สาธารณรัฐอาร์เจนตินา
Argentine Republic
เมืองหลวง บัวโนสไอเรส
ที่ตั้ง อยู่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ มีพื้นที่ประมาณ 2,780,400 ตร.กม. มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในทวีปอเมริกาใต้ (รองจากบราซิล) หรือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 5 เท่า ขนาดความยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ประมาณ 3,900 กม. ความกว้างวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดกว้างประมาณ 1,400 กม. มีอาณาเขตทางบก 2,736,690 ตร.กม. อาณาเขตทางทะเล 43,710 ตร.กม. ชายฝั่งทะเลยาว 4,989 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับโบลิเวีย (942 กม.) ปารากวัย (2,531 กม.) และบราซิล (1,263 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับชิลี (6,691 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอุรุกวัย (541 กม.) และมหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศใต้ ติดกับชิลีและมหาสมุทรแอตแลนติก
ภูมิประเทศ ทิศตะวันตกมีเทือกเขาแอนดีสพาดผ่านและเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอาร์เจนตินาและชิลี บริเวณตอนกลางประเทศเป็นทุ่งหญ้า Pampas เหมาะกับการเพาะปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์ ตอนใต้ของประเทศเป็นเขตที่ราบสูง Patagonia ตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลระหว่างตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก
วันชาติ 25 พ.ค. (เพื่อรำลึกถึงวันปฏิวัติอาร์เจนตินา เมื่อปี 2353 ซึ่งนำมาสู่การประกาศเอกราชจากสเปน)
ฮาเวียร์ เจอราร์โด มิเล
Javier Gerardo Milei
(ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา)
ประชากร 46.6 ล้านคน (ปี 2566) คนผิวขาว (ส่วนใหญ่มีเชื้อสายสเปนและอิตาลี) และเมสติโซ (ผสมผสานระหว่างคนผิวขาวและคนอินเดียนพื้นเมือง) 97.2% คนอินเดียนพื้นเมือง 2.4% และชาวแอฟริกัน 0.4% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 23.51% อายุ 15-64 ปี 63.83% อายุ 65 ปีขึ้นไป 12.66% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 78.55 ปี เพศชาย 75.49 ปี เพศหญิง 81.81 ปี อัตราการเกิด 11.56 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 9.53 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากรร้อยละ 0.2
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 48.9% โปรเตสแตนต์ 10% ไม่นับถือศาสนา 39.8% อื่นๆ 1.3%
ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ อิตาลี อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ภาษา Mapudungun และ Quechua ของชาวอินเดียนพื้นเมือง
การก่อตั้งประเทศ ชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมายังดินแดนที่เป็นที่ตั้งอาร์เจนตินาในปัจจุบันคือ Amerigo Vespucci เมื่อปี 2045 และอาร์เจนตินาถูกผนวกรวมกับโบลิเวีย ปารากวัย และอุรุกวัย ในยุคอาณานิคมสเปนเมื่อปี 2319 และแยกตัวออกเป็นอิสระต่อกันหลังจากประกาศเอกราชจากสเปนเมื่อ 9 ก.ค.2359 ประชาชนและวัฒนธรรมได้รับอิทธิพลอย่างมากจากผู้อพยพจากยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี และสเปน ซึ่งมาตั้ง ถิ่นฐานมากกว่า 7 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2423-2473 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบัน อาร์เจนตินามีประชากรที่เป็น ผู้อพยพประมาณ 5% (สูงที่สุดในอเมริกาใต้) โดยผู้อพยพ 80% มาจากประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้และแคริบเบียน โดยเฉพาะปารากวัยและโบลิเวีย
การเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี สามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อกัน 2 วาระ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภา 1) วุฒิสภา มีสมาชิก 72 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่สมาชิก 1 ใน 3 ของวุฒิสมาชิกจะเลือกตั้งหมุนเวียนทุก 2 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 257 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่จะเลือกตั้งหมุนเวียนทุก 2 ปี
ฝ่ายตุลาการ : ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุด มีสมาชิก 7 คน ประธานาธิบดีเป็นผู้คัดเลือก แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา (สามารถดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้จนเกษียณเมื่ออายุ 75 ปี)
