สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
Republic of the Philippines
เมืองหลวง มะนิลา
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 7,107 หมู่เกาะ พื้นที่ประมาณ 300,000 ตร.กม. (3 ใน 5 ของไทย) แบ่งเป็น 3 พื้นที่สำคัญ : ตอนเหนือเกาะลูซอน (Luzon) รวมมะนิลา ตอนกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ (Visayas) รวมหมู่เกาะปาลาวันและมินโดโร และตอนใต้ เกาะมินดาเนา (Mindanao) และหมู่เกาะ Sulu ฟิลิปปินส์มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 36,289 กม. หรือมีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 5 ของโลก ฟิลิปปินส์อยู่ในเขต Pacific’s Ring of Fire ซึ่งเป็นเขตแผ่นดินไหวรุนแรงและแนวภูเขาไฟ (ทั้งประเทศมี 106 ลูก)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และช่องแคบ Bash
ทิศใต้ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลฟิลิปปินส์
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลเซเลเบสและทะเลซูลู
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้)
ภูมิประเทศ หมู่เกาะต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์แบ่งเป็น 3 ภาค : ภาคเหนือ เกาะลูซอนใหญ่ที่สุด มีที่ราบ
2 แห่งคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคากายันและที่ราบมะนิลา ตอนกลางเกาะเป็นที่ราบใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นที่ตั้งเมืองหลวงมะนิลา ภาคกลาง หมู่เกาะวิสายาส์ ประกอบด้วย เกาะมินโดโร มาสตาเบ ซามาร์ ปาไน เนกรอสเซบู โปโซล และเลเต ภาคใต้ เกาะมินดาเนา มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากเกาะลูซอน ภูเขาสูงที่สุด : ภูเขาอาโป บนเกาะมินดาเนา ความสูง 9,692 ฟุต และภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอีก 21 ลูก ในจำนวนนี้เป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นมาก 6 ลูก : มายอน ตาอาล บูลูซาน พินาตูโบ คาลาอัน และฮิบอค
วันชาติ 12 มิ.ย.
นายโรดริโก ดูเตอร์เต
Rodrigo Duterte
(ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์)
ประชากร 110.8 ล้านคน (ก.ค. 2564) ตากาล็อก 24.4% บิซายา/บินิซายา 11.4% ซีบูเอโน 9.9% อิลโลคาโน 8.8% ฮิลิไกนอนอิลองโก 8.4% บีโคล 6.8% วาไร 4% และอื่น ๆ 27.1% สัดส่วนประชากรจำแนกตามอายุ: วัยเด็ก (0-14 ปี) 32.42% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.71% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.86% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 70.32 ปี เพศชาย 66.78 ปี เพศหญิง 74.03 ปี อัตราการเกิด 22.66 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 5.99 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.49%
การก่อตั้งประเทศ
ชนเผ่าแรกที่อพยพเข้ามาในฟิลิปปินส์ คือ เผ่าปิกมี่ ซึ่งเป็นพวกหาของป่าและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต่อมาชนเผ่ามาเลย์อพยพเข้ามาและนำวัฒนธรรมอิสลามมาสู่ฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นนายเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน นักเดินเรือชาวโปรตุเกสสำรวจพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อปี 2064 และตั้งชื่อว่า “ฟิลิปปินส์” เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ฟิลิปปินส์กลายเป็นอาณานิคมของสเปนนานถึง 327 ปี ชาวฟิลิปปินส์พยายามต่อสู้กับสเปนจนได้รับเอกราชเมื่อ 12 มิ.ย.2411 และตั้งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่มีผลสมบูรณ์เพราะสเปนแพ้สงครามและยกฟิลิปปินส์ให้สหรัฐฯ เมื่อ 10 ธ.ค.2411 ฟิลิปปินส์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯ เมื่อปี 2445 และได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อ 4 ก.ค.2489 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี จำกัดให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว นายโรดริโก ดูเตอร์เต ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 9 พ.ค.2559 กำหนดครบวาระใน 30 มิ.ย.2565 ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปกำหนดใน 9 พ.ค.2565
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมีอำนาจแต่งตั้ง ครม. และ ออท. รวมทั้งควบคุมฝ่ายบริหาร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ แต่ไม่มีอำนาจในการยุบสภา
