สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
Socialist Republic of Vietnam
เมืองหลวง กรุงฮานอย
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน ระหว่างเส้นลองจิจูดที่ 102 องศา 10 ฟิลิปดา-109 องศา 30 ฟิลิปดาตะวันออก และเส้นละติจูดที่ 8 องศา 30 ฟิลิปดา-23 องศา 22 ฟิลิปดาเหนือ มีพื้นที่ 331,689 ตร.กม. (64% ของพื้นที่ประเทศไทย) รูปร่างประเทศยาวคล้ายตัว S ความยาวจากเหนือจรดใต้ 1,650 กม. ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศกว้าง 50 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีน 1,297 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับลาว 2,161 กม.
ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดกับกัมพูชา 1,158 กม. และอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลจีนใต้ ชายฝั่งยาว 3,444 กม.
ภูมิประเทศ พื้นที่ 3 ใน 4 ของเวียดนามเป็นภูเขาและป่าไม้ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เวียดนาม มีพื้นที่ราบ 310,070 ตร.กม. ที่เหลือเป็นไหล่เขาและหมู่เกาะมากกว่า 3,000 เกาะ เรียงรายตั้งแต่อ่าวตังเกี๋ยจนถึงอ่าวไทย ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มียอดเขาฟานซีปาน ในจังหวัดล่าวกาย สูง 3,143 ม. (สูงที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน) แม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำแดง บริเวณปากแม่น้ำเป็นดินดอนสามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงฮานอย ภาคกลางเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทราย และทะเลสาบ ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแหล่งเพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (40,000 ตร.กม.) และเป็นที่ตั้งของนครโฮจิมินห์ (หรือไซ่ง่อนเดิม)
ภูมิอากาศ เวียดนามมีพื้นที่แคบ แต่ยาว ทำให้ภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ภาคเหนือ อากาศค่อนข้างหนาวเย็น มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-เม.ย.) ฤดูร้อน (พ.ค.-ก.ค.) ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) และฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) ภาคกลาง ค่อนข้างร้อน และเผชิญพายุไต้ฝุ่นในช่วงฤดูฝน สร้างความเสียหายให้ทุกปี ภาคใต้ มีอากาศร้อนชื้น ตลอดปีมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.) และฤดูแล้ง (พ.ย.-เม.ย.)
ศาสนา ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา 86.41% แต่นับถือบรรพบุรุษและลัทธิต่าง ๆ เช่น ฮวาเหา 0.58% เก๋าได๋ 1.02% พุทธนิกายมหายาน 4.79% คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 6.1% โปรเตสแตนต์ 1% และอิสลาม 0.1%
ภาษา ภาษาราชการคือ ภาษาเวียดนาม ปัจจุบัน ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากขึ้นเป็นภาษาที่ 2 และมีการใช้ภาษาอื่น ๆ อีก เช่น จีน เขมร ฝรั่งเศส และภาษาแถบเทือกเขา (มอญ-แขมร์ และมาลาโย-โพลีเนเซีย)
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) 95.8% ระบบการศึกษาภาคบังคับมีคุณภาพ รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการปฏิรูประบบการศึกษา โดยเร่งพัฒนาการศึกษาในระดับต่าง ๆ ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับการพัฒนาประเทศ
วันชาติ 2 ก.ย. (ตรงกับวันประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส 2 ก.ย.2488)
นายฝั่ม มิญ จิ๊ญ
(Pham Minh Chinh)
(นรม.เวียดนาม)
ประชากร 100.4 ล้านคนมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ และมากเป็นอันดับ 15 ของโลก ชาวเวียดหรือกิงห์เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ 85.3% มีชนกลุ่มน้อย 54 ชนเผ่า กระจายอยู่ตามเทือกเขาและที่ราบสูง คิดเป็น 14.3% ได้แก่ ไต่ 1.9% ไท 1.8% เหมื่อง 1.5% แขมร์ 1.5% ม้ง 1.4% หนุ่ง 1.1% ฮวา 1% และอื่น ๆ 4.3% สัดส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 23.44% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 68.69% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 7.87% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 75.79 ปี อัตราการเพิ่มประชากรประมาณ 0.97% ประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3.2%
