มาเลเซีย
Malaysia
เมืองหลวง กัวลาลัมเปอร์
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้เส้นศูนย์สูตรระหว่างเส้นละติจูดที่ 1.0-7.0 องศาเหนือ และเส้นลองจิจูดที่ 100.0-119.5 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 329,847 ตร.กม. (ประมาณ 2 ใน 3 ของไทย) ประกอบด้วยดินแดน 2 ส่วน คือ มาเลเซียตะวันตก (อยู่ปลายแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย) และมาเลเซียตะวันออก (อยู่บนเกาะบอร์เนียว) มีทะเลจีนใต้คั่นกลาง พรมแดนทางบกโดยรอบประเทศ 2,742 กม. เป็นพรมแดนติดกับไทย 595 กม. อินโดนีเซีย 1,881 กม. และบรูไน 266 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดไทย
ทิศตะวันออก ติดทะเลซูลู และฟิลิปปินส์
ทิศใต้ ติดสิงคโปร์
ทิศตะวันตก ติดช่องแคบมะละกา และอินโดนีเซีย
ภูมิประเทศ มาเลเซียตะวันตกมีภูเขาทอดยาวทางตอนกลางเกือบตลอด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคม ขณะที่ที่ราบด้านตะวันตกซึ่งกว้างกว่าด้านตะวันออกเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ เขตปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ด้านมาเลเซียตะวันออกส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ราบสูงอยู่ทางตอนใน มีที่ราบย่อม ๆ อยู่ตามชายฝั่งทะเล
วันชาติ 31 ส.ค. เพื่อรำลึกถึงการได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 31 ส.ค.2500 และ “วันมาเลเซีย” ใน 16 ก.ย. เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งประเทศมาเลเซียเมื่อ 16 ก.ย.2506
-
ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม
(DATUK SERI ANWAR IBRAHIM)
ประชากร 33,938,221 ล้านคน (ปี 2566) เชื้อสายมาเลย์ 62% จีน 21% อินเดีย 6% และอื่น ๆ 10% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 23% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 70% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 8% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 75 ปี ชาย 73 ปี หญิง 77 ปี อัตราการเกิด 15 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 6 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.1%
ศาสนา อิสลาม (ซุนนี) 63.7% พุทธ 17.7% คริสต์ 9.4% ฮินดู 6% ความเชื่อและลัทธิของชาวจีน (ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ) 1.2% นับถือศาสนาอื่นหรือไม่ระบุ 2%
ภาษา ภาษามลายูหรือมาเลย์ (บาฮาซาร์) เป็นภาษาประจำชาติ ส่วนภาษาราชการใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษามลายูหรือมาเลย์ (บาฮาซาร์)
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 94.64% มาเลเซียกำหนดการศึกษาภาคบังคับ 6 ปี โดยมีนักเรียนและนักศึกษาลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาของรัฐบาล 80% สาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาที่นักศึกษาประสงค์
เข้าเรียนมากที่สุด คือ วิศวกรรม การบัญชี การแพทย์ บริหารธุรกิจ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ส่วนสาขาวิชาที่มีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ หลักสูตร STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์)
การก่อตั้งประเทศ ชาวมาเลย์ในยุคแรก ๆ ตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ทางตอนเหนือของแหลมมลายูซึ่งดินแดนแถบนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งสหราชอาณาจักรได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในคาบสมุทรมลายูและยึดครองรัฐต่าง ๆ รวมถึง 4 รัฐมลายูของไทย คือ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เกดะห์) และปะลิส เมื่อปี 2452 บทบาทของไทยจึงยุติลง การจัดตั้งประเทศมาเลเซียมีพัฒนาการจากการปกครองสมัยอาณานิคมของสหราชอาณาจักร จนกระทั่งได้ก่อตั้ง “สหพันธรัฐมลายา” และได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2500 ประกอบด้วย รัฐมลายูเดิม 11 รัฐ ต่อมาเมื่อปี 2506 ได้รวมรัฐซาบาห์และซาราวักในเกาะบอร์เนียวเข้าไว้ด้วย และเปลี่ยนชื่อเป็น “มาเลเซีย” แต่เมื่อปี 2508 สิงคโปร์ได้แยกตัวจากมาเลเซีย
