ยูเครน
(Ukraine)
เมืองหลวง เคียฟ (Kiev)
ที่ตั้ง อยู่ในยุโรปตะวันออก ติดกับทะเลดำ ตั้งอยู่ระหว่างโปแลนด์ โรมาเนีย และมอลโดวาทางตะวันตก กับรัสเซียทางตะวันออก มีพื้นที่ 603,550 ตร.กม. ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองจากรัสเซีย และประมาณ 1.2 เท่าของไทย แบ่งเป็นพื้นดิน 579,330 ตร.กม. และพื้นน้ำ 24,220 ตร.กม. มีพรมแดนทางบกยาว 5,581 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซียและเบลารุส
ทิศตะวันออก จรดพรมแดนรัสเซีย
ทิศใต้ ติดทะเลดำและทะเลอาซอฟ
ทิศตะวันตก จรดพรมแดนโปแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี โรมาเนีย และมอลโดวา
ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อุดมสมบูรณ์ ทางตะวันตกมีเทือกเขา Carpathians ทางใต้สุดเป็นคาบสมุทรไครเมีย และมีแม่น้ำสำคัญ ๆ ของทวีปยุโรปไหลผ่าน ได้แก่ แม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำดนีสเตอร์ และแม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ
ภูมิอากาศ อบอุ่นแบบภาคพื้นทวีป มี 4 ฤดู ยกเว้นบริเวณชายฝั่งทะเลแถบคาบสมุทรไครเมียทางตอนใต้ ซึ่งมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาวพื้นที่บริเวณภายในประเทศมีอากาศหนาวเย็นกว่าพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ
ศาสนา คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์กว่า 80% (แยกย่อยหลายกลุ่ม เช่น นิกาย Ukrainian Orthodox เขตปกครองของพระราชาคณะ Kyiv Patriarchate 44% นิกาย Ukrainian Orthodox เขตปกครองพระราชาคณะ Moscow Patriarchate 20% นิกาย Ukrainian Greek Catholic 11% และนิกาย Ukrainian Autocephalous Orthodox 2.4%) นิกายโรมันคาทอลิก 17% นิกายโปรเตสแตนต์ ยิว อิสลาม และอื่น ๆ
ภาษา ภาษายูเครนหรือ Little Russian (ตระกูลภาษาสลาฟ) เป็นภาษาราชการ มีผู้ใช้ 67.5% ภาษารัสเซีย 29.6% และภาษาอื่น ๆ 2.9% (เช่น ไครเมียตาตาร์ มอลโดวา โรมาเนีย และฮังการี)
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99.8%
ศาสนา คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์กว่า 80% (แยกย่อยหลายกลุ่ม เช่น นิกาย Ukrainian Orthodox เขตปกครองของพระราชาคณะ Kyiv Patriarchate 44% นิกาย Ukrainian Orthodox เขตปกครองพระราชาคณะ Moscow Patriarchate 20% นิกาย Ukrainian Greek Catholic 11% และนิกาย Ukrainian Autocephalous Orthodox 2.4%) นิกายโรมันคาทอลิก 17% นิกายโปรเตสแตนต์ ยิว อิสลาม และอื่น ๆ
วันชาติ 24 ส.ค. (ปี 2534) วันประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
นายโวโลดีมีร์ เซนเลนสกี
Volodymyr Oleksandrovych Zelensky
(ประธานาธิบดียูเครน)
ประชากร 36,744,636 ล้านคน (ก.ค.2566 ไม่รวมพื้นที่รัสเซียครอบครอง) ประกอบด้วย ยูเครน 77.8% รัสเซีย 17.3% เบลารุส 0.6% มอลโดวา 0.5% ไครเมียตาตาร์ 0.5% บัลแกเรีย 0.4% ฮังการี0.3% โรมาเนีย 0.3% โปล 0.3% ยิว 0.2% และอื่น ๆ 1.8% รายละเอียดประชากร อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 15.40% วัยรุ่น (15-24 ปี) 9.57% วัยทำงาน (25-54 ปี) 44.03% วัยเริ่มชรา (55-64 ปี) 13.96% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 16.49% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 73.72 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 69.1 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 78.64 ปี อัตราการเกิด 8.79/1,000 คน อัตราการตาย 13.7/1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร –0.52%
