ญี่ปุ่น
Japan
เมืองหลวง กรุงโตเกียว
ที่ตั้ง ทางตะวันออกของทวีปเอเชียและตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเส้นละติจูดที่ 20-45 องศาเหนือ เส้นลองจิจูดที่ 123-154 องศาตะวันออก พื้นที่ 377,972 ตร.กม. (0.3% ของพื้นที่โลก) ประกอบด้วย เกาะใหญ่ที่สำคัญ คือ ฮอกไกโด (83,424 ตร.กม.) ฮอนชู (231,231 ตร.กม.) ชิโกกุ (18,804 ตร.กม.) คิวชู (42,232 ตร.กม.) และโอกินาวา (2,281 ตร.กม.) ส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาว 33,889 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ มีทะเลโอคอตสค์กั้นระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย
ด้านตะวันตก มีทะเลญี่ปุ่นกั้นระหว่างญี่ปุ่นกับคาบสมุทรเกาหลีและจีน
ด้านตะวันออก จรดมหาสมุทรแปซิฟิก
ทิศใต้ จรดทะเลฟิลิปปินส์
ภูมิประเทศ ตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนของเปลือกโลก 3 แผ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อย และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีภูเขาไฟมากที่สุด (ฟูจิสูง 3,776 ม.) พื้นที่ป่า 250,000 ตร.กม. (67%) พื้นที่การเกษตร 50,000 ตร.กม. (12%) และพื้นที่ปลูกสร้าง 20,000 ตร.กม. (5%) มีแม่น้ำรวม 10 สาย แม่น้ำชินาโนะยาวที่สุด 367 กม.
ภูมิอากาศ ภาคเหนือ (เขตฮอกไกโดและชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น) อากาศหนาวเย็นตลอดปี ฤดูหนาว หิมะตกมาก ที่ราบสูงตอนกลาง อุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาวต่างกันมาก ภาคตะวันออก (บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก) อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว หิมะตกไม่มาก ฤดูร้อนอากาศร้อนชื้น หมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้ อากาศกึ่งเขตร้อน ฝนตกหนัก มีพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าใกล้ญี่ปุ่นปีละประมาณ 11 ลูก มี 4 ฤดู ฤดูใบไม้ผลิ (มี.ค.-พ.ค.) อากาศอบอุ่น ฤดูร้อน (มิ.ย.-ส.ค.) ฝนตกและร้อนจัดในช่วงต้นฤดู ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) อากาศอุ่น และฤดูหนาว (ธ.ค.-ก.พ.) มีหิมะตก
ศาสนา ญี่ปุ่นไม่มีศาสนาประจำชาติ และไม่มีการสำรวจผู้นับถือศาสนาอย่างเป็นทางการ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนา ส่วนผู้ที่นับถือศาสนามีประมาณ 39% แบ่งเป็นศาสนาพุทธและชินโต 37% ศาสนาคริสต์ 1% และอื่น ๆ 1%
ภาษา ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการ
การศึกษา ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราการรู้หนังสือ 99.9% ระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และการศึกษาระดับสูง 3 ปี รวมทั้งระบบ 12 ปี แบ่งออกเป็น ระดับประถมศึกษา 6 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี
วันชาติ 11 ก.พ. (เป็นวันก่อตั้งประเทศญี่ปุ่น)
นายคิชิดะ ฟูมิโอะ
Kishida Fumio
(นรม.ญี่ปุ่น)
ประชากร 124.34 ล้านคน (ต.ค.2566) จำนวนประชากรญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก คิดเป็น 1.5% ของประชากรโลก แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ ส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน เฉพาะอย่างยิ่งแรงงานภาคการบริการและภาคเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีนโยบายเปิดรับแรงงานต่างประเทศมากขึ้น โดยปรับปรุงกฎหมายขยายระยะเวลาการพำนักอยู่ญี่ปุ่นแก่แรงงานต่างชาติเมื่อปี 2561 เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติ คาดว่า จะมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 345,000 คน ในปี 2568 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง (Womenomics) โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและเพิ่มโอกาสการเติบโตทางการทำงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา ขาดแคลนแรงงานและเตรียมความพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุ
การก่อตั้งประเทศ การปกครองของญี่ปุ่นแบ่งเป็นยุคโบราณและยุคปัจจุบัน ยุคปัจจุบันซึ่งเริ่มในสมัยจักรพรรดิเมจิ มีการปฏิรูปการเมือง การปกครอง สังคมและวัฒนธรรม มีการติดต่อกับชาติตะวันตก นโยบายชาตินิยมทำให้ญี่ปุ่นรุกรานประเทศเพื่อนบ้านและเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามเมื่อ 14 ส.ค.2488 ทำให้ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังพันธมิตร นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งได้ร่างรัฐธรรมนูญให้กับญี่ปุ่น โดยจำกัดบทบาทของกองทัพญี่ปุ่นไม่ให้ก่อสงครามขึ้นอีกในอนาคต ญี่ปุ่นได้รับอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาหลังการลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2494
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นสถาบันสูงสุด และนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร สมเด็จพระจักรพรรดิมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ
สถาบันกษัตริย์ กษัตริย์ญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงพระองค์เดียวในโลก และมาจากพระราชวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งสืบทอดต่อเนื่องนานที่สุดในโลกกว่า 2,600 ปี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทและพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ประกาศใช้เมื่อ 3 พ.ย.2489 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 3 พ.ค.2490 โดยมาตรา 1 กำหนดให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน มาตรา 6 กำหนดให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้ง นรม.ตามที่รัฐสภาเสนอ และแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด (Chief Judge) แห่งศาลฎีกาตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ และมาตรา 7 กำหนดให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ภายใต้การถวายคำแนะนำและการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ได้แก่ 1) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมาย คำสั่งคณะรัฐมนตรี และสนธิสัญญาต่าง ๆ 2) เรียกประชุมรัฐสภา 3) ยุบสภาผู้แทนราษฎร 4) ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นการเลือกตั้งทั่วไป 5) ลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งแต่งตั้ง และถอดถอนรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งแต่งตั้งเอกอัครราชทูต 6) ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือเป็นกรณีพิเศษ ลดโทษ ชะลอการลงโทษ และคืนสิทธิ 7) พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 8) ลงพระปรมาภิไธยในเอกสารเพื่อให้สัตยาบันและเอกสารการทูตอื่นตามที่กฎหมายกำหนด 9) พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตและพระราชอาคันตุกะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และ 10) ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ
ปัจจุบัน สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น คือ สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ทรงเสด็จขึ้นครองราชยเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 126 เมื่อ 1 พ.ค.2562 และเป็นการเริ่มนับรัชสมัยเรวะปที่ 1 พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 23 ก.พ.2503 ทรงไดรับการสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมารเมื่อ 23 ก.พ.2534 ทรงสำเร็จการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยกะกุชูอิน และทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยมอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นรัชทายาทในราชวงศ์ญี่ปุ่นพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ (นางสาวโอวาดะ มาซาโกะ) เมื่อ 9 มิ.ย.2536 โดยสมเด็จพระจักรพรรดินีเป็นอดีตสามัญชน ธิดาคนโตของนายโอวาดะ ฮิซาชิ และนักการทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าหญิงไอโกะ พระราชสมภพเมื่อ 1 ธ.ค.2544
