สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
Federative Republic of Brazil
เมืองหลวง บราซิเลีย
ที่ตั้ง ด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ 8,515,770 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นแผ่นดิน 8,358 ล้าน ตร.กม. และเขตแดนทางน้ำ 157,630 ตร.กม. (มีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของโลกและใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ ขนาดใกล้เคียงกับสหรัฐฯ) ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชายฝั่งทะเล ตอ. ของทวีปอเมริกาใต้ ใช้เวลาตามเส้นแบ่งเวลา 4 ห้วงเวลา จาก UTC-2 ถึง UTC-5 เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีทั้งเส้น equator และ Tropic of Capricorn ลากผ่าน มีชายฝั่งทะเลยาว 7,491 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเวเนซุเอลา (2,137 กม.) กายอานา (1,308 กม.) ซูรินาม (515 กม.) และเฟรนช์เกียนา (649 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับโบลิเวีย (3,403 กม.) และเปรู (2,659 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติกใต้
ทิศใต้ ติดกับอุรุกวัย (1,050 กม.)
ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับโคลอมเบีย (1,790 กม.)
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับอาร์เจนตินา (1,263 กม.) และปารากวัย (1,371 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของบราซิลเป็นเนินเขาและที่ราบสูง มีความสูงระหว่าง 200-800 ม. ที่ราบสูงส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบสลับกับเนินเขาภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นสันเขาสูงต่ำสลับกับภูเขาสูงที่มีความสูงถึง 1,200 ม. เช่น ภูเขา Mantiqueira, Espinhaço และ the Serra do Mar ขณะที่ภาคเหนือมีที่ราบสูง Guiana ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำที่ไหลไปยังลุ่มน้ำแอมะซอนทางใต้ และแม่น้ำ Orinoco ในเวเนซุเอลา จุดที่สูงที่สุดของบราซิล คือ Pico da Neblina (สูง 2,994 ม.) บราซิลมีแม่น้ำขนาดใหญ่ถึง 8 สายหลัก ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ได้แก่ แม่น้ำแอมะซอน (ยาวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และมีปริมาณน้ำมากที่สุดในโลก) แม่น้ำ Paraná แม่น้ำ Iguaçu แม่น้ำ Negro แม่น้ำ São Francisco แม่น้ำ Xingu แม่น้ำ Madeira และแม่น้ำ Tapajós
ภาคเหนือ มีพื้นที่ 42% ของประเทศเป็นเขตลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำใหญ่ที่สุดในโลกมีปริมาณน้ำจืด 1 ใน 5 ของโลกและเป็นเขตป่าฝนใหญ่ที่สุดของโลก ภาคตะวันตก ตอนกลางเป็น ที่ราบสูงเฉลี่ย 1,000 ม. จากระดับน้ำทะเล พื้นที่ 22% ของประเทศต่อจากเขตแอมะซอนไปทางใต้เป็นเขตป่าไม้ชุกชุมเป็นพื้นที่เพาะปลูกและทำปศุสัตว์ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่เพียง 11% ของประเทศแต่เป็นที่ตั้ง 3 เมืองใหญ่ที่สุดของบราซิล คือ รีโอเดจาเนโร เซาเปาลูและเบโลโอรีซอนตี ซึ่งมีประชากรอาศัย 45% ของประเทศ พื้นที่มีทั้งชายฝั่ง หาดทรายและที่ราบสูง ภาคใต้ มีพื้นที่น้อยที่สุดมีอากาศใกล้เคียงกับยุโรป มีหิมะตกบางพื้นที่ ในฤดูหนาวและเป็นที่ตั้งรกรากของชาวยุโรปที่ไปตั้งถิ่นฐาน
วันชาติ 7 ก.ย. (วันประกาศเอกราชจากโปรตุเกส)
Jair Messias Bolsonara
(ประธานาธิบดีบราซิล)
ประชากร 213.3 ล้านคน ประกอบด้วยชาวยุโรป/คนผิวขาว 47.7% Mulatto (ลูกผสมยุโรปกับคนผิวดำ) 43.1% คนผิวดำ 7.6% เอเชีย 1.1% ชาวอินเดียนพื้นเมือง 0.4% โครงสร้างอายุของประชากรอายุ 0-14 ปี 21.11% อายุ 15-65 ปี 69.67% อายุ 65 ปีขึ้นไป 9.21% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 76.6 ปี เพศชาย 73.1 ปี เพศหญิง 80.1 ปี อัตราการเกิด 13.44 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.8 คนต่อประชากร 1,000 คน
การก่อตั้งประเทศ โปรตุเกสเข้าครอบครองพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือบราซิลเมื่อ เม.ย.2043 โดย Pedro Álvares Cabral เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อปี 2075 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมเมื่อปี 2077 จนกระทั่ง 7 ก.ย.2365 Prince Pedro de Alcântara ประกาศเอกราชจากโปรตุเกส สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ Dom Pedro I และตั้งจักรวรรดิบราซิลขึ้น (the Empire of Brazil) แต่ได้รับการรับรองจากโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ เมื่อ 29 ส.ค.2368 ระบบกษัตริย์ของบราซิลสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพบราซิลปฏิวัติเมื่อปี 2432 และประกาศเป็นสาธารณรัฐบราซิลในปีเดียวกัน
การเมือง สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประธานาธิบดีเป็นประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 4 ปีและไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้ง ครม.บริหารประเทศ หากตำแหน่งประธานาธิบดีว่างลงรองประธานาธิบดีจะเข้ารับตำแหน่งแทนในระยะเวลาของวาระที่เหลืออยู่ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือนาย Jair Bolsonaro เข้ารับตำแหน่งแทนนาย Michel Miguel Elias Temer Lulia ซึ่งหมดวาระเมื่อ 31 ธ.ค.2561 การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปลาย ต.ค.2565