การก่อตั้งประเทศ ยูเครนต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี 2460 แต่สหภาพโซเวียตปราบปราม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต นโยบายเปิดกว้างทางการเมืองของประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ส่งผลให้เกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองในยูเครน จนมีการประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อ 24 ส.ค.2534 และจัดลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อ 1 ธ.ค.2534
การเมือง ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีรัฐธรรมนูญเมื่อ 28 มิ.ย.2539 และปรับแก้ไขเมื่อปี2547 ปี 2553 และปี 2558 แบ่งเขตการปกครองเป็น 24 แคว้น (Provinces) 1 สาธารณรัฐปกครองตนเอง และ 2 เทศบาลนคร (Municipalities)
ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนคนที่ 6 (สืบแทนประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก) เมื่อ 20 พ.ค.2562 หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครน รอบที่ 2 เมื่อ 21 เม.ย.2562 ด้วยคะแนนเสียง 73.22% ขณะที่ประธานาธิบดีโปโรเชนโกได้คะแนนเสียง 24.45% (การเลือกตั้งรอบแรกจัดขึ้นเมื่อ 31 มี.ค.2562 มีผู้สมัครรวม 39 คน) การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งโดยตรง วาระละ 5 ปี การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะมีขึ้นใน มี.ค.2567 ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง นรม. และผ่านการรับรองจากสภาสูงสุด (Verkhovna Rada) นรม. ทำหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาสูงสุด นรม.คนปัจจุบัน คือ นาย Denys Shmyhal เข้ารับตำแหน่งเมื่อ4 มี.ค.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบสภาเดียว คือ สภาสูงสุด (Verkhovna Rada) มีสมาชิก 450 คน (กึ่งหนึ่งมาจากเลือกตั้งโดยตรง และอีกกึ่งหนึ่งเป็นแบบสัดส่วน) วาระละ 5 ปี เนื่องจากรัสเซียผนวกไครเมียและพื้นที่บางส่วนในภาคตะวันออกของยูเครนยังไม่สงบ ทำให้ขาดสมาชิกรัฐสภารวม 27 ที่นั่ง โดยพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 21 ก.ค.2562 ได้แก่ พรรค Servant of the People (43.2%) ได้ 254 ที่นั่ง พรรค Opposition Platform for Life (13.1%) ได้ 43 ที่นั่ง พรรค Batkivshchyna หรือ Fatherland (8.2%) ได้ 26 ที่นั่ง พรรคEuropean Solidarity (8.1%) ได้ 25 ที่นั่ง พรรค Holos หรือ Voice (5.8%) ได้ 20 ที่นั่ง และอื่น ๆ (21.6%) ได้แก่ พรรค Opposition Bloc 6 ที่นั่ง พรรค Samopomich 1 ที่นั่ง พรรค Svoboda 1 ที่นั่ง พรรคอื่น 2 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระ 46 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งครั้งถัดไปจะจัดขึ้นภายใน ก.ค.2567
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) มีศาลฎีกา (Supreme Court of Ukraine-SCU) ประกอบด้วย ผู้พิพากษา 100 คน ประจำศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลพาณิชย์ และศาลปกครอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้พิพากษา 18 คน และศาลต่อต้านการทุจริตระดับสูง ประกอบด้วย ผู้พิพากษา 39 คน ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ ก.ย.2562 ขณะเดียวกัน ศาลพิเศษถูกยกเลิกหลังมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของยูเครน โดยประธานาธิบดีเซเลนสกีลงนามในกฤษฎีกาเมื่อ พ.ย.2562
พรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Batkivshchyna (Fatherland) ของนาง Yulia Tymoshenko อดีต นรม.หญิงคนแรกของยูเครน 2) พรรค European Solidarity ของอดีตประธานาธิบดีโปโรเชนโก 3) พรรค Holos (Voice) ของนาย Sviatoslav Vakarchuk 4) พรรคOpposition Bloc หรือ OB ของนาย Evgeny Murayev 5) พรรค Opposition Platform-For Life ของนาย Yuriy Boyko และนาย Vadim Rabinovich 6) พรรค Radical ของนาย Oleh Lyashko 7) พรรค Samopomich (Self Reliance) ของนาย Andriy Sadovyy 8) พรรค Servant of the People ของนาย Oleksandr Kornienko รองประธานคนที่ 1 รัฐสภายูเครน และ 9) พรรค Svoboda (Freedom) ของนาย Oleh Tyahnybok
