สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
The Republic of the Union of Myanmar
ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เส้นละติจูดที่ 22 องศาเหนือ ลองจิจูดที่ 98 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 676,578 ตร.กม. ระยะทางจากด้านเหนือสุด-ใต้สุดรวม 2,051 กม. และตะวันออก-ตะวันตกรวม 936 กม. ชายฝั่งทะเลยาว 1,930 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจีน 2,129 กม.
ทิศใต้ ติดกับทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก ติดกับลาว 238 กม. และไทย 2,416 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับอินเดีย 1,468 กม.และบังกลาเทศ 271 กม.
ภูมิประเทศ ตอนบนเป็นภูเขาและหุบเขา มีเทือกเขาซึ่งเชื่อมต่อจากเทือกเขาหิมาลัยทอดเป็นแนวยาวจากเหนือไปทางใต้รวม 3 แนว คือ ด้านตะวันตกเป็นเทือกเขานาคา-เทือกเขาชิน-เทือกเขายะไข่ ตอนกลางเป็นเทือกเขาพะโค และด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูงฉาน พื้นที่สูงและภูเขามีความสูงเฉลี่ย 3,000 ฟุต เทือกเขาสูงที่สุดคือ เทือกเขากากาโบราซี (Mt. Hkakabo Razi) ในรัฐคะฉิ่น ความสูง 5,881 ม. (19,296 ฟุต) ตอนกลาง
และตอนล่างเป็นที่ราบลุ่ม มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่านหลายสาย อาทิ อิระวดี สาละวิน สะโตง และชินวิน
ภูมิอากาศ ส่วนใหญ่มีสภาพอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน (กลาง พ.ค.-ปลาย ต.ค.)
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดเข้าสู่ประเทศ ทำให้มีฝนตกชุก พื้นที่ที่มีฝนตกมากที่สุด คือ ชายฝั่งทะเล
ในรัฐยะไข่ ภาคอิระวดี ภาคพะโค และภาคตะนาวศรี ปริมาณฝน 120-200 ลบ.นิ้ว/ปี ส่วนเขตพื้นที่ราบอื่น ๆ มีฝนตกเฉลี่ย 100 ลบ.นิ้ว/ปี พื้นที่ตอนกลางมีฝนตกน้อยที่สุด 20-40 ลบ.นิ้ว/ปี เนื่องจากถูกบดบังด้วย แนวเขายะไข่ทางด้านตะวันตก ฤดูหนาว (พ.ย.-ปลาย ก.พ.) อุณหภูมิเฉลี่ย 21-29 องศาเซลเซียส และ
ฤดูร้อน (มี.ค.-กลาง พ.ค.) อุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศ 32 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 0 องศาเซลเซียส ตอนบนสุดของประเทศบนยอดเขาอาจมีหิมะตกในช่วง พ.ย.-ม.ค. ตอนกลางประเทศมีสภาพอากาศแห้งแล้งกว่าบริเวณอื่น อุณหภูมิสูงสุด 45 องศาเซลเซียส
วันชาติ 4 ม.ค. (วันที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2491)
พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์
Senior General Min Aung Hlaing
(ผบ.ทสส. ประธาน SAC และ นรม.เมียนมา)
ประชากร 57,970,293 คน (ปี 2566) มี 135ชาติพันธุ์ แบ่งเป็นเชื้อชาติพม่า 68% ไทยใหญ่ 9% กะเหรี่ยง 7% ยะไข่ 4% จีน 3% อินเดีย 2%มอญ 2% และอื่น ๆ 5% อัตราส่วนประชากรตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 24.89% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 68.30% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 6.80% อัตราการเพิ่มประชากร 0.75%(ปี 2566) อัตราการเกิด 16.04 ต่อ 1,000 คน (ปี 2566) อัตราการเสียชีวิต 7.14 ต่อ
1,000 คน (ปี 2566) ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ศาสนา พุทธนิกายเถรวาท 87.9% คริสต์ 6.2% อิสลาม 4.3% นับถือภูตผีวิญญาณเทวดา 0.8% ฮินดู 0.5% อื่น ๆ 0.2% และไม่นับถือศาสนา 0.1%
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาพม่า(Burmese) ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ภาษาท้องถิ่น ทำให้เมียนมามีภาษาพูดมากกว่า 100 ภาษา
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 15 ปี 89.1% ระบบการศึกษาแบ่งเป็นระบบ 5 : 4 : 2 ดังนี้ ระดับประถมศึกษา 5 ปี (อนุบาล 1 ปี และประถมศึกษา 4 ปี) มัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย 2 ปี ส่วนอาชีวศึกษา 1- 3 ปี และอุดมศึกษา 4-6 ปี ทั้งนี้ การศึกษาภาคบังคับเป็น
ระดับมัธยมต้น
การก่อตั้งประเทศ เมียนมาเคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรหลายอาณาจักรในดินแดนสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 1392
ที่สำคัญ ได้แก่ อาณาจักรพุกาม อาณาจักรอังวะ-หงสาวดี และอาณาจักรตองอู มีราชวงศ์อลองพญาเป็นราชวงศ์สุดท้ายก่อนที่จะตกอยู่ใต้การยึดครองของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2428
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกลุ่มสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-fascist People’s Freedom League) ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมชาวเมียนมานำโดยคณะของ
นายพลอองซาน (บิดาของอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ) ที่มีนโยบายขับไล่ญี่ปุ่นและเรียกร้องเอกราชให้เมียนมา จนกระทั่งเมียนมาได้รับเอกราชเมื่อ 4 ม.ค.2491 ขณะเดียวกันนายพลอองซานเจรจาชักชวนผู้นำชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่อประกาศเอกราช โดยลงนามข้อตกลงปางหลวงและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเมียนมา
ปี 2491 ให้เมียนมาและชนกลุ่มน้อยรวมตัวในรูปแบบสหภาพ โดยรัฐฉานและรัฐคะยามีสิทธิแยกตัวออกไปหลังครบ 10 ปี รัฐคะฉิ่นไม่ได้สิทธิแยกตัวแต่สามารถปกครองตนเองได้ ส่วนรัฐกะเหรี่ยงอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ก่อนที่นายพลเนวินจะยึดอำนาจการปกครองเมื่อ มี.ค.2505 และเมียนมาปกครองแบบเผด็จการทหาร
มาจนถึงปี 2553 ซึ่งเมียนมาจัดการเลือกตั้งทั่วไปและได้รัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง
เข้ามาบริหารประเทศเมื่อปี 2554
เมียนมา เดิมชื่อว่าพม่า (Burma) จนกระทั่งเมื่อปี 2532 เมียนมาได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมา (Myanmar) เพื่อสื่อความหมายถึงความเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธ์ุทุกเชื้อชาติ
ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชนชาติพม่าเพียงอย่างเดียว ทั้งยังสะท้อนนโยบายสมานฉันท์และการสร้างเอกภาพ
ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ
การเมือง
ปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งมาจากการสรรหาของสมาชิกรัฐสภา แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 รัฐ (State) 7 ภาค (Region) และ 1 เขตสหภาพ (เมืองหลวงเนปยีดอ ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี) และแบ่งการบริหารเป็นรัฐบาล 2 ระดับ คือ รัฐบาลระดับสหภาพ มี 29 กระทรวง และรัฐบาลท้องถิ่นประจำภาค/รัฐ โดยจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีประจำภาค/รัฐ ให้กับพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ แม้เมียนมาจะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการทหารเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือน แต่กองทัพเมียนมายังมีบทบาททางการเมืองสูง
โครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2551แบ่งสรรอำนาจเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นประมุขของรัฐและมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ 2) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ปัจจุบันคือ พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์) มีอำนาจสั่งการสูงสุดในกองทัพและควบคุมกระทรวงด้านความมั่นคง 3กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน และ 3) สภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Defence and Security Council-NDSC) ซึ่งเป็นกรอบการประชุมหารือประเด็นความมั่นคง และเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ
เมียนมาจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อ 8 พ.ย.2563 โดยพรรค NLD ของอองซานซูจี
ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง (ชนะเลือกตั้งสมัยแรก เมื่อ 8 พ.ย.2558) ก่อนที่ พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์
ผบ.ทสส.เมียนมา เข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2551 ซึ่งกำหนดให้ผบ.ทสส. มีอำนาจทั้งด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ในช่วงที่เมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 1 ก.พ.2564
การจัดเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาจะล่าช้าออกไป และคาดว่าจะจัดได้เร็วที่สุดในปี 2568
เพราะ SAC ต้องจัดทำสำมะโนประชากรให้แล้วเสร็จก่อน หรือหลังช่วงกลาง ต.ค.2567 ซึ่งในระหว่างนี้
SAC จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งรูปแบบใหม่ที่เอื้อให้พรรคตัวแทนทหาร ที่สำคัญคือ พรรคเพื่อความเป็นปึกแผ่นและการพัฒนาแห่งสหภาพ (Union Solidarity and Development Party-USDP) ชนะการเลือกตั้ง โดยมีแนวโน้มคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมียนมาจะนำระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาใช้ร่วมกับระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดที่ใช้อยู่เดิม รวมถึงกวาดล้างกองกำลังกลุ่มต่อต้านและควบคุมพื้นที่ปกครองเพื่อเตรียมจัดเลือกตั้ง
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากการสรรหาและเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภา มีวาระ 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2551 มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารทั้งหมด แต่งตั้งบุคคลขึ้นเป็นรัฐมนตรี ยกเว้นกระทรวงด้านความมั่นคง 3 กระทรวง ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ได้แก่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกิจการชายแดน และกระทรวงกลาโหม) อย่างไรก็ตาม หลังจากยึดอำนาจ เมื่อ 1 ก.พ.2564 ผบ.ทสส. ได้แต่งตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council – SAC) ขึ้นเป็นองค์กรหลักในการบริหารประเทศ โดยมี พล.อ.อาวุโส มินอองไลง์ เป็นประธาน และ พล.อ.รองอาวุโส โซวิน เป็นรองประธาน