ญี่ปุ่นจัดพระราชพิธีสถาปนาเจ้าชายฟูมิฮิโตะแห่งอากิชิโนะเป็นมกุฏราชกุมารอากิชิโนะ เมื่อ 8 พ.ย.2563 อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตการสืบราชสมบัติ เนื่องจากกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นปี 2490 ระบุให้ผู้สืบราชสมบัติจะต้องเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เท่านั้น แต่ปัจจุบันราชวงศ์ญี่ปุ่นเหลือพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า (บุรุษ) เพียง 3 พระองค์ คือ มกุฏราชกุมารอากิชิโนะ (พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ) เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ (พระโอรสในมกุฏราชกุมารอากิชิโนะและว่าที่องค์รัชทายาทอันดับที่ 2) และเจ้าชายมาซาฮิโตะ (พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ) จึงเกิดข้อถกเถียงประเด็นการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้ผู้สืบราชสมบัติเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ได้ รวมถึงเห็นควรให้เจ้าหญิงทุกพระองค์ไม่ต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ หากเสกสมรสกับสามัญชน และสถาปนาคืนพระยศให้กับพระราชวงศ์ฝ่ายในที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่กลับมาดำรงพระยศเดิมได้
ฝ่ายบริหาร : นรม.เป็นหัวหน้ารัฐบาล มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ตามมติของรัฐสภา ซึ่งในทางปฎิบัติจะเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมาก กรณีรัฐบาลมาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภา นรม.จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ ก่อนเสนอรายชื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งต่อไป แต่หากพรรครัฐบาลไม่ได้ครองเสียงข้างมาก รัฐมนตรีจะมาจากการคัดเลือกของรัฐสภา ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สัดส่วนของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีส่วนมากต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา และ นรม.และรัฐมนตรีต้องเป็นบุคคลพลเรือน ขณะที่ พ.ร.บ.คณะรัฐมนตรี (Cabinet Law) กำหนดให้มีรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 14 คน แต่อาจเพิ่มได้อีกไม่เกิน 3 คน ในกรณีที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งรวมแล้วต้องมีรัฐมนตรีไม่เกิน 17 คน อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดดังกล่าวมิได้หมายความรวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ด้านการบริหารแบบเฉพาะเจาะจงภายใต้ความรับผิดชอบของตำแหน่งหน้าที่นั้น
คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ปัจจุบัน มีทั้งหมด 20 ตำแหน่ง (รวม นรม.) โดยมีการปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อ 13 ก.ย.2566 เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ตั้งแต่นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ดำรงตำแหน่ง นรม. เมื่อ ต.ค.2564 (ปรับ ครม.ครั้งแรกเมื่อ ส.ค.2565) ซึ่งในครั้งล่าสุดนี้มีการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มากถึง 13 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 19 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก 11 คน มีการเพิ่มสัดส่วนรัฐมนตรีที่เป็นสตรีเพิ่มขึ้นเป็น 5 คน จากเดิม 2 คน และมีรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มขึ้นเป็น 3 คน จากเดิม 2 คน แต่ยังคงสัดส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากสมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล 18 ตำแหน่ง และพรรคโคเม (Komeito Party-KP) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 1 ตำแหน่ง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภา (Diet) เป็นระบบ 2 สภา
1) วุฒิสภา สมาชิกมีวาระ 6 ปี มีสมาชิกจำนวน 248 คน แต่มีการเลือกตั้งครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทุก 3 ปี จำนวนรอบละ 124 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งล่าสุดเมื่อ 10 ก.ค.2565 พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) และพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคโคเม (Komeito Party-KP) ชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้พรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยจำนวนที่นั่ง 146 ต่อ 102 ที่นั่ง ปัจจุบัน (23 ต.ค.2566) สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 246 คน ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งสังกัดพรรคการเมือง 9 กลุ่มการเมือง และสมาชิกอิสระ ได้แก่ 1) Liberal Democratic Party (LDP) จำนวน 117 คน 2) Constitutional Democratic Party of Japan and Social Democratic Party จำนวน 40 คน 3) Komeito จำนวน 27 คน 4) Nippon Ishin (Japan Innovation Party) จำนวน 20 คน 5) Democratic Party For the People and the Shin-Ryokufukai จำนวน 13 คน 6) Japanese Communist Party จำนวน 11 คน 7) REIWA SHINSENGUMI จำนวน 5 คน 8) NHK Party จำนวน 2 คน 9) Okinawa Whirlwind จำนวน 2 คน และ 10) สมาชิกอิสระ จำนวน 9 คน
2) สภาผู้แทนราษฎร มีวาระ 4 ปี มีสมาชิกจำนวน 465 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (Single Member Constituency) เขตละ 1 คน จำนวน 289 คน และระบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (Proportional Representation) จำนวน 176 คน การเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อ 31 ต.ค.2564 พรรค LDP ชนะการเลือกตั้ง ทำให้นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ได้ดำรงตำแหน่ง นรม.ญี่ปุ่น (ลำดับที่ 101) จนถึงปัจจุบัน โดยพรรครัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรด้วยจำนวน 293 ต่อ 172 ที่นั่ง ปัจจุบัน (20 ต.ค.2566) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 464 คน ประกอบด้วย สมาชิกที่สังกัดพรรคการเมือง 8 กลุ่มการเมือง และสมาชิกอิสระ ได้แก่ 1) Liberal Democratic Party (LDP) จำนวน 262 คน 2) The Constitutional Democratic Party of Japan and the Independent จำนวน 96 คน 3) Nippon Ishin (Japan Innovation Party) จำนวน 41 คน 4) Komeito จำนวน 32 คน 5) Democratic Party For the People จำนวน 10 คน 6) Japanese Communist Party จำนวน 10 คน 7) Yushi no Kai จำนวน 4 คน 8) REIWA SHINSENGUMI จำนวน 3 คน และ 9) สมาชิกอิสระ จำนวน 6 คน
ฝ่ายตุลาการ : ระบบศาลแบ่งออกเป็น ศาลฎีกา (Supreme Court) ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว และศาลล่างอื่น ๆ (Inferior courts) ตามที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบัน ประกอบด้วย ศาลสูง (High Courts) 8 แห่ง ศาลครอบครัว (Family Courts) 50 แห่ง ศาลจังหวัด (District Courts) 50 แห่ง และศาลแขวง (Summary Courts) 438 แห่ง ทั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด (Chief Judge) แห่งศาลฎีกาตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ
พรรคการเมือง : ระบบหลายพรรค ปัจจุบัน พรรครัฐบาล ได้แก่ 1) พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party-LDP) ก่อตั้งเมื่อปี 2498 เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดและมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน คือ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ต.ค.2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี 2) พรรคโคเม (Komeito Party-KP) หรือชื่อเดิม New Komeito Party ก่อตั้งโดยสมาชิกขององค์กรพุทธศาสนาขนาดใหญ่ คือ สมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) เมื่อปี 2541 ปัจจุบัน เป็นพันธมิตรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค LDP