การเมือง ปกครองแบบสหพันธรัฐ (Federation) มีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข โดยเจ้าผู้ครองรัฐ 9 รัฐ (เนกรีเซมบีลัน สลังงอร์ ปะลิส ตรังกานู เกดะห์ กลันตัน ปะหัง ยะโฮร์ และเประ) ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ส่วนรัฐที่ไม่มีเจ้าผู้ครองรัฐ 4 รัฐ (มะละกา ปีนัง ซาบาห์ และซาราวัก) สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งผู้ว่าการรัฐปฏิบัติหน้าที่ประมุขของแต่ละรัฐ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน (ลำดับที่ 16) คือ สุลต่าน อับดุลเลาะห์ รีอายาทุดดิน อัล มุสตาฟา บิลเลาะห์ ชาห์ แห่งรัฐปะหัง สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อ 31 ม.ค.2562 เข้าพิธีราชาภิเษกเมื่อ 30 ก.ค.2562 และจะสิ้นสุดวาระใน 30 ม.ค.2567 โดยสุลต่าน อิบราฮิม อิสมาอิล อิบนี อัลมาร์ชุม สุลต่าน อิสกันดาร์ อัล-ฮัจ แห่งรัฐยะโฮร์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่ (ลำดับที่ 17)
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล : นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ มีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารทั้งหมด รวมถึงกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และเป็นผู้เสนอแต่งตั้ง รมต. และ ออท.ประจำประเทศต่าง ๆ โดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม (ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 และได้รับการแต่งตั้งเมื่อ
24 พ.ย.2565)
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : ใช้ระบบ 2 สภา คือ 1) วุฒิสภา (Dewan Negera) มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 70 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของแต่ละรัฐ 26 คน (รัฐละ 2 คน) และการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดี 44 คน อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 6 ปี เลือกตั้งใหม่กึ่งหนึ่งทุก 3 ปี และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (Dewan Rakyat) มีสมาชิกทั้งหมด 222 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วย ศาลระดับสหพันธ์ คือ ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ ส่วนในระดับรัฐจะประกอบด้วย ศาลสูง ศาลชั้นต้น ศาลแขวงและศาลพื้นบ้าน นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court) เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับชาวมาเลเซียมุสลิมโดยเฉพาะ
พรรคการเมืองสำคัญ ประกอบด้วย 5 กลุ่มการเมืองหลัก ได้แก่
1) กลุ่มพันธมิตรแห่งความหวัง (Pakatan Harapan-PH/กลุ่มพรรคแกนนำรัฐบาล) ประกอบด้วย พรรคเกอาดิลัน (Parti Keadilan Rakyat-PKR) พรรคดีเอพี (Democratic Action Party-DAP) พรรคอามานะห์ (Parti Amanah Negara-PAN) และพรรค United Progressive Kinabalu Organisation (UPKO)
2) กลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ (Perikatan Nasional-PN/กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน) ประกอบด้วย พรรคเบอร์ซาตู (Parti Pribumi Bersatu Malaysia-PPBM) พรรคปาส (Parti Islam Se Malaysia-PAS) พรรค Malaysian People’s Movement Party (GERAKAN) และพรรค Parti Solidariti Tanah Airku Rakyat Sabah (STAR)
3) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional-BN/กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล) ประกอบด้วย พรรคอัมโน (United Malays National Organization-UMNO) พรรคเอ็มซีเอ (Malaysian Chinese Association-MCA) พรรคเอ็มไอซี (Malaysian Indian Congress-MIC) และพรรค Parti Bersatu Rakyat Sabah (PBRS) โดยมีพรรค Love Malaysia Party (PCM) และ Malaysia National Alliance Party (IKATAN) เป็นพันธมิตร
4) กลุ่ม Gabungan Parti Sarawak (GPS/กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล) ประกอบด้วย พรรค United Bumiputera Heritage Party (PBB) พรรค Sarawak Peoples’ Party (PRS) พรรค Progressive Democratic Party (PDP) และพรรค Sarawak United Peoples’ Party (SUPP)
5) กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ได้แก่ พรรค Parti Warisan Sabah (WARISAN) พรรค Parti Bangsa Malaysia (PBM) พรรค Kesejahteraan Demokratik Masyarakat (KDM) และพรรค Gabungan Rakyat Sabah (GRS)
เศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยใช้กลไกตลาด รัฐบาลพยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการ ผลผลิตการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน โกโก้ และข้าว อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ได้แก่ ดีบุก น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ
นโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ระยะ 5 ปี
(ปี 2564-2568) ที่มีหลักการ “มาเลเซียที่มั่งคั่ง มีส่วนร่วม และยั่งยืน” ซึ่งมุ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยมีเป้าหมายเป็นประเทศรายได้สูงและพัฒนาแล้วภายในปี 2568 นอกจากนี้ มาเลเซียจัดทำแผน New Industrial Master Plan 2030 ซึ่งเป็นนโยบายด้านอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และ National Trade Blueprint ระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันทางการค้าและการส่งออก โดยขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12
ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ อิบราฮิม พยายามผลักดันแนวคิด Malaysia Madani (Civilised Malaysia หรือ สังคมมาเลเซียที่มีอารยะ) ที่มีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ โดยหวังให้มาแทนที่แนวคิดอุปถัมภ์คนเชื้อชาติมลายู (Malay-Muslim supremacy) แก้ไขทัศนคติของชาวภูมิบุตรทั้งในภาครัฐและประชาชนให้กระจายทรัพยากรและความมั่งคั่งไปที่คนเชื้อชาติอื่นด้วย ทั้งนี้ คำว่า “Madani” เป็นศัพท์ในคัมภีร์อัลกุรอาน ใช้อธิบายสภาวะที่ประชาชนหลายเชื้อชาติ/ศาสนาเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิมุสลิม หรือมีนัยว่า มุสลิมที่เจริญแล้วไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและศาสนา
มาเลเซียใช้ปีงบประมาณตามปีปฏิทิน (ม.ค.-ธ.ค.) โดยกำหนดงบประมาณประจำปี 2567 ไว้ที่ 393,800 ล้านริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ริงกิต (MYR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4.79 ริงกิต
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ริงกิต : 7.57 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 406,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 8.7%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 11,971.9 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 17.31 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 3.73%
อัตราเงินเฟ้อ : 3.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 10,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 58,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 352,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับปี 2565)
สินค้าส่งออก : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางพารา น้ำมันปาล์ม เคมีภัณฑ์
มูลค่าการนำเข้า : 294,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ โลหะ
คู่ค้าสำคัญ : สิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย
การทหาร กองทัพแห่งชาติมาเลเซีย ประกอบด้วย ทบ. ทร. และ ทอ. มีกำลังพลประจำการ 113,000 นาย แบ่งเป็นทหารบก 80,000 นาย ทหารเรือ 18,000 นาย ทหารอากาศ 15,000 นาย และกำลังพลสำรอง 51,600 นาย มาเลเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของประเทศ เห็นได้จากการเพิ่มงบประมาณให้ กห. ตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่กองทัพมาเลเซียปรับปรุงและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย
เข้าประจำการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดซื้อจากหลายประเทศเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ที่สำคัญอาทิ
ทอ. จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ FA-50 จำนวน 18 เครื่อง จากเกาหลีใต้ เมื่อ ก.พ.2566 มูลค่า 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 4 เครื่องแรกจะผลิตในเกาหลีใต้ ส่วนอีก 14 เครื่องที่เหลือจะประกอบในมาเลเซีย โดยมาเลเซียและเกาหลีใต้จะประสานงานทางเทคนิคอย่างใกล้ชิด เพื่อปูทางให้มาเลเซียเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศและให้บริการประเทศอื่นในอนาคต
ทบ. จะจัดซื้อปืนกลมือ CMP9 ใช้กระสุนขนาด 9×19 มม. ซองกระสุนความจุ 30 นัด และ
ปืนซุ่มยิงกึ่งอัตโนมัติ CSA 338 จากบริษัท Caracal ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธปืนในเครือกลุ่มบริษัท Edge Group จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้กระสุนขนาด .338 Lapua Magnum