เศรษฐกิจ
ยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกธัญพืชสำคัญของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยยูเครนครองตลาดข้าวสาลีโลก 10% ข้าวโพด 15% และข้าวบาร์เลย์ 13% แต่สถานการณ์การสู้รบกับรัสเซียส่งผลให้การส่งออกธัญพืชของยูเครนอยู่ที่ 5.291 ล้านตัน ลดลง 48.6% ในปี 2565/2566 โดยการส่งออกข้าวโพดอยู่ที่ 3.17 ล้านตัน ข้าวสาลี 1.65 ล้านตัน และข้าวบาร์เลย์ 447,000 ตัน
สถานการณ์เศรษฐกิจยูเครนมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องจากภาวะสงคราม โดยปี 2565 ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงถึง 60% เพิ่มขึ้นจาก 18% เมื่อปี 2564 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลง 35% ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชากรมากกว่า 14 ล้านคนอพยพออกนอกประเทศเพื่อหนีภัยสงคราม ทั้งนี้ ยูเครนต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 349,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการฟื้นฟูสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ
ภาวะสงครามทำให้รัสเซียปิดท่าเรือขนส่งสินค้าต่าง ๆ ในทะเลดำ ทำให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกธัญพืช ได้แก่ น้ำมันดอกทานตะวัน ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี กว่า 20,000,000 ตันได้ แต่ยูเครนยืนยันจะยังคงส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำ ควบคู่ไปกับเส้นทางอื่น ๆ อาทิ การขนส่งทางบกผ่านยุโรป และผ่านแม่น้ำดานูบในโรมาเนีย
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : กริฟนา (Hryvnia-UAH)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 36.6492 กริฟนา/ดอลลาร์สหรัฐ (25 ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 กริฟนา : 0.9861 บาท (25 ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 173,413 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.0% (ปี 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 5,224 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 20.28 ล้านคน แบ่งเป็นภาคการเกษตร 5.8% ภาคอุตสาหกรรม 26.5% และภาคบริการ 67.8%
อัตราการว่างงาน : 21.1% (ปี 2566)
อัตราเงินเฟ้อ : 20.18% (ปี 2566)
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 11,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 44,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 35% (ปี 2565)
สินค้าส่งออก : ข้าวโพด ข้าวสาลี น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมัน Rapeseed เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก
คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : โปแลนด์ 9% โรมาเนีย 5.7% ตุรกี 4.3% จีน 3.7% ฮังการี 3.34%เยอรมนี 3.3%
มูลค่าการนำเข้า : 55,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2565) ลดลง 24% (ปี 2565)
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รถยนต์ ยาบรรจุหีบห่อ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : โปแลนด์ 12% จีน 11.4% ตุรกี 6.6% (ปี 2565)
ทรัพยากรธรรมชาติ : แร่เหล็ก ถ่านหิน แร่แมงกานิส ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เกลือ แร่ซัลเฟอร์ แร่แกรไฟต์ แร่ไทเทเนียม แมกนีเซียมซัลเฟต ดินขาว นิกเกิล ปรอท และป่าไม้