การก่อตั้งประเทศ
เวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมากว่า 1,000 ปี และได้รับอิสรภาพเมื่อปี 2024 ต่อมามีปัญหาขัดแย้งทางศาสนากับฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม ทำให้ต้องสูญเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส และตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเมื่อห้วงปี 2401-2426
การต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม นำโดยโฮจิมินห์ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและผู้นำองค์การสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนามหรือเวียดมินห์ (Viet Minh) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2484 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศในอินโดจีน จนกระทั่งแพ้สงครามเมื่อปี 2488 จักรพรรดิเบ๋าได๋ (Bao Dai) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เหวียนสละราชสมบัติ โฮจิมินห์จึงประกาศเอกราชเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐและจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสแพ้สงครามที่เดียนเบียนฟู และจัดทำสนธิสัญญาเจนีวา ปี 2497 แต่สหรัฐฯ และชาวเวียดนามในภาคใต้บางส่วนไม่ต้องการรวมกับรัฐบาลของโฮจิมินห์ จึงแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ประเทศ โดยใช้เส้นละติจูดที่ 17 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่ง เวียดนามเหนือปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ส่วนเวียดนามใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สงครามระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เกิดจากเหตุผลเพื่อการรวมชาติ สหรัฐฯ สนับสนุนเวียดนามใต้และร่วมรบในสงคราม ส่งผลให้สงครามเวียดนามกลายเป็นสมรภูมิรบยืดเยื้อ (ปี 2500-2518) ที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่ทั้งสองฝ่าย สหรัฐฯ พ่ายแพ้และประกาศถอนทหารออกจากเวียดนามใต้เมื่อปี 2516 การสู้รบยุติลงหลังจากกองทัพเวียดนามใต้ประกาศยอมแพ้ต่อเวียดนามเหนือเมื่อ 30 เม.ย.2518 เวียดนามเปลี่ยนชื่อเมืองไซ่ง่อนเป็นโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City) เพื่อเป็นเกียรติแก่โฮจิมินห์ผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชที่เสียชีวิตเมื่อปี 2512 และประกาศรวมประเทศโดยเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเมื่อ 2 ก.ค.2519
การเมือง
ปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดีเป็นประมุขและผู้บัญชาการกองทัพโดยตำแหน่ง
ฝ่ายบริหาร : นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารดูแลการบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายของพรรค คณะผู้บริหารมีวาระ 5 ปี (ปี 2564-2569) การปกครองส่วนภูมิภาคประกอบด้วย 58 จังหวัด กับอีก 5 นคร คือ ฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟอง ดานัง และเกิ่นเทอ แต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการประชาชนทำหน้าที่บริหารงานในท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นโยบาย และกฎระเบียบต่าง ๆ โดยได้รับงบประมาณจากส่วนกลางโดยตรง ข้าราชการแต่งตั้งโดยตรงจากส่วนกลาง จึงมีอำนาจตัดสินใจอย่างเต็มที่
ฝ่ายนิติบัญญัติ : เป็นระบบสภาเดียว คือ สภาแห่งชาติ (National Assembly) ปัจจุบัน
มีสมาชิก 500 คน มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 23 พ.ค.2564 วาระ 5 ปี สมัยประชุมปีละ 2 ครั้ง ตามรัฐธรรมนูญ สภาแห่งชาติมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ ทำหน้าที่บัญญัติและแก้ไขกฎหมาย แต่งตั้งประธานาธิบดีตามที่พรรคเสนอ ให้การรับรองหรือถอดถอน นรม. ตามที่ประธานาธิบดีเสนอ รวมทั้งแต่งตั้ง ครม. ตามที่ นรม. เสนอ
ฝ่ายตุลาการ : มี 3 ระดับ คือ ศาลประชาชนสูงสุด ศาลจังหวัดหรือเทียบเท่า ศาลอำเภอหรือเทียบเท่า ฝ่ายทหารมีตุลาการศาลทหาร ประธานศาลในระดับต่าง ๆ แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ด้วยความเห็นชอบของประชาชนในระดับนั้น ๆ มีวาระ 5 ปี นอกจากคณะผู้พิพากษาแล้ว ยังมี “ที่ปรึกษาประชาชน” ร่วมด้วย เนื่องจากผู้พิพากษาในเวียดนามไม่จำเป็นต้องมีคุณวุฒิด้านกฎหมาย