พรรคฝ่ายค้าน ได้แก่ 1) พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (Constitutional Democratic Party of Japan-CDPJ) เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ก่อตั้งเมื่อ 2 ต.ค.2560 ก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 22 ต.ค.2560 โดยแยกออกมาจากพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party Japan-DPJ) หรือมินชินโต แกนนำคือนายเอดาโนะ ยูกิโอะ มีแนวทางคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 สนับสนุนให้ยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว และระงับการขึ้นภาษีการบริโภค ตรงข้ามกับนโยบายของพรรค LDP 2) พรรคแห่งความหวัง (Party of Hope หรือ Kibo no To) ก่อตั้งโดยนางยูริโกะ โคอิเกะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลพรรค LDP และอดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว เป็นพรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ คัดค้านการขึ้นภาษีการบริโภค แต่มีแนวนโยบายด้านความมั่นคงเหมือนพรรค LDP คือ สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 และสนับสนุนการไปเคารพศาลเจ้ายาสุคุนิ 3) พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (Japan Communist Party-JCP) ก่อตั้งเมื่อ ก.ค.2465 คัดค้านนโยบายของพรรค LDP ในทุกประเด็น และต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ยืดหยุ่นต่อประเทศเพื่อนบ้านในประเด็นทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน มีสมาชิกประมาณ 320,000 คน 4) พรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น (Japan Innovation Party-JIP) หรือ Nippon Ishin no Kai หรือ NIK ก่อตั้งเมื่อ ต.ค.2558 โดยกลุ่มการเมือง Initiative from Osaka 5) พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party-SDPJ) เดิมชื่อพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น (Japan Socialist Party-JSP) ก่อตั้งเมื่อปี 2488 มีแนวคิดต่อต้านลัทธิทหารนิยม และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสมัย นรม.ยูกิโอะ ฮาโตยามะ (ปี 2552-2553) แต่ต่อมาถอนตัว เนื่องจากไม่พอใจข้อตกลงการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ 6) พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน (Democratic Party for the People-DPP) ก่อตั้งเมื่อ 7 พ.ค.2561 จากการรวมตัวของนักการเมืองพรรค DPJ และพรรคแห่งความหวัง 7) พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Democratic Party of Japan-DPJ) เป็นพรรคการเมืองสายกลาง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากพรรค LDP ก่อตั้งเมื่อ 27 เม.ย.2541 จากการยุบรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก 4 พรรค ตอมาเมื่อ 27 มี.ค.2559 พรรค DPJ ได้ยุบรวมกับพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น 8) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party-LP) ก่อตั้งในชื่อ People’s Life Part เมื่อ ธ.ค.2555 และ 9) พรรคกลุ่มอิสระ (The Group of Independents/Mushozoku no Kai) จัดตั้งเมื่อ 7 พ.ค.2561 จากการรวมกันของนักการเมืองพรรค DPJ และพรรคแห่งความหวัง
การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด (Prefecture) แบ่งเป็น 47 จังหวัด และระดับเทศบาล (Municipality) ในแต่ละจังหวัด ซึ่งปัจจุบัน มีเทศบาลทั้งสิ้น 1,718 แห่ง แต่ไม่นับรวมเทศบาล 6 แห่ง ในพื้นที่ดินแดนทางเหนือ (Northern Territories) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หมู่เกาะ 4 แห่งที่ญี่ปุ่นพิพาทกับรัสเซีย เทศบาลแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อำเภอ (เทียบเท่าเทศบาลนคร) 792 แห่ง ตำบล (เทียบเท่าเทศบาลเมือง) 743 แห่ง และหมู่บ้าน (เทียบเท่าเทศบาลตำบล) 183 แห่ง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (Local election) ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ ตำบล และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เว้นแต่ประชาชนจะลงมติให้ยุบสภาก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่ง โดยปกติจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่นใหม่ทุก 4 ปี ในช่วง เม.ย.-พ.ค. เรียกว่าการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นรวมทั่วประเทศ
เศรษฐกิจ ญี่ปุ่นมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ปัจจุบัน ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ และจีน และมีศักยภาพการแข่งขันสูงอันดับ 6 ของโลก รองจากสิงคโปร์ สหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีปัจจัยบวกด้านอัตราภาษี กฎระเบียบแรงงานเข้มงวด และนวัตกรรม ญี่ปุ่นมีปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยมอันดับ 5 ของโลก แรงงานมีคุณภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan-BOJ) ประเมินเมื่อ ก.ค.2566 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2566 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) เพิ่มขึ้น 1.2-1.5% และคาดการณ์ว่า ปีงบประมาณ 2567 (1 เม.ย.2567-31 มี.ค.2568) จะเพิ่มขึ้น 1.0-1.3% และในปีงบประมาณ 2568 (1 เม.ย.2568-31 มี.ค.2569) จะเพิ่มขึ้น 1.0-1.2% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) ปีงบประมาณ 2566 มีอัตรา 3.0% และในปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 จะมีอัตรา 1.5-2.0%
นโยบายทางเศรษฐกิจ นรม.คิชิดะ ฟูมิโอะ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นอันดับแรก หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 ต.ค.2564 และปี 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงและอัตราค่าแรงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ เนื่องจากค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ขัดแย้งอิสราเอล-ฮะมาส โดย นรม.คิชิดะ ฟูมิโอะ แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 23 ต.ค.2566 ว่า จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยมีมาตรการสำคัญ เช่น ขยายระยะเวลาลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า และมอบผลประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทที่เพิ่มเงินเดือนหรือค่าแรงให้พนักงานและลูกจ้าง ขณะที่ระยะยาวจะมุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤต COVID-19 โดยผลักดันนโยบายทุนนิยมใหม่ (New Capitalism) เน้นเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการกระจายรายได้ เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลาง เช่น ปฏิรูประบบภาษีและสวัสดิการด้านการศึกษาและผู้สูงอายุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในชนบท รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั้งความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น พร้อมมุ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นมีบทบาทนำด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาคเอเชียตามยุทธศาสตร์ Green Growth Economy ที่มีเป้าหมายให้ญี่ปุ่นมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593
รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งสานต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของอดีต นรม.สึกะ โยชิฮิเดะ ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคที่ 4 และการดำเนินนโยบายสังคม 5.0 ควบคู่กับการปฏิรูปการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการกระจายตัวของรายได้ที่เป็นธรรม รวมถึงเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินงบประมาณแบบได้ดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะสำเร็จภายในปีงบประมาณ 2568 โดยเน้นการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เยน (JPY)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 149.93 เยน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 4.05 เยน : 1 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 4,230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.0%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 33,950 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 3.0%
หนี้สาธารณะ : 1,276,315,500 ล้านเยน
อันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาล : Standard & Poor’s : A+, Moody’s : A1 และ Fitch : A
อัตราการว่างงาน : 2.7%
ปีงบประมาณ : 1 เม.ย.-31 มี.ค.