ทบ. รับมอบยุทโธปกรณ์ใหม่ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกขนาด 3 ตัน 38 คัน รถลากจูง
ปืนใหญ่ 12 คัน เรือขนส่ง 79 ลำ เรือจู่โจม 33 ลำ เรือยนต์ขนาด 60 แรงม้า 40 ลำ ปืน ค. เครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 81 มม. 48 กระบอก และ ปก.ขนาด 9 มม. (SMG) 155 กระบอก
ทร. จัดหาเรือเร็วตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง Fast Interceptor Craft (FIC) G2000 Mkll 13 ลำ จากบริษัท Syarikat Gading Marine (M) sdn Bhd ซึ่งเป็นบริษัทต่อเรือภายในประเทศ โดยเรือรุ่นดังกล่าวมีการพัฒนาสมรรถนะเครื่องยนต์ให้ทรงพลังมากขึ้น ติดตั้งระบบควบคุมอาวุธ Remote Control Weapon Station (RCWS) ปืนกล ขนาด 12.7 มม. และปรับปรุงภายในบางส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกเรือ
ความสัมพันธ์ไทย–มาเลเซีย
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 31 ส.ค.2500 และมี สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซีย 2 แห่ง ได้แก่ สกญ. ณ ปีนัง และ สกญ. ณ โกตาบารู ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย ซึ่งตั้งสำนักงานในมาเลเซีย ได้แก่ ทูตฝ่ายทหารทั้งสามเหล่าทัพ ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ แรงงาน และประสานงานตำรวจ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ ขณะที่มาเลเซียมี สอท.มาเลเซีย ประจำประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่มาเลเซีย ณ จังหวัดสงขลา และธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่ง CIMB Bank Berhad ของมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
กลไกส่งเสริมและแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ในระดับทวิภาคี ได้แก่
1) คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย (Joint Commission-JC)
2) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy-JDS) 3) คณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee-GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee-HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee-RBC) 4) คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน มีการจัดตั้งสมาคมไทย-มาเลเซีย และสมาคมมาเลเซีย-ไทย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีความร่วมมือกันในกรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle IMT-GT) และอาเซียนด้วย
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในโลก และอันดับ 1 ในอาเซียน ส่วนไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของมาเลเซีย มูลค่าการค้าปี 2565 ประมาณ 943,969 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 439,167 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 504,802 ล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้า 65,635 ล้านบาท สินค้าส่งออกของไทย : รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้ากสิกรรม น้ำมันสำเร็จรูป สินค้านำเข้าจากมาเลเซีย : น้ำมันดิบ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยาม-อังกฤษ (4 มี.ค.2454) ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกของการเดินรถไฟ (ปี 2465) ความตกลงว่าด้วยการจราจรข้ามแดน (ปี 2483) ความตกลงว่าด้วยการคมนาคมและขนส่งทางบก (1 ม.ค.2497) ความตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วม (20 พ.ค.2497) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (24 ต.ค.2505) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (18 พ.ย.2509) ความตกลงว่าด้วยการศุลกากร (9 พ.ค.2511) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา (12 ม.ค.2513) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการประมง (16 ม.ค.2514) ความตกลงว่าด้วยการสำรวจและปักปันเขตแดน (8 ก.ย.2515) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรร่วมมาเลเซีย-ไทย (21 ก.พ.2522) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (26 ก.พ.2522) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเล/ทะเลอาณาเขต (24 ต.ค.2522) ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีป (24 ต.ค.2522) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ (24 พ.