นโยบายสำคัญตาม Roadmap 5 ประการของ SAC ได้แก่ 1) การปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผลักดันการตรวจสอบความผิดปกติในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2563 (เมื่อ พ.ย.2563) 2) การแก้ไขปัญหา COVID-19 3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจตกต่ำ 4) การเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยตามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement-NCA) และ 5) การจัดการเลือกตั้งทั่วไปและคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรค
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีวาระ 5 ปี และมี 2 ระดับ คือ 1) รัฐสภาสหภาพ ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 440 คน มาจากการเลือกตั้ง 330 คน และจากการคัดเลือกของกองทัพ 110 คน) และวุฒิสภา (สมาชิกวุฒิสภามี 224 คน มาจากการเลือกตั้ง 168 คน และจากการคัดเลือกของกองทัพ 56 คน) และ 2) สภาท้องถิ่นประจำภาค/รัฐ ทั้งนี้ ผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของสภาทั้ง 2 ระดับ
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ ศาลสูงประจำภาค/รัฐ ศาลสูงประจำเขตปกครองตนเอง ศาลประจำเมือง ศาลประจำอำเภอ และศาลอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ คือ
ศาลทหารและศาลรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD/ถูกสั่งยุบพรรคเมื่อ มี.ค.2566) พรรคเพื่อความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party-USDP) พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party-NUP) พรรคประชาธิปไตยแห่งชนชาติฉาน (Shan National Democratic Party-SNDP) พรรคเพื่อการพัฒนาชนชาติยะไข่ (Rakhine Nationalities Development Party-RNDP) และพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force-NDF)
รัฐบาลคู่ขนาน : คณะกรรมการผู้แทนรัฐสภา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw–CRPH) ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG)เมื่อ 16 เม.ย.2564
ซึ่งมีผู้แทนจากอดีตสมาชิกพรรค NLD นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น คะฉิ่น กะเหรี่ยง ชิน คะยา ตะอาง และมอญ เพื่อปูทางสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและแสดงนัยของการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผยกับ SAC โดยแกนนำ NUG ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในต่างประเทศและพื้นที่ควบคุมของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์
NUG จัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Force–PDF) เมื่อ พ.ค.2564
เป็นกลไกทางการทหารหลักในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมา และ PDF ได้รับการช่วยเหลือด้านทักษะและอาวุธจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย (Ethnic Armed Organization-EAO) บางกลุ่ม โดย NUG ตั้งให้อูวินมยิน
ซึ่งยังคงถูกควบคุมตัวในเมียนมา เป็นประธานาธิบดีของ NUG ดูวาลาชิลา ประธานองค์กร Kachin National Consultative Assembly (KNCA) เป็นรองประธานาธิบดี อองซานซูจีเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ อูมานวินไคง์ตาน
เป็นนายกรัฐมนตรี และนางซินมาออง เป็น รมว.กต. ทั้งนี้ NUG จะจัดตั้งสภาที่ปรึกษาความเป็นเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council-NUCC) ให้เป็นกลไกประสานความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีสมาชิกเป็นผู้แทนจาก CRPH พรรคการเมือง กองกำลังชาติพันธุ์ องค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มที่เคลื่อนไหวในแนวทางขัดขืนอย่างสงบ (Civil Disobedience Movement–CDM)
เศรษฐกิจ เมียนมามุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา เพื่อมุ่งสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2574 เน้นเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยวางแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง สนับสนุนการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างความโปร่งใส
และเสถียรภาพในระบบการเงิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ท่าเรือ และสิ่งปลูกสร้างด้านพลังงาน สร้างงานภายในประเทศ พัฒนาภาคเอกชน ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พัฒนาภาคการเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก สนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เมียนมาได้เปรียบในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและจุดสนใจของนักลงทุน คือเป็นจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ เป็นช่องทางเลือกการออกสู่ทะเลของจีน และ
มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และป่าไม้ ทำให้เศรษฐกิจ
อยู่ระหว่างการฟื้นตัวและอาจจะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยธนาคารโลก (World Bank-WB) ระบุว่า เศรษฐกิจเมียนมา ภายใน ก.ย.2566 จะขยายตัวที่ 3% เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2ส่วนอัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 7% จาก 16.5% เมื่อปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign DirectInvestment-FDI) มีทิศทางขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการทยอยกลับเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ยังเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดเมียนมา เฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์และจีน โดยห้วง เม.ย.2565–ม.ค.2566 เมียนมาอนุมัติโครงการลงทุน FDI รวมมูลค่า 1,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากสิงคโปร์ (79.1%) รองลงมาคือ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และไทย (0.41%) ซึ่งลงทุนในภาคพลังงาน การบริการ และอุตสาหกรรมการผลิต ปัจจุบันประเทศที่ลงทุนสูงสุดในเมียนมา 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง สหราชอาณาจักร และไทย
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมียนมาจะยังอยู่ในระดับต่ำและเปราะบาง ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง การกดดันคว่ำบาตรจากนานาชาติ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะยังฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ แผนการจัดเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา ไม่น่าจะช่วยให้ความขัดแย้งในประเทศดีขึ้น แม้จะจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ แต่ประเทศตะวันตกน่าจะยังมีมุมมองเชิงลบและคงมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาต่อไป
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : จัต (Kyat)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 2,095.21 จัต : ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 58.28 จัต : 1 บาท (15 พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) : 66,590ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.49%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,228.54 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 24.92 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 1.5%
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 5,646.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 6.81%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 835.825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 7,623.317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการนำเข้า : 8,454.139 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้า : 16,077.456 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ก๊าซธรรมชาติ ข้าว ถั่ว ทองแดง น้ำตาล เสื้อผ้า
สินค้านำเข้าสำคัญ : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันปาล์ม สิ่งทอพิมพ์ลาย น้ำตาล รถบรรทุก ไขมันพืช
ประเทศคู่ค้าสำคัญ : จีน ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย
การทหาร กองทัพเมียนมาเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูง มีภารกิจหลัก คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การเสริมสร้างเอกภาพและความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันกองทัพเมียนมาพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายพัฒนากำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ควบคู่กับการทำให้ทั่วโลกยอมรับ ยุทโธปกรณ์หลักจัดซื้อจากรัสเซีย จีน และปากีสถาน รวมถึงผลิตเองเพื่อใช้ในประเทศตามขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ
กองทัพเมียนมามีกำลังพลรวม 463,000นาย แบ่งเป็นกำลังพลของ 3 เหล่าทัพ จำนวน 356,000 นาย ตำรวจ 72,000 นาย และกำลังพลสำรอง (พลเรือน) 35,000 นาย ดังนี้
ทบ. กำลังพล 325,000 นาย ยุทโธปกรณ์หลักได้แก่ ถ.หลัก 195 คัน ถ.เบา 105 คัน รถหุ้มเกราะ 115 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ (รสพ.) 431 คัน ป.ใหญ่ 440 กระบอก ปรส.1,000กระบอก จรวดขนาด 84 มม.ประมาณ 1,000กระบอก