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) : 114,381,200 ล้านเยน สูงที่สุดในประวัติการณ์ แบ่งเป็นงบประมาณด้านความมั่นคงทางสังคม 32.3% (ลดลง 1.4%) ภาระหนี้รัฐบาล 22.1% (ลดลง 0.5%) รัฐบาลท้องถิ่น 14.3% (ลดลง 0.5%) สาธารณูปโภค 5.3% (ลดลง 0.3%) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 4.7% (ลดลง 0.3%) การป้องกันประเทศ 5.9% (เพิ่มขึ้น 0.9%) งบประมาณผูกพันข้ามปีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศ 3.0% (ไม่รวมอยู่ในงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ) งบสำรองฉุกเฉินโควิด 19 และมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันดิบและสินค้าเพิ่มสูงขึ้น 3.5% และอื่น ๆ (เช่น พลังงาน เบี้ยหวัดบำนาญ และงบประมาณสำรองฉุกเฉิน) 8.0% (ลดลง 5.3%)
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 189,862,000 ล้านเยน (ก.ย.2566)
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ : การส่งออก 73,270,729 ล้านเยน การนำเข้า 81,174,272 ล้านเยน (ม.ค-ก.ย.2566)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุลการค้า 7,903,543 ล้านเยน (ม.ค.-ก.ย.2566)
ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้า : เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เม็กซิโก สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อิหร่าน อินเดีย และฮ่องกง
ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า : แคนาดา จีน นิวซีแลนด์ บราซิล ฝรั่งเศส มาเลเซีย เยอรมนี รัสเซีย เวียดนาม สวีเดน อิตาลี และแอฟริกาใต้
คู่ค้าสำคัญ : จีน (19.6%) สหรัฐฯ (14.5%) ออสเตรเลีย (5.9%) ไต้หวัน (5.3%) เกาหลีใต้ (5.2%) และไทย (3.7%)
สินค้าส่งออกสำคัญ : รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และมอเตอร์
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สื่อสาร
ตลาดส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย
ตลาดนำเข้าที่สำคัญ : จีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม ถ่านหิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี เหล็กกล้า และอัญมณี
การทหารและความมั่นคง ญี่ปุ่นจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) เมื่อปี 2556 เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในทุกมิติ ขึ้นตรงกับ นรม. รวมทั้งมีส่วนร่วมพิจารณางบประมาณและจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกับกระทรวงการคลังและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self-Defense Forces-JSDF) และจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy-NSS) ฉบับแรกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2556 และฉบับที่ 2 เมื่อปี 2565 โดยแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงฉบับใหม่มุ่งเน้นการยกระดับแสนยานุภาพและขยายขอบเขตการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อเตรียมรับมือกับการรุกรานจากต่างชาติที่อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกดังเช่นกรณีรัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ที่สำคัญ ได้แก่ 1) เพิ่มงบประมาณทางทหารเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) ในปีงบประมาณ 2570 (1 เม.ย.2570-31 มี.ค.2571) และยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติการให้สามารถป้องกันประเทศได้ระยะไกลมากขึ้นภายในปีงบประมาณ 2575 (1 เม.ย.2575-31 มี.ค.2576) 2) ให้ญี่ปุ่นสามารถโจมตีเข้าไปในเขตอำนาจอธิปไตยของต่างชาติ เพื่อทำลายฐานยิงขีปนาวุธหรืออาวุธอื่นได้ในกรณีที่ประเทศนั้นโจมตีญี่ปุ่นก่อน 3) ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมทหารและเทคโนโลยีป้องกันประเทศมากขึ้น 4) แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทหารและยุทโธปกรณ์ให้ต่างประเทศ 5) ยกระดับความร่วมมือและการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล และ 6) ยกระดับความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ
ขีดความสามารถทางทหาร ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางทหารสูงเป็นอันดับ 11 ของโลกในปี 2566 รองจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ (ข้อมูลจาก Global Fire Power (GFP) ของสหรัฐฯ) แม้ถูกจำกัดบทบาททางการทหารภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพและสันติ (Idealistic and Pacific Nature) ปี 2490 โดยสหรัฐฯ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ระบุว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำสงครามและจะไม่มีกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมทั้งกองกำลังอื่นที่มีศักยภาพในการทำสงคราม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ญี่ปุ่นพยายามเพิ่มบทบาททางทหาร ได้แก่ เปลี่ยนชื่อทบวงป้องกันประเทศเป็นกระทรวงกลาโหม เมื่อ 9 ม.ค.2550 แต่ยังใช้คำเรียกกองทัพต่าง ๆ ด้วยคำว่า กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self-Defense Forces) แบ่งเป็นกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น (Japan Ground Self-Defense Force-JGSDF) กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (Japan Maritime Self-Defense Force-JMSDF) และกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น (Japan Air Self-Defense Force-JASDF) นอกจากนี้ ยังมี กองกำลังประจำคณะประสานภารกิจส่วนเสนาธิการร่วม และหน่วยข่าวกรองทางทหาร
รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการกระชับความร่วมมือทางการทหารกับมิตรประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความตกลงว่าด้วยการจัดหาและการบริการต่างฝ่าย (Acquisition and Cross-Servicing Agreement) เพื่อเอื้อต่อการเสริมสร้างศักยภาพทางทหารร่วมกันผ่านการฝึกร่วม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางทหารและยุทโธปกรณ์ระหว่างกัน โดยญี่ปุ่นลงนามความตกลงดังกล่าวกับสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อินเดีย และออสเตรเลีย 2) ความตกลงด้านการถ่ายทอดยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี (Transfer of Defense Equipment and Technology) เพื่อเอื้อต่อการส่งออกยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ หลังยกเลิกการห้ามส่งออกอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารเมื่อปี 2557 โดยลงนามความตกลงกับเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย และ 3) ความตกลงเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการฝึกทหารร่วมกัน (Agreement Facilitating Joint Military Exercises) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กำลังพลและบุคลากรของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น และกองทัพออสเตรเลียระหว่างการฝึกทางทหารร่วมกัน เฉพาะอย่างยิ่งการผ่อนปรนมาตรการตรวจคนเข้าเมือง
สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าอาวุธสำคัญของญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในการพัฒนาอาวุธ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือในการผลิตอาวุธประเภทต่าง ๆ ร่วมกัน และญี่ปุ่นได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจากสหรัฐฯ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาวุธของญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าและน่าเชื่อถือ เมื่อปี 2566 ญี่ปุ่นเริ่มต้นโครงการพัฒนา Glide Phase Interceptor (GPI) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธสำหรับสกัดกั้นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงร่วมกับสหรัฐฯ เนื่องจากภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นรุนแรงขึ้น จากการที่ประเทศรอบญี่ปุ่นต่างยิงขีปนาวุธและพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงอย่างต่อเนื่อง โดย GPI จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่น อีกทั้งช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของความเป็นพันธมิตรระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ในการตอบสนองและป้องปรามภัยคุกคามในภูมิภาค