พรรคการเมือง : มีพรรคการเมืองเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ยึดแนวทางมาร์กซ์-เลนินในการบริหารประเทศ โดยมีอำนาจสูงสุดตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อปี 2535 โครงสร้างอำนาจหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการกลางพรรคฯ จำนวน 200 คน เลือกตั้งโดยผู้แทนสมาชิกพรรคฯ มากกว่า 5.1 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่กำหนดจัดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคฯ เลือกคณะผู้นำและคณะกรมการเมือง (โปลิตบุโร) ทุก 5 ปี กำหนดนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งตรวจสอบระบบการทำงานและการปฏิบัติตามมติพรรค) 2) คณะกรมการเมือง (โปลิตบุโร) เลือกตั้งโดยคณะกรรมการกลางพรรคฯ มีจำนวน 18 คน (ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อ 25 ม.ค.- 1 ก.พ. 2564) เป็นศูนย์กลางอำนาจในการกำหนดนโยบายและควบคุมการดำเนินงานที่ ครม. นำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และ 3) สำนักเลขาธิการเลขาธิการพรรคฯ (เลือกโดยคณะกรมการเมือง)
คนปัจจุบันคือ นายเหวียน ฟู้ จ่อง (Nguyen Phu Trong) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3
เศรษฐกิจ
เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจหรือนโยบาย Doi Moi เมื่อ ธ.ค.2529 โดยเปลี่ยนผ่านจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรม และมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล กระจายอำนาจทางเศรษฐกิจไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น โดยเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO) เมื่อปี2550 และจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี 16 ฉบับ อาทิ ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเกาหลีใต้-เวียดนาม ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพเศรษฐกิจ
ยูเรเซีย-เวียดนาม และข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-เวียดนาม ทั้งนี้ เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลเวียดนามเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจ อาทิ การปฏิรูปวิสาหกิจ
ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ การลดกฎระเบียบราชการที่ยุ่งยาก การเพิ่มความโปร่งใสในภาคธุรกิจ ลดระดับสินเชื่อ
ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคการธนาคาร และเพิ่มความโปร่งใสในภาคการเงิน อนึ่ง เวียดนามตั้งเป้าหมาย
มุ่งพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วและเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ประชากรต่อหัวระดับสูงภายในปี 2588 โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ 1) เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมทันสมัยและพ้นสถานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำภายในปี 2568 2) เป็นประเทศกำลังพัฒนา
ที่มีอุตสาหกรรมทันสมัยและมีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2573 และ 3) เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ที่มีรายได้สูงภายในปี 2588
ธนาคารโลก (World Bank-WB) ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะเติบโต 4.7% (สำนักงานสถิติทั่วไปเวียดนามคาดว่า จะเติบโต 4.24%) เป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.5% อัตราความยากจนอยู่ระหว่าง 3-3.2% สำหรับในปี 2567 และปี 2568 เศรษฐกิจเวียดนามน่าจะเติบโตเพิ่มเป็น 5.5% และ 6% ตามลำดับ และแนะนำให้เวียดนาม
บังคับใช้นโยบายเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน เช่น เพิ่มทุนสำรองและปรับปรุงการปฏิบัติงานของภาคธนาคาร ควบคู่กับการลดอุปสรรคในการลงทุนและบังคับใช้งบประมาณการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ
รัฐบาลเวียดนามบังคับใช้แผนแม่บทพลังงานแห่งชาติ (National Energy Master Plan-NEMP) ระยะ 10 ปี (ปี 2564-2573) เมื่อ 8 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานหมายเลข 8 (Power Development Plan 8-PDP8) ปี 2564-2573 โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการด้านพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานหมุนเวียน มูลค่า 11,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป้าหมายแก้ไขปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงานสะสมตั้งแต่ปี 2558 ให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถพึ่งพาตัวเอง รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.5% ต่อปี รวมทั้งเป็นผู้ส่งออกพลังงานที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศและเชื่อมต่อกับภูมิภาค จำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งไทยสามารถแสวงโอกาสเข้าไปลงทุนด้านพลังงานสะอาดที่มีโอกาสเติบโตสูงและไม่มีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 2573
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ ถ่านหิน บอกไซต์ ป่าไม้ น้ำมัน และโลหะมีค่า เช่น ทองคำ และทองแดง ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญและอยู่ในอันดับต้นของโลก ได้แก่ ข้าว กาแฟ และมะม่วงหิมพานต์ อุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การแปรรูปอาหาร สิ่งทอ รองเท้า เครื่องจักร เหมืองแร่ เหล็กกล้า ซีเมนต์ และปุ๋ยเคมี เป็นต้น
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ด่งเวียดนาม (Vietnam Dong-VND)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 24,067.00 ด่งเวียดนาม : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 660.76 ด่งเวียดนาม (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 433,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ต.ค.2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 4.24% (ม.ค.-ก.ย.2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือน : 4,110 ดอลลาร์สหรัฐ (ธ.ค.2565)
แรงงาน : 51.7 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 2.32%
อัตราเงินเฟ้อ : 3.4%
เงินทุนสำรอง : 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้สาธารณะ : 40% ของ GDP
หนี้ต่างประเทศ : 38% ของ GDP
มูลค่าการส่งออก : 164,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-มิ.ย.2566)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ : โทรศัพท์และส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า
ตลาดส่งออกหลัก : สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป อาเซียน
มูลค่าการนำเข้า : 152.200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-มิ.ย.2566)
สินค้านำเข้าที่สำคัญ : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ โทรศัพท์และส่วนประกอบ ผ้าทุกชนิด และวัตถุดิบพลาสติก
ตลาดนำเข้าหลัก : จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอาเซียน
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ : 455,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
การทหารกองทัพประชาชนเวียดนามมีกำลังประจำการทั้งสิ้นประมาณ 522,000 นาย มีประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพโดยตำแหน่ง และมีสภากลาโหมและความมั่นคง (ประธานาธิบดีเป็นประธาน) เป็นองค์กรที่ ปรึกษากำกับดูแล งบประมาณทางทหารปี 2566ประมาณ 6,237.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กำลังทางบกเวียดนาม มีกำลังพลประมาณ 480,000 นาย ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ รถถังหนัก รถถังเบา รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ลากจูง ปืนใหญ่อัตตาจร จรวดหลายลำกล้อง เครื่องยิงลูกระเบิด อาวุธต่อสู้อากาศยาน อาวุธต่อสู้รถถัง และจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศ ควบคุมการยิงด้วยเรดาร์
ทร. กำลังพลประมาณ 50,000 นาย (รวมนาวิกโยธินประมาณ 27,000 นาย) ศูนย์บัญชาการกองทัพเรือตั้งอยู่ที่นครไฮฟอง ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ เรือดำน้ำชั้น Kilo และ Sang-O เรือฟริเกตชั้น Gepard, Petya, Savage และ Barnegat เรือคอร์เวต เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เรือเร็วโจมตีตอร์ปิโด เรือเร็วโจมตีปืน เรือตรวจการณ์ เรือยกพลขึ้นบก เรือระบายพล เรือสงครามทุ่นระเบิด เรือสำรวจ เรือลำเลียง เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก เรือน้ำมัน อู่ลอย อากาศนาวี และยุทโธปกรณ์ประจำหน่วยนาวิกโยธิน
