สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
(Democratic Socialist Republic of Sri Lanka
เมืองหลวง โคลัมโบ
ที่ตั้ง อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ 80 กม. โดยมีอ่าวแมนนาร์ และช่องแคบพอล์กคั่นกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 7 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 81 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 65,610 ตร.กม. ชายฝั่งทะเลยาว 1,340 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับอ่าวเบงกอล
ทิศใต้และทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ภูมิประเทศ ลักษณะเป็นเกาะรูปหยดน้ำหรือไข่มุก ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 24 ของโลก มีเทือกเขาตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน บริเวณเชิงเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เป็นแหล่งเพาะปลูกใบชาที่สำคัญ ทางตอนเหนือของเทือกเขาเป็นที่ราบแห้งแล้ง และที่ราบริมฝั่งทะเลทางตอนใต้ รอบเกาะเป็นหาดทรายสวยงาม
วันชาติ 4 ก.พ.
นายรานิล วิเกรมีสิงเห
Ranil Wickremesinghe
(ประธานาธิบดี)
ดิเนช กุนาวาร์เดนา
Dinesh Gunawardena
(นรม.ศรีลังกา)
ประชากร 23,326,272 คน (ต.ค.2566) ประกอบด้วย ชาวสิงหล 74.9% ทมิฬศรีลังกา 11.2% มัวร์ 9.2% ทมิฬอินเดีย 4.2% อื่น ๆ 0.5% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 21.95% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66.22% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 11.83% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 77.56 ปี ชาย 74.3 ปี หญิง 80.7 ปี อัตราการเกิด 13.61 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6.54 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.59% (ปี 2566)
ศาสนา พุทธ 70.2% ฮินดู 12.6% อิสลาม 9.7% คริสต์ 7.4%
ภาษา ภาษาประจำชาติ คือ สิงหล 75% ทมิฬ 18% และภาษาอื่น 8% โดยประชากร 10% สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้
การศึกษา ชาวศรีลังกามีอัตรารู้หนังสือ 92% โดยชาวศรีลังกาอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านและเขียนได้ เนื่องจากสหราชอาณาจักรวางรากฐานด้านการศึกษาไว้ รัฐบาลจัดการศึกษาแบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย การศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นประถมศึกษา มีมหาวิทยาลัย 9 แห่ง วิทยาลัยครู 26 แห่ง สถาบันเทคโนโลยี 13 แห่ง และวิทยาลัยเทคนิค 8 แห่ง
การก่อตั้งประเทศ ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2339 ในนามประเทศซีลอน และปกครองภายใต้กฎหมายสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2358 ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 4 ก.พ.2491 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นศรีลังกาเมื่อปี 2515 มีความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีลัม (Liberation Tigers of Tamil Eelam-LTTE) เมื่อปี 2526 และหลังจากสู้รบกันมากว่า 20 ปี รัฐบาลลงนามข้อตกลงหยุดยิงเมื่อ ก.พ.2545 โดยมีนอร์เวย์เป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ การสู้รบระหว่างรัฐบาลกับ LTTE เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2549 และรัฐบาลประสบความสำเร็จในการปราบปราม LTTE ด้วยการสังหารผู้นำสูงสุดของ LTTE เมื่อ พ.ค.2552
การเมือง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหาร รมว.กระทรวงกลาโหม และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง แบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 6 ปี และจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายรานิล วิเกรมีสิงเห ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ก.ค.2565
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีสภาเดียว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 225 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 6 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิถอดถอนประธานาธิบดี (เสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของ ส.ส.)
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีคณะกรรมการตุลาการ ประกอบด้วย สมาชิก 5 คน ประธานศาลฎีกาทำหน้าที่ประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญและหลักความยุติธรรม
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Sri Lanka Freedom Party (SLFP) 2) พรรคสหชาติ (United National Party-UNP) 3) พรรค Janatha Vimukthi Peramuna (JVP) และ 4) พรรคทมิฬแห่งชาติ (Tamil National Party-TNA)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด รายได้หลักมาจากภาคบริการ จากเดิมที่มีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตร ผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ใบชา ยางพารา มะพร้าว ใบยาสูบ อ้อย และการประมง ส่วนอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี เครื่องหนัง และปิโตรเลียม
เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับประโยชน์จากการยุติของสงครามกลางเมือง โดยเฉพาะ
การพัฒนาการคมนาคมและการท่องเที่ยว โอกาสของศรีลังกา คือ การได้สิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายบริหารกิจการสำคัญต่าง ๆ เอง และมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งต้องการเงินทุนจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้ เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า และเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) ญี่ปุ่น และอื่น ๆ จีนและอินเดียเป็นผู้ให้เงินกู้รายใหญ่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ศรีลังกาตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในมหาสมุทรอินเดีย โดยปรับปรุงท่าเรือให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ยกเว้นภาษี 3-15 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ธุรกิจที่เป็นเป้าหมายส่งเสริม ได้แก่ สิ่งทอ ซอฟต์แวร์ อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว และยางพารา
ปีงบประมาณ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รูปีศรีลังกา (Sri Lanka Rupee/LKR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 323.55 รูปีศรีลังกา
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 8.95 รูปีศรีลังกา (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 71,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : -11.5%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 307.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,833 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 8,599,791 คน
อัตราการว่างงาน : 5.2%
อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย : 54.5%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ก.ค.2566)
มูลค่าการส่งออก : 4,865 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-พ.ค.2566)
สินค้าส่งออกสำคัญ : เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอ ชา เครื่องเทศ ยางพารา เพชรและอัญมณี
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ เยอรมนี และอิตาลี
มูลค่าการนำเข้า : 6,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-พ.ค.2566)
สินค้านำเข้าสำคัญ : ปิโตรเลียม สิ่งทอ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และแร่โลหะพื้นฐาน
คู่ค้าสำคัญ : อินเดีย จีน สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น
ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ : หินปูน แร่แกรไฟต์ ทราย แร่อัญมณี ฟอสเฟต และดินเหนียว
การทหาร กองทัพศรีลังกามีกำลังพล 260,000 นาย แยกเป็น ทบ. 200,000 นาย ทร. 30,000 นาย และ ทอ. 30,000 นาย นอกจากนี้ มีกำลังพลสำรอง 5,500 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 62,200 นาย ทั้งนี้ กห.ศรีลังกา เปิดเผยเมื่อ ม.ค.2566 ว่า จะลดจำนวน ทบ.ลงเหลือ 135,000 นาย ในปี 2567 และ 100,000 นาย ในปี 2573 ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะอย่างน้อย 211 คัน รถรบทหารราบหุ้มเกราะ 62 คัน ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ปืนใหญ่นำวิถี เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม. 82 มม. และ 120 มม. เรือตรวจการณ์ เรือยกพลขึ้นบก เรือลำเลียงพล บ.รบ 30 เครื่อง บ.ลำเลียงพล และ ฮ. 45 เครื่อง
งบประมาณทางทหาร 1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
ปัญหาด้านความมั่นคง
ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่น่าห่วงกังวลของศรีลังกา ได้แก่ การก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ ความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา (พุทธ ฮินดู คริสต์ อิสลาม) การขยายตัวของกลุ่มอาชญากรรม
การแทรกแซงจากต่างประเทศ ภัยคุกคามจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (อาชญากรรมทางไซเบอร์) รวมถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลและการรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดน
1) ปัญหาการก่อการร้าย เนื่องจากศรีลังกามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมที่นิยมแนวทางแบบกลุ่ม Islamic State (IS) และเคยก่อเหตุก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่กรุงโคลัมโบ เมื่อ 21 เม.ย.2562 (วันอีสเตอร์) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 269 คน บาดเจ็บมากกว่า 500 คน
2) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ชาวศรีลังกาบางส่วนต้องการหลบหนีออกนอกประเทศจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงของประเทศ โดยมีจุดหมายปลายทางสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรป อย่างไรก็ดี ศรีลังกาเป็นเกาะและต้องเดินทางโดยเรือ ส่งผลให้ชาวศรีลังกาที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศไม่สามารถรอดพ้นการตรวจสอบของ จนท.
ความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูตเมื่อ 20 พ.ย.2498 และยกระดับเป็นระดับ ออท. เมื่อ 27 ธ.ค.2504 ความสัมพันธ์ราบรื่นและใกล้ชิด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางด้านศาสนามากที่สุด ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว และวิชาการเพิ่มขึ้น
ด้านการเมือง ไทยสนับสนุนการสร้างสันติภาพในศรีลังกา โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างปี 2526-2552 โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่ม LTTE 3 ครั้ง ระหว่างปี 2545-2546 และปัจจุบัน ไทยยังคงให้การสนับสนุนศรีลังกาในเวทีต่างประเทศด้วยดีเสมอมา โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ และในกรอบสิทธิมนุษยชนที่ศรีลังกาถูกกดดันจากสหรัฐฯ และ UN ให้เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2552
ด้านเศรษฐกิจ ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศตามลำดับ การค้าโดยรวมในห้วง ม.ค.-มิ.ย.2566 มีมูลค่า 178.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากห้วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 5.96 โดยไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 60.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกาห้วง ม.ค.-มิ.ย.2566 อยู่ที่ 119.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงจากห้วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 19) มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 59.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากห้วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 39.20) สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก 3 ลำดับแรก เมื่อปี 2565 ได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน และอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้า 3 ลำดับแรกจากศรีลังกา เมื่อปี 2565 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
นอกจากนี้ ไทยและศรีลังกาอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) ไทย-ศรีลังกา โดยเริ่มการเจรจารอบแรกเมื่อ ก.ค.2561 และตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผล
การเจรจาภายในปี 2566 เพื่อลงนามความตกลงใน มี.ค.2567 ซึ่งแผนปฏิบัติการความร่วมมือทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานของการเจรจาข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ FTA ไทย–ศรีลังกา รวมทั้ง
ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับศรีลังกาด้วย นอกจากนี้ ศรีลังกายังสามารถเป็นศูนย์กระจายสินค้าสำหรับไทยไปยังภูมิภาค ตอ.กลาง และแอฟริกาได้ ขณะเดียวกัน การที่ศรีลังกาสามารถเข้าถึงตลาดของไทยได้เป็นการต่อยอดไปสู่การเข้าถึงตลาดของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน
ด้านการท่องเที่ยว ไทยและศรีลังกาเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและวัฒนธรรม โดยศรีลังกายังมองไทยเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ปัจจุบัน รัฐบาลศรีลังกายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวไทยจนถึง 31 มี.ค.2567 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถซื้อแพ็คเกจสำหรับเข้าชมมรดกโลกและสถานที่ประวัติศาสตร์ รวมถึงตั๋วบริการรถนำเที่ยวหรือรถไฟได้ผ่านช่องทางออนไลน์หรือสนามบิน
ข้อตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับศรีลังกา ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการขนส่งทางอากาศ
(ปี 2493) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2533) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ปี 2539) ความตกลงว่าด้วย
ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ (ปี 2539) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการสารสนเทศ (ปี 2547) สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเกี่ยวกับการลงทุน (ปี 2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพบกศรีลังกา (ปี 2548) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการระหว่างไทยกับศรีลังกา (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ปี 2556) และบันทึกความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2556) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (ปี 2561) สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างไทยและศรีลังกา (ปี 2561) แผนการดำเนินโครงการความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาชุมชนต้นแบบ
อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในศรีลังกา (ปี 2561) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าพื้นฐานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานศรีลังกากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปี 2561)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 คาดว่านายรานิล วิเกรมีสิงเห ประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่ง โดยนายรานิล มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ อย่างไรก็ดี ตระกูลราชปักษายังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในศรีลังกาสูง โดยพรรค Sri Lanka Podujana Peramuna (SLPP) หรือ Sri Lanka People’s Front (SLPF) ที่ก่อตั้งโดยตระกูลราชปักษาน่าจะยังมีบทบาทสำคัญต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ว่านายโกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีจะลดบทบาททางการเมืองและต้องการไปพำนักในสหรัฐฯ ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปในศรีลังกาจะมีขึ้นภายในห้วง 6 เดือนแรกของปี 2568
การฟื้นฟูและการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของศรีลังกามีความคืบหน้า หลังจาก IMF อนุมัติเงินกู้จำนวน 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ศรีลังกา นอกจากนี้ อินเดียอนุมัติเงินกู้จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งใช้สำหรับจัดซื้อน้ำมัน ส่งให้แก่ศรีลังกาในช่วงที่เกิดวิกฤตขาดแคลนอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ศรีลังกามีกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เจ้าหนี้หลายราย อาทิ จีน ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และหนี้ที่เกิดจากการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อกู้เงินจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศรีลังกามีหนี้มากกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สาเหตุการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารประเทศผิดพลาด การกู้ยืมเงินมาลงทุนโครงการต่าง ๆ แต่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และเกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
รัฐบาลศรีลังกาประเมินว่า LTTE ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของศรีลังกา หลังจากปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งในศรีลังกาและในต่างประเทศ โดยรัฐบาลศรีลังกาเชื่อว่า LTTE ยังคงมีความพยายามก่อเหตุรุนแรง รวมกลุ่มใหม่ และจัดตั้งเขตปกครองตนเองในศรีลังกา
ความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ กับมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยยังคงมีอยู่ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลศรีลังกาในการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศ