แคนาดา
Canada
เมืองหลวง ออตตาวา
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ พื้นที่ 9,984,670 ตร.กม. มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากรัสเซีย) มีพรมแดนทางบกติดกับสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว มีชายฝั่งทะเลยาว 202,080 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับมหาสมุทรอาร์กติก
ทิศตะวันออก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
ทิศใต้ ติดกับสหรัฐฯ (8,893 กม. รวมพื้นที่ส่วนที่ติดกับรัฐอะแลสกา 2,477 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ
ภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีภูเขาทางทิศตะวันตกและที่ราบต่ำทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่ไม่อุดมสมบูรณ์และไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก ยกเว้นรัฐปรินซ์เอดเวิร์ด ไอแลนด์เป็นที่ราบหุบเขาที่มีความสมบูรณ์ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์และทะเลสาบใหญ่มีประชากรมากที่สุด เป็นศูนย์กลางทางการเกษตร เมืองท่า เมืองอุตสาหกรรมและเมืองสำคัญทางธุรกิจ เขตทุ่งหญ้าแพรรีเป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์และเทือกเขา ชายฝั่งทางตะวันตกมีฝนตกชุกและป่าหนาแน่นเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ภูมิอากาศ แบบภาคพื้นทวีป มี 4 ฤดู ภูมิอากาศของแคนาดาแตกต่างกันไป ตั้งแต่หนาวจัดทางตอนบนและอากาศเย็นทางตอนล่างของประเทศ สภาพภูมิอากาศของฝั่งตะวันออกแตกต่างจากฝั่งตะวันตกมาก ปริมาณน้ำฝน 500-3,000 มม. ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศที่มีฤดูหนาวนานถึง 5 เดือน อุณหภูมิอาจจะลดต่ำ ลงมากกว่า -25 องศาเซลเซียส โดยกรุงออตตาวามีอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวเฉลี่ย -6 ถึง -16 องศาเซลเซียส
วันชาติ 1 ก.ค.
Justin Pierre James Trudeau
(นรม.แคนาดา)
ประชากร 38,179,131 คน (ปี 2564)
รายละเอียดประชากร 39,858,480 คน (ปี 2566) เป็นชาวแคนาดา 32.3% อังกฤษ 18.3% สกอต 13.9% ฝรั่งเศส 13.6% ไอริช 13.4% เยอรมัน 9.6% จีน 5.1% อิตาลี 4.6% อเมริกันอินเดียน 4.4% ชาวอินเดียที่อพยพมาอาศัยในแถบแคริบเบียน 4% และอื่น ๆ อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : อายุ 0-14 ปี 15.99% อายุ 15-64 ปี 65.03% อายุ 65 ปีขึ้นไป 18.98% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 83.8 ปี เพศชาย 81.52 ปี เพศหญิง 86.21 ปี อัตราการเกิด 10.17 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 8.12 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.73%
การก่อตั้งประเทศ ฝรั่งเศสเข้ายึดครองแคนาดาฝั่งตะวันออกเมื่อปี 2077 และเริ่มตั้งถิ่นฐานเมื่อปี 2147 ต่อมาเกิดปัญหาขัดแย้งด้านประมงและการค้าขนสัตว์ระหว่างฝรั่งเศสกับสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2256 ในที่สุดดินแดนแคนาดาก็ตกเป็นของสหราชอาณาจักร แคนาดาได้สิทธิปกครองตนเองเมื่อปี 2392 และเมื่อปี 2410 ได้มีการตั้ง Dominion of Canada ในลักษณะสมาพันธรัฐซึ่งประกอบด้วย Upper และ Lower Canada (รัฐออนแทรีโอ, ควิเบก, โนวาสโกเชียและนิวบรันสวิกในปัจจุบัน) และได้ขยายไปยังรัฐภาคตะวันตกจนถึงรัฐบริติชโคลัมเบีย ต่อมาเมื่อปี 2474 แคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับสหราชอาณาจักร โดยมีกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรเป็นพระประมุข นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์เข้าร่วมเป็นรัฐที่ 10 ของแคนาดาเมื่อปี 2492
การเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (parliamentary democracy) และสมาพันธรัฐ (confederation) ภายใต้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 รัฐ (Province) และ 3 ดินแดนหลวง (Territory) แต่ละรัฐมีหัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า Premier ประกอบด้วยแอลเบอร์ตา บริติชโคลัมเบีย แมนิโทบา นิวบรันสวิก นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ โนวาสโกเชีย ออนแทรีโอ ปรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ ควิเบก และซัสแคตเชวัน ส่วน 3 ดินแดนได้แก่ นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ นูนาวุตและยูคอน ระบบกฎหมายใช้หลักกฎหมายจารีตประเพณี (English common law) ยกเว้นรัฐควิเบกที่กฎหมายแพ่งใช้ระบบของฝรั่งเศส