ทอ. และกองป้องกันภัยทางอากาศ กำลังพลประมาณ 30,000 นาย (กำลังป้องกันภัย
ทางอากาศ 15,000 นาย) ยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินโจมตี เครื่องบินฝึก เครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล เครื่องบินลำเลียง เฮลิคอปเตอร์โจมตีและปราบเรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง และจรวดนำวิถี
กำลังป้องกันชายแดน 40,000 นาย หน่วยยามฝั่ง 40,000 นาย กองรักษาความปลอดภัยประจำสุสานโฮจิมินห์ 10,000 นาย กองบัญชาการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 นาย ทหารกองหนุนประมาณ 5,000,000 นาย และอาสารักษาดินแดน ประมาณ 200,000 คน
เงินเดือนพื้นฐานใหม่ของ จนท.ลูกจ้างภาครัฐ และกองทัพ อยู่ที่ 1,800,000 ด่งเวียดนาม/เดือน เพิ่มจากเดิม ซึ่งอยู่ที่ 1,490,000 ด่งเวียดนาม/เดือน
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงของเวียดนามที่สำคัญ คือ 1) ความขัดแย้งเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะกับจีน 2) ปัญหาเรือประมงเวียดนามลักลอบทำประมงในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน 3) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เพื่อโค่นล้มพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย 4) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและสังคมในเชิงต่อต้านรัฐ และ 5) ปัญหาการทุจริตเชิงโครงสร้างในภาครัฐ กองทัพ และเอกชน และ 6) ปัญหาขาดแคลนพลังงานในประเทศ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ที่สำคัญ เช่น ADB, APEC, ARF, ASEAN, CICA, CP, EAS, FAO, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (NGOs), ICRM, IDA, IFAD, IFC, IFRCS,ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, MIGA, NAM, OIF, OPCW, PCA, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO และ WTO
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เวียดนามยังขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักค้นคว้า และนักวิจัย เนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณการวิจัยและการพัฒนา ในระดับต่ำ (2% ของงบประมาณทั้งหมด) แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 30% เมื่อปี 2558 เป็น 48% เมื่อปี 2563 ของการลงทุนทั้งหมดในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากภาคเอกชนให้ความสำคัญและตระหนักว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกือบทุกด้าน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเศรษฐกิจ และปรับปรุงผลิตภาพแรงงาน โดยเฉพาะในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 และในห้วงที่เวียดนามกำหนดเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีรายได้สูงในปี 2588 นอกจากนี้ เวียดนาม มีแผนการสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เวียดนามโพ้นทะเลและริเริ่มเครือข่ายศูนย์วิจัยที่มีชื่อเสียง เพื่อเชื่อมโยงสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่สำคัญกับสถาบันหุ้นส่วนในต่างประเทศ จูงใจให้ชาวเวียดนามโพ้นทะเลที่มีความรู้ ความชำนาญ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเดินทางกลับประเทศ เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีในเวียดนาม ด้านเทคโนโลยี เวียดนามนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามเล็งเห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็น แรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการพัฒนา และได้อนุมัติโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแห่งชาติ (National Digital Transformation Program) จนถึงปี 2568 วิสัยทัศน์สู่ปี 2573 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ สู่ความเป็นดิจิทัล และบุกเบิกการทดลองเทคโนโลยีและโมเดลใหม่ ๆ ภายในปี 2573 ทั้งนี้ เวียดนามอยู่อันดับที่ 55 จาก 79 ประเทศในการจัดอันดับการเปลี่ยนแปลงและการเชื่อมต่อทางดิจิทัลระดับโลก ประจำปี 2563 ด้านดาวเทียม เวียดนามเป็น 1 ใน 5 ประเทศในอาเซียนที่มีเทคโนโลยีด้านดังกล่าว นอกจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยพัฒนาการผลิตดาวเทียมทีละขั้น เป้าหมายเพื่อควบคุมและพัฒนาดาวเทียมที่มีน้ำหนักสูงถึง 180 กก.
