สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย
Syrian Arab Republic
เมืองหลวง ดามัสกัส
ที่ตั้ง ตะวันออกกลาง บนชายฝั่งทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ระหว่างเลบานอนกับตุรกี ระหว่างเส้นละติจูดที่ 32-38 องศาเหนือกับเส้นลองจิจูดที่ 36-43 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 185,180 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 90 ของโลก และเล็กกว่าไทย 3 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 6,794 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับตุรกี 899 กม.
ทิศใต้ ติดกับจอร์แดน 379 กม. และอิรัก
ทิศตะวันออก ติดกับอิรัก 599 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับเลบานอน 403 กม. อิสราเอล 83 กม.
และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 193 กม.
ภูมิประเทศ ที่ราบสูงทะเลทรายกึ่งแห้งแล้ง ทางตะวันตกเฉียงเหนือติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นพื้นที่ป่า ส่วนพื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือและทางตอนใต้เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญของประเทศ มีแม่น้ำยูเฟรติสไหลผ่านทางตะวันออก มีชายฝั่งแคบและหุบเขาทางตะวันตกของประเทศ
ภูมิอากาศ ร้อนแห้งแล้ง (อากาศทะเลทราย) ตอนกลางและทางตะวันออกของประเทศมีอุณหภูมิสูง
ในฤดูร้อนอุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนอากาศชื้น ทางเหนือมีฝนตกมาก
ดามัสกัสมีอากาศหนาวเย็นและหิมะตกเป็นบางช่วง ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. ฤดูฝน-หนาวเริ่มตั้งแต่ ธ.ค.-ก.พ. มีภัยธรรมชาติ คือ พายุทะเลทรายและพายุฝุ่น
ศาสนา อิสลาม 87% (ซุนนี 74% ที่เหลือ 13% เป็นอลาวี, อิสมาอีลี และชีอะฮ์) คริสต์ 10% (ส่วนใหญ่เป็นนิกายออร์ทอดอกซ์) และดรูซ 3%
ภาษา ภาษาอาหรับเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาเคิร์ด อาร์เมเนีย อราเมอิก เซอร์คาซเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 86.4% ระบบการศึกษาในซีเรียมีพื้นฐานมาจากระบบการศึกษาของฝรั่งเศส โรงเรียนของรัฐเปิดให้เรียนฟรีจนถึงเกรด 9
วันชาติ 17 เม.ย. (เป็นวันที่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2489)
นายบะชาร อัลอะซัด
Bashar al-Assad
(ประธานาธิบดีซีเรีย)
ประชากร 17,500,657 คน (ปี 2563 ประมาณการของ UN)
รายละเอียดประชากร 23.59 ล้านคน (ปี 2566) เป็นชาวอาหรับ 50% ชาวอลาวี 15% ชาวเคิร์ด 10% Levantine 10%และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงดรูซ, อิสมาอีลี, Imami, Nusairi, Assyrian, Turkoman และอาร์เมเนีย 15% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 33.27% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.58% วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.15% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 74.55ปี เพศชายประมาณ 73.09 ปี เพศหญิงประมาณ 76.1 ปี อัตราการเกิด 22.19 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 4.07 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 6.39% (ประมาณการ ปี 2566)
การก่อตั้งประเทศ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสเข้าปกครองจังหวัดซีเรียของจักรวรรดิออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) จนกระทั่งซีเรียได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 2489 แต่ประเทศไร้เสถียรภาพจึงรวมประเทศกับอียิปต์เมื่อปี 2501 และจัดตั้งเป็นสหสาธารณรัฐอาหรับ (United Arab Republic) แต่รวมตัวได้เพียง 3 ปี ซีเรียก็ขอถอนตัวออกมาเมื่อปี 2504 ต่อมาเมื่อปี 2514 ซีเรียรวมประเทศอีกครั้งกับอียิปต์และลิเบีย เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับ (Federation of Arab Republics) ซึ่งหลังจากสหพันธ์สาธารณรัฐอาหรับสลายตัวลงในปี 2520 ซีเรียจึงมีสถานะเป็นสาธารณรัฐอาหรับซีเรียมาจนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองแบบสาธารณรัฐภายใต้การปกครองโดยทหาร (ตั้งแต่ปี 2506) อำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีบะชาร อัลอะซัด (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 17 ก.ค.2543) เป็นประมุขของประเทศและมีอำนาจในการบริหารประเทศ ดำรงตำแหน่งวาระละ 7 ปี ไม่จำกัดวาระ โดยชนะการลงประชามติให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบิดาใน 2 วาระแรก และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบมีผู้สมัครหลายคน ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในซีเรียเมื่อ 3 มิ.ย.2557 และชนะการเลือกตั้งเมื่อ 26 พ.ค.2564 สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 17 ก.ค.2564 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปปี 2571) ทำให้ได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นวาระที่4 ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานาธิบดี นรม. รอง นรม. และ ครม. รัฐบาลชุดปัจจุบันมี นรม. Hussein Arnous เป็นผู้นำรัฐบาล (ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 11 มิ.ย.2563)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ใช้ระบบสภาเดี่ยว คือ สภาประชาชน (Majlis al-Shaab) มีสมาชิก 250 คน สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งล่าสุดเมื่อ 19 ก.ค.2563 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไป คือ ปี 2567)