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Federal Party นาย Miguel Saredi เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Juntos por el นาย Horacio Rodríguez Larreta เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Civic Coalition ARI (CC-ARI) นาง Elisa Carrió เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Civic Front for Santiago (FCS) นาย Gerardo Zamora เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Everyone’s Front (TODOS) นาย Alberto Ángel Fernández เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Federal Consensus (CF) นาย Roberto Lavagna เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Front for Victory (FpV) นาง Cristina Fernández De Kirchner เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Generation for a National Encounter (GEN) นาง Margarita Stolbizer เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Justicialist Party (PJ) นาย Alberto Fernández เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Radical Civic Union (UCR) นาย Gerardo Morales เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Renewal Front (FR) นาย Sergio Massa เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Republican Proposal (PRO) นาย Mauricio Macri เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Socialist Party (PS) มีนาง Mónica Fein เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Socialist Workers’ Party (PTS) นาย Nicolás del Caño เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Together We Are Rio Negro (JSRN) นาย Alberto Edgardo Wertilneck เป็นหัวหน้าพรรค พรรค We Do For Cordoba (HC) นาย Juan Schiaretti เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Workers’ Party (PO) นาย Gabriel Solano เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Worker’s Socialist Movement (MST) นาง Vilma Ripoll และนาย Alejandro Bodart เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง : กลุ่มสหภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรม (Argentine Industrial Union) องค์กร Argentine Rural Confederation หรือ CRA เป็นการรวมตัวของเจ้าของที่ดินขนาดเล็กและขนาดกลาง Argentine Rural Society (องค์กรของเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่) Blue and White CGT (dissident CGT labor confederation) Central of Argentine Workers หรือ CTA (สหภาพแรงงานและ ผู้ว่างงาน) General Confederation of Labor (CGT) และ Roman Catholic Church นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคธุรกิจ สหภาพแรงงาน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลและนักศึกษา
เศรษฐกิจ อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าจำนวนมาก ประชากรมีความรู้สูง มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิล และเม็กซิโก) สินค้าส่งออกสำคัญอยู่ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาร์เจนตินาจะขยายตัวอยู่ที่ 0.2% ในปี 2566 และ 2% ในปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพด ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจคาดการณ์ว่าอาร์เจนตินาจะมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 135.7% ในปี 2566 และ 69.5% ในปี 2567
อาร์เจนตินาดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากการประกาศลดค่าเงินเปโซเมื่อ 14 ส.ค.2566 ได้แก่ สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดสรรเงินช่วยเหลือแก่ผู้เกษียณอายุและผู้รับบำนาญ ดำเนินมาตรการยกเว้นภาษีแก่เจ้าของกิจการ และส่งเสริมภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ อาร์เจนตินาต้องลดค่าเงินเปโซตามข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : อาร์เจนตินาเปโซ (Argentine pesos หรือ ARS)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 349.04 ARS
1 ARS : 0.10 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 641,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 0.2%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 13,700 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการว่างงาน : 6.2%
อัตราเงินเฟ้อ : 135.7%
มูลค่าการส่งออก : 88,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์แปรรูป ข้าวโพด รถยนต์ ข้าวสาลี เนื้อแช่แข็ง และทอง
มูลค่าการนำเข้า : 81,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : รถยนต์ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ และถั่วเหลือง
คู่ค้าสำคัญ : บราซิล จีน สหรัฐฯ เยอรมนี ชิลี เม็กซิโก
ดุลบัญชีเดินสะพัด : ขาดดุล 6,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การทหาร งบประมาณด้านการทหาร 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังพลประจำการ 72,100 คน ประกอบด้วย ทบ. 42,800 คน ทร. 16,400 คน ทอ. 12,900 คน กกล.กึ่งทหาร 31,250 คน และกองกำลังรักษาชายฝั่ง 13,250 คน ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง 415 คัน ยานยนต์ลาดตระเวน 123 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 559 คัน รถถังปืนใหญ่อัตตาจร 37 คัน ปืนใหญ่ชนิดลาก 1,816 กระบอก บ.โจมตีสกัดกั้น 24 เครื่อง บ.โจมตี 32 เครื่อง บ.ลำเลียง 15 เครื่อง ฮ. 34 เครื่อง บ.ฝึก 55 เครื่อง เรือพิฆาต 4 ลำ เรือดำน้ำยุทธวิธี 2 ลำ เรือ Corvettes 9 ลำ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 12 ลำ ปัจจุบัน อาร์เจนตินามีปัญหาด้านงบประมาณทำให้เครื่องบินโจมตีส่วนใหญ่อยู่ในสภาพขาดการบำรุงรักษา บางส่วน ไม่สามารถใช้งานได้