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศ ให้ความเห็นชอบงบประมาณและภาษี รวมถึงพิจารณาการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ประกอบด้วย 2 สภา คือ 1) วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระไม่เกิน 6 ปี และไม่เกิน 2 สมัย โดยมีการเลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีสมาชิกไม่เกิน 304 คน (243 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 61 คนมาจากการเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อจากตัวแทนสาขาอาชีพต่าง ๆ) มีวาระ 3 ปี และไม่เกิน 3 สมัย
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกา (ศาลสูงสุด) ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีระดับเทศบาลและระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court) ในเขตปกครองตนเองบังสาโมโรเพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับชาวฟิลิปปินส์มุสลิมในพื้นที่โดยเฉพาะ ทั้งนี้ ศาลฎีกา ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกา 14 คน ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีและผ่านการลงมติจากรัฐสภา โดยมีหน้าที่พิจารณาคดีการเมือง คดีอุทธรณ์ คดีฎีกา รวมถึงคดีที่มีความสำคัญระดับประเทศ เช่น การสั่งปลดประธานาธิบดี หรือการระงับการประกาศใช้กฎอัยการศึก
องค์กรอิสระ : คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจสอบการประพฤติมิชอบ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Laban ng Demokratikong Pilipino/ PDP–Laban (พรรครัฐบาล) พรรค Liberal Party/LP พรรค United Nationalist Alliance พรรค People Power Coalition พรรค PuwersangMasa และพรรค Kilusang Bagon Lipunan
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด สภาพเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพคล้ายกับไทย สินค้าเกษตรเป็นรายได้หลัก การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ นโยบายเศรษฐกิจ คือ แก้ไขปัญหาความยากจน ปราบปรามการทุจริต เร่งสร้างงานเพื่อแก้ไขปัญหาชาวฟิลิปปินส์ไปทำงานต่างประเทศ ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหาร
ปีงบประมาณ : ม.ค.-ธ.ค. (งบประมาณปี 2564 วงเงิน 93,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เปโซฟิลิปปินส์ (PHP)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 48.40 เปโซ (ต.ค.2563)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 1.55 เปโซ (ต.ค.2563)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 357,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : ปี 2562 อยู่ที่ 6.1% และรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า ทั้งปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 4.5-6.6% โดยช่วง ม.ค.-มี.ค.2563 อยู่ที่ติดลบ 0.7 % และ เม.ย.-มิ.ย.2563 อยู่ที่ติดลบ 0.5 %
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,294 ดอลลาร์สหรัฐ (ธ.ค.2562)
แรงงาน : 45.40 ล้านคน (ม.ค.2563)
รายได้แรงงานในต่างประเทศ : 33,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562) และ 18,658 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ค.2563) มาจากสหรัฐฯ สิงคโปร์ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา ฮ่องกง กาตาร์ และไต้หวัน โดยมีแรงงานในต่างประเทศประมาณ 2.2 ล้านคน (ปี 2562)
อัตราการว่างงาน : 10% (ก.ค.2563)
อัตราเงินเฟ้อ : 2.5% (ปี 2562) รัฐบาลประมาณการว่า ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 2.5% โดย ก.ย.2563 อยู่ที่ 2.3% ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 36,919.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562) และขาดดุล 14,858.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2563)
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าว ข้าวโพด มะพร้าว อ้อย กล้วยหอม มะม่วง สับปะรด และการประมง
ผลผลิตอุตสาหกรรม : แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์อุปกรณืและส่วนประกอบ เซมิคอนดักเตอร์ สินแร่ (นิเกิล ทองแดง) อุปกรณ์การแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์
มูลค่าการส่งออก : 69,981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562) และ 53,989.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค.2563)
สินค้าส่งออก : แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้ เซมิคอนดักเตอร์ สินแร่ (นิเกิล ทองแดง ทองคำ) อุปกรณ์การแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันมะพร้าว อาหารทะเล กล้วย และผลไม้เมืองร้อน
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย
มูลค่าการนำเข้า : 106,900.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562) และ 39,131.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ส.ค. 2563)
สินค้านำเข้า : น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ เม็ดพลาสติก เหล็ก อาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง) ข้าวสาลี ข้าว
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย
คู่ค้าสำคัญ : ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ : 7,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2562) และ 1,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-มิ.ย.2563) เป็นการลงทุนจาก ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทรัพยากรธรรมชาติ : นิเกิล ทองแดง ทองคำ โครเมียม ป่าไม้ ทรัพยากรทางทะเล เป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก
การทหาร : กองทัพฟิลิปปินส์ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการกองทัพ รมว.กระทรวงกลาโหม เป็นรองผู้บัญชาการกองทัพ และเสนาธิการกองทัพคือ ผบ.ทสส. ซึ่งรับผิดชอบด้านยุทธการในนามประธานาธิบดี ผบ.ทสส.คนปัจจุบันคือ พล.อ.Jose Faustino Jr. (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 31 ก.ค.2564)
งบประมาณด้านการทหาร : 4,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปีงบประมาณ 2565) กำลังพลรวม 143,100 นาย กำลังพลรวม (คน) : ทบ. 101,000 นาย ทร. 24,500 นาย ทอ. 17,600 นาย กกล.อื่น ๆ ที่มิใช่ทหาร 12,300 นาย กกล.สำรอง 131,000 นาย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : ถ.เบา Scorpion 7 คัน รถถังหลัก 54 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 387 คัน อาวุธปล่อยนำวิถีประเภทพื้นสู่อากาศ 1 เครื่อง เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับ ทร. 65 ลำ เรือฟริเกต (HDF-3000) 1 ลำ เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่ง 63 ลำ เรือบรรทุกอากาศยานจำนวน 2 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 4 ลำ เรือระบายพล 11 ลำ เรือส่งกำลังบำรุง 6 ลำ บ.FA-50PH 1 ฝูง บ.โจมตีภาคพื้นดิน 1 ฝูง บ.ลาดตระเวน 1 ฝูง บ.ค้นหาและกู้ภัย 4 ฝูง บ.ลำเลียง 4 ฝูง บ.ฝึกซ้อม 3 ฝูง ฮ.โจมตี 2 ฝูง บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยใกล้ AIM-9L Sidewinder บ.ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยปานกลาง AGM-65 Maverick เรือลาดตระเวนและตรวจการณ์ชายฝั่งสำหรับหน่วยยามชายฝั่ง 87 ลำ อากาศยานไร้คนขับรุ่น Hermes 450 จำนวน 4 ลำ และ รุ่น Hermes 900 จำนวน 9 ลำ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์มีแผนพัฒนาปรับปรุงกองทัพระยะ 15 ปี งบประมาณรวม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ Horizon I (ปี 2555–2560) Horizon II (ปี 2561–2565) และ Horizon II (ปี 2566–2572)
ความสัมพันธ์ไทย-ฟิลิปปินส์
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 12 ก.ย.2492 โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ฯ มีความสัมพันธ์กับไทยในฐานะมิตรประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียนและเป็นแนวร่วมที่สนับสนุนบทบาทกันในเวทีระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทวิภาคีราบรื่นและใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการทหาร ส่วนด้านเศรษฐกิจอยู่ในลักษณะพันธมิตรเชิงแข่งขัน ทั้งด้านการค้าและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
การค้าไทยกับฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับ 15 ของไทย และอันดับ 5 ในอาเซียน ปี 2563 มีมูลค่ารวม 250,894 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 156,168 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 94,726 ล้านบาท ขณะที่การค้าช่วง ม.ค.-ก.ย.2564 มีมูลค่า 249,260 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 65,581 ล้านบาท
สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ : เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