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : ยูเครนออกกฎหมายเพิ่มกำลังพลจาก 184,000 นาย เป็นสูงสุด 250,000 นาย (เท่ากับระดับเมื่อปี 2556) เมื่อต้นปี 2558 การปฏิรูปกองทัพยังไม่คืบหน้าเนื่องจากขาดงบประมาณ และปัญหาการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภาคตะวันออกตั้งแต่ มี.ค.2557 มีเหตุปะทะประปราย ในห้วงที่ผ่านมายูเครนจัดตั้ง National Guard เพื่อร่วมปฏิบัติการในภาคตะวันออกเมื่อปี 2557 และประกาศหลักนิยมทางทหาร เมื่อ ก.ย.2558 โดยระบุว่า ภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคตมาจากรัสเซีย ซึ่งยูเครนควรปรับปรุงกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัยตามมาตรฐานเนโตและสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ยูเครนมีการฝึกทางทหารร่วมกับต่างชาติบ่อยครั้งขึ้นหลังปี 2557 โดยเฉพาะกับเนโต อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ตกทอดจากสมัยอดีตสหภาพโซเวียต และบางส่วนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ยูเครนเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีเป้าหมายเป็น 1 ใน 5 ของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ยูเครนเคยเป็นประเทศส่งออกอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2555 (มูลค่า 1,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากข้อมูลของสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ระบุว่า ยูเครนส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นอันดับ 12 ของโลก ห้วงปี 2559-2563 (จากผู้ส่งออกรายใหญ่ 68 ประเทศ) โดยมีจีน รัสเซีย และไทยเป็นลูกค้ารายใหญ่ สำหรับประเทศส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ 5 อันดับแรกของโลก คือ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน
ในห้วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ยูเครนได้รับคำมั่นจากเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กว่า จะร่วมบริจาค บ.ขับไล่รุ่น F-16 ให้แก่ยูเครนประมาณ 42-61 ลำ โดยจะส่งมอบ บ. 6 ลำแรกใน ม.ค.2567 และจะทยอยส่งมอบ บ.ที่เหลือระหว่างปี 2567-2568 อย่างไรก็ดี การส่งมอบ บ.F-16 จะต้องได้รับอนุมัติจากสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี และยูเครนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้แก่ 1) นักบิน วิศวกร และ จนท.เทคนิคของยูเครนจะต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับ บ.F-16 ที่จะเริ่มใน ส.ค.2566 ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 10 เดือน (อบรมด้านการบิน 6 เดือน และทักษะภาษาอังกฤษเชิงเทคนิค 4 เดือน) โดยมีเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสมาชิกเนโตอื่น ๆ อาทิ กรีซ สนับสนุนการอบรม และ 2) ยูเครนจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการบำรุงรักษา บ. ให้ได้ตามมาตรฐาน
กำลังพลรวม : 688,000 นาย (ทบ. 250,000 นาย ทร. 13,000 นาย ทอ. 37,000 นาย ฯลฯ) งบประมาณด้านการทหารปี 2565 ประมาณ 3,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงกว่าเมื่อปี 2564 ที่มีประมาณ 4,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปี 2565 ทางการ/รัฐบาลยังแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อเตรียมการด้านกองกำลังสำรอง อาทิ การปรับเพิ่มอายุจากเดิม 20-27 ปี เป็นระหว่าง 18-60 ปี และห้ามเดินทางออกจากยูเครนในห้วงสถานการณ์สงครามกับรัสเซีย
ยุทโธปกรณ์สำคัญ :
