นิวซีแลนด์
New Zealand
เมืองหลวง กรุงเวลลิงตัน
ที่ตั้ง ภาคพื้นแปซิฟิกตอนใต้ กึ่งกลางระหว่างเส้นศูนย์สูตรกับขั้วโลกใต้ ห่างจากออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2,000 กม. และอยู่ห่างจากประเทศไทยประมาณ 9,857 กม.
ภูมิประเทศ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเกาะ อยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกประกอบด้วย
2 เกาะใหญ่ คือ เกาะเหนือและเกาะใต้ (คั่นกลางด้วยช่องแคบคุก) และเกาะเล็กอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่ อยู่ในแนวเขตภูเขาไฟ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอยู่เสมอ นิวซีแลนด์มีพื้นที่รวม 268,021 ตร.กม. (ขนาดใกล้เคียงกับอิตาลี ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร)
ภูมิอากาศ กึ่งเขตร้อนในตอนเหนือและอบอุ่นทางตอนใต้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่หนาวจัดและไม่ร้อนจัด แต่มีฝนตกชุก อุณหภูมิเฉลี่ยบนเกาะเหนือประมาณ 9-19 องศาเซลเซียส และเกาะใต้ประมาณ 6-17 องศาเซลเซียส นิวซีแลนด์ มี 4 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูใบไม้ร่วง (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูหนาว (มิ.ย.-ส.ค.) และฤดูใบไม้ผลิ (ก.ย.-พ.ย.)
ศาสนา คริสต์ 37.3% (นิกายแองกลิคัน 6.7% โรมันคาทอลิก 6.29% Presbyterian 4.71% และอื่น ๆ 20.23%) ฮินดู 2.63% อิสลาม 1.31% พุทธ 1.12% ไม่นับถือศาสนา 48.47% อื่น ๆ 2.83%
ไม่ระบุ 6.66%
ภาษา ภาษาอังกฤษ และภาษาเมารี เป็นภาษาราชการ
การศึกษา ภาคบังคับสำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-16 ปี 80% ของผู้จบการศึกษาภาคบังคับจะเรียนต่อระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งมีประมาณ 10 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ในเมืองใหญ่ต่าง ๆ นิวซีแลนด์มีชื่อเสียงด้านคุณภาพการศึกษา จึงเป็นแหล่งให้บริการทางการศึกษาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก
วันชาติ 6 ก.พ. (วันลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ)
นายคริสโตเฟอร์ มาร์ค ลักซัน
Christopher Mark Luxon
(นรม.นิวซีแลนด์ คนที่ 41)
ประชากร 5,223,100 คน (สำนักงานสถิตินิวซีแลนด์ มิ.ย.2566) เชื้อชาติยุโรป 70.2% ชนพื้นเมืองเมารี 16.5% เอเชีย 15.1% หมู่เกาะแปซิฟิก 8.1% ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา 1.5% และอื่น ๆ 1.2% อายุขัยเฉลี่ย 82 ปี (ชาย 80 ปี หญิง 83.5 ปี) ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะเหนือ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นเขตอุตสาหกรรม ความหนาแน่นของประชากร 19.53 คนต่อ 1 ตร.กม.
การก่อตั้งประเทศ ชาวพื้นเมืองเมารีเป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม นักเดินเรือชาวดัตช์ชื่อ Abel Tasman ล่องเรือเลียบมาทางออสเตรเลียและพบเกาะนิวซีแลนด์เมื่อปี 2185 และตั้งชื่อว่า Nieuw Zeeland หรือ New Zealand ต่อมา กัปตันเจมส์ คุก นักสำรวจชาวอังกฤษเดินทางมาถึงเมื่อปี 2312 และสำรวจชายฝั่งเกือบทั้งหมด เมื่อปี 2383 หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ของชาวเมารีลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ (Treaty of Waitangi) ยอมรับการปกครองของสหราชอาณาจักร แลกกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรของชาวเมารี หลังจากนั้นชาวยุโรปหลั่งไหลไปตั้งรกรากในนิวซีแลนด์มากขึ้น และเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 26 ก.ย.2450
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดียว อยู่ในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร
มีสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นประมุข โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของรัฐบาลนิวซีแลนด์ คนปัจจุบันคือ Dame Cindy Kiro (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 21 ต.ค.2564) อยู่ในตำแหน่งวาระ 5 ปี มีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่บัญญัติถึงระบบการเมืองการปกครอง แต่จะมีกฎหมายอื่น ๆ หลายฉบับมาประกอบกัน เช่น Constitution ACT 1986 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่รวบรวมหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กระจัดกระจายมาบัญญัติไว้ด้วยกัน
นายคริสโตเฟอร์ ลักซัน หัวหน้าพรรคเนชั่นแนล ดำรงตำแหน่ง นรม.นิวซีแลนด์ วาระ 3 ปี (ปี 2566-2569) หลังจากพรรคเนชั่นแนลชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 ต.ค.2566 และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค ACT New Zealand และพรรค New Zealand First เพื่อครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 67 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ คือ พรรคเนชั่นแนล 48 ที่นั่ง พรรคเลเบอร์ 34 ที่นั่ง พรรคกรีน 15 ที่นั่ง พรรค ACT New Zealand 11 ที่นั่ง พรรค New Zealand First 8 ที่นั่ง และพรรคเมารี 6 ที่นั่ง อยู่ระหว่างการเลือกตั้งซ่อม 1 เขต รวม 123 ที่นั่ง (เป็นที่นั่งเกินส่วน หรือ Overhang Seats 2 ที่นั่ง จากพรรคเมารี)
