.ย.2563 นอกจากนี้ เมื่อ 2 ก.ค.2564 ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) ฉบับปี 2564 ที่จะให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง การพัฒนาศักยภาพและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพลเมืองรัสเซีย รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ และส่งเสริมความสามัคคีในสังคมรัสเซีย
ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนทั้งทางทะเลและอากาศเป็นโอกาสของรัสเซีย ในการแสดงขีดความสามารถทางทหารและประสิทธิภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งมีผลต่อการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียจากประเทศต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็สร้างความวิตกกังวลให้เนโตว่าจะเผชิญภัยคุกคามจากรัสเซียมากขึ้น และมีส่วนทำให้เกิดความตึงเครียดทางทหารระหว่างเนโตกับรัสเซียตามแนวพรมแดนประเทศยุโรปตะวันออก สำหรับแผนอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งชาติรัสเซียฉบับใหม่ ปี 2570 (State Armament program 2027/Gosudarstvennaya Programma Vooruzheniya-GPV) จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการป้องปรามเชิงยุทธศาสตร์ และการรับมือภัยคุกคามจากภายนอก
โครงสร้างองค์กรในกองทัพรัสเซีย ประกอบด้วย ผู้บัญชาการสูงสุดคือประธานาธิบดี โดยมี รมว.กห.รัสเซีย 1 คน รมช.กระทรวงกลาโหม 12 คน โดยมี 3 เหล่าทัพและ 2 กองกำลัง ได้แก่ บก เรือ อากาศ (และอวกาศ) ขีปนาวุธยุทธศาสตร์ และกองพลร่ม
กองทัพรัสเซียมี 5 ภาค คือ ตะวันออก กลาง เหนือ (Northern Fleet ครอบคลุมมหาสมุทรอาร์กติก) ตะวันตก และใต้ รวมกำลังพล 1,190,000 นาย อาทิ ทบ. 550,000 นาย ทร. 145,000 นาย ทอ. 165,000 นาย รัสเซียมีกำลังพลประจำ กองพลขีปนาวุธยุทธศาสตร์ 50,000นาย กองพลร่ม 40,000 นาย กองปฏิบัติการพิเศษ 1,000 นาย กองกำลังทางรถไฟ 29,000 นาย กองกำลังบังคับบัญชาและสนับสนุน 180,000 นาย และกำลังรบกึ่งทหาร 559,000 นาย นอกจากนี้ มีกำลังพลสำรอง 1,500,000 นาย
กำลังทหารในประเทศอดีตสหภาพโซเวียตรวม 7 ประเทศ ได้แก่ 1) อาร์เมเนีย มีทหารรัสเซีย 3,500 นายประจำการฐานทัพที่ 102 ที่ Gyumri และที่ฐานทัพอากาศเยเรวาน โดยรัสเซียเช่าฐานทัพจนถึง ปี 2587 2) เบลารุส มีระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมกับรัสเซีย และรัสเซียส่ง บ.ขับไล่แบบ Su-27 และขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบ S-300 โดยรัสเซียเช่าสถานีเรดาร์ที่ Baranovichi และมีศูนย์บัญชาการทางทะเล 1 แห่ง 3) จอร์เจีย มีทหารรัสเซีย 4,000 นาย ที่ฐานทัพในอับคาเซียและออสเซเตียใต้ (ซึ่งแยกตัวจากจอร์เจีย) โดยเช่าสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการทหารจนถึงปี 2602 4) มอลโดวา มีทหารรัสเซียประมาณ1,500 นาย (รวมถึงทหารรักษาสันติภาพ 400 นาย) ประจำการในเขต Transdniestria 5) คาซัคสถาน รัสเซียเช่าสถานีเรดาร์ที่ Balkhash 6) คีร์กีซสถาน มีทหารรัสเซียประมาณ 500 นาย ประจำการที่ฐานทัพอากาศ Kant ที่ขยายเวลาเช่าจนถึงปี 2570 โดยเมื่อ พ.ย.2562 รัสเซียสนับสนุนเงินให้กองทัพคีร์กีซสถานกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยกระดับระบบเรดาร์ และ7) ทาจิกิสถาน มีทหารรัสเซีย 3,000 นาย ประจำกรมทหารราบที่ 201 ในทาจิกิสถาน และจะขยายเวลาเช่าถึงปี 2585 นอกจากนี้ รัสเซียยังรวม ทอ. (Air Force) เข้ากับกองกำลังป้องกันการบินและอวกาศ (Aerospace Defence Forces) แล้วตั้งใหม่เป็นกองทัพการบินและอวกาศ(Aerospace Forces) เมื่อ 1 ส.ค.2558 โดยเมื่อ ต.ค.2562 รัสเซียสนับสนุนเงินให้กองทัพทาจิกิสถานกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รัสเซียมีทหาร 150,000 นาย ประจำการอยู่ที่ เมือง Donetsk เมือง Kherson เมือง Luhansk เมือง Zaporizhzhia และ 25,000 นาย ในคาบสมุทรไครเมียซึ่งอยู่ในอาณาเขตยูเครน เมื่อปี 2566 อีกทั้ง เช่าฐานทัพเรือที่เมือง Tartus ของซีเรีย เพื่อส่งกำลังบำรุงและให้ความสนับสนุนทางเทคนิคแก่เรือรบรัสเซีย ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งสนับสนุนการปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ รัสเซียและเวียดนามทำข้อตกลงอนุญาตให้เรือรบรัสเซียเข้าเทียบท่าที่อ่าวคัมรานห์ เมื่อ พ.