ทร. กำลังพล 16,000 นาย หน่วยปฏิบัติการพิเศษ 800 นาย ไม่มีนาวิกโยธิน ยุทโธปกรณ์หลัก ได้แก่ เรือดำน้ำ 2 ลำ เรือรบหลัก 5 ลำ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 81 ลำ เรือยกพลขึ้นบก 18ลำ เรือสนับสนุนการรบและส่งกำลังบำรุง 12 ลำ
ทอ. กำลังพล 15,000 นาย ยุทโธปกรณ์หลัก ได้แก่ บ.ขับไล่ 63 เครื่อง (MiG-29B/MiG-29UB/F-7M) บ.โจมตี 21 เครื่อง (A-5C) บ.ฝึกติดอาวุธ/โจมตีเบา 96 เครื่อง บ.ลาดตระเวนทางทะเล 6 เครื่อง บ.ลำเลียง 22 เครื่อง ฮ. 84เครื่อง (Mi2/Mi-35) และอากาศยานไร้คนขับ 45 เครื่อง
ปัญหาด้านความมั่นคง
ปัญหาความมั่นคงที่ท้าทายรัฐบาล คือ 1) ปัญหาการสู้รบ โดยเฉพาะหลังการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ทำให้การสู้รบขยายตัวจากพื้นที่รัฐต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อย เข้าสู่เมืองขนาดใหญ่และพื้นที่ภาคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของชาวพม่าแท้ (Burma) 2) ปัญหาโรฮีนจาและสถานการณ์ความไม่สงบ
ในรัฐยะไข่ 3) ความไม่คืบหน้าในการดำเนินกระบวนการสันติภาพกับชนกลุ่มน้อย 3) การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม 4) ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มพุทธหัวรุนแรงกับ
ชาวมุสลิมในประเทศ 5) ปัญหาอาชญากรรม อาทิ การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และค้าอาวุธ และ 6) ปัญหา
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมากับประเทศตะวันตกที่เสื่อมถอยลงหลังจากรัฐประหาร รวมถึงจุดยืนของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ท้าทายความเป็นเอกภาพภายในอาเซียนต่อการแก้ไขสถานการณ์
ในเมียนมา
สมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ ACMECS,ADB, ARF, ASEAN, BIMSTEC, FAO, G-77,IAEA, IBRD, ICAO, ICRM, IDA, IFAD,IHO, ILO, IMF, IMO, INTERPOL, ITU,NAM, NPT, OPCW, SEANWFZ, UN,UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UPU, WCO,WFTU, WHO, WIPO, WMO, WTO และOPWC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเมียนมาเริ่มเปิดกว้างขึ้น โดยตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อปี 2539 และมีสถาบันด้านเทคโนโลยีในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปิดสอน 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง สถาบันเทคโนโลยีมัณฑะเลย์ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แปร สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ย่างกุ้ง และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มัณฑะเลย์ ต่อมาปี 2552 ได้ยกระดับโรงเรียนเทคนิคและสถาบันการศึกษาด้านเทคนิคระดับต่ำกว่าปริญญาตรีทั่วประเทศ 53 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัย
ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมียนมาต้องการจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ การเกษตร และปศุสัตว์ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการหลายแนวทางเพื่อเตรียมการสำหรับโครงการนี้ เช่น กำหนดมาตรการป้องกัน/ควบคุมรังสีจากนิวเคลียร์ ร่างกฎหมายต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ สร้างอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเมียนมาจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมื่ออุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานสร้างแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เมียนมาดำเนินการดังกล่าวด้วยความระมัดระวังเพราะไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้าใจผิดในห้วงที่พัฒนาการทางการเมืองกำลังมีความคืบหน้า ขณะเดียวกันเมียนมาเป็นประเทศที่ 191 ที่ตกลงเข้าร่วมกับองค์การห้ามอาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemical Weapons-OPWC) เมื่อ ก.ค.2558
การขนส่งและโทรคมนาคม สนามบินส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ปัจจุบัน เมียนมามีสนามบินนานาชาติ 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินมิงกลาดอนในย่างกุ้ง สนามบินมัณฑะเลย์ สนามบินเนปยีดอ และสนามบินเฮโฮในรัฐฉาน เมียนมามีแผนก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่เมืองหงสาวดี ภาคพะโค นอกจากนี้ เมียนมามีสนามบินภายในประเทศอีก 16 แห่ง ได้แก่ มิงกลาดอนในภาคย่างกุ้ง เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก ลาโช เฮโฮ สาด ในรัฐฉาน มะละแหม่งทะวาย มะริด ปกเปี้ยน เกาะสอง ในภาคตะนาวศรี ลอยก่อ ในรัฐคะยา
ผาอัน ในรัฐกะเหรี่ยง มยิตจีนา ในรัฐคะฉิ่น สิตต่วย ในรัฐยะไข่ และในภาคมัณฑะเลย์ สายการบินภายในประเทศ เช่น Myanmar Airways (MA/ของรัฐบาล) Yangon Airways Asian Wings และ Kanbawza สายการบินระหว่างประเทศ เช่น Myanmar Airways International (MAI) สายการบินที่บินทั้งในและระหว่างประเทศ เช่น Air Bagan และ Air Mandalay