ฝ่ายตุลาการ : ใช้กฎหมายที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสมัยจักรวรรดิออตโตมาน กฎหมายอิสลามใช้ในระบบศาลครอบครัว มีศาลพิเศษทางศาสนา ไม่ยอมรับการบังคับคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) และมีศาลพลเรือน ประกอบด้วย ศาลฎีกา (ผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยประธานาธิบดี) ศาลรัฐธรรมนูญ (ตัดสินคดีความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง)
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรคการเมืองหลัก คือ National Progressive Front (NPF) ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค เช่น พรรค Ba’ath ของประธานาธิบดีบะชาร อัลอะซัด พรรค Socialist Unionist Democrat พรรค Arab Socialist Union พรรค Syrian Communist และพรรค Social Nationalist
เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจซีเรียตกต่ำจากหลายปัจจัย ได้แก่ ความขัดแย้งภายในประเทศที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี และต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก มาตรการเข้มงวดทางการค้าจากนานาประเทศ เช่น สันนิบาตอาหรับ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ทั้งยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของเลบานอนที่เริ่ม เมื่อปลายปี 2562 เนื่องจากเลบานอนเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของซีเรีย รวมถึงกรณีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนตัวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจประสบความยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ ก.ย.2566 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินอย่างไม่เป็นทางการลดลงเหลือประมาณ 11,000 ปอนด์ซีเรียต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเมื่อ ก.ย.2565 อยู่ที่ 3,015 ปอนด์ซีเรียต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองอยู่ที่ 47 ปอนด์ซีเรียต่อดอลลาร์สหรัฐ
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ปอนด์ซีเรีย (Syrian pounds) หรือ SYP
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 11,500 ปอนด์ซีเรีย (ต.ค.2566 จากธนาคารกลางซีเรีย https://www.cb.gov.sy/) และ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 13,750 ปอนด์ซีเรีย (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 316.42 ปอนด์ซีเรีย (ต.ค.2566) เทียบจากอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางซีเรีย
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 11,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : หดตัวร้อยละ 3.2% (ประมาณการปี 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 573.2 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563 ธนาคารโลก)
แรงงาน : 6,723,714 คน (ปี 2565 ของธนาคารโลก)
อัตราการว่างงาน : 9.6% (ปี 2565 ของธนาคารโลก)
อัตราเงินเฟ้อ : 130% (ประมาณการปี 2566)
ผลผลิตทางการเกษตร : ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ นม มะกอก มะเขือเทศ ส้ม มันฝรั่ง นมแกะ และมะนาว
ผลผลิตอุตสาหกรรม : ปิโตรเลียม สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ เหมืองฟอสเฟต และซีเมนต์
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 3,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
สินค้าส่งออก : น้ำมันมะกอก เครื่องเทศ บาร์เลย์ ถั่ว ฝ้าย มะเขือเทศ สบู่ ฟอสเฟต เมล็ดขมิ้น พิสทาชิโอ แก้ว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แอปเปิล แพร์ มันฝรั่ง ผลไม้แห้ง (ปี 2564)
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : ซาอุดิอาระเบีย 30.9% ตุรกี 18.1% เลบานอน 12.2% จอร์แดน 6.88% อียิปต์ 5.35% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4.83% คูเวต 4.27% เยอรมนี 2.02% เซอร์เบีย 1.57% (ปี 2564)
มูลค่าการนำเข้า : 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2564)
สินค้านำเข้า : บุหรี่ ยาสูบ น้ำตาลดิบ (raw sugar) ยานพาหนะ อุปกรณ์ออกอากาศ (broadcasting equipment) แป้งสาลี น้ำมันทานตะวัน ปิโตรเลียมกลั่น กาแฟ และข้าว (ปี 2564)