ย.2557 ต่อมา เมื่อ ก.พ.2558 รัสเซียทำข้อตกลงขอใช้ท่าเรือของเวเนซุเอลา นิการากัว คิวบา และไซปรัส เพื่อส่งกำลังบำรุงหรือการซ่อมแซมให้แก่เรือรบรัสเซีย รวมถึงการขอใช้สนามบินในบางโอกาสเพื่อเป็นจุดแวะพักเติมเชื้อเพลิงให้แก่ บ.ทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียขณะลาดตระเวน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเจรจา ขอใช้ท่าเรือของสิงคโปร์ แอลจีเรีย และเซเชลส์ สำหรับปฏิบัติการในซีเรีย คาดว่ามีกำลังพลรัสเซียประมาณ 4,000 นาย ประจำการที่ฐานทัพเรือที่เมือง Tartus และที่ฐานทัพอากาศ Khmeimim ใน จ.Latakia
รัสเซียส่งทหารร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพของ OSCE ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และในโคโซโว และส่งทหารร่วม กกล.รักษาสันติภาพของสหประชาชาติในโกตดิวัวร์ คองโก ไลบีเรีย ตะวันออกกลาง เซาท์ซูดาน ซาฮาราตะวันตก เฉพาะอย่างยิ่งซูดาน ซึ่งรัสเซียมีแผนตั้งฐานทัพเรือเพื่อการขนส่งและซ่อมเรือของรัสเซียในทะเลแดง ซึ่งเป็นทะเลคั่นกลางระหว่างซูดานกับซาอุดีอาระเบีย
งบประมาณด้านการทหารปี 2563-2565 กห.ตั้งของบประมาณปี 2563 จำนวน 47,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ งบประมาณปี 2564 จำนวน 48,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐและปี 2565 เพิ่มขึ้นที่จำนวน 66,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับปี 2566 จำนวนประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทบ. มีกำลังพลประมาณ 550,000 นาย แบ่งเป็นเขตยุทธศาสตร์ 4 เขต คือ1) West ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก 2) Centre ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่เยคาเตรินเบิร์ก 3) South ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ Rostov-on-Don และ 4) East ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ Khabarovsk และมีศูนย์บัญชาการยุทธศาสตร์ร่วม ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.หลัก 1800 คัน (รุ่น T-62M/MV 150 คัน, T-72B/BA 400 คัน T-72B3 500 คัน, T-72B3M 250 คัน, T-80BV/U 100 คัน, T-90A 200 T-90M 100) และมี ถ.อยู่ในคลังอีก 5,000 คัน (รุ่น T-62M, T-62MV, T-72, T-72A, T-72B, T-80B, T-80BV, T-80U, T-90 และ T-90A) ยานลาดตระเวน 700 คัน BRM-1K (CP) 700 คัน ในคลังอีก 1,000 คัน รุ่น BRDM-2 และ BRDM -2A ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ 4,150 คัน (เช่น รุ่น BMP-1 500 คันBMP-2 2,350 คัน BMP-3 400 คัน BTR-80A 100 คัน BTR-82A/AM 800 คัน โดยมีรุ่นBMP-1 และ BMP-2 อยู่ในคลังอีก 4,000 คัน) ยานสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 5,350 คัน (รุ่นBMO-T MT-LB และ BRT-60/70/80) ปืนใหญ่ 4,458 กระบอก
ส่วนระบบป้องกันภัยทางอากาศมีอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ 1,520 ชุด เช่น แบบระยะไกล S-300V4 (RS-SA-23) แบบระยะกลาง 9K37M1-2 Buk-M1-2 (RS-SA-11 Gadfly), 9K317 Buk-M2 (RS-SA-17 Grizzly) และ 9K317M Buk-M3 (RS-SA-27) แบบระยะใกล้ Tor-M1/M2/M2U (RS-SA-15 Gauntlet) อาวุธปล่อยแบบประทับบ่ายิง เช่น แบบ 9K310 Igla-1 (RS-SA-16 Gimlet), 9K34 Strela-3 (RS-SA-14 Gremlin), 9K38 Igla (RS-SA-18 Grouse); 9K333 Verba (RS-SA-29 Gizmo) และ 9K338 Igla-S (RS-SA-24 Grinch) บ.ไร้คนขับ แบบหนัก Tu-243 Reys และ Tu-243 Reys D แบบเบา Pchela-1 และ Pchela-2 อาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น เช่น แบบ 9K79-1 Tochka-U (RS-SS-21B Scarab) และ 9M728 (RS-SSC-7 Southpaw)