งบประมาณทางทหาร กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 (1 เม.ย.2566-31 มี.ค.2567) ทั้งสิ้น 6.60 ล้านเยน เป็นการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 และสูงที่สุดในประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 27.4% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 (1 เม.ย.2565-1 มี.ค.2566) ที่ได้รับจัดสรรทั้งสิ้น 5.37 ล้านล้านเยน และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในปีงบประมาณ 2567 (1 เม.ย.2567-1 มี.ค.2568) โดยกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มากกว่า 7 ล้านล้านเยน
กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น จัดตั้งเมื่อ 1 ก.ค.2497 นรม.ญี่ปุ่นเป็นผู้บัญชาการสูงสุด (Chief of Commander) ผลสำรวจของ Global Fire Power (GFP) ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2566 ประเมินว่า ญี่ปุ่นมีแสนยานุภาพทางทหารเป็นอันดับ 8 จาก 145 ประเทศ รองจากสหรัฐฯ รัสเซีย จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และปากีสถาน ตามลำดับ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมีกรอบอัตรากำลังทั้งสิ้น 247,154 นาย แบ่งเป็น กำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น (Japan Ground Self-Defense Force-JGSDF) 150,500 นาย กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (Japan Maritime Self-Defense Force-JMSDF) 45,293 นาย กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น (Japan Air Self-Defense Force-JASDF) 46,994 นาย เสนาธิการร่วม (Joint Staff) และส่วนกลาง 4,367 นาย แต่ปัจจุบัน (31 มี.ค. 2566) มีกำลังพลประจำการ 247,154 นาย หรือ 92.2% ของกรอบอัตรากำลัง แบ่งเป็น กำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น (Japan Ground Self-Defense Force-JGSDF) 137,024 นาย กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น (Japan Maritime Self-Defense Force-JMSDF) 43,106 นาย กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น (Japan Air Self-Defense Force-JASDF) 43,694 นาย เสนาธิการร่วม (Joint Staff) และส่วนกลาง 4,019 นาย นอกจากนี้ ยังมีกำลังสำรองพร้อมรบจำนวน 55,000 นาย และมีกำลังคนที่สามารถเข้าร่วมกองกำลังจำนวน 53,412,349 นาย กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นมียุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยุทโธปกรณ์ทางบก ได้แก่ รถถัง 1,004 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ 5,500 คัน กองกำลังปืนใหญ่สำหรับการป้องกันระยะไกล ประกอบด้วย ปืนใหญ่ 238 กระบอก ปืนใหญ่อัตตาจร 480 คัน และเครื่องยิงจรวด 99 เครื่อง ยุทโธปกรณ์ทางทะเล มีเรือประจำการทั้งหมด 155 ลำ ที่สำคัญได้แก่ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ เรือพิฆาต 36 ลำ เรือฟริเกต 4 ลำ เรือคอร์เวต 6 ลำ เรือดำน้ำ 21 ลำ เรือตรวจการณ์ 6 ลำ และเรือสงครามทุ่นระเบิด 22 ลำ ยุทโธปกรณ์ทางอากาศ มีเครื่องบินประจำการทั้งหมด 1,451 ลำ ที่สำคัญได้แก่ เครื่องบินขับไล่ 217 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิด 27 ลำ เครื่องบินขนส่ง 89 ลำ เครื่องบินฝึก 425 ลำ เครื่องบินภารกิจพิเศษ 150 ลำ เครื่องบินเติมน้ำมันเชื้อเพลิง 8 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 566 ลำ และเฮลิคอปเตอร์โจมตี 119 ลำ
ภัยคุกคามต่อความมั่นคงญี่ปุ่น
1) วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และปัญหาเงินเยนอ่อนค่า เฉพาะอย่างยิ่งราคาพลังงานและราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นบริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และนำเข้าน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดย CPI ของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 103.1 เมื่อ ก.ย.2565 เป็น 106.2 เมื่อ ก.ย.2566 ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายหมวดพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ราคาอาหารและพลังงาน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศประณามและคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อตอบโต้รัสเซียตามทิศทางเดียวกับสหรัฐฯ จากการที่รัสเซียปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน เช่น ลดการนำเข้าและระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเมื่อ พ.ค.2565 และ มิ.ย.2565 ตามลำดับ แต่เริ่มกลับมานำเข้าอีกครั้งเมื่อ ก.ค.2565 จำนวน 117 ล้านลิตร เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าหลัก ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเมื่อ 28 ก.พ.2566 ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม ได้แก่ 1) อายัดทรัพย์สินของบุคคลธรรมดา 39 ราย และองค์กร 73 แห่ง 2) ระงับการส่งออกสินค้าให้องค์กร 21 แห่งของรัสเซีย และ 3) ระงับการส่งออกสินค้าที่อาจช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของรัสเซีย ไปยังรัสเซีย
2) ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ญี่ปุ่นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2523 และยังคงหวาดระแวงเกาหลีเหนือที่พยายามผลักดันโครงการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตและครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถในการโจมตีญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2566 ญี่ปุ่นตอบโต้เกาหลีเหนือที่ใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธข้ามทวีปนำส่งดาวเทียมทางทหารขึ้นสู่วงโคจร โดยกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นมีคำสั่งให้กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (Japan Self-Defense Forces-JSDF) เตรียมความพร้อมของระบบป้องกันขีปนาวุธ PATRIOT Advanced Capability-3 (PAC-3) และเรือพิฆาตซึ่งติดตั้งขีปนาวุธ Standard Missile 3 (SM-3) สำหรับสกัดกั้นและทำลายขีปนาวุธ จรวด หรือส่วนควบอื่น ๆ ที่ปล่อยจากเกาหลีเหนือ และระบบป้องกันภัยทางอากาศของญี่ปุ่นตรวจพบว่า จะตกในแผ่นดินหรือทะเลอาณาเขตของญี่ปุ่น รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล (Exclusive Economic Zone-EEZ)
รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามแก้ไขปัญหาทางการเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่น โดยรัฐบาลเรียกร้องให้ทางการเกาหลีเหนือส่งกลับชาวญี่ปุ่นที่ถูกลักพาตัวจำนวน 17 คน แต่ทางการเกาหลีเหนือยืนยันว่า มีเพียงจำนวน 13 คน ส่งผลให้ญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการระงับการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากเกาหลีเหนือ และ ไม่อนุญาตให้เรือและเรือขนส่งสินค้าสัญชาติเกาหลีเหนือจอดเทียบท่าเรือญี่ปุ่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติคงมาตรการกดดันเกาหลีเหนือจนกว่าเกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และ ไม่กลับมาดำเนินการอีก (Complete, Verifiable and Irreversible Denuclearization) รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ และประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด
3) ภัยคุกคามจากจีน ญี่ปุ่นห่วงกังวลถึงการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในภูมิภาค โดยมองว่า จีนกำลังพยายามพัฒนาแสนยานุภาพกองทัพ ทั้งด้านยุทธวิธีและเทคโนโลยีทางการทหาร ปูทางไปสู่การยกฐานะขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก การที่จีนขยายแสนยานุภาพและกิจกรรมทางทหารอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับจีน และทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินเรือและขนส่งพลังงานของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นหวาดระแวงจีนและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดกันเป็นระยะ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังดำเนินบทบาทเชิงรุกในการกระชับความร่วมมือกับกลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) และสร้างแนวร่วมสกัดกั้นการขยายอิทธิพลจีนในภูมิภาค เช่น เวียดนาม สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ตามแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific-FOIP) และดำเนินบทบาทเชิงรุกต่อการขยายอิทธิพลบริเวณช่องแคบไต้หวันมากขึ้น