ทบ. ได้แก่ ถ.หลัก 953 คัน (รุ่น M-55S, T-62M/MV, T-64BV/BV mod 2017, T-64BM Bulat, T-72AV/AV mod 2021, B1/B3/M1/M1R/PT-91 Twardy, T-80BV/BVM/U/UK, T-90A และT-84 Oplot) ยานลาดตระเวน 200 คัน (รุ่น BRDM-2 และBRM-1K) ยานรบทหารราบหุ้มเกราะ 770 คัน (รุ่น BMP-1/-1AK/-2, BMP-3, BTR-3DA/-3E1/-4E/-4MV1, BTR-82A, BVP M-80A, PbV-501 และ YPR-765) ยานสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ 1,159 คัน (รุ่น M113A1/AS4/G3DK/G4DK, MT-LB, BTR-60, BTR-70 และ BTR-80) ปืนใหญ่ 1,536 กระบอก ฮ.โจมตีแบบ Mi-24/35 Hind มี 35 เครื่อง ฮ.ขนส่งแบบ Mi-8 Hip มี 15 เครื่อง อาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ ได้แก่ S-300V (RS-SA-12A Gladiator), 9K33 Osa-AKM (SA-8 Gecko) และขีปนาวุธ S-300V (SA-12 Gladiator) ระบบเรดาร์สอดแนม และอาวุธปล่อยพื้นสู่พื้น
ทร. (รวมกองบิน ทร.และนาวิกโยธิน) มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ Odessa ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 13 ลำ และเรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน 8 ลำ
ทอ. ได้แก่ บ.รบ 79 เครื่อง แยกเป็น บ.ขับไล่ 50 เครื่อง (แบบ MiG-29 Fulcrum 20 เครื่อง และแบบ Su-27 Flanker B 30 เครื่อง) บ.ขับไล่/โจมตีภาคพื้นดินแบบ บ.Su-24M Fencer 5 เครื่อง บ.โจมตีแบบ Su-25 Frogfoot 20 เครื่อง บ.ลาดตระเวน/สอดแนม 12 เครื่อง (แบบ Su-24MR Fencer-E 9 เครื่อง และ An-30 Clank 3 เครื่อง) บ.ขนส่ง 26 เครื่อง และ บ.ฝึกแบบ L-39 Albatros 31 เครื่อง ฮ.แบบ Mi-9 14 เครื่อง ฮ.ขนส่งขนาดกลางแบบ Mi-8 Hip 25 เครื่อง และขนาดเบาแบบ Mi-2 Hoplite 5 เครื่อง โดยมีอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศ เช่น แบบ S-300P/PS/PT (SA-10 Grumble) และแบบ 9K37M Buk-M1 (SA-11 Gadfly) อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศด้วยอินฟราเรด เช่น R-27ET (RS-AA-10D Alamo) และนำวิถีด้วย semi-active radar homing ได้แก่ R-27R (RS-AA-10A Alamo) และR-27ER (RS-AA-10C Alamo)
ยูเครนถอนกำลังทหาร 21 นาย ที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจกับเนโตในอัฟกานิสถาน และอพยพออกจากอัฟกานิสถานระหว่าง 1-5 มิ.ย.2564 เป็นการยุติการมีส่วนร่วมตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ตาม ยูเครนยังประจำการทหารในเซอร์เบีย (40 นาย) และร่วมปฏิบัติภารกิจกับสหประชาชาติในซูดาน (UNISFA) 6 นาย ในคองโก (MONUSCO) 259 นาย ในซูดานใต้(UNMISS) 4 นาย ในมาลี (MINUSMA) 2 นาย ในไซปรัส (UNFICYP) 1 นาย และในเซอร์เบีย (UNMIK) 2 นาย นอกจากนี้ ยังส่งผู้สังเกตการณ์ในมอลโดวา 10 นาย
กองกำลังต่างประเทศในยูเครน หลังจากรัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อ มี.ค.2557 รัสเซียส่งทหารเข้าประจำการในไครเมีย 28,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีฐานทัพเรือที่เมืองเซวาสโตโปล ซึ่งเป็นฐานทัพหลักในทะเลดำ ขณะที่มีทหารจากหลายประเทศร่วมในกองกำลังขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe–OSCE) ในยูเครนประมาณ 800 นาย ได้แก่ แอลเบเนีย อาร์เมเนีย ออสเตรีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส เบลเยียม บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา บัลแกเรีย แคนาดา โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส จอร์เจีย เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์ทมาซิโดเนีย มอลโดวา มอนเตเนโกร เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย รัสเซีย เซอร์เบีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ทาจิกิสถาน ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ระบุเมื่อ 1 มิ.ย.2565 มีทหารเสียชีวิต 60-100 นาย บาดเจ็บกว่าวันละ 500 นาย และยูเครนตอบโต้กลับครั้งใหญ่ตั้งแต่ 4 มิ.ย.2566 แต่ยังคงไม่คืบหน้า