ทร. มีกำลังพลประมาณ 145,000 นาย กองเรือใหญ่แบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ กองเรือภาคเหนือ (Northern Fleet) กองเรือภาคทะเลบอลติก (Baltic Fleet) กองเรือภาคทะเลดำ(Black Sea Fleet) และกองเรือภาคแปซิฟิก (Pacific Fleet) นอกจากนั้นยังมีกองเรือเล็กทะเลแคสเปียน (Caspian Sea Flotilla) ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำทางยุทธศาสตร์ 51 ลำ เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดขีปนาวุธ (SSBN) 11 ลำ (เป็น Kalmar (Delta III) 3 ลำ Delfin (Delta IV) 6 ลำ Borey (Dolgorukiy) 3 ลำ และ Borey-A (Project 955A) 2 ลำ ทางยุทธวิธี มี 40 ลำ แยกเป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดอาวุธปล่อยนำวิถี (SSGN) 9 ลำ เรือดำน้ำโจมตีพลังนิวเคลียร์ (SSN) 10 ลำ และเรือดำน้ำสามารถทำสงครามปราบเรือดำน้ำ (SSK) 21 ลำ (ได้แก่Paltus (Kilo) 10 ลำ Varshavyanka (Kilo) 10 ลำและ Lada 1 ลำ
เรือรบหลักมี 31 ลำ ได้แก่ เรือบรรทุกเครื่องบิน Orel (Kuznetsov) 1 ลำ เรือลาดตระเวน 3 ลำ เรือพิฆาต 11 ลำ เรือฟริเกต 16 ลำ ส่วนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งมี 42 ลำ อาทิ เรือคอร์เวต 42 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบก 46 ลำ (เรือยกพลขึ้นบก 20 ลำ เรือระบายพล 26 ลำ) และเรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 281 ลำ
ทอ. มีกำลังพลประมาณ 165,000 นาย ศูนย์บัญชาการใหญ่อยู่ Balashikha ใกล้มอสโก และมีระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) ครอบคลุมรัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ยูเครน และอุซเบกิสถาน ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ บ.รบรวม 1,153 เครื่อง เป็น บ.ทิ้งระเบิด 137 เครื่อง (แบบ Tu-22M3/MR Backfire C 60 เครื่อง, Tu-22MR Blackfire 1 เครื่อง Tu-95MS/MS Bear 33 เครื่อง Tu-95MSM mod Bear 27 เครื่อง Tu-160 Blackjack 7 เครื่อง Tu-160 mod Blackjack 7 เครื่อง และ Tu-160M Blackjack 2 เครื่อง – ระหว่างทดสอบ) บ.ขับไล่ 185 เครื่อง (แบบ MiG-29/MiG-29UB Fulcrum 70 เครื่อง MiG-31BM Foxhound C 85 เครื่อง Su-27 Flanker B 12 เครื่อง และ Su-27UB Flanker C 18 เครื่อง) บ.ขับไล่/โจมตีภาคพื้นดิน 410เครื่อง (แบบ MiG-29SMT Fulcrum 15 เครื่อง MiG-29UBT Fulcrum 2 เครื่อง MiG-35S/UB Fulcrum 6 เครื่อง – ระหว่างการทดสอบ, Su-27SM Flanker J 47 เครื่อง, Su-27SM3 Flanker 24 เครื่อง; Su-30M2 Flanker G 19 เครื่อง, Su-30SM Flanker H 80 เครื่อง, Su-34 Fullback 105 เครื่อง, Su-34 mod Fullback 7 เครื่อง, Su-35S Flanker M 99 เครื่อง, Su-57 Felon 6 เครื่อง บ.โจมตี 262 เครื่อง (แบบ MiG-31K 12 เครื่อง, Su-24M/M2 Fencer 70 เครื่อง, 40 Su-25 Frogfoot 40 เครื่อง, Su-25SM/SM3 Frogfoot 125 เครื่อง และ Su-25UB Frogfoot 15 เครื่อง) บ.ลาดตระเวน/สอดแนม 58 เครื่อง (แบบ An-30 Clank 4 เครื่อง Su-24MR Fencer 50 เครื่อง Tu-214ON 2 เครื่อง และ Tu-214R 2 เครื่อง) บ.ติดระบบเตือนภัยล่วงหน้า 10 เครื่อง (แบบ A-50 Mainstay 3 เครื่อง, A-50U Mainstay 7 เครื่อง) บ.เติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ แบบ Il-78/Il-78M Midas รวม 15 เครื่อง บ.ขนส่ง 446 เครื่อง (ขนาดหนักรวม125 เครื่อง เช่น แบบ An-124 Condor, An-22 Cock และ Il-76MD Candid ขนาดกลางรวม65 เครื่อง เช่น แบบ An-12/An-12BK Cub และขนาดเบารวม 224 เครื่อง เช่น แบบ An-26 Curl, An-72 Coaler An-140 L-410 Tu-134 Crusty และ บ.โดยสารรวม 32 เครื่อง เช่น แบบ An-148-100E และ Tu-154 Careless) บ.ฝึก รวม 262 เครื่อง เช่น แบบ DA42T, L-39 Albatros และ Yak-130 Mitten
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก เนื่องจากการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation-เนโต) ซึ่งมีแนวโน้มขยายทิศทางประชิดรัสเซียมากขึ้น เฉพาะอย่างประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในอดีต ส่งผลให้รัสเซียต้องสูญเสียรัฐกันชน
2) สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน การปะทะหลักยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงในพื้นที่ ได้แก่ แคว้นโดเนสก์ เคอร์ซอน คาร์คีฟ ซูมี ซาปอริซเซีย ขณะที่รัสเซียพยายามขัดขวางบริเวณเส้นทางขนส่งทางทะเลของยูเครน และใช้ปฏิบัติการป้องกันเชิงรุก โดยมุ่งเป้าไปที่การปิดล้อมเมือง Avdiivka ในแคว้นโดเนสก์ รวมถึงเมือง Kupyansk และAvdeyevka
3) รัสเซียยังคงให้ความสำคัญต่อปัญหาการก่อการร้าย อาทิ 1) กลุ่ม Islamic State (IS) ตั้งคอเคซัสเป็นจังหวัดหนึ่งของการสถาปนารัฐอิสลาม (หรือมีชื่อสาขา Wilayat Kavkaz) หลังจากกลุ่มนิยมความรุนแรงในเชชเนีย ดาเกสถาน อินกูเชเตีย และคาบาร์ดีโน-บัลคาเรีย เผยแพร่คลิปวิดีโอเมื่อ 21 มิ.ย.2558 ให้สัตยาบันภักดีต่อกลุ่ม และมีโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ภาษารัสเซีย เพื่อหาสมาชิกใหม่ที่ใช้ภาษารัสเซียในคอเคซัสเหนือและผู้อพยพจากเอเชียกลาง นอกจากนั้น กลุ่ม Caucasus Emirate (CE) ในคอเคซัสเหนือยังคงเป็นอีกภัยคุกคามสำคัญของรัสเซีย
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ APEC, Arctic Council, ARF, ASEAN (ประเทศคู่เจรจา), BIS, BRICS, BSEC, CBSS, CD, CE, CERN (ผู้สังเกตการณ์), CICA, CIS, CSTO, EAEC, EAPC, EAS, EBRD, EAEU, FAO, FATF, G-20, G-8, GCTU, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICRM, IDA, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM (ผู้สังเกตการณ์), IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), LAIA (ผู้สังเกตการณ์), MIGA, MINURSO, MONUSCO, NSG, OAS (ผู้สังเกตการณ์), OIC (ผู้สังเกตการณ์), OPCW, OSCE, Paris Club, PCA, PFP, SCO, UN, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNISFA, UNMIL, UNMISS, UNOCI, UNSC (แบบถาวร), UNTSO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO และ ZC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีองค์กรวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 4,000 แห่ง องค์กรหลักทางวิทยาศาสตร์ ของรัสเซีย คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ และมีสถาบันวิจัยอื่น ๆ ในสังกัดอีกหลายร้อยแห่ง แยกตามสาขา เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รัสเซียให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง การส่งเสริมศักยภาพ อัจฉริยภาพของทรัพยากรบุคคล ครอบคลุมทั้งพลเรือนและการทหาร เพื่อหวังเพิ่มรายได้จากการส่งออกเทคโนโลยีระดับสูงนอกเหนือจากการพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกด้านพลังงาน สำหรับการสร้างศูนย์นวัตกรรมที่ Skolkovo ใกล้มอสโก นายดมิตรี เมดเวเดฟ (ตำแหน่งขณะนั้น) ประกาศเมื่อ มี.ค.2553 เพื่อเป็นแหล่งรวมธุรกิจเทคโนโลยีระดับสูงเทียบเท่า Silicon Valley ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อปี 2555 ยังคืบหน้าไม่มากนัก รัสเซียจะร่วมมือกับจีนผลักดันโครงการด้านอวกาศระหว่างปี 2561-2565 เช่น การสำรวจดวงจันทร์และอวกาศที่ห่างไกลออกไป พัฒนา ยานอวกาศและโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และการสำรวจข้อมูลจากระยะไกล รวมทั้งมีความร่วมมือ กับจีนในกรอบBRICS นอกจากนี้ รัสเซียอยู่ระหว่างพิจารณาความร่วมมือด้านอวกาศกับอินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ นิการากัว เมียนมา ชิลี เปรู และอาร์เมเนีย นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาศูนย์นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางทะเลร่วมกับเกาหลีใต้