ข้อตกลงสำคัญ : ความช่วยเหลือทางทหาร (14 มี.ค.2490) ความตกลงว่าด้วยไมตรี-พาณิชย์-การเดินเรือ (14 มิ.ย.2492) บริการเดินอากาศ (27 เม.ย.2496) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (31 ก.ค.2505) ความตกลงว่าด้วยที่ดิน (21 พ.ค.2506) ความตกลงทางวัฒนธรรมไทย-ฟิลิปปินส์ (22 ก.ค.2518) ความร่วมมือด้านการเกษตร (29 ส.ค.2522) การส่งผู้ร้ายข้ามแดน (16 มี.ค.2524) การเว้นการเก็บภาษีซ้อน (14 ก.ค.2525) ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (11 เม.ย.2526) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (24 ส.ค.2535) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (24 มี.ค.2536) การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (30 ก.ย.2538) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร (20 ส.ค.2540) ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (18 ธ.ค.2541) การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมความร่วมมือทวิภาคี (24 ส.ค.2542) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขจัดคราบน้ำมัน (23 พ.ย.2542) ความตกลงทางการค้า (27 พ.ย.2542) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาการเกษตร (30 พ.ค.2543) สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (12 ต.ค.2544) ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และจัดตั้งวิธีการดำเนินการในการสื่อสาร (5 พ.ย.2545) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการเกษตร (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (19 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวไทย-ฟิลิปปินส์ (8 เม.ย.2553) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนครู (10 ก.พ.2558) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปราบปรามยาเสพติด (20 ก.ย.2560) ไม่ต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวไทย-ฟิลิปปินส์ (ปี 2560-2561) เนื่องจากฟิลิปปินส์มีกฎหมายการเปิดเสรีนำเข้าข้าว (Republic Act No. 11203) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสารสนเทศและสื่อสารมวลชน (17 ม.ค.2562)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การเลือกตั้งประธานาธิบดีใน 9 พ.ค.65 ซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งรองประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายกเทศมนตรี และเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากสมัยของประธานาธิบดีดูเตอร์เต
2) แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายปรับปรุงภาษีฉบับใหม่ เพื่อลดการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลเมื่อ ม.ค.64 เป็นเก็บภาษีเหลือร้อยละ 25 จากเดิมร้อยละ 30 รวมถึงเพิ่มการจัดเก็บภาษีบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
3) แนวโน้มความขัดแย้งกับจีนในข้อพิพาททะเลจีนใต้หลังสมัยของประธานาธิบดีดูเตอร์เตซึ่งมีท่าทีผ่อนปรนต่อจีน แม้ว่าจีนยังคงขยายอิทธิพลทางทหารในพื้นที่ รวมถึงประกาศกฎหมายหน่วยยามฝั่ง (Coast Guard Law -CGL) ฉบับใหม่ ที่ให้อำนาจเรือตรวจการณ์ของจีนขับไล่เรือต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ และความพยายามของฟิลิปปินส์ในการดึงมหาอำนาจตะวันตกมาถ่วงดุลจีนมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจต่ออายุความตกลงว่าด้วยการเยือนของกองกำลังทหารระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ (Visiting Forces Agreement – VFA) เมื่อ ก.ค.64 เพื่อสกัดกั้นการรุกล้ำของเรือจีน
4) พัฒนาการการก่อการร้ายในฟิลิปปินส์หลังจากสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน และความเสี่ยงการจัดตั้งเป็นสาขาจังหวัด (wilayah) ของกลุ่ม Islamic State (IS) โดยกลุ่มก่อการร้ายท้องถิ่นที่เคลื่อนไหวสำคัญ คือ กลุ่มอาบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf Group-ASG) ซึ่งประกาศสวามิภักดิ์ต่อกลุ่ม IS กลุ่ม Maute กลุ่มนักรบเสรีภาพบังสาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters – BIFF) กลุ่ม Daulah Islamiyah -Hassan และกลุ่ม DI-Turaifie ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยกระดับการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในช่วงปี 2563-2564 โดยบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ หรือ Anti-Terrorism Act (ATA of 2020) เมื่อ 9 ก.ค.2563
5) ความคืบหน้าสันติภาพในมินดาเนาหลังจากจัดตั้งเขตปกครองตนเองบังสาโมโร (Bangsamoro in the Autonomous Region in Muslim Mindanao-BARMM) โดยมีกำหนดเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้ BOL ในปี 2568 ซึ่งเดิมกำหนดในปี 2565 แต่เลื่อนออกไปจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ทำให้การยกร่างกฎหมายลำดับรองล่าช้า