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ Australia Group, BSEC, CBSS (ผู้สังเกตการณ์), CD, CE, CEI, CICA (ผู้สังเกตการณ์), CIS (ยังไม่ลงนามกฎบัตร CIS ปี 2536), EAEC (ผู้สังเกตการณ์), EAPC, EBRD, FAO, GCTU, GUAM, IAEA, IBRD, ICAO, ICC (national committees), ICRM, IDA, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITU, ITUC (NGOs), LAIA (ผู้สังเกตการณ์), MIGA, MONUSCO, NAM (ผู้สังเกตการณ์), NSG, OAS (ผู้สังเกตการณ์), OIF (ผู้สังเกตการณ์), OPCW, OSCE, PCA, PFP, SELEC (ผู้สังเกตการณ์), UN, UNCTAD, UNESCO, UNFICYP, UNIDO, UNISFA, UNMIL, UNMISS, UNOCI, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO และ ZC
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยาน 187 แห่ง เส้นทางรถไฟระยะทาง 21,733 กม. ถนนระยะทาง 169,694 กม. และการเดินทางโดยเรือ (ส่วนใหญ่ในแม่น้ำดนีเปอร์) 1,672 กม. เมืองท่าที่สำคัญ ได้แก่ Feodosiya (Theodosia), Chornomosk (Illichivsk), Mariupol, Mykolayiv, Odesa (หรือ Odessa) และ Yuzhnyy มีท่อขนส่งก๊าซ 36,720 กม. ท่อขนส่งน้ำมัน4,514 กม. และท่อขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว 4,363 กม. ด้านโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการ 4,182,994 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 54,842,400 เลขหมาย จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 25,883,509 คน (เมื่อ ก.ค.2561) รหัสอินเทอร์เน็ต .ua
การเดินทาง ยูเครนปิดการจราจรทางอากาศสำหรับเที่ยวบินพลเรือน เมื่อ ก.พ.2565 เนื่องจากประเด็นด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ไทยไม่มีเที่ยวบินตรงไปยูเครน(กรุงเทพฯ–เคียฟ) เวลาที่เคียฟช้ากว่าไทย 4 ชม.ในฤดูร้อน และ 5 ชม. ในฤดูหนาว ไทยและยูเครนมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือทางทูต และราชการ คนไทยเดินทางเข้ายูเครนโดยไม่ต้องขอวีซ่าและพำนักในยูเครนได้นาน 90 วัน และเมื่อ 4 เม.ย.2561 ยูเครนเริ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 46 ประเทศ ยื่นขอตรวจลงหนังสือเดินทางทางออนไลน์ (E-Visa) ซึ่งรวมถึงไทย และตั้งแต่ 14 เม.ย.2562 ชาวยูเครนที่มาท่องเที่ยวในไทยสามารถขอ Visa on Arrival และพำนักได้ไม่เกิน 30 วัน นอกจากนี้ เมื่อ ส.ค.2562 กต.ยูเครนขยายเครือข่ายการให้บริการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง โดยเปิดศูนย์ตรวจลงตรา (Visa Center) เพิ่มเติม 18 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน
การทูตและการเมือง ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครนเมื่อ 6 พ.ค.2535สอท.ไทยประจำมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมยูเครน (ฝ่ายยูเครนได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้ง ออท. ณ วอร์ซอ เป็น ออท.ไทยประจำยูเครนแล้ว โดยหน้าที่ในการดูแลของ สอท.ไทยประจำมอสโก จะสิ้นสุดลงเมื่อ ออท. ณ วอร์ซอ ยื่นพระราชสาส์นตราตั้ง) และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เคียฟ ส่วนยูเครนมี สอท.ประจำกรุงเทพฯ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพฯ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยไทยและยูเครน
มีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเครน
(Joint Commission on Bilateral Cooperation-JC) ลงนามเมื่อ 3 พ.ค.2545 เป็นกลไกการพัฒนาความสัมพันธ์ ทั้งนี้ เมื่อ 30 พ.ค.2564 นายอันดรีย์ เบชตา (Andrii Beshta) ออท.ยูเครนประจำกรุงเทพฯ เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ขณะปฏิบัติภารกิจประสานความร่วมมือในพื้นที่ สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวยูเครนที่จะเดินทางมาไทยหลังสถานการณ์โรค COVID-19 โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษเมื่อ 5 มิ.ย.2564 ปัจจุบันนาย Pavlo Orel อุปทูต/ที่ปรึกษา ปฏิบัติหน้าที่แทน