ประมุขประเทศ : สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงแต่งตั้งผู้แทนพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการ (Governor General) โดยคำแนะนำของ นรม.แคนาดา วาระในตำแหน่ง 5 ปี (คนปัจจุบันคือนาง Mary May Simon ซึ่งรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมื่อ 26 ก.ค.2564) รองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนประมุขประจำในแต่ละรัฐ แต่ในทางปฏิบัติผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีบทบาทเพียงเข้าร่วมพิธีสำคัญต่าง ๆ อาทิ การกล่าวเปิด-ปิดการประชุมรัฐสภา การแถลงผลงานการบริหารราชการของรัฐบาล ให้คำแนะนำ นรม. และ ครม. ในการบริหารประเทศ) โดยมี นรม.เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ฝ่ายบริหาร : นรม. เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร/รัฐบาล เป็นผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่แท้จริง นรม.คนปัจจุบันคือ นาย Justin Pierre James Trudeau ครม. (Federal Ministry) คัดเลือกโดย นรม. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาล
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภาคือ วุฒิสภา มีสมาชิก 105 คน ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามคำแนะนำของ นรม. สามารถดำรงตำแหน่งได้จนอายุครบ 75 ปี ทั้งนี้ ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกก่อน 2 มิ.ย.2508 จะดำรงตำแหน่งตลอดชีพ และสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิก 338 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระในตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อ 20 ก.ย.2564 (การเลือกตั้ง ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในปี 2568) ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรค Liberal Party ได้รับคะแนน 33.12% ได้เป็นรัฐบาล พรรค Conservative 34.34% พรรค New Democratic Party 15.98% พรรค Bloc Quebecois 7.63% พรรค Greens 6.55% พรรคอื่น ๆ 1.62%
ฝ่ายตุลาการ : มีศาลสหพันธรัฐซึ่งเป็นศาลของรัฐบาลกลางและศาลชั้นต้นของแต่ละรัฐ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลสูงจะขึ้นตรงต่อศาลสูงสุดแคนาดาผู้พิพากษาสามารถดำรงตำแหน่งจนอายุครบ 75 ปี
พรรคการเมืองสำคัญ : พรรค Bloc Quebecois มีนาย Yves-François Blanchet เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Conservative Party of Canada (CPC) นาย Erin O’Toole เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Green Party นาง Annamie Paul เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Liberal Party (พรรครัฐบาล) นาย Justin Trudeau เป็นหัวหน้าพรรค พรรค New Democratic Party (NDP) นาย Jagmeet Singh เป็นหัวหน้าพรรค และพรรค People’s Party of Canada นาย Maxime Bernier เป็นหัวหน้าพรรค
กลุ่มกดดันทางการเมือง ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มนักธุรกิจ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ธนาคารพาณิชย์ ภาคการสื่อสาร อุตสาหกรรมพลังงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มข้าราชการ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และสหภาพแรงงาน
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจเสรีใช้กลไกตลาดสนับสนุนการลดภาษีและปกป้องผลประโยชน์ของชาวแคนาดา เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง ระบบเศรษฐกิจมีความคล้ายคลึงกับสหรัฐฯ ทั้งรูปแบบการผลิต และมาตรฐานการครองชีพสูง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเหมืองแร่และภาคบริการของแคนาดาเติบโตอย่างรวดเร็ว แคนาดาเป็นประเทศที่มีมาตรการการค้าที่เสรีและโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เศรษฐกิจพึ่งพาการค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากซาอุดีอาระเบียและเวเนซุเอลา
ผลผลิตการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ พืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์และทำน้ำมัน ยาสูบ ผลไม้ ผัก ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และปลา อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ไม้และกระดาษ ผลิตภัณฑ์จากปลา ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ แร่เหล็ก นิกเกิล สังกะสี ทองแดง ทองคำ ตะกั่ว สินแร่หายาก (rare earth ประกอบด้วยสแกนเดียม อิตเทรียม และกลุ่มอนุกรมเคมีแลนทาไนด์ 15 ชนิด) ธาตุโมลิบดินัม โพแทช เพชร เงิน ถ่านหิน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้าพลังน้ำ ป่าไม้และสัตว์ป่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 การสร้างความแข็งแกร่งภาคการเงินและ การคลังการพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้พลังงานสะอาด ขยายการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมากขึ้น (จีนและอินเดีย) เพื่อกระจายการส่งออก กระตุ้นการสร้างงาน เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่งในระยะยาวของประเทศที่มั่นคง ทั้งนี้ แคนาดาให้ความสำคัญลำดับแรกกับสหรัฐฯ และประเทศในลาตินอเมริกาในฐานะประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าหลัก
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดอลลาร์แคนาดา (CAD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.36CAD