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภาคือ วุฒิสภา มีสมาชิก 81 คน (ตัวแทนจาก 26 รัฐและ1 เขตนครหลวง มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของแต่ละรัฐและเขตนครหลวงจำนวนเขตละ 3 คน วาระ 8 ปี โดย 1 ใน 3 ของสมาชิกได้รับเลือกตั้งหลังจาก 4 ปีและสมาชิก 2 ใน 3 ได้รับการเลือกตั้งในอีก 4 ปีถัดไป) ส่วนสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 513 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อ 7 ต.ค.2557 ครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน ต.ค.2565
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด (Supreme Federal Tribunal-STF) ประกอบด้วยผู้พิพากษา 11 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและรับรองโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 75 ปี นอกจากนี้ มี Superior Court of Justice, Supreme Electoral Court และ National Justice Council
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรค Avante มีนาย Luis TIBE เป็นหัวหน้าพรรค Brazilian Communist Party (PCB) มีนาย Ivan Martins PInheiro เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Democratic Movement Party (PMDB) มีนาย Michel Temer เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Labor Party (PTB) มีนาง Cristiane Brasil เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Renewal Labor Party (PRTB) มีนาย Jose Levy Fidelix da Cruz เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Republican Party (PRB) มีนาย Marcos Antonio Pereira เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Social Democracy Party (PSDB) มีนาย Tasso Jereissati เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Brazilian Socialist Party (PSB) มีนาย Carlos Roberto Siqueira de Barros เป็นหัวหน้าพรรค Christian Democracy (DC) มีนาย Jose Maria Eymael เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Christian Labor Party or (PTC) มีนาย Daniel Tourinho เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Communist Party of Brazil (PCdoB) มีนาย Jose Renato Rabelo เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Democratic Labor Party (PDT) มีนาย Carlos Roberto LUPI) เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Democrats (DEM) มีนาย Jose Agripino เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Free Homeland Party (PPL) มีนาย Sergio Rubens เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Green Party (PV) มีนาย Jose Luiz Penna เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Humanist Party of Solidarity (PHS) มีนาย Eduardo Machado เป็นหัวหน้าพรรค พรรค National Mobilization Party (PMN) มีนาย Telma Ribeiro dos Santos เป็นหัวหน้าพรรค พรรค New Party (NOVO) มีนาย Moises Jardim เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Party of the Republic (PR) มีนาย Alfredo Nascimento เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Patriota มีนาย Adilson Barroso Oliveira เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Podemos มีนาง Renata Abreu เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Popular Socialist Party (PPS) มีนาย Roberto Joao Pereira Freire เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Party (PP) มีนาย Ciro Nogueira เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Progressive Republican Party (PRP) มีนาย Ovasco Roma Altimari Resende เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Republican Social Order Party (PROS) มีนาย Euripedes Junior เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Social Christian Party (PSC) มีนาย Vitor Jorge Abdala Nosseis เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Social Democratic Party (PSD) มีนาย Guilherme Campos เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Social Liberal Party (PSL) มีนาย Luciano Caldas Bivar เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Socialism and Freedom Party (PSOL) มีนาย Luiz Araujo เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Solidarity (SD) มีนาย Paulo PEREIRA da Silva เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Sustainability Network (REDE) มีนาง Marina Silva เป็นหัวหน้าพรรค พรรค United Socialist Workers’ Party (PSTU) มีนาย Jose Maria de Almeida เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Workers’ Cause Party (PCO) มีนาย Rui Costa Pimenta เป็นหัวหน้าพรรค และพรรค Workers’ Party (PT) มีนาง Gleisi Hoffman เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง ได้แก่ Landless Workers’ Movement หรือ MST กลุ่มสหภาพและสหพันธ์รัฐแรงงานเกษตรกร และกลุ่มศาสนา อาทิ Christian churches and the Catholic Church