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้บทบาททางการแพทย์และการวิจัยวัคซีนของรัสเซียโดดเด่นขึ้น แม้ว่ารัสเซียมีจำนวนผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 4ของโลก (สถานะเมื่อ ธ.ค.2563) โดยรัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศจดทะเบียนวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ถึงจะเผชิญกับกระแสโจมตีประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยรัสเซียจดทะเบียนวัคซีน Sputnik V เมื่อ 11 ส.ค.2563 พัฒนาโดยศูนย์วิจัย Gamaleวิทยาการระบาดและจุลชีววิทยาแห่งชาติของรัสเซีย (Gamalei National Research Center for Epidemiology and Microbiology) โดยตั้งเป้าหมายขายในระดับสากลราคาไม่เกินโดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมอ้างว่ามีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าวัคซีนของประเทศอื่นเนื่องจากสามารถบรรจุอยู่ในภาชนะที่อุณหภูมิ +2 ถึง +8 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังมีวัคซีน วัคซีน EpiVacCorona ของสถาบัน Vector ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดที่สองที่สามารถจดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียเมื่อ 13 ต.ค.2563 และวัคซีนของสถาบัน Chumakov
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 1,218 แห่ง เส้นทางรถไฟระยะทาง 87,157 กม. ถนนระยะทาง 1,283,387 กม. และการเดินทางโดยเรือระยะทาง 102,000 กม. ทั้งในทะเลบอลติก ทะเลขาว ทะเลแคสเปียน ทะเลอาซอฟ และทะเลดำ และมีการให้บริการเรือพาณิชย์สมุทร 1,143 ลำ โดยมีของต่างชาติ 155 ลำ มีเมืองท่าที่สำคัญ ได้แก่ เมือง Kaliningrad, Nakhodka, Novorossiysk, Primorsk, Saint Petersburg และ Vostochnyy มีท่อขนส่งcondensate 122 กม. ท่อขนส่งก๊าซ 177,700 กม. ท่อขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว 1,378 กม. ท่อขนส่งน้ำมัน 80,820 กม. ท่อขนส่งน้ำมัน/ก๊าซ/น้ำ 40 กม. ท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป13,658 กม. และท่อขนส่งน้ำ 23 กม. โทรคมนาคม : มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการ 32.2 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 231.1 ล้านเลขหมาย จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 108.7 ล้านคน (ก.ค. 2559) รหัสอินเทอร์เน็ต .ru (su เป็นของสหภาพโซเวียต)
การเดินทาง เที่ยวบินจากไทย อาทิ Emirates Air Arabia และ S7 Airlines ไปถึงเมืองใหญ่ของรัสเซีย
ใช้เวลาประมาณ 9-12 ชั่วโมง (ไม่รวมระยะเวลาเปลี่ยนเครื่อง) ได้แก่ มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก วลาดิวอสต็อก คาซาน เออร์กุสต์ และโนโวซีเบียร์สก์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและรัสเซียลงนามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างกันเมื่อปี 2545 ทำให้ผู้ถือหนังสือเดินทางดังกล่าวเดินทางเข้ารัสเซียโดยไม่ต้องขอวีซ่าและสามารถอยู่ในรัสเซียได้นานถึง 90 วัน ต่อมาเมื่อปี 2548 ทั้งสองฝ่ายลงนามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างกันเพื่อจุดประสงค์ของการท่องเที่ยว ทำให้คนไทย เดินทางเข้ารัสเซียโดยไม่ต้องขอวีซ่าและสามารถอยู่ในรัสเซียได้นานถึง 30 วัน ขณะที่ไทยขยายระยะเวลาอนุมัตินักท่องเที่ยวรัสเซียเป็น 90 วัน ทั้งนี้ รัสเซียมีความแตกต่างของเวลาระหว่างตะวันตกกับตะวันออก 11 เขตเวลา ส่วนเวลาของมอสโกช้ากว่าไทย 3 ชม.ระหว่าง เม.ย.-ต.ค.และช้ากว่า 4 ชม.ระหว่าง พ.ย.-มี.ค. เว็บไซต์ทาง การข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยวคือwww.russiatourism.ru/en/
ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย
ไทยและรัสเซียเห็นพ้องกันว่าการเสด็จประพาสรัสเซียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ระหว่าง 3-11 ก.ค.2440) เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางการทูต โดยวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับรัสเซีย คือ 3 ก.ค.2440 และจัดงานครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2560 ที่กรุงเทพฯ มอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีปูติน ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อ ต.ค.2546 ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนกัน และเมื่อปี 2550 รัฐบาลทั้งสองประเทศร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 110 ปีความสัมพันธ์ไทย–รัสเซีย โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในฐานะผู้แทนพระองค์