กลุ่มก่อการร้าย กลุ่ม Hizballah ยังคงมีความเคลื่อนไหวจำกัด ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก
กลุ่มชาวเลบานอนพลัดถิ่นในอาร์เจนตินา
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาร์เจนตินามีปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ Falkland (Islas Malvinas) กับอังกฤษ เกาะ Braziliera/Brasiliera ในแม่น้ำ Quarai/Cuareim กับบราซิลและอุรุกวัย รวมถึงปัญหาเขตแดนกับชิลีที่ Andean Southern Ice Field (Campo de Hielo Sur) นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์และยาเสพติดบริเวณพรมแดนติดกับโบลิเวีย
ความสัมพันธ์ไทย-อาร์เจนตินา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 2 ก.พ.2498 โดยอาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย รวมทั้งมีการเยือนระดับสูงทั้งในระดับราชวงศ์ และรัฐบาล ในส่วนของอาร์เจนตินา ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาเดินทางเยือนไทย 2 คน ได้แก่ ประธานาธิบดี Arturo Frondizi เมื่อปี 2504 และประธานาธิบดี Carlos Saul Menem เมื่อปี 2540
ความร่วมมือในกรอบพหุภาคีและเวทีระหว่างประเทศ ไทยและอาร์เจนตินามีพื้นฐานและโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรมและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกจึงมีจุดยืนร่วมกันในการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเปิดตลาดสินค้าเกษตรจากประเทศกำลังพัฒนาและลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรของตนลง นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในกรอบ G20, WTO และ UN ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ไทยและอาร์เจนตินาต่างมีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลาตินอเมริกาโดยเฉพาะเวทีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation–FEALAC)
อาร์เจนตินาเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิลและเม็กซิโก) โดยปี 2565 มูลค่าการค้ารวม 65,452 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 51,582 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 13,870 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 37,712 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
สินค้านำเข้าของไทย ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสําเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ เนื้อสัตว์สําหรับการบริโภค ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และ ด้ายและเส้นใย
ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย-อาร์เจนตินายังจำกัด โดยมีบริษัทอาร์เจนตินาลงทุนในไทย 1 บริษัท คือ บริษัท ซาเดซา (Sadesa-อุตสาหกรรมฟอกหนัง) มีโรงงานอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปราจีนบุรี และ จ.ชลบุรี และมีบริษัทไทยลงทุนในอาร์เจนตินา 1 บริษัท คือ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (Bangchak Petroleum Public Co., Ltd.-เหมืองแร่ลิเทียม) ซึ่งได้ร่วมลงทุนผ่านการซื้อหุ้นของบริษัท ลิเทียม อเมริกา คอร์ป (Lithium Americas Corp. หรือ LAC) มูลค่าการลงทุน 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (Minor International Public Co., Ltd.)
(ธุรกิจการโรงแรม) อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนด้านการโรงแรมในอาร์เจนตินา
ภาวะตลาดสินค้าอาหารไทยและอาหารนำเข้าจากไทยมีศักยภาพที่จะขยายตลาดในอาร์เจนตินา ปัจจุบันสามารถหาซื้อสินค้าอาหารไทยได้ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต Jumbo โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่องแกงพร้อมรับประทาน ผลไม้อบแห้ง น้ำปลา ซีอิ๊ว เส้นผัดไทอบแห้งพร้อมเครื่องปรุงรส ผลไม้กระป๋อง นำเข้าโดยบริษัท Exotic Foods ซึ่งดำเนินการโดยพ่อค้าคนกลางที่ไต้หวัน จากการสำรวจพบว่าสินค้าอาหารไทยที่วางจำหน่ายในอาร์เจนตินายังไม่หลากหลายและมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อ โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ กะทิสำเร็จรูป น้ำมะขามสำหรับทำอาหาร ซอสพริก เครื่องแกงสำเร็จรูป น้ำปลา เครื่องต้มยำสำเร็จรูป กะปิ เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง แผ่นแป้งห่อก๋วยเตี๋ยว ถั่วโก๋แก่ ผลไม้กระป๋อง ข้าวไทย โดยภาพรวม สินค้าอาหารไทยไดัรับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวอาร์เจนตินาค่อนข้างดี เนื่องจากชาวอาร์เจนตินากำลังนิยมรับประทานอาหารเอเชีย ตลาดสินค้าเครื่องแกงสำเร็จรูปยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สำหรับสินค้าที่ผู้นำเข้าประสงค์จะสั่งซื้อเพิ่มจากไทย ได้แก่ ผลไม้สำหรับเด็ก เครื่องดื่มสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง น้ำผสมผลไม้ และข้าวเหนียว แต่อุปสรรคสำคัญคือ ราคาสินค้าอาหารไทยมีต้นทุนสูงเนื่องจากนำเข้าผ่านพ่อค้าคนกลาง บวกกับต้นทุนค่าขนส่งทางเรือ การที่ไทย และอาร์เจนตินาอยู่ห่างไกลทำให้การขนส่งใช้เวลานาน สินค้าไทยจึงถูกนำเข้ามาเป็นล็อตหากจำหน่ายหมดแล้วอาจต้องรอประมาณ 2-3 เดือน ในการนำสินค้าดังกล่าวมาจำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง
กลไกส่งเสริมการค้า ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกันอย่างสม่ำเสมอตามกรอบการประชุม Bilateral Economic Consultation (BEC) ซึ่งมีการประชุมครั้งแรกเมื่อ ต.ค.2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมการค้าทวิภาคีให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยกลไกต่าง ๆ อาทิ การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ด้านศุลกากรและการจัดทำความตกลงความยอมรับร่วมด้านการประมงการประชุม BEC ยังช่วยเปิดโอกาสให้คณะนักธุรกิจทั้งประเทศได้พบปะและเจรจาการค้าระหว่างกันโดยตรง กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศขึ้นที่บัวโนสไอเรสเมื่อปี 2552 เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ นักธุรกิจในการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าไปไทยตลอดจนการนำคณะนักธุรกิจอาร์เจนตินาไปร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญต่าง ๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ประเด็นท้าทายในการทำธุรกิจ ไทยกับอาร์เจนตินามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกันมาก ประกอบกับไม่มีเที่ยวบินตรงจากไทย ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาสูง ค่าระวางเรือสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นทางที่ประเทศแถบเอเชียใช้ขนส่งสินค้าไปยังอาร์เจนตินา คือ สิงคโปร์-เดอร์บับ-เคปทาวน์-โยฮันเนสเบอร์ก-บัวโนสไอเรส นักธุรกิจของไทยและอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ขาดข้อมูลทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน ทำให้ความสนใจที่จะค้าขายกันมีน้อย และมีปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากอาร์เจนตินาใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ในขณะที่นักธุรกิจไทยที่รู้ภาษาสเปนมีจำกัด
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (20 ต.ค.2524) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับหอการค้าอาร์เจนตินา (7 มิ.ย.2534) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (16 พ.ค.2539) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (7 มิ.ย.2539) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (19 ก.พ.2540) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (19 ก.พ.2540) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (18 ก.พ.2543) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (18 ก.พ.2543) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ La Plata (28 ธ.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (14 ส.ค.2549) ความตกลงด้านวัฒนธรรม (14 ส.ค.2549) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปรึกษาหารือด้านการเมืองและประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (19 ก.ย.2549) และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (2 พ.ย.2552)
นอกจากนี้ ไทยและอาร์เจนตินามีความร่วมมือทางวิชาการที่ใกล้ชิดเป็นอย่างมากทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคี ปัจจุบัน มีการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ไทยและอาร์เจนตินายังมีความร่วมมือไตรภาคีร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อชุมชน รวมถึงจะขยายความร่วมมือไปในสาขาสุขภาพสัตว์ การจัดการป่าไม้ และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ มีโครงการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ดาราศาสตร์ เภสัชกรรม การผลิตไวน์ และการพัฒนาพันธุ์นุ่นและฝ้ายเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
อาร์เจนตินา อาจปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการนำเงินสกุลดอลลาร์มาใช้เป็นสกุลเงินหลักแทนเงินเปโซ ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่นเพื่อแก้ไขวิกฤตเงินเฟ้อ ตามนโยบายรณรงค์หาเสียงของนายฮาเวียร์ มิลเลอิ ผู้สมัครจากพรรค Libertarian ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้น อย่างไรก็ดี นโยบายนำเงินสกุลดอลลาร์มาใช้เป็นเงินสกุลหลักดังกล่าวอาจเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของรัฐบาลอาร์เจนตินา และทำให้อาร์เจนตินาต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มากขึ้น