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : ตุรกี 45% จีน 11.1% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10.6% อียิปต์ 6.56%
คู่ค้าสำคัญ : ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์
ทรัพยากรธรรมชาติ : ปิโตรเลียม ฟอสเฟต แหล่งแร่โครเมียม แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ยางมะตอย เกลือหิน หินอ่อน ยิปซัม และพลังงานน้ำ
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ไม่ปรากฏข้อมูลงบประมาณด้านการทหาร ประกอบด้วย ทบ. ทร. ทอ. และ บก.ป้องกันภัยทางอากาศ มีประธานาธิบดีเป็น ผบ.ทหารสูงสุด มีกำลังพลทั้งหมดประมาณ 169,000 นาย ผู้ชายต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุ 18 ปี โดยอยู่ในกองทัพเป็นระยะเวลา 30 เดือน
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : ไม่ทราบจำนวนยุทโธปกรณ์ที่แน่นอน แต่มีความหลากหลาย เช่น รถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ รถเกราะสายพานลำเลียง ปืนใหญ่ (122-300 มม.) ปืนต่อต้าน ถ. อากาศยานไร้คนขับ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 32 ลำ เครื่องบินรบรุ่นต่าง ๆ 221 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์รุ่นต่าง ๆ 105 เครื่อง
กำลังพลรวม : ทหาร 169,000 นาย และกองกำลังกึ่งทหาร 100,000 นาย โดยทหารแยกเป็น ทบ. 130,000 นาย ทร. 4,000 นาย และ ทอ. 15,000 นาย บก.ป้องกันภัยทางอากาศ 20,000 นาย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม กกล.ติดอาวุธอื่น ๆ ในซีเรีย ที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่น กลุ่ม Syrian National Army & National Front for Liberation ประมาณ 70,000 คน กลุ่ม Syrian Democratic Forces ประมาณ 50,000 คน กลุ่ม Hay’at Tahrir al-Sham (HTS)ประมาณ 10,000 คน และกลุ่ม Guardians of Religion (Huras al-Din) ประมาณ 2,500 คน
ปัญหาด้านความมั่นคง
1.ปัญหาด้านมนุษยธรรม การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางพื้นที่ เช่น จ.อิดลิบซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และปรากฏรายงานว่าหลายพื้นที่มีการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เหมาะสม มีการค้ามนุษย์ และค้ายาเสพติด นอกจากนี้ จำนวนผู้พลัดถิ่นฐานภายในประเทศยังมีมากกว่า 6 ล้านคน
2. ความขัดแย้งระหว่างซีเรียกับอิสราเอล โดยอิสราเอลโจมตีเป้าหมายทางทหารของอิหร่านในซีเรียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณสนามบินดามัสกัส และสนามบินที่ Aleppo เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นคลังอาวุธและช่องทางการลักลอบขนส่งอาวุธของอิหร่านไปยังกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอ
3. ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศตั้งแต่ปี 2554 ผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินของเลบานอนตั้งแต่ปลายปี 2562 (เลบานอนเป็นช่องทางหลักด้านการเงินของซีเรีย) นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และเหตุแผ่นดินไหวในซีเรียเมื่อ ก.พ.2566
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศABEDA, AFESD, AL (ระงับสมาชิกภาพ เมื่อปี 2554 และกลับเข้าเป็นสมาชิก เมื่อปี 2566) , AMF (ระงับสมาชิกภาพ เมื่อปี 2554), CAEU, FAO, G-24, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICRM, ICSID, IDA, IDB (ระงับสมาชิกภาพ เมื่อปี 2555), IFAD, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, Interpol, IOC, IPU, ISO, ITSO, ITU, LAS, MIGA, NAM, OAPEC, OIC (ระงับสมาชิกภาพ เมื่อปี 2555), OPCW (ระงับสมาชิกภาพ เมื่อปี 2564), UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNRWA, UNWTO, UPU, WBG, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO (ผู้สังเกตการณ์)
การขนส่งและโทรคมนาคมเมื่อปี 2555 ซีเรียมีท่าอากาศยาน 99 แห่ง โดยเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ 3 แห่ง ที่ดามัสกัส อเลปโป และลาตะเกีย โดยเป็นท่าอากาศยานที่ลาดยางทางวิ่งแล้ว 29 แห่ง และท่าอากาศยานที่ยังไม่ลาดยางทางวิ่ง 70 แห่ง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 6 แห่ง ถนนมีระยะทาง 69,873 กม. ทางรถไฟ มีระยะทาง 2,052 กม. มีทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศไปยังอิรัก จอร์แดน และตุรกี ท่าเรือที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือ Baniyas ท่าเรือ Latakia และท่าเรือ Tartus รัฐบาลควบคุมการนำเสนอสื่อในช่องทางต่าง ๆ โดยรัฐบาลให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียม 5 แห่ง สถานีวิทยุ 3 แห่ง ส่วนสถานีวิทยุเอกชนห้ามนำเสนอข่าวและประเด็นการเมือง การโทรคมนาคม มีดาวเทียม Intelsat 1 ดวง และ Intersputnik 1 ดวง โทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 2.82 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 16.99 ล้านเลขหมาย (ประมาณการปี 2565)
รหัสโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ +963 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8.49 ล้านคน (ประมาณการปี 2566) รหัสอินเทอร์เน็ต .sy
การเดินทาง สายการบินของไทยไม่มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ดามัสกัส เช่นเดียวกับสายการบิน Syrian Airline ไม่มีเที่ยวบินตรงมายังกรุงเทพฯ เวลาที่ซีเรียช้ากว่าไทย 4 ชม. นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าซีเรียต้องขอรับการตรวจลงตรา ค่าธรรมเนียมตรวจลงตราแบบ single entry อยู่ได้ 90 วัน นับจากวันที่ได้รับการตรวจลงตรา เว็บไซต์การท่องเที่ยว http://www.syriatourism.org/en
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลซีเรีย โดยปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ กระตุ้น
ให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นในปี 2566
2) การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซีเรียกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะในเหตุสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสเมื่อ ต.ค.2566 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มติดอาวุธชาวชีอะฮ์ในซีเรียจะสนับสนุนกลุ่มฮะมาสและเข้าร่วมการโจมตีอิสราเอล
3) ท่าทีของซีเรียต่อการโจมตีพื้นที่ในซีเรียอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล
4) กระบวนการฟื้นฟูทางการเมืองของซีเรีย ประธานาธิบดีอัลอะซัด พยายามควบคุมพื้นที่ ทางเหนือของซีเรียทั้งหมด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกลับเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศของซีเรีย โดยชาติอาหรับต้องการให้ซีเรียแก้ไขปัญหาทางการเมือง การก่อการร้าย ปัญหายาเสพติด และผู้อพยพชาวซีเรียในภูมิภาค
5) การกลับสู่เวทีระหว่างประเทศและความพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับ
นานาประเทศ หลังจากถูกนานาประเทศโดดเดี่ยวจากการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงในห้วงเหตุการณ์อาหรับสปริงและสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2554 โดยซีเรียเริ่มกลับเข้าสู่เวทีโลกอีกครั้งในปี 2566 โดยเฉพาะ
ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศด้วยการยกเลิกการโดดเดี่ยวและผลักดันให้ซีเรียเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศและภูมิภาค โดยมีมติให้ซีเรียกลับเข้าเป็นสมาชิก
สันนิบาตอาหรับ (Arab League-AL) อีกครั้งเมื่อ 7 พ.ค.2566 หลังจากถูกระงับสถานะสมาชิกตั้งแต่ปี 2554
ความสัมพันธ์ไทย-ซีเรีย
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยกับซีเรียสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ม.ค.2499 แต่ยังมิได้จัดตั้ง สอท. โดยไทยมีกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำซีเรีย และซีเรียมีกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2565 การค้าระหว่างไทย–ซีเรีย มีมูลค่า 14.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (506.69 ล้านบาท)
ไทยส่งออกให้ซีเรีย 14.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (505.68 ล้านบาท) และนำเข้าจากซีเรีย 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.01 ล้านบาท) โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าซีเรีย 14.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (504.66 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2566 การค้าไทย–ซีเรีย มีมูลค่า 17.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (578.69 ล้านบาท) ไทยส่งออก 16.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (577.72 ล้านบาท) และนำเข้า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.97 ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปซีเรีย ปี 2565 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าวผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2566 ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เส้นใยประดิษฐ์
สินค้าที่ไทยนำเข้า ปี 2565 ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน ผ้าผืน ผลิตภัณฑ์โลหะ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2566 ได้แก่ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด แผงวงจรไฟฟ้า สิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ เมื่อปี 2565 ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในซีเรีย
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับซีเรีย-ความตกลงว่าด้วยบริการการบินระหว่างไทยกับซีเรีย (ลงนามเมื่อ 18 ม.ค.2535)