เมียนมามีถนนเชื่อมพื้นที่ทุกภาคระยะทาง 34,377 กม. ถนนส่วนใหญ่มีสภาพไม่ดีนัก เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ ส่วนถนนที่สร้างและปรับปรุงใหม่ในระยะหลังหลายเส้นทางอยู่ในสภาพดี ส่วนใหญ่ก่อสร้างและปรับปรุงโดยความช่วยเหลือจากจีน และบริษัทก่อสร้างของชนกลุ่มน้อยที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล
ทางรถไฟยาว 5,031 กม. ประกอบด้วย 3 เส้นทางหลัก คือ สายเหนือ (ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-มิตจิน่า ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-ลาโช ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-เยอู) สายสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี (ย่างกุ้ง-แปร)สายใต้ (ย่างกุ้ง-เมาะละแหม่ง-ทวาย)
เมียนมามีแผนจะขยายเส้นทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางสายยุทธศาสตร์ด้านตะวันออกไปยังด้านตะวันตก จากเมืองมูเซ (ด่านการค้าชายแดนเมียนมา-จีน)-เมืองลาโช-เมืองเชียงตุงในรัฐฉานถึงเมืองสิตต่วยในรัฐยะไข่ ด้านเหนือถึงด้านใต้สุดของประเทศจากเมืองปูเตาในรัฐคะฉิ่น ถึงเกาะสองในภาคตะนาวศรี ส่วนการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของชาวเมียนมาและเศรษฐกิจของประเทศ
รัฐบาลเมียนมามีแผนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมืองย่างกุ้ง (Yangon Urban Mass Rapid Transit-YUMRT) เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าแบบ Sky Train เส้นทางแรกของประเทศ และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งานในปี 2570 โดยโครงการ YUMRT ประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือ1) เส้นทางทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก (เมืองไหล่ง์ตายา-ถนนโตคองกะเล) ระยะทาง 25 กม. เชื่อมต่อกับรถไฟวงแหวนย่างกุ้ง และ 2) เส้นทางทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ (ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง-เมืองดาลา)
ระยะทาง 27 กม. โดยรัฐบาลญี่ปุ่นมอบเงินกู้ยืมเพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง
ท่าเรือสำคัญ มี 7 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือย่างกุ้งและติลาวาในภาคย่างกุ้ง ท่าเรือสิตต่วยและเจ้าผิวในรัฐยะไข่ ท่าเรือเมาะละแหม่งในรัฐมอญ ท่าเรือทวายและเกาะสองในภาคตะนาวศรี
การสื่อสารและโทรคมนาคม รหัสโทรศัพท์ประเทศ คือ 95 โทรศัพท์พื้นฐานมี 514,385 เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่48,728,399 เลขหมาย มีบริษัทให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 บริษัท คือ Myanmar Post and Telecommunications (MPT) ซึ่งเป็นของภาครัฐ ที่เหลือเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐเมียนมากับต่างประเทศ ได้แก่ ATOM ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Shwe Byain Phyu Group ของเมียนมา กับบริษัท M1 Group ของเลบานอน ที่เข้าซื้อกิจการต่อจาก Telenor ของนอร์เวย์เมื่อ ก.พ.2565Ooredoo ของกาตาร์ และ Viettel Group ของเวียดนาม ปัจจุบัน เมียนมามีบริการ 4G LTE เฉพาะในภาคย่างกุ้ง ภาคมัณฑะเลย์ และกรุงเนปยีดอ และมีแผนจะขยายสัญญาณทั้ง 4G และ 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว สำหรับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 14,264,308 คน คิดเป็น 25.1% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ เมียนมาอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศ โดยส่งดาวเทียมของตัวเองขึ้นประจำการเป็นดวงที่ 2 ชื่อว่า MyanmarSat-2 เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารร่วมกับดาวเทียม MyanmarSat-1
การเดินทาง รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีหนังสือเดินทางสามารถขอตรวจลงตราหนังสือเดินทาง ณ ช่องทางอนุญาตของด่าน ตม. (Visa on Arrival) ที่สนามบินนานาชาติมิงกลาดอน
ในภาคย่างกุ้ง และสนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ แบบไม่เสียค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free-entry) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศในอาเซียนทั้งหมด (ยกเว้นมาเลเซีย) ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติขอ Visa on Arrivalแบบเสียค่าธรรมเนียม จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อิตาลี สเปน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และรัสเซีย ส่วนผู้ที่เดินทางประเภทธุรกิจและการประชุม อบรม
การวิจัย เมียนมาอนุญาตให้ขอ Visa on Arrival แบบเสียค่าธรรมเนียม จำนวน 54 ประเทศ (อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอาเซียน) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราหนังสือเดินทางประเภทนักท่องเที่ยวสามารถพำนักในเมียนมาได้ 30 วัน ประเภทธุรกิจสามารถพำนักในเมียนมาได้ 70 วัน และประเภทการประชุม อบรม การวิจัย สามารถพำนักในเมียนมาได้ 28 วัน สำหรับไทยและเมียนมาได้จัดทำข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาระหว่างกันสำหรับประชาชนที่เดินทางผ่านสนามบินนานาชาติ (ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 14 วัน) โดยมีผลตั้งแต่ 11 ส.ค.2558
นักท่องเที่ยวไทยสามารถเดินทางไปเมียนมาด้วยสายการบินไทย นกแอร์ แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ ไลออนแอร์ Myanmar Airways International (MAI) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนการเดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ในประเทศ สามารถเดินทางโดยรถยนต์ (แต่สภาพถนนยังไม่ดีนัก) และเครื่องบินภายในประเทศหรือรถไฟ (แต่ไม่สะดวกและใช้เวลานาน)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1)สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาสร้างความตึงเครียดและรุนแรงต่อเนื่อง หลังจาก
กองทัพเมียนมายึดอำนาจ เมื่อ 1 ก.พ.2564ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศและกลุ่มต่อต้าน SAC จัดตั้งกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ต่อสู้กับกองทัพเมียนมา ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และอดีตสมาชิกพรรค NLD ที่สูญเสียอำนาจและมีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม PDF เคลื่อนไหวต่อต้าน SAC
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
2)การเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา การจัดเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาจะล่าช้าออกไป และคาดว่าจะจัดได้เร็วที่สุดในปี 2568 เพราะ SAC ต้องจัดทำสำมะโนประชากรให้แล้วเสร็จก่อน หรือหลังช่วงกลาง
ต.ค.2567 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการกุมอำนาจปกครอง โดย SAC
มีแนวโน้มขยายเวลาการบังคับใช้เป็นระยะขณะเดียวกัน SAC ย้ำถึงการเลือกตั้งแบบหลายพรรคการเมือง (Multi-party election) และการสร้างชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและการเป็นสหพันธรัฐ
3)การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นนโยบายหลัก
ที่รัฐบาลเมียนมามุ่งมั่นผลักดันให้เกิดความคืบหน้า โดยเฉพาะการหารือเรื่องการจัดตั้งระบอบสหพันธรัฐ
การปราบปรามกองกำลังของชนกลุ่มน้อย และการแบ่งสรรอำนาจการปกครองหรือผลประโยชน์ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี SAC มุ่งเจรจากับกลุ่มที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement-NCA) และสนับสนุนแนวทางของ SAC
4)วิกฤตเศรษฐกิจในเมียนมา ภายหลังการยึดอำนาจรัฐบาลเมียนมาเผชิญวิกฤตรุมเร้ารอบด้านทั้งการเมืองภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคง การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบเฉพาะเจาะจงจากประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในวงกว้าง เฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประชาชนชาวเมียนมา
5)ปัญหาโรฮีนจาในรัฐยะไข่และความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างชาวเมียนมาหัวรุนแรงที่นับถือศาสนาพุทธกับชาวมุสลิมในเมียนมา เป็นประเด็นที่องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนให้ความสนใจ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศมุสลิม ที่นำประเด็นการละเมิดสิทธิชาวโรฮีนจาโจมตีภาพลักษณ์รัฐบาลเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง
6)ความเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจในเมียนมา กลุ่มที่สนับสนุน SAC โดยเฉพาะจีนและรัสเซียขยายอิทธิพลในเมียนมามากขึ้นในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ขณะที่ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ลดระดับความสัมพันธ์และดำเนินมาตรการเพื่อกดดัน SAC และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนเมียนมากลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันยังอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน SAC หลายกลุ่มเช่นกัน โดยจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนและรัสเซียในเมียนมาและภูมิภาค ขณะที่ประเทศที่ยังหลีกเลี่ยงแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น อินเดีย และญี่ปุ่น พยายามประสานประโยชน์กับทุกฝ่ายเพื่อรักษาผลประโยชน์ในเมียนมา
ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 24ส.ค.2491 ความสัมพันธ์อยู่ในระดับดีและใกล้ชิดกันทั้งในระดับรัฐบาล กองทัพ และประชาชน โดยไทยดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรและให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่เมียนมา เช่น ความช่วยเหลือด้านการพัฒนา การอำนวยความสะดวกในกระบวนการสันติภาพ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น ห้วงที่เมียนมาประสบภัยพิบัติ ขณะที่เมียนมาให้ความสำคัญอย่างมากกับการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทย โดยทั้งสองประเทศต่างยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ไทย-เมียนมามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ
ด้านการเมืองและความมั่นคง: ไทยและเมียนมามีกลไกความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ คือ คณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission on Bilateral Cooperation–JC) คณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee–JBC) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee–RBC)
และคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) ของฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการหารือประเด็นความมั่นคงตามแนวชายแดนจากการที่ไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมา 2,401 กม. ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบภายในเมียนมา เช่น ปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบชาวเมียนมากว่า 98,000คน
ในไทย ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเมียนมาและชาวมุสลิมโรฮีนจา รวมถึงปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ
เศรษฐกิจ: เมียนมาที่ยังเผชิญภาวะถดถอยและแรงงานขาดโอกาสการจ้างงานจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองไทยหรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายในไทยมากขึ้น เนื่องจากชาวเมียนมาต้องการมีงานทำและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ขณะที่ไทยมีปัจจัยดึงดูดสำคัญคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความต้องการแรงงานข้ามชาติกว่า 800,000 คน ตามการประเมินของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือการมีเครือข่ายญาติพี่น้องที่จะสามารถช่วยเหลือหรือพึ่งพาได้ โดยชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าไทยมีต้นทางจากทั้งพื้นที่ชั้นใน เช่น ภาคย่างกุ้ง ภาคพะโค และพื้นที่ชายแดนในเขตชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ว่าจ้างขบวนการนำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย จุดที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ชายแดนด้าน จ.เชียงราย จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระนอง
ด้านเศรษฐกิจ: เมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับ 19ของไทย ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของเมียนมา รองจากจีน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.2566) อยู่ที่ 199,797ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออก 116,358 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 83,440 ล้านบาท ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 32,918 ล้านบาท แต่ลดลงจากปี 2565 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 286,555ล้านบาท สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย เครื่องสำอาง ข้าวสาลี รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเมียนมา ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ โคกระบือ สุกร ผัก ผลไม้ เหล็ก สัตว์น้ำแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูปด้านการลงทุน ปัจจุบันไทยลงทุนในเมียนมา รองจากสิงคโปร์และจีน มูลค่าการลงทุนรวม 11,609.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนสำคัญ ได้แก่ พลังงาน การผลิต ประมง และปศุสัตว์ ผู้ลงทุนรายใหญ่ อาทิ ปตท.สผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อิตาเลียนไทย ซีพี และเครือซิเมนต์ไทย
ด้านพลังงาน: ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมามากกว่า 20% ของปริมาณการใช้ในไทย โดยช่วง ม.ค.-ก.ย. 2566 นำเข้ามูลค่า 54,372.91 ล้านบาท ส่วนปี 2565 นำเข้ามูลค่า 59,334.94 ล้านบาท
เมียนมามีแหล่งผลิตที่สำคัญ คือ ยาดานา เยตากุน และซอติก้า อย่างไรก็ดี เมียนมาลดสัดส่วนการขาย
ก๊าซธรรมชาติให้ไทยในระยะหลัง เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศมากขึ้นจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ไทยและเมียนมาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 2 ฉบับ เมื่อ มิ.ย.2558 ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานและความร่วมมือด้านไฟฟ้า ซึ่งครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ตั้งแต่การสำรวจการผลิต จนถึงการพัฒนาการกลั่นน้ำมัน และผลิตปิโตรเคมี