ฝ่ายบริหาร : ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่งตั้ง นรม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมาก และแต่งตั้ง ครม.โดยคำแนะนำของ นรม. มีจำนวนไม่เกิน 24 คน ทำหน้าที่รายงานและให้คำปรึกษากับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้านนโยบายสำคัญ บุคคลใน ครม.จะต้องมาจาก สส. การบริหารงานของ ครม. กระทำผ่านคณะกรรมการ ส่วนกระบวนการกำหนดนโยบายสำคัญภายในนั้น ครม.กระทำโดยการหารืออย่างไม่เป็นทางการและมีชั้นความลับ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างมีฉันทามติเนื่องจาก ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันและต้องมีท่าทีอันเป็นเอกภาพ
ฝ่ายนิติบัญญัติ : รัฐสภาเป็นระบบสภาเดียวมี สส.จำนวน 120 คน แบ่งเป็น สส.แบบแบ่งเขต 72 ที่นั่ง และ สส.แบบบัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง จัดการเลือกตั้งทุก 3 ปี (เลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อ 14 ต.ค.2566) ประชาชนที่มีอายุครบ 18 ปี มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
ฝ่ายตุลาการ : ศาลที่สำคัญ 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นอกจากนั้น มีศาลอื่น ๆ อีกเช่น ศาลคดีเด็กและเยาวชน (พิจารณาคดีเกี่ยวกับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี) ศาลที่ดินของชาวเมารี ทุกศาลมีอำนาจตัดสินคดีทั้งคดีแพ่ง และคดีอาญา รวมถึงมีคณะอนุญาโตตุลาการ
เศรษฐกิจ มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก พึ่งพาการผลิตในภาคการเกษตร และ
ป่าไม้เป็นหลัก ผลผลิตดังกล่าวมักประสบปัญหาราคาตกต่ำในตลาดโลก ทำให้นิวซีแลนด์ต้องปฏิรูปผลผลิต ให้มีคุณภาพสูงเพื่อให้แข่งขันได้ มีการส่งเสริมการลงทุนและภาคบริการให้ทันสมัย ปรับนโยบายการเงินและ
การคลัง เพื่อตอบรับกระแสเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันสูงและต้องเผชิญวิกฤติการเงินโลก นิวซีแลนด์มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับ 5 ของโลก เมื่อปี 2566 (Index of Economic Freedom) รองจากสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ และไต้หวัน ปรับลดลง 1 อันดับจากปี 2565
นิวซีแลนด์พยายามขยายตลาดการค้าให้กว้างขวางขึ้น โดยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญ อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย กลุ่มอาเซียน ทำให้นิวซีแลนด์เพิ่มปริมาณการค้าและการส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ นิวซีแลนด์บรรลุความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area-AANZFTA) เมื่อ 27 ก.พ.2552 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้การสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership-TPP) และเป็นประเทศที่ 2 ที่ให้สัตยาบันในความตกลง TPP เมื่อ พ.ค.2560 อย่างไรก็ดี ภายหลังการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจาก TPP นิวซีแลนด์ได้เข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership-CPTPP) รวมถึงนิวซีแลนด์ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) เมื่อ 2 พ.ย.2564 ควบคู่กับออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565
สกุลเงิน : ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZ$)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1.71 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ : 21.31 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 249,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 3.2%
รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี : 48,070 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองระหว่างประเทศ : 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ : 203,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 5.6%
แรงงาน : 2.92 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 3.9%
มูลค่าการส่งออก : 89,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์และเครื่องใน ผงโปรตีนเคซีน (Casein) นมผงสำหรับทารก ไวน์ อุปกรณ์เครื่องจักรกล ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลไม้และธัญพืช
มูลค่าการนำเข้า : 107,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : แร่ธาตุ น้ำมันและเชื้อเพลิง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรกลไฟฟ้าและอุปกรณ์ เวชภัณฑ์และอุปรณ์ทางการแพทย์ พลาสติก และอาหารสัตว์
คู่ค้าสำคัญ : จีน ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
การทหาร กองทัพนิวซีแลนด์ มีกำลังพลรวม 12,210 นาย แบ่งเป็นกำลังประจำการ จำนวน 9,200 นาย ประกอบด้วย ทบ.จำนวน 4,500 นาย ทร.จำนวน 2,200 นาย ทอ.จำนวน 2,500 นาย และกำลังสำรอง 3,010 นาย มีกำลังป้องกันประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นประเทศเล็กมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ห่างไกลใน