แม้ว่าญี่ปุ่นหวาดระแวงจีนว่า เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง แต่ญี่ปุ่นพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญและเป็นฐานการผลิตของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามประสานความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดย นรม.คิชิดะ ฟูมิโอะ พบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ครั้งแรก เมื่อ 17 พ.ย.2565 เนื่องในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation-APEC) ครั้งที่ 29 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน รวมทั้งจะจัดการประชุม Japan-China High-Level Economic Dialogue และ Japan-China High-Level People-to-People and Cultural Exchange Dialogue โดยเร็ว นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนผ่านภาคเอกชน เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคเอกชนญี่ปุ่น-จีน ในประเทศที่ 3 (Japan-China Private Economic Cooperation in Third Countries) เช่น การลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor-EEC) ของไทย และโครงการโรงกลั่นน้ำมันในคาซัคสถาน พร้อมทั้งเปิดโทรศัพท์สายด่วนทางทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันในทะเลจีนตะวันออก
4) ภัยคุกคามจากกรณีพิพาทเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ ได้แก่
(1) ข้อพิพาทบริเวณหมู่เกาะเซ็นกากุ/เตียวหยูกับจีน โดยญี่ปุ่นอ้างความชอบธรรมจาก การที่สหรัฐฯ ยึดเกาะโอกินาวาผนวกกับหมู่เกาะเซ็นกากุ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่จีนอ้างว่า หมู่เกาะเซ็นกากุถูกญี่ปุ่นบุกยึดครองพร้อมกับไต้หวันเมื่อปี 2438 แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคืนหมู่เกาะดังกล่าวทั้งหมดให้จีน เนื่องจากแพ้สงคราม ปัจจุบัน หน่วยลาดตระเวนชายฝั่งและกองกำลังป้องกันตนเองทางเรือของญี่ปุ่นตรึงกำลังโดยรอบบริเวณดังกล่าว และญี่ปุ่นมีการประท้วงจีนอย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมใกล้บริเวณดังกล่าว
(2) ข้อพิพาทบริเวณหมู่เกาะคูริล (Kuril)/ดินแดนทางเหนือ (Northern Territories) โดยญี่ปุ่นครอบครองมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายหลังแพ้สงครามถูกสหภาพโซเวียตบุกยึดครองดินแดน และกลายเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรณีพิพาทหมู่เกาะคูริลเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย โดยที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจรจาจัดทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ส่งผลให้ญี่ปุ่นและรัสเซียพยายามผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหมู่เกาะคูริล เพื่อลดความตึงเครียดและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ดี การจัดการข้อพิพาทข้างต้นเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากทั้งสองประเทศยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าว สะท้อนจากรายงานนโยบายต่างประเทศประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2561 ที่ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของญี่ปุ่น
(3) ข้อพิพาทบริเวณเกาะทาเคชิมะ (Takeshima)/เกาะด็อกโด (Dokdo) อยู่ห่างจากญี่ปุ่น 157 กิโลเมตร และห่างจากเกาหลีใต้ 92 กิโลเมตร สภาพเกาะเป็นโขดหินที่ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำและแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และคาดว่า จะมีแหล่งน้ำมันด้วย โดยญี่ปุ่น อ้างกรรมสิทธิ์มาโดยตลอด ขณะที่เกาหลีใต้เริ่มอ้างกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2493 และรักษาสิทธิ์ในการครอบครองด้วยการตรวจตราเกาะเป็นประจำทุก 3 ปี นอกจากนี้ กองทัพเกาหลีใต้ได้เริ่มการซ้อมรบ เพื่อปกป้อง เกาะด็อกโดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 และทำการฝึกปีละ 2 ครั้งมาตั้งแต่ปี 2546
5) ภัยคุกคามก่อการร้าย ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และมีนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายอย่างชัดเจน เฉพาะยิ่งภายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 โดยญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก ส่งผลให้ญี่ปุ่นเฝ้าระวังภัยก่อการร้ายมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น ได้แก่ 1) เมื่อปี 2556 ชาวญี่ปุ่น 10 คน ถูกสังหารในระหว่างเหตุการณ์บุกจับตัวประกันที่โรงงานก๊าซธรรมชาติในแอลจีเรีย 2) เมื่อ ก.พ.2558 กลุ่ม Islamic State (IS) ระบุจะโจมตีญี่ปุ่นในช่วงเผยแพร่คลิปสังหารตัวประกันชาวญี่ปุ่น 2 คน 3) เมื่อ ก.พ.2559 ชาวญี่ปุ่น 7 คนถูกสังหารหลังถูกจับเป็นตัวประกันในช่วงกลุ่มก่อการร้ายก่อเหตุโจมตีภัตตาคารแห่งหนึ่งในธากา บังกลาเทศ และ 4) เมื่อปี 2562 กลุ่มก่อการร้าย (ไม่ทราบฝ่าย) ลอบสังหาร นพ.นากามูระ เท็ตสึ หัวหน้าแพทย์ญี่ปุ่นเพื่อสันติภาพในอัฟกานิสถาน และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ
รัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติกฎหมายว่าด้วยมาตรการพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย (Anti-Terrorism Special Measures law) เมื่อปี 2554 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการควบคุมการเข้าเมือง การข่าวกรอง มาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ การปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย และตั้งหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายญี่ปุ่น (Counter-Terrorism Unit Japan-CTU-J) รับผิดชอบภารกิจด้านการต่อต้านการก่อการร้ายโดยตรงเมื่อปี 2558 พร้อมทั้งลงนามความตกลงต่อต้านการก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency-IAEA) และอนุมัติกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism Bill) เมื่อ พ.ค.2560 ที่จะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (United Nations Convention against Transnational Organized Crime-UNTOC)
กลุ่มโอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) เป็นกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศที่รัฐบาลญี่ปุ่น เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง กลุ่มดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 โดยนายมัตซึโมโตะ ชิซูโอะ หรือนายโชโกะ อาซาฮาระ รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้ายและยังคงติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มมีแนวทางการสอนการฝึกจิต การเข้าสมาธิ และโยคะ เพื่อให้ถึงการรู้แจ้ง และมีความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลก อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายต่อต้านรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเมื่อปี 2531 กลุ่มโอมชินริเกียวลงทะเบียนเป็นกลุ่มศาสนาที่ถูกต้องตามกฎหมายของญี่ปุ่น และปี 2533 พยายามมีบทบาททางการเมือง นายอาซาฮาระ และสมาชิกกลุ่มลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ชื่อพรรคชินริ (Shinri) หรือ Supreme Truth Party แต่แพ้การเลือกตั้ง ทำให้เกิดความไม่พอใจสังคมเพิ่มขึ้น
ปฏิบัติการครั้งสำคัญของกลุ่ม คือ สาวกของลัทธิโอมชินริเกียวปล่อยก๊าซพิษซารินเหลวโจมตีสถานีรถไฟใต้ดินโตเกียว 5 จุด (มารุโนะอุจิ 2 สาย ฮิบิยะ 2 สาย จิโยดะ 1 สาย) ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เมื่อ 20 มี.ค.2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บสาหัส 50 คน และบาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน นอกจากนี้ กลุ่มโอมชินริเกียวได้เผยแพร่คำทำนายความหายนะครั้งใหญ่จนนำไปสู่วันสิ้นโลก (Doomsday) ภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อ 11 มี.ค.2554 เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ชาวญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังปรากฏความเคลื่อนไหวของสาวกกลุ่มโอมชินริเกียวปลูกฝังอุดมการณ์ให้สมาชิกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน แม้ว่าเมื่อ 6 ก.ค.2561 แกนนำกลุ่มโอมชินริเกียวและสมาชิกคนสำคัญทั้ง 13 คน ได้รับโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน กลุ่มโอมชินริเกียวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาเลฟ (เปลี่ยนชื่อจากโอมชินริเกียว) ยึดมั่นแนวทางของนายอาซาฮาระ และกลุ่ม Hikari no Wa (Circle of Rainbow Light) ยึดมั่นแนวทางของนายฟูมิฮิโระ โจยู
ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่นเมื่อ 26 ก.ย.2430 และมีความตกลงแลกเปลี่ยนผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2484 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดทั้งในระดับพระราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อไทยในทุกมิติ และถือว่าไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อการแข่งขันกับจีนด้านความมั่นคงและการเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ทำให้ญี่ปุ่นและไทยมีความร่วมมือระหว่างกันครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และวิทยาการ
สถานการณ์การเมืองของไทยในห้วงปี 2549 และ 2557 มีความละเอียดอ่อนและสร้างความห่วงกังวลให้ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยลดระดับลง และจีนเริ่มมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลไทยประกาศ Roadmap การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณเชิงบวกและแสดงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยมากขึ้น ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกับไทยกลับมามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตามปกติ หลังไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งยังยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันแน่นแฟ้นขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) จากเดิมที่อยู่ในระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) เมื่อ 17 พ.ย.2565 เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 135 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อปี 2565
การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ญี่ปุ่นและไทยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการหารือทวิภาคีอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เมื่อปี 2566 มีการเยือนและพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายญี่ปุ่นและไทย เช่น 1) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 12-16 ก.พ.2566 โดยเข้าเยี่ยมคำนับ พล.ร.อ.ซาไก เรียว ผู้บัญชาการ JMSDF พร้อมทั้งร่วมลงนามในช่วงขอบเขตของงาน (Terms of Reference-TOR) สำหรับการประชุม Navy to Navy Talks หรือ Terms of Reference for Navy to Navy Talks Between The Royal Thai Navy and the Japan Maritime Self-Defense Force 2) นางคามิกาวะ โยโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่าง 12-13 ต.ค.2566 เพื่อพบหารือกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย
สถิติชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้าไทย ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประจำปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 575,062 คน มากเป็นอันดับที่ 11 รองจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว สหรัฐฯ และฮ่องกง โดยเพิ่มขึ้น 278.57% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาไทยเพียง 151,904 คน เนื่องจากมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการและยกเลิกมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ตามลำดับ สถิติของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2565 ระบุว่า มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักในไทยจำนวน 78,431 คน ขณะที่สถิติการท่องเที่ยวญี่ปุ่นขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization-JNTO) เมื่อปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวน 631,100 คน คิดเป็น 3.6% ของสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งหมด อย่างไรก็ดี ภาพรวมสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติของญี่ปุ่นในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 17,374,300 คน ลดลง 28.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวน 24,417,820 คน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่เต็มที่ แต่คาดว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในปี 2567 เนื่องจากญี่ปุ่นยกเลิกมาตรการควบคุมโรคCOVID-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศแล้วทั้งหมด โดยผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นหลัง 00.00 น.ของ 29 เม.ย.2566 ไม่จำต้องแสดงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 อย่างน้อย 3 เข็ม หรือเอกสารรับรองการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่แสดงผลไม่พบเชื้อ ซึ่งตรวจไม่เกิน 72 ชม. ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีกต่อไป อนึ่ง มีชาวไทยพำนักอยู่ในญี่ปุ่น 54,618 คน (ข้อมูลเมื่อ มิ.ย.2565) และมีสำนักงานของไทยที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ได้แก่ กรุงโตเกียว (สถานเอกอัครราชทูตและทีมประเทศไทยหลายสำนักงาน) นครโอซากา (สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) จ.ฟูกูโอกะ (สถานกงสุลใหญ่และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) และ จ.ฮิโรชิมะ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ส่วนญี่ปุ่นมีสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่
การค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 1,467,589.70 ล้านบาท ลดลง 5.26% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการค้า 1,549,138.50 ล้านบาท การส่งออกของญี่ปุ่นมาไทยมีมูลค่า 824,536.37 ล้านบาท และการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 643,053.34 ล้านบาท ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าไทยมูลค่า 181,483.03 ล้านบาท ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของญี่ปุ่น รองจากจีน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 3.73% (สัดส่วนสูงสุดในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน) ทั้งนี้ สินค้าที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1) เนื้อสัตว์ ส่วนอื่นของสัตว์ เลือดสัตว์ หรือแมลงที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสียอื่น ๆ 2) วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ 3) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ 4) รถยนต์และยานยนต์ อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก รวมถึงสเตชันแวกอนและรถแข่ง และ 5) ลวดและเคเบิล (รวมถึงเคเบิลร่วมแกน) ที่หุ้มฉนวน (รวมถึงชนิดเคลือบหรือชนิดแอโนไดส์) และตัวนำไฟฟ้าอื่น ๆ ที่หุ้มฉนวน จะติดกับขั้วต่อหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งเคเบิลใยนำแสง (ออปติคัลไฟเบอร์เคเบิล) ที่ทำขึ้นจากกลุ่มเส้นใยที่หุ้มปลอกแต่ละเส้นจะประกอบกับตัวนำไฟฟ้าหรือติดกับขั้วต่อหรือไม่ก็ตาม ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ 2) วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ 3) ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ มีความกว้างตั้งแต่ 600 มิลลิเมตรขึ้นไป ได้จากการรีดร้อน ไม่หุ้มติด ไม่ชุบ หรือไม่เคลือบ 4) ผลิตภัณฑ์แผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่น ๆ มีความกว้างตั้งแต่ 600 มิลลิเมตรขึ้นไป และ 5) บอยเลอร์สำหรับการทำความร้อนจากส่วนกลาง
การลงทุน สถิติการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยเมื่อปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หรือ BOI จำนวน 98 โครงการ รวมมูลค่า 35,330 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีน และสิงคโปร์ ทั้งนี้ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติทั้งสิ้น 507 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 304,041 ล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่มีเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 2) การเกษตรและแปรรูปอาหาร 3) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4) การท่องเที่ยว และ 5) ยานยนต์และชิ้นส่วน