เศรษฐกิจ บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ถั่วเหลือง น้ำตาล เนื้อวัว ไก่สดแช่แข็ง และกาแฟรวมทั้งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของลาตินอเมริกา ขณะที่รัฐบาลใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านยานยนต์ทำให้บราซิลมีแนวโน้มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บราซิลเป็นสมาชิกตลาดร่วมอเมริกาตอนใต้ (Common Market of the South หรือ Mercosur) ร่วมกับอาร์เจนตินา ปารากวัยและอุรุกวัย กลุ่ม Mercosur กำหนดมาตรการปกป้องตลาดการค้าและยังอยู่ระหว่างเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปและแคนาดา
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เฮอัล (real/BRL)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 5.54 BRL
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 BRL : 5.92 บาท (พ.ย. 2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 1.49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -4.1%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 6,796.8 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 99.84 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 13.9%
อัตราเงินเฟ้อ : 4.5%
มูลค่าการส่งออก : 209,817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : อะไหล่รถยนต์ สินแร่เหล็ก ถั่วเหลือง รองเท้า กาแฟและรถยนต์
คู่ค้าสำคัญ : จีน 21.81% สหรัฐฯ 12.5% อาร์เจนตินา 8.09% เนเธอร์แลนด์ 4.3% ญี่ปุ่น 2.42% เยอรมนี 2.26%
มูลค่าการนำเข้า : 158,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรกล อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เคมี อะไหล่รถยนต์ น้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้า
คู่ค้าสำคัญ : จีน 18.12% สหรัฐฯ 16.7% อาร์เจนตินา 6.26% เยอรมนี 6.1% อิตาลี 2.63% ฝรั่งเศส 2.47% ชิลี 2.29%
การทหาร กองทัพบราซิลมีกำลังพล 366,500 นาย กองทัพประกอบด้วย ทบ. (Exercito Brasileiro-EB) 214,000 นาย ทร.(Marinha do Brazil-MB) 85,000 นาย (รวมฝูงบินของกองทัพเรือและนาวิกโยธิน) ทอ. (Force Aerea Brasileira-FAB) 67,500 นาย กำลังรบกึ่งทหาร 395,000 นาย และกำลังพลสำรอง 1.34 ล้านนาย งบประมาณด้านการทหาร 19,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์สำคัญ อาทิ รถถัง 437 คัน รถลำเลียงหุ้มเกราะ 1,881 คัน รถถังปืนใหญ่อัตตาจร 212 คัน ปืนใหญ่ชนิดลาก 565 กระบอก เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 244 เครื่อง เครื่องบินโจมตี/สกัดกั้น 43 เครื่อง เครื่องบินโจมตี 121 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง 123 ลำ เครื่องบินฝึก 181 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 190 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 12 ลำ เรือฟรีเกต 8 ลำ เรือ Corvettes 3 ลำ เรือดำน้ำ 5 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 23 ลำและเรือกวาดทุ่นระเบิด 6 ลำ (กำลังต่อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากฝรั่งเศส 1 ลำ)
ความสัมพันธ์ไทย-บราซิล
ไทยกับบราซิลสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันตั้งแต่ 17 เม.ย.2502 ความสัมพันธ์ ทั้งสองประเทศดำเนินไปด้วยดี จนถึงปัจจุบัน ไทยเปิด สอท.ที่รีโอเดจาเนโร (เมืองหลวงของบราซิลในขณะนั้น) เมื่อปี 2507 ก่อนที่จะย้าย สอท. ไปที่บราซิเลียเมื่อปี 2516 หลังจากบราซิลย้ายเมืองหลวงไปที่บราซิเลีย (ปี 2503) ไทยยังมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ รีโอเดจาเนโร และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เซาเปาลู รวมทั้งมีหน่วยงานของไทยที่ประจำการในบราซิล ได้แก่ สนง.ผชท.ฝ่ายทหาร ณ บราซิเลีย ซึ่งเปิด สนง.เมื่อ เม.ย.2551 และ สนง.ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เซาเปาลู ส่วนบราซิลได้เปิด สอท.ที่กรุงเทพฯ (มีเขตอาณาครอบคลุมไทย กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เมื่อปี 2506
ความสัมพันธ์ไทย-บราซิลมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยเมื่อ 16 มิ.ย.2547 มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม (JC) ไทย-บราซิล เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมทุก 2 ปี ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อ ต.ค.2551 ส่วนการประชุม JC ไทย-บราซิล ครั้งที่ 2 มีขึ้นที่บราซิล เมื่อ 29 มิ.ย.2555 นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นระยะ รวมทั้งการเสด็จเยือนบราซิลในระดับราชวงศ์ ระดับ นรม. รมว.กระทรวงต่าง ๆ ไทยและบราซิลมีความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาคมโลก อาทิ ความมั่นคง การรักษาและส่งเสริมสันติภาพ เศรษฐกิจและการค้า สิ่งแวดล้อม โดยทั้งสองประเทศมีแนวนโยบายที่คล้ายคลึงกันและมีบทบาทความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ได้แก่ UN, WTO, South-South Cooperation, FEALAC และ ASEAN-MERCOSUR