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 0.037 CAD (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 2,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.5%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 52,722 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 20.3 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 5.5%
อัตราเงินเฟ้อ : 4%
มูลค่าส่งออก : 573,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ยานยนต์และอะไหล่ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องบิน อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เคมีภัณฑ์ พลาสติก ปุ๋ย เยื่อกระดาษ ไม้ซุง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติไฟฟ้าและอะลูมิเนียม
คู่ค้าส่งออก : สหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เม็กซิโก เยอรมนี เกาหลีใต้
มูลค่านำเข้า : 544,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์และอะไหล่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภคคงทน
คู่ค้านำเข้า : สหรัฐฯ จีน เม็กซิโก เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ อิตาลี เนเธอร์แลนด์
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 114,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 1.71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
การทหาร กำลังพลประจำการรวม 66,500 นาย ประกอบด้วย ทบ. 22,500 นาย ทร. 12,600 นาย ทอ. 12,100 นาย อื่นๆ 19,300 นาย กำลังพลสำรอง 34,400 นาย และกำลังพลกึ่งทหาร 4,500 นาย งบประมาณทางทหาร 19,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง 82 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 1,976 คัน ปืนใหญ่ชนิดลาก 163 กระบอก บ.โจมตี/สกัดกั้น 110 เครื่อง บ.ลำเลียง 46 เครื่อง บ.ฝึก 109 เครื่อง ฮ. 150 เครื่อง เรือฟรีเกต 12 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 20 ลำ
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ADB (nonregional member), AfDB (nonregional member), APEC, Arctic Council, ARF, ASEAN (dialogue partner), Australia Group, BIS, C, CD, CDB, CE (observer), EAPC, EBRD, EITI (implementing country), FAO, FATF, G-7, G-8, G-10, G-20, IADB, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICCt, ICRM, IDA, IEA, IFAD, IFC, IFRCS, IGAD (partners), IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), MIGA, MINUSTAH, MONUSCO, NAFTA, NATO, NEA, NSG, OAS, OECD, OIF, OPCW, OSCE, Pacific Alliance (observer), Paris Club, PCA, PIF (partner), UN, UNCTAD, UNESCO, UNFICYP, UNHCR, UNMISS, UNRWA, UNTSO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO และ ZC
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลและภาคเอกชนแคนาดามีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตและบริการป่าไม้ ประมง พลังงาน การก่อสร้าง สุขภาพ และทรัพย์สินทางปัญญา แคนาดายังมีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศโดยมีการวิจัยด้านการบิน การพัฒนาจรวดและดาวเทียม แคนาดาเป็นประเทศที่ 3 ที่ปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศต่อจากสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และสหรัฐฯ รัฐบาลแคนาดาใช้จ่ายเงินในด้านการวิจัยและการพัฒนา (research and development-R&D) ในประเทศประมาณ 108.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 2,885.93 ล้านบาทระหว่างปี 2566-2567
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 1,467 แห่ง ใช้การได้ดี 523 แห่ง เส้นทางรถไฟ 49,422 กม. ถนน 1,042,300 กม. ใช้การได้ดี 415,600 กม. เส้นทางน้ำ 636 กม. การโทรคมนาคม : โทรศัพท์พื้นฐาน 13.93 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 34.47 ล้านเลขหมาย รหัสโทรศัพท์ +1 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 36.89 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .ca
การเดินทาง แคนาดาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่ 1) ได้รับการตรวจลงตราหนังสือเดินทางจากแคนาดา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือได้รับการตรวจลงตราจากสหรัฐฯ ที่ยังไม่หมดอายุ 2) เข้ามาพำนักในแคนาดา ระยะสั้นเพื่อทำธุรกิจหรือการท่องเที่ยว (พำนักไม่เกิน 6 เดือน) และ 3) เดินทางเข้าหรือเดินทางผ่านแคนาดา โดยทางอากาศเท่านั้น หากมีเงื่อนไขดังกล่าว นักท่องเที่ยวไทยสามารถยื่นขอใบอนุญาตการเดินทาง ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eTA ได้ คิดค่าธรรมเนียม 7 ดอลลาร์แคนาดาหรือประมาณ 186 บาท ตั้งแต่ 7 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป หากไม่มีเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราหนังสือเดินทางตามปกติ
ความสัมพันธ์ไทย-แคนาดา
ไทยกับแคนาดาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันตั้งแต่ 8 พ.ย.2504 และเปิด สอท. ณ กรุงออตตาวา (เขตอาณาครอบคลุมเกรนาดา ตรินิแดดและโตเบโก จาเมกา และสาธารณรัฐโดมินิกัน) ไทยตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ เพื่อดูแลรัฐด้านตะวันตกของแคนาดาและจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองคัลการี เอ็ดมันตัน มอนทริออล และโตรอนโต ส่วนแคนาดาได้ตั้ง สอท. ณ กรุงเทพฯ (มีเขตอาณาครอบคลุมลาว กัมพูชา และเมียนมา) เมื่อปี 2510 และตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จ.เชียงใหม่
ไทยกับแคนาดามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและเป็นมิตรโดยมีการส่งเสริมความร่วมมือ
ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีให้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อกันนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2504 แต่ความสัมพันธ์ชะงักลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในไทยและกลับมาสู่ระดับปกติหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ความสัมพันธ์ด้านการค้า ปี 2565 มูลค่าการค้าทวิภาคี 114,123.10 ล้านบาท ไทยส่งออก 73,393.60 ล้านบาท และนำเข้า 40,729.50 บาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 32,664.10 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ยางพารา กุ้งสด แช่เย็นและแช่แข็ง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินและทองคำ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัชกรรม สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงด้านการพาณิชย์ (22 เม.ย.2512) ความตกลงประกันภัยการลงทุนต่างประเทศ (5 ม.ค.2526) อนุสัญญาว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (16 ก.ค.2528) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยกับแคนาดา (11 ก.ค.2531) และการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจไทย-แคนาดา (มิ.ย.2539) ข้อตกลงทวิภาคีสิ่งทอเพื่อควบคุมปริมาณการส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอไปแคนาดา (1 ม.ค.2538) ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (17 ม.ค.2540) ความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมกันในเรื่องการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์และระบบควบคุม (9 เม.ย.2540) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดา (17 ม.ค.2540) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ (30 เม.ย.2540) บันทึกความเข้าใจว่าด้วย CIDA Regional Project Southeast Asia Fund for Institutional and Legal Development (16 ต.ค.2543) ปฏิญญาแสดงเจตจำนงในการจัดทำตราสารระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแคนาดาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเยาวชน (23 มี.ค.2555) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศแคนาดาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านการต่อต้านการลักลอบขนคนข้ามชาติ การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ (23 มี.ค.2555) ข้อตกลงระหว่างแคนาดาและไทยว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (22 มิ.ย.2560) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา (9 ธ.ค.2562) ความตกลงฉบับใหม่ไทย-แคนาดาว่าด้วยการขนส่งทางอากาศ (4 ม.ค.2565)
หมายเหตุ CIDA (Canadian International Development Agency) เป็นองค์กรเพื่อ การพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดาเว็บไซต์: www.cida.gc.ca
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การประกาศใช้นโยบายยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของแคนาดา ที่ทำให้แคนาดาเพิ่มบทบาททางการทหารและความมั่นคงต่อประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
2) ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับอินเดียที่ไม่แน่นแฟ้น หลังจากที่แคนาดาระบุว่าอินเดีย อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารหัวหน้ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน Khalistan Tiger Force (KTF) ในแคนาดา เมื่อ มิ.ย.2566 ทำให้อินเดียไม่พอใจ และทั้งสองฝ่ายต่างดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการทูต เช่น การลดจำนวนนักการทูต รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เช่น การเลื่อนการเจรจาด้านการค้าโดยไม่มีกำหนด
3) บทบาทของแคนาดาต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่สำคัญในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ การสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮะมาส และสงครามรัสเซีย-ยูเครน