การขนส่งและโทรคมนาคม ทางบก มีถนนครอบคลุมทั่วประเทศ ระยะทางยาว 206,633กม. เชื่อมต่อกับจีน ลาว และกัมพูชา โดยเปิดใช้งานทางด่วนเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานVan Don-เมือง Mong Cai
จังหวัดกว๋างนิญ (ติดจีน) เมื่อ 1 ก.ย.2565 ซึ่งเชื่อมระหว่างท่าอากาศยาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และจุดผ่านแดนถาวรที่ติดจีน ระบบราง มีเส้นทางรถไฟยาว 2,632 กม. และเชื่อมต่อไปยังจีน มองโกเลีย และรัสเซีย รวมทั้งมีแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมภาคเหนือกับภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2588 สร้างถนน Motorway เชื่อมจากเหนือจรดใต้ ส่วนเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์มีโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินและบนดิน ความยาวทั้งสิ้น 19.7 กม. โดยเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน
สายแรกในนครโฮจิมินห์ความยาว 1.8 กม. เชื่อมระหว่างสถานีไซ่ง่อน โอเปราเฮาส์กับทางรถไฟฟ้าบนดิน ใกล้สวนบาเซิน ทางน้ำ มีโครงข่ายการเดินเรือในประเทศยาว 47,130 กม. และมีท่าเรือ (ทางทะเล) ขนาดใหญ่
19 แห่ง ที่สำคัญคือ ท่าเรือไฮฟอง ทางภาคเหนือ ท่าเรือดานัง และท่าเรือนานาชาติ Cam Ranh ในภาคกลาง และท่าเรือโฮจิมินห์ในภาคใต้ ทางอากาศ มีท่าอากาศยานพลเรือน 23แห่ง ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ
ที่ใหญ่ที่สุดคือ ท่าอากาศยานเติ๋นเซินเญิต ที่นครโฮจิมินห์ และมีโครงการสร้างท่าอากาศยานระหว่างประเทศขนาดใหญ่ของภูมิภาค จังหวัดด่งนาย ในภาคใต้ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2568 รวมทั้งมีแผนจะพัฒนาสายการบินเวียดนามเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค โทรคมนาคม มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อ มี.ค.2566 ประมาณ 127 ล้านเลขหมาย จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 77 ล้านคน (คิดเป็น 79.1% ของประชากรทั้งหมด) รหัสอินเทอร์เน็ตประเทศ .vn มีระบบเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อกับไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
มีสถานีดาวเทียมที่ได้รับความช่วยเหลือจากอดีตสหภาพโซเวียต 2 แห่ง มีดาวเทียมสื่อสาร “Vinasat 1” มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2551 และ “Vinasat 2” เมื่อ พ.ค.2555
การเดินทาง สายการบินไทยมีเที่ยวบินตรงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ฮานอย (1 ชม. 50 นาที) และนครโฮจิมินห์ (1 ชม. 40 นาที) สายการบินการบินไทย ให้บริการเที่ยวบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ฮานอย นครโฮจิมินห์ และท่าอากาศยานภูเก็ต-โฮจิมินห์ สายการบิน Bangkok Airways ให้บริการเที่ยวบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ฮานอย นครโฮจิมินห์ และดานัง สายการบิน Air Asia มีเที่ยวบินตรงดอนเมือง-ฮานอย นครโฮจิมินห์ ดานัง และญาจาง สายการบินนกแอร์ให้บริการเที่ยวบินตรงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-โฮจิมินห์ ขณะที่เวียดนามมีสายการบิน Vietnam Airlines สายการบิน VietJet Air และสายการบิน Jetstar Airways ระหว่างฮานอย-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนครโฮจิมินห์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น เวลาในเวียดนามเท่ากับเวลาในไทย (UTC +7 ชม.) นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเวียดนามได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราและสามารถอยู่ในเวียดนามได้ 45 วัน ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามตรวจลงตราหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-visa) ให้แก่ประชาชน 80 ประเทศ ตั้งแต่ 15 ส.ค.2566 โดยผู้ที่ถือ e-visa สามารถพำนักในเวียดนามเป็นเวลา 90 วัน สำหรับการเข้าออกครั้งเดียวหรือเข้าออกแบบหลายครั้งผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ 13 แห่ง ด่านชายแดนระหว่างประเทศ 16 แห่ง และผ่านท่าเรือ 13 แห่งทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราจาก 13 ประเทศ สามารถพำนักในเวียดนามได้ 45 วัน
ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ไทยและเวียดนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 45 ปี เมื่อ 6 ส.ค.2564ความสัมพันธ์เป็นไปโดยราบรื่น และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง การทหาร และความมั่นคง การค้า การลงทุนด้านประมง แรงงาน อาญา พลังงาน การท่องเที่ยว ความร่วมมือด้านวิชาการ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา รวมทั้ง ความร่วมมือในภูมิภาคในกรอบพหุภาคี และส่งเสริมกันและกันในเวทีระหว่างประเทศ การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ผ่านมาอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ส่วนปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-เวียดนามส่วนใหญ่สามารถแก้ไขปัญหาลุล่วงได้โดยสันติวิธี ทั้งในเรื่องปัญหาประมง ปัญหาการจัดระเบียบทางทะเล