ด้านรถไฟและระบบราง ไทยและญี่ปุ่นลงนามบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางเมื่อปี 2558 พัฒนาระบบรางที่สำคัญ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (อยู่ระหว่างการเจรจา) 2) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor-SEC) กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และ 3) เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ช่วงแม่สอด-มุกดาหาร ขณะที่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับไทยในการสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ใช้เงินกู้จากรัฐบาลญี่ปุ่น) รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน อีกทั้งยังศึกษาช่องทางขยายกรอบความร่วมมือด้านการบำรุงรักษาระบบรางร่วมกับไทย โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ประชุมหารือกับบริษัท Toyo Kikai ของญี่ปุ่น เมื่อ 26 ม.ค.2566 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างฐานการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วนสำหรับงานบำรุงรักษาระบบรางของไทย รวมทั้งแนวทางสนับสนุนการส่งออกสู่ภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบรางและพื้นที่โดยรอบ เช่น ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency-JICA) เพื่อศึกษาการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบรางรถไฟเชิงพาณิชย์ เส้นทางจากด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ถึงด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะที่ 2 นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังบริจาครถไฟเก่าให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำไปปรับปรุงเพื่อให้บริการในไทย โดยบริจาคให้อย่างต่อเนื่อง เช่น JR West บริจาครถดีเซลรางและรถโดยสารปรับอากาศให้ รฟท. เมื่อปี 2540 จำนวน 26 คัน ปี 2542 จำนวน 28 คัน ปี 2547 จำนวน 40 คัน และปี 2553 จำนวน 32 คัน ส่วน JR Hokkaido บริจาครถโดยสารปรับอากาศให้ รฟท. เมื่อปี 2559 จำนวน 10 คัน ประกอบด้วย รถ OHA ชนิด 48 ที่นั่ง และ 72 ที่นั่ง รวม 5 คัน และรถ SUHAFU ชนิด 64 ที่นั่ง 5 คัน และล่าสุดบริจาครถดีเซลราง รุ่น Kiha 183 ให้ รฟท. เมื่อปี 2564 อีกจำนวน 17 คัน
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานทักษะของแรงงานไทย โดยมีการจัดตั้งความริเริ่ม Thailand-Japan Industrial HRD Initiative ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาของไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเคียงกับญี่ปุ่น เพื่อพร้อมรองรับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย โดยสำนักงานอาชีวศึกษาแห่งชาติของญี่ปุ่น (KOSEN) ได้ตั้งสำนักงานที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาของไทยเมื่อ ธ.ค.2559 เพื่อช่วยเหลือในการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษาในไทย อีกทั้งยังมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ด้านสาธารณสุขในประเทศที่ 3 รวมถึงความร่วมมือทวิภาคีในการพัฒนากลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism-JCM) เมื่อ พ.ย.2558 ซึ่งญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนความรู้ด้านเทคนิคและงบประมาณสำหรับโครงการของภาคเอกชนไทยที่จะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น ภาคเอกชนญี่ปุ่นได้จัดตั้ง EEC Automation Park ที่มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นฐานขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics และ Automation ที่เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะตามแนวคิด e-F@ctory Alliance นอกจากนี้ ไทยยังยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อยกระดับภาคการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย และนายนิชิมูระ ยาซูโตชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ลงนามเอกสารกรอบความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0) เมื่อ 16 พ.ย.2565 ที่ไทย
องค์กรต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมในไทย ได้แก่ 1) Overseas Human Resources and Industry Development Association (HIDA) 2) Japan Overseas Development Corp. (JODC) 3) The Association for Overseas Technical Scholarship (AOTS) 4) Japan External Trade Organization (JETRO) 5) Japan International Corporation Agency (JICA) 6) Japan-Thailand Economic Cooperation Society (JTECS) 7) Japanese Chamber of Commerce (JCC) 8) Japan Student Services Organization (JASSO) และ 9) Japan National Tourism Organization (JNTO)
กรอบความร่วมมือและข้อตกลงที่สำคัญระหว่างญี่ปุ่น-ไทย 1) การประชุมหุ้นส่วนทางการเมือง ไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Political Partnership Consultations-JTPPC) 2) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement-JTEPA) 3) คณะทำงานร่วมเฉพาะกิจไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ 4) การประชุมประจำปีความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Partnership Program in Technical Cooperation-JTPP) 5) ข้อตกลงทางการบิน มีผลบังคับใช้เมื่อ 14 ก.ค.2496 6) ข้อตกลงทางวัฒนธรรม มีผลบังคับใช้เมื่อ 6 ก.ย.2498 7) ข้อตกลงทางการพาณิชย์ มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค.2501 8) ข้อตกลงทางภาษี มีผลบังคับใช้เมื่อ 24 ก.ค.2506 9) ข้อตกลงในการส่งอาสาสมัครร่วมมือเยาวชน มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ม.ค.2524 10) ข้อตกลงความร่วมมือทางเทคโนโลยี มีผลบังคับใช้เมื่อ 5 พ.ย.2524 11) สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษไทย-ญี่ปุ่น ลงนามเมื่อ 22 ก.ค.2552 12) ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย ลงนามเมื่อ 2 พ.ค.2565 และ 13) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) ประกาศใช้เมื่อ 17 พ.ย.2565
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) การฟื้นฟูคะแนนนิยมและสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล
2) การยกระดับแสนยานุภาพของ JSDF ตามยุทธศาสตร์ NSS ฉบับใหม่
3) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
4) การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและเงินเยนอ่อนค่า
5) การบำบัดและปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ 1 ลงทะเล
6) การดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) วาระปี 2566-2567
7) แนวโน้มบทบาทและนโยบายของญี่ปุ่นต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ตามแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific-FOIP) และความร่วมมือของกลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย)
8) แนวโน้มบทบาทและนโยบายของญี่ปุ่นต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทะเลจีนใต้และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
9) แนวโน้มความสัมพันธ์กับจีน เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าและการทูตระหว่างกันในปี 2566 จากกรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ 1 ลงทะเล และประเด็นช่องแคบไต้หวัน จากกรณีนายอาโซ ทาโร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรค LDP เยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการระหว่าง 7-9 ส.ค.2566
10) แนวโน้มความสัมพันธ์กับรัสเซีย จากกรณีญี่ปุ่นประณามรัสเซียที่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน รวมถึงการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการทูตระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าและการทูตระหว่างกันในปี 2566 จากกรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ 1 ลงทะเล
11) แนวโน้มนโยบายต่อเกาหลีเหนือ เฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้กรณีเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธตกในเขต EEZ ของญี่ปุ่น และใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธในภารกิจนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร รวมทั้งการแก้ไขปัญหาทางการเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวญี่ปุ่น
12) แนวโน้มความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ เฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน และการระงับข้อพิพาททางประวัติศาสตร์
13) แนวโน้มความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากสถานการณ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์