นายพาฟโล คลิมคิน (Pavlo Klimkin) รมว.กระทรวงการต่างประเทศยูเครน เยือนไทย ระหว่าง 4-5 มิ.ย.2560 ซึ่งเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างไทยกับยูเครน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการอำนวยความสะดวกระหว่างทั้งสองประเทศในคดีอาญา และความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับยูเครน อีกทั้งช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนทางการค้าและนักธุรกิจ และการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint TradeCommittee)
เมื่อปี 2562 นางศันสนีย สหัสสะรังษี ออท. ณ วอร์ซอ ในฐานะ ออท. ไทยประจำยูเครน พร้อมคณะเดินทางไปกรุงเคียฟ เพื่อเข้าร่วมประชุม Political Consultations ไทย-ยูเครน ครั้งที่ 2 ที่มี นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายในรอบ 10 ปี เพื่อหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมืออย่าง
รอบด้าน ตลอดจนแนวทางประสานความร่วมมือในกรอบเวทีระหว่างประเทศ และการเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระดับบุคคล รวมถึงการเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนาย Sergiy Kyslytsya รมช.กระทรวงการต่างประเทศยูเครน นอกจากนี้ ออท.ศันสนียร่วมคณะผู้แทนไทยไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอากาศยานของบริษัท Antonov ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องบิน Mrija ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตอากาศยานสำหรับพลเรือนและทางทหารรายสำคัญของยูเครน
สำหรับวิกฤตยูเครน-รัสเซีย ไทยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนเคารพหลักการแห่งอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และให้ความสำคัญกับการดูแลคนไทยในพื้นที่ อาทิ การเตรียมมาตรการอพยพคนไทยในยูเครน (ประมาณ 10 คน เมื่อ พ.ย.2565)
เศรษฐกิจ ไทยและยูเครนวางแผนจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้ายูเครน-ไทย (Joint Trade Commission and the Ukraine-Thailand Business Forum) ครั้งแรก ภายในปี 2564 (เลื่อนจากปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19) ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-ยูเครน เมื่อปี 2560 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเครนเมื่อปี 2564 อยู่ที่ 12,427 ล้านบาท ไทยขาดดุลยูเครน 3,971 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปยูเครนมูลค่ารวม 4,228 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (1,037 ล้านบาทหรือ 24.52% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยูเครน) ผลิตภัณฑ์ยาง (671 ล้านบาท/ 15.8%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (542 ล้านบาท/12.8%) และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (285 ล้านบาท/6.7%) ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครนมีมูลค่า 8,199 ล้านบาท ที่สำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (4,419 ล้านบาท หรือ 53.89% ของการนำเข้าทั้งหมดจากยูเครน) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (3,013 ล้านบาท/36.75%) ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ (133 ล้านบาท/1.62%) และสินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ (112 ล้านบาท /1.3%)
การลงทุน ไม่มีข้อมูลว่าไทยเข้าไปลงทุนในยูเครน แต่มีนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในไทย 150 ราย ที่มีการถือหุ้นของชาวยูเครน สถิตินักท่องเที่ยวยูเครนในไทยห้วงปี 2562 มีจำนวน 22,619 คน เพิ่มขึ้น 4.72% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ขณะที่นักท่องเที่ยวยูเครนในไทยเมื่อปี 2560 มีจำนวน 60,794 คน (เพิ่มขึ้น 12%) สร้างรายได้ 4,505.37 ล้านบาท สำหรับคนไทยในยูเครนมีจำนวน 213 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานและ ผู้สมรสกับชาวยูเครน มีร้านอาหารไทย 1 ร้าน