ด้านการค้า ปี 2566 เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทยในโลก และอันดับ 3 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ มูลค่าการค้าทวิภาคีรวม (ม.ค.-ส.ค.2566) อยู่ที่ 430,149.79 ล้านบาท (ไทยและเวียดนามกำหนดเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 910,000 ล้านบาท (25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2568 ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 61,888.73 ล้านบาท โดยเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน และเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทยกับโลก ซึ่งไทยส่งออกไปเวียดนามมูลค่า 246,019.26 ล้านบาท เพิ่มจากเมื่อปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 393,601.08 ล้านบาท ขณะที่เวียดนามเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 10 ของไทยกับโลก โดยเมื่อปี 2565 ไทยนำเข้าจากเวียดนามมูลค่า 278,952.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 221,906.24 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย : ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สินค้ากสิกรรม น้ำมันสำเร็จรูป สิ่งทอ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล และเครื่องดื่ม สินค้านำเข้าจากเวียดนาม : เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ สิ่งทอ สินค้ากสิกรรม เคมีภัณฑ์ สินค้าประมง รองเท้าและชิ้นส่วน ด้านการลงทุนระหว่าง ม.ค.-พ.ค.2566 ไทยลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับ 9 จาก 143 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม โครงการลงทุนรวม 694 โครงการ มูลค่ากว่า 480,546 ล้านบาทสาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน เขตอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ การเกษตร ค้าปลีก พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชั้นสูง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ข้อตกลงสำคัญ : ไทยกับเวียดนามมีความตกลงและบันทึกความเข้าใจมากกว่า 50 ฉบับที่สำคัญคือ ความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (18 ก.ย.2534) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ (30 ต.ค.2534) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเรื่องการผลิตข้าวและส่งออกข้าว (19 ส.ค.2535) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (23 ธ.ค.2535) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (16 มี.ค.2535) ความตกลงทางด้านวัฒนธรรม (8 ส.ค.2539) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยและเวียดนามในอ่าวไทย (9 ส.ค.2540) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด สารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น (7 ต.ค.2541) บันทึกความเข้าใจระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือเวียดนามว่าด้วยการลาดตระเวนร่วมและการจัดตั้งโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร (14 มิ.ย.2542) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (21 ก.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (20 ก.พ.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ (20 ก.พ.2547) ความตกลงว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (21 ก.พ.2547) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการขจัดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (มิ.ย.2559) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (ส.ค.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ส.ค.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม สารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัล (ส.ค.2560) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งชาติเวียดนามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ส.ค.2560) เป็นต้น
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม1) การปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กองทัพและภาคเอกชน 2) การปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเวียดนามทั้งในและต่างประเทศ 3) ความเคลื่อนไหวของเวียดนามกรณีปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้และการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน 4) การแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจในอินโดจีน/ลุ่มน้ำโขง รวมทั้งเวียดนาม และ 5) การส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของเวียดนาม