สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
People’s Republic of Bangladesh
เมืองหลวง ธากา
ที่ตั้ง อยู่ทางตะวันออกของอนุทวีปเอเชียใต้ บริเวณเส้นละติจูดที่ 24 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 90องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 148,460 ตร.กม.
อาณาเขต ความยาวของเส้นพรมแดนทั้งหมด 4,413 กม.
ทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก ติดกับอินเดีย (4,142 กม.)
ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดกับเมียนมา (271 กม.)
ทิศใต้ ติดกับอ่าวเบงกอล (580 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตร เป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำที่สำคัญ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา พรหมบุตร และเมคนา (Meghna) พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบเชิงเขาขนาดใหญ่ ส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นเทือกเขาสูง
วันชาติ 26 มี.ค. (ได้รับเอกราชจากปากีสถานตะวันตกเมื่อปี 2514)
ชีค ฮาซินา
Sheikh Hasina
(นรม.บังกลาเทศ)
ประชากร 167,184,465 คน (ต.ค.2566) ประกอบด้วย เชื้อสายเบงกาลี 98.9% อื่น ๆ1.1% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 25.38% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 67.09% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 7.53%อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 73.57 ปี เพศชายประมาณ 71.8 ปี เพศหญิงประมาณ 75.6 ปี อัตราการเกิด 17.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.5 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเจริญเติบโตของประชากร 0.91%
ศาสนา อิสลาม 89.8% ฮินดู 9.1% และศาสนาอื่น ๆ 0.7%
ภาษา ภาษาเบงกาลี (Bengali) เป็นภาษาราชการ นิยมใช้ภาษาอังกฤษในภาคการศึกษาและธุรกิจ และมีภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อย
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 74.9% ชาย 77.8% หญิง 72% งบประมาณด้านการศึกษาประจำปีงบประมาณ 2566-2567 จำนวน 7,960ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลจัดการศึกษาแบบให้เปล่าแก่เด็กหญิงจนถึงเกรด 10 การศึกษาภาคบังคับ 6 ปี และให้ค่าจ้างเรียนแก่นักศึกษาสตรี บังกลาเทศมีมหาวิทยาลัยของรัฐ 14 แห่ง และเอกชน 19 แห่ง มหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐ 14 แห่ง และเอกชน 11 แห่ง วิทยาลัยทันตแพทย์ 3 แห่ง วิทยาลัยเทคนิค 4 แห่ง วิทยาลัยทั่วไป 2,409 แห่ง สถาบันเทคโนโลยี 4 แห่ง และโรงเรียนสอนศาสนา 7,276 แห่ง
การก่อตั้งประเทศ เดิมดินแดนของบังกลาเทศในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป (อินเดีย) เคยมี
ความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมาก่อน ต่อมาพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ จนกลายเป็นศาสนาหลักมาจนถึงทุกวันนี้ ชมพูทวีปตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2300 และได้รับเอกราชเมื่อปี 2490 แต่ขณะนั้นบังกลาเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน เรียกว่าปากีสถานตะวันออก ต่อมาชาวเบงกาลีในปากีสถานตะวันออกไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลกลาง ประกอบกับมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ชาวเบงกาลีจึงจัดตั้งพรรคสันนิบาตอวามี (Awami League-AL) ขึ้นเมื่อปี 2492 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวเบงกาลี โดยมีชีค มูจิบูร ราห์มาน เป็นหัวหน้าพรรค
เมื่อปากีสถานตะวันออกประกาศแยกตัวจากปากีสถานตะวันตก ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างปากีสถานตะวันออกกับตะวันตก โดยอินเดียส่งทหารเข้าไปช่วยปากีสถานตะวันออก จนปากีสถานตะวันออกสามารถแยกตัวเป็นเอกราช และจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศเมื่อ 26 มี.ค.2514 โดยมีชีค มูจิบูร ราห์มาน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้ก่อตั้งบังกลาเทศ (Father of the Nation)
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมี นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 เขต
ฝ่ายบริหาร : มี นรม. เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง
กรมต่าง ๆ และเป็นผู้แต่งตั้ง รมต. และ ออท.ประจำประเทศต่าง ๆ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีเพียงสภาเดียวคือ Jatiya Sangsad หรือสภาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 300 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระ 5 ปี หน้าที่สำคัญ คือ ออกกฎหมายและข้อมติ จัดให้มีการไต่สวนในเรื่องที่มีความสำคัญ และให้ความเห็นชอบเรื่องงบประมาณและภาษี
ฝ่ายตุลาการ : บังกลาเทศใช้ระบบศาลแบบสหราชอาณาจักร มีทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา
โดยศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Appellate Division และ High Court Division และยังมี
ศาลระดับล่าง ได้แก่ District Courts Thana Courts และ Village Courts นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษอื่น ๆ เช่น ศาลครอบครัว ศาลแรงงาน
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรคสันนิบาตอวามี (Awami League-AL) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นรม.ชีค ฮาซินา 2) พรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (Bangladesh National Party-BNP) ปัจจุบันเป็นฝ่ายค้าน นำโดยนางคาเลดา เซีย และ 3) พรรค Jama’at-e-Islami-JI ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเคร่งจารีต ทั้งนี้ 2 พรรคแรกผลัดกันเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านมาตลอด เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านก็พยายามชุมนุมประท้วงโค่นล้มรัฐบาล ส่งผลกระทบทำให้นโยบายของชาติขาดความต่อเนื่อง
เศรษฐกิจ เศรษฐกิจบังกลาเทศเป็นระบบเศรษฐกิจการตลาด โดยพึ่งพาเศรษฐกิจหลัก 3 ภาค ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป (คิดเป็น 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) และ
ภาคบริการและแรงงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ส่งเสริม
การลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนในลำดับต้น ๆ รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออก จุดแข็งของโครงสร้างเศรษฐกิจบังกลาเทศ คือ แรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติราคาถูก ซึ่งส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
ปีงบประมาณ 1 ก.ค.-30 มิ.ย.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ตากา (Taka/BDT)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 110.25 ตากา
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 3.01 ตากา (ต.ค. 2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 484,760ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 6%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 35.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ค.2565)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 2,850 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 98,000,000 ล้านคน
รายได้จากแรงงานบังกลาเทศในต่างประเทศ : 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ส.ค.2565)
อัตราการว่างงาน : 4.8%
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 7.5%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 668.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 52,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(มิ.ย.2565)
สินค้าส่งออกสำคัญ : เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าถัก สินค้าเกษตร ปลาและอาหารทะเลแช่แข็ง ปอและผลิตภัณฑ์จากปอ และเครื่องหนัง
คู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศส
มูลค่าการนำเข้า : 6,855 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(ส.ค.2565)
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผ้าฝ้าย เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องบริโภค
คู่ค้าสำคัญ : จีน อินเดีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบราซิล
การทหาร กองทัพบังกลาเทศ ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. มีกำลังพลทั้งหมด 160,000นาย
ทบ. มีกำลังพล 130,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ ถ.รบหลัก 644 คัน และ ถ.เบา 140 คัน ปืนใหญ่ 853 กระบอก ปืน ค.300 กระบอก บ.ขนส่ง 11 ลำ เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง 22 เครื่อง จรวดแบบพื้นสู่อากาศ 21 เครื่อง และอากาศยาน 11 เครื่อง
ทร. มีกำลังพล 15,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือฟริเกต 4 ลำ เรือคอร์เวต 8 ลำ และเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่ง 6 ลำ มีฐานทัพเรืออยู่ในธากา จิตตะกอง แคปไตคุลนา และมังกลา
ทอ. มีกำลังพล 15,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ บ. 160 เครื่อง และ ฮ. 45 เครื่อง
นอกจากนี้ มีกองกำลังกึ่งทหาร 63,900 นาย แบ่งเป็นหน่วย รปภ. (Ansars) 20,000 นาย
หน่วยเคลื่อนที่เร็ว 5,000 นาย กกล.ป้องกันชายแดน (Border Guard Bangladesh-BGB) 38,000 นาย และหน่วยป้องกันชายฝั่ง 900 นาย
งบประมาณทางทหาร 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
ปัญหาด้านความมั่นคง
1)ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลพรรค AL กับฝ่ายค้าน นำโดยพรรค BNP ซึ่งไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลาย ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงเป็นระยะ หลายครั้งเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ภาพลักษณ์ และการพัฒนาประเทศในระยะยาว
2)ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาจากเมียนมามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ค่ายผู้อพยพชาวโรฮีนจาในเมืองค็อกซ์ บาซาร์ มีสภาพแออัด และขาดแคลนอาหารสำหรับยังชีพ เนื่องจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) และโครงการอาหารโลก (World Food Programme–WFP) ตัดงบประมาณ ขณะที่กระบวนการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจาไปเมียนมา ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากเมียนมายังไม่มีนโยบายให้สถานะพลเมืองแก่ชาวโรฮีนจา แต่ยังไม่สามารถยกเลิกข้อตกลงการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ทำไว้กับบังกลาเทศ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาและร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป
3)ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจายังนำไปสู่การขยายตัวของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบนำพาผู้อพยพชาวโรฮีนจาไปประเทศที่ 3 และการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า
ที่ทวีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูง มีช่องทางลักลอบนำเข้าได้ง่าย (ผ่านด่านชายแดน 43 จุด) รวมทั้งมีการลักลอบผลิตยาบ้าอย่างกว้างขวางทั้งในฝั่งเมียนมาและในค่ายอพยพของชาวโรฮีนจาในบังกลาเทศ
4)ปัญหาการเป็นประเทศต้นทางและประเทศทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ โดยแสวงประโยชน์จากผู้อพยพชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศที่มีฐานะยากจน ซึ่งปัจจุบัน ชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพในเมืองค็อกซ์บาซาร์ พยายามหาช่องทางใหม่ในการลักลอบไปยังประเทศที่ 3 และได้ผลมากขึ้น โดยหันไปใช้เส้นทางทางบกและทางอากาศ ทำให้ฤดูกาลไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทางอีกต่อไป
5)ปัญหาการบ่มเพาะและเผยแพร่แนวคิดรุนแรงในกลุ่มเยาวชน โดยปรากฏข่าวสารเกี่ยวกับกลุ่มมุสลิมที่มีแนวคิดรุนแรงและนิยมกลุ่ม Islamic State (IS) ในบังกลาเทศ รวมทั้งปรากฏข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับข่ายงานของสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในอนุทวีปอินเดีย (Al Qaeda in the Indian Subcontinent-AQIS)
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ บังกลาเทศเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มความร่วมมือ
รวม 62 แห่ง อาทิ UN OIC SAARC และ BIMSTEC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลบังกลาเทศมีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรเผยแพร่และอำนวยความสะดวกด้านเอกสารวิจัย โดยมีสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบาย ทบทวนบทบาท และกำหนดทิศทางของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยาน 18 แห่ง ใช้การได้ดี 16 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติ Shahjalal International หรือ Zia International ในกรุงธากา และ Shah Almanatในเมืองจิตตะกอง เส้นทางรถไฟระยะทาง 2,460 กม. ถนนระยะทาง 21,269 กม. และมีการเดินทางโดยเรือข้ามฟากในแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลผ่านบังกลาเทศกว่า 200 สายไปออกปากอ่าวเบงกอล และมีท่าเรือสำคัญอยู่ที่เมืองจิตตะกองและเมือง Mongla ด้านการโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการ 766,183 เลขหมาย(ปี 2560) โทรศัพท์เคลื่อนที่ 135,981,846 เลขหมาย (ปี 2560) รหัสโทรศัพท์ +880 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 80,483,000 คน (ปี 2560) บัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 28 ล้านบัญชี (ปี 2560) รหัสอินเทอร์เน็ต .bd
การเดินทาง สายการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ–ธากาทุกวัน และยังมีสายการบินของบังกลาเทศและประเทศอื่นที่บินตรงจากไทย คือ พิมานแอร์ รีเจนต์แอร์ ให้บริการเส้นทางสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ-ธากา กรุงเทพฯ-จิตตะกอง และกรุงเทพฯ-ค็อกซ์ บาซาร์ เวลาที่บังกลาเทศช้ากว่าไทย 1 ชม. ทั้งนี้
ชาวบังกลาเทศยังคงนิยมใช้บริการของการบินไทยมากที่สุด แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่า ทำให้เที่ยวบินของ การบินไทยเต็มทุกเที่ยวบิน นักท่องเที่ยวไทยสามารถขอรับการตรวจลงตรา เพื่อเดินทางไปยังบังกลาเทศได้ที่ สอท.บังกลาเทศ ณ กรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ไทย-บังกลาเทศ
ไทยกับบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 5 ต.ค.2515 และมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในกรอบความร่วมมือภูมิภาคและในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ อาทิ UN ACD ARF และ ASEM โดยไทยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่บังกลาเทศมาโดยตลอด กับยินดีที่บังกลาเทศสนใจจะยกระดับเป็นประเทศคู่เจรจาอาเซียน และเข้าร่วมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor–EWEC) ตลอดจนกรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา (Mekong-Ganga Cooperation) ส่วนบังกลาเทศให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ บังกลาเทศเป็นมิตรประเทศในเอเชียใต้ที่ให้การสนับสนุนไทยในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation-OIC) ด้วยดีเสมอมา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการแก้ไขปัญหาโรฮีนจา
ปริมาณการค้าไทย-บังกลาเทศมีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อปี 2565 ลดลงร้อยละ 2.50 จากปี2564 คิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 0.21 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,087.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐในห้วงปี 2561-2565 การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 1,148.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับบังกลาเทศ มีมูลค่า 511.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 31.22 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งตามกระบวนการแล้วจำเป็นต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะเริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศก่อน
บังกลาเทศเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปอกระเจา ฝ้าย และชา ปัจจุบัน บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดียและปากีสถาน ปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.)มูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 1,048.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 978.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ข้าว เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน และเครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนไทยนำเข้าจากบังกลาเทศมูลค่า 69.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ
ข้อตกลงสำคัญระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ได้แก่ ความตกลงทางการค้า (ปี 2520) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง (ปี 2521) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และวิทยาศาสตร์ (ปี 2522) ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (เม.ย.2540) ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมไทย-บังกลาเทศ (ปี 2545) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ปี 2555) และการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่าง กต.ไทยกับบังกลาเทศ (ปี 2555)