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับยูเครน ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครน (30 เม.ย.2541) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทย-ยูเครน (3 พ.ค.2545) ความตกลงว่าด้วยการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่าง กต.ไทย-ยูเครน (10 มี.ค.2547) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (10 มี.ค.2547) อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (10 มี.ค.2547) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไทยและหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยูเครนเกี่ยวกับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวของกับการฟอกเงิน (19 ก.ค.2548) ข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก BTR-3E1 จำนวน 96 คันจากยูเครน (ปี 2550) มูลค่า 129.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยรับมอบ 2 คันแรกแล้วเมื่อ 17 ก.ย.2553 และยูเครนกำหนดส่งมอบทั้งหมดภายในปี 2558 และข้อตกลงที่ไทยสั่งซื้อรถถังหลักแบบ T-84 Oplot จำนวน 49 คันจากยูเครน (1 ก.ย.2554) มูลค่าประมาณ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยูเครนส่งรถถังชุดแรกให้ไทย 5 คัน เมื่อ ก.พ.2557 ชุดที่ 2 อีก 5 คัน เมื่อ มิ.ย.2558 ชุดที่ 3 จำนวน 10 คัน เมื่อ พ.ค.2559 ชุดที่ 4 จำนวน 5 คัน เมื่อ พ.ย.2559 ชุดที่ 5 จำนวน 5 คัน เมื่อ มี.ค.2560 และชุดที่ 6 จำนวน 5 คัน เมื่อ มิ.ย.2560 โดยเมื่อ มี.ค.2561 ยูเครนส่งมอบรถถังที่เหลือทั้งหมดให้ไทย นอกจากนี้ สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติยูเครน(National Security and Defense Council of Ukraine-NSDCU) ระบุเมื่อ 15 มิ.ย.2561 ว่า ยูเครนและไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการขยายความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมความมั่นคง โดยเฉพาะการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทหารร่วมกัน เพื่อสนับสนุนภารกิจบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องใหม่ (Maintenance, Repair and Overhaul-MRO) รวมถึงความเป็นไปได้ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารร่วมกันในไทย
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
1) วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรง ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีแนวโน้มที่จะเจรจายุติการสู้รบ และเป็นความขัดแย้งในลักษณะการทำสงครามตัวแทน (Proxy War) ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ เพื่อแข่งขันอิทธิพลระหว่างกัน โดยยูเครนยังคงมุ่งปฏิบัติการเชิงรุกทางใต้ของเมืองบักมุตและทางตะวันตกของแคว้นซาปอริซเซีย
2) การขอรับการสนับสนุนทางทหารจากชาติพันธมิตร เฉพาะอย่างยิ่งในห้วงที่หลายประเทศต่างมุ่งสนใจปัญหาขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮะมาส อาทิ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation-เนโต) เมื่อ ก.ค.2566 ที่ประชุมเนโตออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่าอนาคตยูเครนจะได้เป็นสมาชิกเนโต และยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ยูเครนต้องทำตามแผนปฏิบัติการสมาชิกภาพ (Membership Action Plan-MAP)
3) ผลกระทบจากปัญหาสงครามยูเครน อาทิ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ ปัญหาสังคม และการปรับปรุง/ปฏิรูปกองทัพยูเครน