สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต
Democratic Republic of Timor-Leste
เมืองหลวง ดิลี
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนหมู่เกาะซุนดาน้อย (Lesser Sundar) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ดินแดน 3 ส่วน โดยดินแดนส่วนแรกเป็นเกาะติมอร์ด้านตะวันออก ส่วนที่สองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะติมอร์เรียกว่าเขต Oecussi-Ambeno และส่วนที่สาม ประกอบด้วย หมู่เกาะ 2 แห่ง คือ หมู่เกาะ Palau Atauro และ Pulau Jaco ในทะเลอราฟูรา มีพื้นที่ประมาณ 14,874 ตร.กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับช่องแคบอุมไบ (Ombai Strait) และช่องแคบเวตาร์ (Wetar Strait)
ทิศใต้ ติดกับทะเลติมอร์
ทิศตะวันตก ติดกับ จ.ติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย
ทิศตะวันออก ติดกับ จ.นูซาเติงการาตะวันออกของอินโดนีเซีย
ภูมิประเทศ มีที่ราบชายฝั่งและตอนกลางเป็นภูเขาสูงจำนวนมาก
วันชาติ 20 พ.ค.
นายฟรานซิสกู กูเตร์เรส
Francisco Guterres
(ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต)
ประชากร ประมาณ 1.41 ล้านคน (ปี 2564) มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่สืบเชื้อสาย
มาจาก Malayo-Polynesian และ Melanesian/Papuan มีชนกลุ่มน้อยชาวจีน อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 39.96% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 55.98% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.06% อายุขัยโดยเฉลี่ย 69.62 ปี เพศชาย 67.94 ปี เพศหญิง 71.41 ปี (ปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และได้ประกาศอิสรภาพจากโปรตุเกสเมื่อ 28 พ.ย.2518 หลังจากนั้นเพียง 9 วันก็ถูกอินโดนีเซียยึดครองและผนวกติมอร์ตะวันออกเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซียเมื่อปี 2519 ต่อมามีการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช โดยมีนายโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา และนายซานานา กุสเมา เป็นผู้นำ จนกระทั่งรัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้มีการลงประชามติเมื่อ 30 ส.ค.2542 โดยชาวติมอร์ตะวันออกกว่า 80% ออกเสียงสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช หลังจากนั้นเกิดการต่อสู้ภายในประเทศและมีเหตุรุนแรงระหว่างกลุ่มทหารที่นิยมอินโดนีเซียกับกลุ่มที่เรียกร้องเอกราช ทำให้ UN จัดตั้งกองกำลังนานาชาติ (International Force in East Timor-Leste หรือ INTERFET) เข้าไปรักษาสันติภาพเมื่อ 15 ก.ย.2542 จากนั้นสถานการณ์ จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติและประกาศเอกราชเมื่อ 20 พ.ค.2545 ใช้ชื่อว่าติมอร์-เลสเต (Timor-Leste) ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส
การเมือง ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ประมุขรัฐ วาระ 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปกำหนดจัดในปี 2565 ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นรม.วาระ 4 ปี การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อ 12 พ.ค.2561 ปรากฏว่า พันธมิตรแนวร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยพรรค National Congress for Timorese Reconstruction (CNRT) ได้รับคะแนนนำและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ร่วมกับพรรค People’s Liberation Party (PLP) โดยนายตาอูร์ มาตัน รูอัก (อายุ 66 ปี/ปี 2565) ประธานพรรค PLP และอดีตประธานาธิบดีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นรม.ติมอร์-เลสเตเมื่อ 22 มิ.ย.2561
ฝ่ายบริหาร : นรม. ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภา วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จำนวน 65 ที่นั่ง วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อ 12 พ.ค.2561 ทำให้รัฐสภาติมอร์-เลสเต ประกอบด้วย สมาชิกจากพันธมิตรแนวร่วมฝ่ายค้าน (พรรค CNRT พรรค PLP และพรรค KHUNTO) จำนวน 34 ที่นั่ง พรรค Revolutionary Front for an Independent East Timor (FRETILIN) จำนวน 23 ที่นั่ง พรรค Democratic Party (PD) จำนวน 5 ที่นั่ง และพรรค Democratic Development Forum จำนวน 3 ที่นั่ง
ฝ่ายตุลาการ : รัฐธรรมนูญติมอร์-เลสเตระบุว่า ฝ่ายตุลาการของติมอร์-เลสเต ประกอบด้วย ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง แต่ในทางปฏิบัติ ศาลอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนศาลฎีกา เนื่องจากติมอร์-เลสเตขาดแคลนบุคลากรด้านกฎหมายและงบประมาณในการพัฒนาระบบศาล ปัจจุบัน ติมอร์-เลสเตอยู่ระหว่างการจัดตั้งศาลฎีกา ศาลภาษี ศาลทหาร และสำนักงานอัยการสูงสุด
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรคการเมือง ที่สำคัญ ได้แก่ พรรค CNRT และพรรค FRETILIN
เศรษฐกิจ ติมอร์-เลสเตพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 95% ของรายได้ทั้งหมด การให้สัตยาบันข้อตกลงการแบ่งปันรายได้จากแหล่งพลังงาน Greater Sunrise ระหว่างติมอร์-เลสเตกับออสเตรเลีย ซึ่งลงนามเมื่อ มี.ค.2561 ทำให้ติมอร์-เลสเตมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทดแทนรายได้จากแหล่งน้ำมันบายู-อูนดัน ซึ่งอาจหมดลงในปี 2565 เศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต ที่คาดว่าจะเติบโตในปี 2564 กลับได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความเสียหายรุนแรงจากอุทกภัย เมื่อ เม.ย.2564 ขณะเดียวกันข้อจำกัดเชิงโครงสร้างยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2564) 1,895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สกุลเงิน : ยังไม่มีสกุลเงินของตนเอง ปัจจุบัน ใช้ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และรูเปียะฮ์ของอินโดนีเซีย
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2563)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 1,821 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : หดตัว 8.7 %
อัตราเงินเฟ้อ : 1.0%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,381.2 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการว่างงาน : 4.7% (ปี 2559)
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : 910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2563)
มูลค่าการส่งออก : 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ กาแฟ ผัก เศษเหล็ก
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย
มูลค่าการนำเข้า : 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ปิโตรเลียมกลั่น รถยนต์ ปูนซีเมนต์ รถส่งของ รถจักรยานยนต์
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : อินโดนีเซีย จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย
คู่ค้าสำคัญ 5 อันดับในกลุ่มอาเซียน : อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย
การทหาร กองทัพติมอร์-เลสเต (Forças de Defesa de Timor Leste or Falintil-FDTL หรือ F-FDTL) มีกำลังพล 2,280 นาย ไม่มีกำลังสำรอง แบ่งเป็น ทบ. 2,200 นาย และ ทร. 80 นาย งบประมาณทางทหาร ในปี 2564 จำนวน 39.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์สำคัญ : อาวุธส่วนใหญ่เป็นอาวุธประจำกาย อาทิ ปืนไรเฟิล M16 จำนวน 1,560 กระบอก ปืนไรเฟิล Sniper 8 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด M203 75 เครื่อง เรือตรวจการณ์ 7 ลำ ยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจาก จีน บราซิล และสหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ไทยกับติมอร์-เลสเต
ไทยเป็นประเทศที่ 3 ซึ่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับติมอร์-เลสเต เมื่อ 20 พ.ค.2545 ต่อจากจีนและนอร์เวย์ และนาย Dionisio da Costa Babo Soares รมว.กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือติมอร์-เลสเตเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปี UN-ESCAP สมัยที่ 75 ระหว่าง 27-31 พ.ค.2562
ด้านการค้า ปี 2563 ติมอร์-เลสเตเป็นคู่ค้าอันดับ 186 ของไทย มูลค่าการค้า 115 ล้านบาท ไทยส่งออก 111 ล้านบาท และนำเข้า 4 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 107 ล้านบาท และห้วง ม.ค.-ก.ย.2564) มีมูลค่าการค้ารวม 164 ล้านบาท ไทยส่งออก 159 ล้านบาท และนำเข้า 5 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 154 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สินค้านำเข้าจากติมอร์-เลสเต : ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ สิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ข้อตกลงสำคัญ : ไทยและติมอร์-เลสเตจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการเมื่อ พ.ค.2560 ส่วนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ติมอร์-เลสเตต้องการให้ไทยสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเกษตร ประมง การพัฒนาแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อการพัฒนาประเทศของติมอร์-เลสเต โดยเหยื่อการค้ามนุษย์มีทั้งเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย ซึ่งเกิดขึ้นในรูปแบบของการล่อลวง เอาเปรียบ ลักพาตัว หรือซื้อตัวมาจากพ่อแม่ โดยบุคคลเหล่านี้จะถูกบังคับใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรม การก่อสร้าง และเหมืองแร่ บางส่วนถูกนำไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านหรือตามสถานที่ก่อสร้างในสภาพเยี่ยงทาส และบางส่วนถูกขายไปเพื่อบริการทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น การค้ายาเสพติด โรคติดต่อร้ายแรง หรืออาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งส่งผลร้ายต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้เยาว์ ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