ย.2522) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าไป-กลับระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของมาเลเซียผ่านแดนไทยโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (19 เม.ย.2523) ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (29 มี.ค.2525) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาลุ่มน้ำโก-ลก (พ.ค.2526) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย (29 มิ.ย.2530) ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือข้ามฟากบริเวณปากแม่น้ำโก-ลก (26 ก.ค.2533) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (25 พ.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (10 ก.พ.2538) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยางพารา (17 ก.ย.2542) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดน (18 พ.ค.2543) ความตกลงว่าด้วยการค้าทวิภาคี (6 ต.ค.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำ Bilateral Payment Arrangement (Account Trade) (27 ก.ค.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ 3 ฝ่าย ด้านยางพารา อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (8 ส.ค.2545) บันทึกความเข้าใจเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการในการเคลื่อนย้ายสินค้า (28 ก.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ไทยกับมาเลเซีย (28 ก.ค.2546) ความตกลงโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เชื่อมบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน (14 ต.ค.2547) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษา (21 ส.ค.2550) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Joint Working Committee on Security Cooperation-JWC-SC) (19 ม.ค.2561)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) เสถียรภาพทางการเมืองและการบริหารประเทศ รัฐบาลมาเลเซียที่นำโดยดาโต๊ะ ซรี
อันวาร์ อิบราฮิม จะเผชิญความท้าทายจากการผลักดันนโยบายปฏิรูปประเทศที่มีเป้าหมายช่วยเหลือประชาชนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา เพราะมาเลเซียยึดถือแนวทางการบริหารประเทศแบบเดิมที่ยึดเชื้อชาติ (race-based) และมุ่งปกป้องเฉพาะชาวมาเลย์ภูมิบุตรมานานกว่า 60 ปี ซึ่ง นรม.อันวาร์ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางที่ยึดตามหลักความต้องการ (need-based)
2) การแสดงบทบาทนำปกป้องชนกลุ่มน้อยมุสลิมในต่างประเทศ ที่สำคัญคือ มุสลิมในปาเลสไตน์ และชาวโรฮีนจาในเมียนมา โดยมาเลเซียยึดมั่นจุดยืนสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และตำหนิประเทศตะวันตกกับอิสราเอลว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาอพยพยังคงเดิม ได้แก่ ๑) ไม่รับเพิ่ม ๒) สร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้นว่า ไม่พอใจสภาวะที่มีชาวโรฮีนจาจำนวนมากในมาเลเซีย และ ๓) แสวงความร่วมมือจากจีนให้กดดันรัฐบาลเมียนมา เพื่อช่วยเร่งกระบวนการส่งกลับ
3) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์กับไทยและสิงคโปร์ มาเลเซียแสดงท่าทีชัดเจนว่า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (High Speed Rail-HSR) เชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ มากกว่าการผลักดันโครงการ HSR เชื่อมกรุงกัวลาลัมเปอร์-กรุงเทพฯ เพราะเชื่อว่า
การเชื่อมต่อกับสิงคโปร์จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางตอนใต้ของมาเลเซียอย่างมาก ขณะที่เส้นทาง
รางรถไฟทางตอนเหนือของมาเลเซียมีหลายจุดที่ชำรุดและไม่เอื้อต่อการเชื่อมต่อทางรางระหว่างกัน
4) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจในพื้นที่รัฐตอนเหนือของมาเลเซีย โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Corridor Economic Region-NCER) ครอบคลุม 4 รัฐ ได้แก่ ปะลิส เกดะห์ เประ และปีนัง ซึ่งมีพื้นที่ติดกับชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล สงขลา และยะลา รวมทั้งโครงการก่อสร้าง
จุดผ่านแดนตามแนวชายแดนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 เชื่อมเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน และการสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างด่านสะเดาและด่านบูกิตกายูฮีตัม