(State Visit) ระหว่าง 2-11 ก.ค.2550 เพื่อร่วมฉลองโอกาสดังกล่าว
การเยือนและพบปะแลกเปลี่ยนระดับผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ นายดมิตรี เมดเวเดฟ(นรม.ขณะนั้น) เยือนไทยระหว่าง 7-8 เม.ย.2558 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม. เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 17-19 พ.ค.2559 เป็นการเยือนรัสเซียของผู้นำระดับ นรม.ของไทยครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน–รัสเซีย สมัยพิเศษ(ASEAN-Russia Commemorative Summit) ที่โซชิ ระหว่าง 19-20 พ.ค.2559 ในระหว่างการเยือนมีการลงนามในความตกลงทั้งสิ้น 14 ฉบับ เป็นความตกลงของภาครัฐ 6 ฉบับ และความตกลงของภาคเอกชน 8 ฉบับ ประกอบด้วย ด้านการทหาร เกษตร ประมง พลังงาน ธุรกรรมการเงิน และ SME นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พบหารือกับประธานาธิบดีปูตินนอกรอบการประชุม สุดยอด BRICS ที่จีน เมื่อ 5 ก.ย.2560 หลังจากที่นายเซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เยือนไทยระหว่าง 9-10 ส.ค.2560
ไทยและรัสเซียมีการหารือผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การประชุมคณะกรรมการพลังงานระหว่างรัสเซีย–ไทย ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 18 ม.ค.2560 การประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย–รัสเซีย ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 21 เม.ย.2560 การประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วย การหารือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับรัสเซีย ครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ค.2560 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย–รัสเซีย ครั้งล่าสุด จัดเป็นครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 27 ธ.ค.2561
ด้านเศรษฐกิจ รัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียเมื่อปี 2564 มีมูลค่า 88,167 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.56% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่า 32,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.90% และนำเข้าจากรัสเซีย มูลค่า 55,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.07% สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (10,162 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์ยาง (3,379 ล้านบาท) เครื่องจักรกลและ ส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (1,706.9 ล้านบาท) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (1,455.6 ล้านบาท) และเม็ดพลาสติก (1,380.7 ล้านบาท) ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ (25,958.9 ล้านบาท) ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (5,667.6 ล้านบาท) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (5,568.4 ล้านบาท) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (5,307.4 ล้านบาท) เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ (3,350.3 ล้านบาท)
วิกฤตรัสเซีย–ยูเครนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปรัสเซีย โดยใน ต.ค.2565 ไทยส่งออกไปยังรัสเซีย มูลค่า 1,409.4 ล้านบาท ชะลอตัวลง 24.58% จาก ก.ย.2565 ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียห้วง ม.ค.–ต.ค.2565 มีมูลค่า 17,218 ล้านบาท ลดลง -40.31%
รัสเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย และเริ่มฟื้นตัวหลังจากวิกฤต COVID-19 โดยใน ต.ค.2565 มีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางเข้าไทยจำนวน 28,499 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศในภูมิภาคยุโรป รองจากสหราชอาณาจักร และห้วง 1 ม.ค.-30 ก.ย.2565 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียรวม 102,809 คน ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นักท่องเที่ยวรัสเซียจะมีจำนวน 260,000 คน และไตรมาสที่ 1 ของปี 256 จะมีจำนวน 200,000 คน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับรัสเซีย : ความตกลงว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต การค้าและความสัมพันธ์ทางด้านกงสุลตามปกติ (ปี 2484) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้า (25 ธ.ค.2513) พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (12 พ.ค.2530) ข้อตกลงเกี่ยวกับการปรึกษาหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ปี 2531) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี (15 ก.ย.2536) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของรัสเซีย (11 ก.ค.2540) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (23 ก.ย.2542 มีผลบังคับใช้ 15 ม.ค.2552)ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (25 ก.พ. 2543) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (17 ต.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (17 ต.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (17 ต.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยข้อยุติการชำระหนี้ที่รัฐรัสเซียคงค้างราชอาณาจักรไทย (21 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงทางทหาร (21 ต.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (1 ธ.ค.2547)ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา (13 ธ.ค.2548) ช่วงปี2551-2554 แผนการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ฉบับปี 2551-2554 (24 ก.ค.2551) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือ ฉบับปี 2553-2557 (27 พ.ย.2552) ข้อตกลงด้านปฏิบัติการเกี่ยวกับเอกสารระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กับธนาคาร Vneshtorgbank ของรัสเซีย (27 พ.ย.2552) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจ (27 พ.ย.2552) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (25 ก.พ.2543) พิธีสารความตกลงการชำระหนี้ค่าข้าวระหว่างไทยกับรัสเซีย จำนวน 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31 พ.ค.2554) เมื่อ 8 เม.ย.2558 ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคนิคทางทหารระหว่างไทยกับรัสเซีย (14 ก.ย.2560) บันทึกความเข้าใจด้านการปกป้องสุขอนามัยและระบาดวิทยาสุขภาวะของประชาชนระหว่างสำนักงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและสวัสดิภาพของมนุษย์แห่งสหพันธรัฐรัสเซียและกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ย.2560) โครงการความร่วมมือส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างปี 2561-2563 ภายใต้กรอบการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน + 3 (24 ม.ค.2561) นอกจากนี้ ปี 2561 อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission-EEC) และอยู่ระหว่างดำเนินการเปิดทำการกงสุลใหญ่สหพันธรัฐรัสเซียประจำภูเก็ต
ในห้วงปี 2562 มีความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ 1) ด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมกับประเทศรัสเซีย จัดประชุม “เตรียมความพร้อมและตอบโต้โรคติดเชื้อที่อาจมีแนวโน้มเกิดการระบาดในภูมิภาค” ระหว่าง 16-17 ต.ค.2562 ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการเตรียมความพร้อมตอบโต้สถานการณ์ของโรคติดเชื้อแก่ประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก จำนวนกว่า 60 คน จาก 14 ใน 18 ประเทศสมาชิก (ข้อมูลจาก สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค) 2) ด้านโทรคมนาคม กสทช. ร่วมกับกระทรวงพัฒนาดิจิทัล โทรคมนาคมและการสื่อสารมวลชนของรัสเซียร่วมจัดประชุม “Forum on Digital Cooperation” ระหว่าง 19-20 ก.ย.2562 เพื่อการอำนวยความสะดวกและบริการการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแผนเปิดให้บริการ 5G นโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และแนวทางการป้องกันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต และ 3) ด้านการทหาร ผู้บัญชาการทหารเรือไทยและรัสเซียลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงกลาโหมทั้งสองประเทศว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ
สำหรับปี 2563 ความร่วมมือด้านการทหาร ได้แก่ 1) ความตกลงว่าด้วยการรับกำลังพลของราชอาณาจักรไทยเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาทางทหารของกระทรวงกลาโหมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (Agreement No. 173/3/764-1 on the Requirements for the Admission of Servicemen of the Kingdom of Thailand for Training in Military Educational Establishments of the Ministry of Defence of the Russian Federation) 2) ทร. รัสเซียมอบทุนศึกษาต่อที่โรงเรียนนายเรือรัสเซียเป็นระยะเวลา 6 ปี ซึ่งเป็นการส่งนักเรียนนายเรือไทยไปศึกษาหลักสูตรที่รัสเซียเป็นครั้งแรกในรอบ 114 ปี
ปี 2565 ไทยกับรัสเซียได้จัดกิจกรรมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างกันครบรอบ125 ปี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนรัสเซียระหว่าง 5-6 ก.ย.2565 โดยพบหารือนายเซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ประเด็น การกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน รวมทั้งการเตรียมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือ ทวิภาคีไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 8
ปี 2566 ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน พบปะกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นอกรอบการประชุมข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation-BRF) ครั้งที่ 3 ระหว่าง 17-18 ต.ค.2566 ณ กรุงปักกิ่ง จีน โดยผู้นำรัสเซียย้ำการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของสองประเทศ แม้มีบริบทปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศเกี่ยวข้อง แต่ไทยและรัสเซียยังคงความสัมพันธ์ที่ดี เคารพและคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไปในปี 2567 ทั้งสองฝ่ายยังไม่อยู่สถานะที่จะเอาชนะกันได้เด็ดขาดในการสู้รบ อีกทั้งรัสเซียและยูเครนยังไม่มีท่าทียุติการสู้รบและเปิดการเจรจา
แต่จะมุ่งรักษาอิทธิพลและปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน โดยมีสภาวะเป็นสงครามตรึงกำลัง
2) การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียใน มี.ค.2567 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2563 ที่ขยายวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิมสมัยละ 4 ปี มาเป็น 6 ปี หากนายปูตินลงสมัครและชนะการเลือกตั้งดังกล่าวก็จะสามารถรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต่ออีก 12 ปี (อีกสองสมัย) และจะอยู่ต่อไปถึงปี 2589
3) การแสวงหาพันธมิตรของรัสเซียและขยายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก โดยกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนและอิหร่าน รวมถึงกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งรัสเซียมีข้อได้เปรียบทางทรัพยากรสำคัญภายในประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ
4) บทบาทของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาส ซึ่งรัสเซียพยายามผลักดันให้มีการใช้แนวทางเจรจาแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และแสดงถึงความพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย
5) บทบาทรัสเซียในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยในปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างอาเซอร์ไบจานกับนากอร์โน-คาราบัค เมื่อ ก.ย.2566 เกิดการปะทะกัน โดยกองทัพอาเซอร์ไบจานบุกเข้าไปในเขตปกครองนากอร์โน-คาราบัค ส่งผลให้นากอร์โน-คาราบัคต้องยอมแพ้ ต่อมานายSamvel Shahramanyan ประธานาธิบดีของกลุ่มประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ออกกฤษฎีกาสั่งยุบดินแดนแห่งนี้ใน ม.ค.2567