ยุทธศาสตร์ของไทยต่อบราซิล ไทยให้ความสำคัญต่อบราซิลสูงสุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยกำหนดให้เป็น Strategic Post ของไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน ความร่วมมือในสาขาที่บราซิลมีศักยภาพ ได้แก่ ปิโตรเลียม พลังงานทดแทน อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ การเป็นศูนย์กลางสู่ภูมิภาคของกันและกัน และการตอบรับการสนับสนุนในการดำเนินงาน ในเวทีระหว่างประเทศของไทยซึ่งบราซิลมีบทบาทในองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ยุทธศาสตร์ของบราซิลต่อไทย บราซิลคาดหวังให้ไทยเป็นพันธมิตรของบราซิลในเวทีการเมืองระหว่างประเทศและมุ่งขยายประโยชน์ทางเศรษฐกิจของบราซิลกับไทยไปสู่ระดับภูมิภาค เนื่องจากไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การค้าระหว่างไทย-บราซิล บราซิลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในลาตินอเมริกา โดยปี 2563 มูลค่าการค้า 115,839 ล้านบาท ไทยส่งออก 41,769 ล้านบาท และนำเข้า 74,070 ล้านบาท ไทยเสียเปรียบดุลการค้า 32,301 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สําคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้านําเข้าที่สําคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
การลงทุน ที่ผ่านมาบราซิลลงทุนในไทยค่อนข้างน้อย อุตสาหกรรมหลักที่ไทยต้องการให้บราซิลเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ไบโอเทคโนโลยี และแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นกิจการที่บราซิลมีศักยภาพ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ คือ ปัญหากําแพงภาษีศุลกากรและระบบศุลกากรที่ซับซ้อน รวมทั้งภาษีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ กฎหมายธุรกิจและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ยังไม่สามารถใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่ไทยกับบราซิลอยู่ห่างไกลกันมาก ไม่มีเที่ยวบินตรงทําให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลามาก รวมถึงมีปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากบราซิลใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ในขณะที่นักธุรกิจไทยที่รู้ภาษาโปรตุเกสมีน้อยมาก
ข้อตกลงสำคัญ : ไทยและบราซิลได้ลงนามความตกลงทวิภาคีรวม 12 ฉบับคือ 1) ความตกลงทางการค้า 2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ 3) ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ 4) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสมาพันธ์การค้าแห่งชาติบราซิล (National Confederation of Commerce) 5) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา ผู้ถือหนังสือเดินทางการทูตและราชการ 6) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา 7) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี 8) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระบบการทำงานและการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและนำเข้าระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กับธนาคารแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติบราซิล (BancoNacional de Desenvovimento Economico e Social-BNDES) 9) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านกีฬา 10) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 11) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคี และ 12) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือทางการเมืองในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การบริหารจัดการของประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโรในการรับมือการแพร่ระบาดของ เชื้อ COVID-19 เนื่องจากบราซิลมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อ COVID-19 สูงที่สุดอันดับที่สองของโลก รองจากสหรัฐฯ ด้านวุฒิสภาบราซิลจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการวุฒิสภาให้ดำเนินคดีนายโบลโซนาโรข้อหา ก่ออาชญากรรมจากความผิดพลาดในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยรายงานระบุว่านายโบลโซนาโรดำเนินมาตรการรับมือการแพร่ระบาดจากความเชื่อที่ไม่มีมูลความจริง เช่น การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อ COVID-19 โดยธรรมชาติ ด้านนายโบลโซนาโรปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดในรายงานดังกล่าว
- ความสัมพันธ์ระหว่างบราซิล-สหรัฐฯ ภายหลังการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี โจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ ที่ประกาศจะเพิ่มมาตรการกดดันบราซิลให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการรักษาพื้นที่ป่าแอมะซอน การเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ทำให้สหรัฐฯ ยังคงระงับการเดินทางเข้าประเทศสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากบราซิล รวมทั้งต้องการให้บราซิลต่ออายุการให้โควตาปลอดภาษีนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ มาตรการกดดันของสหรัฐฯ ต่อบราซิลดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้บราซิลดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น