ซีกโลกใต้ ซึ่งศัตรูที่มีขีดความสามารถทางทหารเท่านั้นจึงจะเข้าถึงได้ อย่างไรก็ตาม นิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนภารกิจในกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ อาทิ ตะวันออกกลาง ซูดานใต้ การส่งทหารไปปฏิบัติการทั่วโลก อาทิ อียิปต์ อิรัก นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยดำเนินการผ่านข้อตกลง ANZUS, ARF, Five Eyes และ Five Power Defence Arrangements
นิวซีแลนด์จัดสรรงบประมาณทางทหารจำนวน 5,300 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ สำหรับปีงบประมาณ 2566-2567 เพิ่มขึ้นจาก 4,900 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ปีงบประมาณ 2565-2566 เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ที่เผชิญการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจมากขึ้น รวมทั้งในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มงบประมาณสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การยกระดับขีดความสามารถของเรือฟริเกตและยานเกราะ Bushmaster ให้ทันสมัย และสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งใหม่ที่ฐานทัพอากาศ Ohakea ที่เกาะเหนือ และเพิ่มงบประมาณด้านบุคลากรทางทหาร เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรลาออกจำนวนมากเพราะอัตราเงินเดือนต่ำว่าค่าจ้างในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ เพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยข่าวกรองทางการสื่อสารของนิวซีแลนด์ (Government Communications Security Bureau-GCSB) ประมาณร้อยละ 25 สูงสุดเมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่น
การจัดหายุทโธปกรณ์ที่สำคัญในปีงบประมาณ 2566-2567 ได้แก่ เครื่องบินลำเลียง C-130J-30 Hercules จำนวน 5 เครื่อง ทดแทนเครื่องบินลำเลียง C-130H ที่จะปลดประจำการ และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล P-8A Poseidon
ความสัมพันธ์ไทย-นิวซีแลนด์
สถาปนาความสัมพันธ์เมื่อ 26 มี.ค.2499 และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอดมา มีการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง และต่างให้การสนับสนุนบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในด้านความมั่นคง มีความร่วมมือกันในด้านต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น โดยเป็นผลจากตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น (Thai-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement-TNZCEP) มีผลเมื่อปี 2548 และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area-AANZFTA) มีผลเมื่อปี 2553
นิวซีแลนด์และไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 99,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 86,580 ล้านบาท เมื่อปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 14.44% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า (สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) สินค้าที่ไทยส่งออกไปนิวซีแลนด์ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เหล็ก เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากนิวซีแลนด์ เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ น้ำมันดิบ เยื่อกระดาษ เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เคมีภัณฑ์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก เหล็ก สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น
ชาวนิวซีแลนด์เดินทางมาท่องเที่ยวไทยเมื่อปี 2565 จำนวน 35,900 คน เพิ่มขึ้น 96.79% จากปี 2564 (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
นิวซีแลนด์จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นท่ามกลางการแข่งอิทธิพลของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์อาจเผชิญความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้น จากการเพิ่มบทบาททางทหารของจีนในหมู่เกาะโซโลมอน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับจีน ภายหลังออสเตรเลียตั้งกลุ่ม AUKUS ร่วมกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยในปัจจุบันนิวซีแลนด์ไม่แสดงท่าทีต่อต้านจีนที่ชัดเจนเท่าออสเตรเลีย ขณะที่นิวซีแลนด์ให้การสนับสนุนกับสหรัฐฯ ในการเร่งกระชับความร่วมมือกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ผ่านกรอบความร่วมมือ Partners in the Blue Pacific (PBP) ที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ เมื่อ 24 มิ.ย.2565
การปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงและด้านต่างประเทศ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลนำโดยนายคริสโตเฟอร์ ลักซัน นรม.คนใหม่ จะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ กระชับความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย และอาจปรับลดทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบอิสระ
รัฐบาลนิวซีแลนด์จะต้องเตรียมการสำหรับการลงประชามติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ หรือการแยกตัวออกจากเครือจักรภพ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในระยะ 3-5 ปี หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร