รัฐสุลต่านโอมาน
Sultanate of Oman
เมืองหลวง กรุงมัสกัต
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูดที่ 16-28 องศาเหนือและเส้นลองจิจูดที่ 52-60 องศาตะวันออก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย ตรงปากทางของช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ควบคุมการขนส่งน้ำมันทางทะเลที่สำคัญที่สุดในโลก มีพื้นที่ 309,500 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 72 ของโลก และเล็กกว่าไทย 1.65 เท่า มัสกัตอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 4,670 กม. มีชายแดนทางบกยาว 1,561 กม. และมีชายฝั่งยาว 2,092 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับอ่าวโอมาน/ทะเลโอมาน และมีพรมแดนทางบกทางตะวันตก
เฉียงเหนือติดกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) (609 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลอาหรับ/ทะเลอาระเบีย
ทิศใต้ ติดกับเยเมน (294 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับซาอุดีอาระเบีย (658 กม.)
ภูมิประเทศ มีพื้นที่แยกกันเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ตั้งอยู่ปลายสุดทางตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย และ 2) จังหวัดมุซันดัม ซึ่งถูกแยกออกไปโดยมี UAE คั่นกลาง และมีที่ตั้งยื่นออกไปเป็นคาบสมุทร บริเวณปากทางของช่องแคบฮอร์มุซ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นทะเลทรายและภูเขา มีพื้นที่ทำการเกษตร 4.7% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ภาคเหนือเป็นชายฝั่งทะเลอ่าวโอมานและมีเทือกเขาอัลฮะญัร ภาคกลางและตะวันตกเป็นที่ราบทะเลทรายปนกรวดลูกรัง ภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นชายฝั่งทะเลอาหรับ จุดสูงสุดของประเทศอยู่ที่ภูเขา Jabal Shams ซึ่งสูง 3,004 ม. ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่หนาแน่นตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางเหนือ ตะวันออก และทางใต้ของประเทศ
ภูมิอากาศ พื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของออสเตรเลียอยู่เหนือเส้น Tropic of Capricorn ภูมิอากาศแตกต่างกันไป คือ อากาศร้อนทางเหนือ อบอุ่นทางตะวันออกเฉียงใต้ และแห้งแล้งตอนใจกลางทวีป มี 4 ฤดู คือ ฤดูร้อน (ธ.ค.-ก.พ.) ฤดูใบไม้ร่วง (มี.ค.-พ.ค.) ฤดูหนาว (มิ.ย.-ส.ค.) และฤดูใบไม้ผลิ (ก.ย.-พ.ย)
ศาสนา ไม่มีศาสนาประจำชาติ มีผู้นับถือคริสต์ 43.9% ไม่นับถือศาสนา 38.9% อิสลาม 3.2% ฮินดู 2.7% พุทธ 2.4% อื่น ๆ 8.9% (สำนักงานสถิติออสเตรเลีย ประจำปี 2564)
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาอาหรับ แต่มีการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาบาลูช สวาฮิลี อุรดู และฮินดี
การศึกษา การศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-10 (ระหว่างอายุ 6-16 ปี) มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาทุกระดับเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
วันชาติ 18 พ.ย. (วันเสด็จพระราชสมภพของสุลต่านกอบูสเมื่อปี 2483)
สุลต่าน ฮัยษัม บิน ฏอริก บิน ตัยมูร อาลซะอีด
His Majesty Sultan Haitham bin Tariq bin Taimour Al Said
(ประมุขของรัฐ และผู้นำรัฐบาลโอมาน)
ประชากร 5,154,545 คน เป็นชาวโอมาน 2,917,000 คน และเป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศ 2,237,545 คน (ข้อมูลเมื่อ ต.ค.2566 ของสำนักงานสถิติและข้อมูลแห่งชาติโอมาน) ผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายอาหรับ บาลูช เอเชียใต้ (บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา) และแอฟริกา ประชากรจำแนกตามอายุ ได้แก่ วัยเด็ก (0-14 ปี) 29.88% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66.17% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.95% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 77.2 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 75.2 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 79.2 ปี อัตราการเกิด 21.6 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.2 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.8% (ประมาณการปี 2566)
การก่อตั้งประเทศ ในอดีต รัฐสุลต่านโอมาน หรือประเทศมัสกัตและโอมาน ถูกปกครองโดยราชวงศ์อาลซะอีด ที่สถาปนาขึ้นโดยอิหม่าม อะห์มัด บิน ซะอีด ตั้งแต่ปี 2287 มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มัสกัตและโอมานได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพกับสหราชอาณาจักรหลายฉบับซึ่งแม้มีผลทำให้มัสกัตและโอมานต้องพึ่งพาสหราชอาณาจักรหลายด้าน ทั้งการเมืองและการขอรับคำปรึกษาด้านการทหาร แต่ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นอาณานิคมหรือเป็นรัฐในอารักขา ส่วนการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ เกิดขึ้นเมื่อสุลต่านกอบูส บิน ซะอีด อาลซะอีด เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านพระองค์ที่ 14 ของราชวงศ์อาลซะอีดเมื่อ 23 ก.ค.2513 ด้วยการยึดอำนาจสุลต่าน ซะอีด บิน ตัยมูร พระราชบิดา และประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจากมัสกัตและโอมาน เป็นรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของประเทศ ต่อมา เมื่อ 6 พ.ย.2539 สุลต่านกอบูสทรงประกาศใช้ Basic Law ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโอมาน โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติ ที่มาของ นรม. การห้าม รมต. มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ การจัดตั้งรัฐสภา และการให้หลักประกันเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน สำหรับ Basic Law ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฎีกา ปี 2564
การเมือง โอมานปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) โดยสุลต่านแห่งรัฐทรงเป็นประมุขของประเทศ และมีอำนาจสูงสุด โดยเป็นผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ และผู้ว่าการธนาคารกลาง สุลต่านพระองค์ปัจจุบัน คือ สุลต่านฮัยษัม บิน ฏอริก บิน ตัยมูร อาลซะอีด (พระชนมพรรษา 67 พรรษา/ปี 2565) เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 11 ม.ค.2563 สืบต่อจากสุลต่าน กอบูส บิน ซะอีด อาลซะอีด ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อ 10 ม.ค.2563 ทั้งนี้ ตลอดการครองราชย์ของอดีตสุลต่าน กอบูส ทรงมิได้แต่งตั้งรัชทายาทดังเช่นที่มีการปฏิบัติกันในราชวงศ์อื่น ๆ ของรัฐรอบอ่าวอาหรับ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพระองค์ไม่มีทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดา ขณะที่มาตรา 6 ของ Basic Law กำหนดให้สุลต่านมาจากการคัดเลือกโดยสภาพระราชวงศ์ (Ruling Family Council) ซึ่งต้องลงมติคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งสุลต่านพระองค์ใหม่ภายใน 3 วัน หลังจากสุลต่านพระองค์ปัจจุบันเสด็จสวรรคต ยกเว้นกรณีไม่สามารถลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ก็ให้บุคคลที่สุลต่านทรงโปรดให้สืบราชสมบัติขึ้นดำรงตำแหน่งสุลต่านแทน โดยอดีตสุลต่าน กอบูส ทรงทำหนังสือแสดงพระราชประสงค์ให้ ซัยยิด ฮัยษัม ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องพระญาติสนิท สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ และที่ประชุมสภาพระราชวงศ์มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งให้ ซัยยิด ฮัยษัม ขึ้นครองราชย์เป็นสุลต่านพระองค์ใหม่ ตามพระราชประสงค์ของอดีตสุลต่าน กอบูส
ภายหลังการขึ้นครองราชย์ สุลต่านฮัยษัม ทรงออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไข Basic Law เมื่อ 11 ม.ค.2564 โดยแก้ไขและเพิ่มเติม มาตรา 5 เกี่ยวกับการสืบทอดราชสมบัติ ด้วยการกำหนดให้ตำแหน่งสุลต่านโอมานจะสืบทอดโดยพระราชโอรสพระองค์แรกของสุลต่านทุกพระองค์ กรณีผู้สืบทอดตำแหน่งสุลต่านโอมานมีอายุต่ำกว่า 21 ปี จะต้องมีผู้สำเร็จราชการที่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่านและสภาพระราชวงศ์ ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวทำให้ ซัยยิด ซียะซัน บิน ฮัยษัม บิน ฏอริก บิน ตัยมูร อาลซะอีด (พระชนมมายุ 32 พรรษา/ปี 2565) พระราชโอรสพระองค์แรกของ สุลต่าน ฮัยษัม และ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และเยาวชน ทรงได้รับการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของโอมาน และเป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจาก สุลต่าน ฮัยษัม อย่างเป็นทางการ
Basic Law ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรของโอมาน แบ่งอำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายบริหาร : มีคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers หรือ Diwan) ที่มาจากการแต่งตั้งโดยสุลต่าน มีหน้าที่ช่วยเหลือองค์สุลต่านในการบริหารบ้านเมือง อย่างไรก็ดี อดีตสุลต่านกอบูส ทรงมีพระราชประสงค์
ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลได้ โดยมีรัฐสภาเป็นเวทีปรึกษา
หารือ และทำงานร่วมกับรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีสภาโอมาน (Council of Oman) จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริอดีตสุลต่านกอบูส เมื่อ ต.ค.2540 ทำหน้าที่เสมือนรัฐสภา ประกอบด้วย 1) สภาสูง (มัจญ์ลิสอัดเดาละฮ์ หรือ Council of State) มีสมาชิก 85 คน มาจากแต่งตั้งโดยตรงของสุลต่าน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ การแต่งตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 11 ก.ค.2562 และ 2) สภาล่าง (มัจญ์ลิส
อัชชูรอ หรือ Consultative Council) มีสมาชิก 86 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่สุลต่านทรงมีอำนาจตัดสินผลการเลือกตั้งในขั้นสุดท้าย มีวาระ 4 ปี การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 27 ต.ค.2562 ทั้งสองสภาทำหน้าที่
เพียงกลั่นกรองร่างกฎหมาย ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่รัฐบาล แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ นอกจากนี้ ยังไม่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองในโอมาน แต่รัฐบาลอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ปัจจุบัน
มีสหภาพแรงงานทั่วประเทศกว่า 70 แห่ง
ฝ่ายตุลาการ : สุลต่านทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาลฎีกา (Supreme Court) ระบบกฎหมายใช้หลัก Common Law แบบเดียวกับสหราชอาณาจักร และบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดสามารถขอพระราชทานอภัยโทษจากสุลต่านได้ และให้ถือว่าคำตัดสินของสุลต่านเป็นที่สิ้นสุด
เศรษฐกิจ การผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกตั้งแต่ปี 2510 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโอมาน จากเดิมที่มีภาคการเกษตรและประมงเป็นพื้นฐานไปเป็นการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบเป็นหลัก และนำรายได้ดังกล่าวมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภครวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโลกอาหรับ ปัจจุบัน ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ โอมานเป็นประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ด้วยเหตุนี้ โอมานจึงผลิตน้ำมันได้อย่างอิสระ ปราศจากการถูกจำกัดเพดานการผลิต
อดีตสุลต่านกอบูส ของโอมาน ทรงกำหนดแผนปฏิรูปประเทศฉบับใหม่ ที่เรียกว่า “Oman Vision 2040” เมื่อ ก.ย.2562 ซึ่งเป็นการวางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะ
21 ปี ระหว่างปี 2562-2583 โดยมีเป้าหมายสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ลดบทบาทภาครัฐและเพิ่มบทบาทเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาและสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะแรงงาน และการผลักดัน GDP ของประเทศให้ขยายตัวถึง 10%
นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) การลดการพึ่งพารายได้จากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นที่มิใช่น้ำมัน โดยเฉพาะการผลิตก๊าซธรรมชาติ การท่องเที่ยว และการ
แปรรูปรัฐวิสาหกิจ 2) การส่งเสริมให้จ้างงานชาวโอมาน (Omanization) มากขึ้น เพื่อลดปัญหาเศรษฐกิจและ
สังคม ที่อาจเกิดขึ้นจากการมีอัตราการเพิ่มของประชากรสูง โดยมีประชากรในวัยเรียนจนถึงวัยทำงานเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ 3) การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติด้วยการออกกฎหมายการลงทุน (Foreign Capital Investment Law) ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ที่เริ่มมีผลบังใช้ตั้งแต่ ม.ค.2563 ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การไม่มีกำหนดขั้นต่ำของเงินลงทุน เพิ่มประเภทธุรกิจให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของได้ 100% ในหลายสาขามากขึ้น เปิดเสรีการโอนเงินตราต่างประเทศและผลกำไรในการประกอบธุรกิจออกนอกประเทศ และ 4) การผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุนในโอมานของเอกชนในประเทศ เช่น
การยกเว้นการเก็บภาษีเป็นเวลา 5 ปี สำหรับอุตสาหกรรมบางสาขา การลดภาษีเงินได้ให้บริษัทต่างชาติที่มีชาวโอมานถือหุ้นอย่างน้อย 51%
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ : น้ำมันดิบ ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 4,706 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 21 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 993,400 บาร์เรล (ข้อมูลเมื่อ ต.ค.2564 ของสำนักงานสถิติและข้อมูลแห่งชาติโอมาน) และส่งออกได้วันละ 814,656 บาร์เรล (ข้อมูลเมื่อ ก.พ.2564 ของกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุก๊าซธรรมชาติโอมาน) ซึ่งมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว ประมาณ 673,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (มากเป็นอันดับ 28 ของโลก) กำลังการผลิตวันละ 45,160 ล้านลูกบาศก์เมตร และส่งออกได้วันละ 13,270 ล้านลูกบาศก์เมตร (ข้อมูลเมื่อ พ.ย.2564 ของ Gas Exporting Countries Forum หรือ GECF ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศผู้ส่งออกก๊าซชั้นนำของโลก)
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รียาลโอมาน (Omani Riyal-OMR) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ผูกค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : ประมาณ 0.9 รียาลโอมาน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : ประมาณ 94.28 บาท : 1 รียาลโอมาน (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 200,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2566 ของ IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.2%
อัตราเงินเฟ้อ : 1.1%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 5,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 39,340 ดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ : 17,606,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2565 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 2,243,287 คน (ข้อมูลเมื่อปี 2565 ของธนาคารโลก)
อัตราการว่างงาน : 3.04%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ได้เปรียบดุล 27,752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2565 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 66,456 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียม รวมถึงน้ำมันดิบ (66.2%) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น (28.5%) พลาสติก สารเคมีอินทรีย์ อลูมิเนียม ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์การเกษตร และอาหาร รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภค (5.4%) เช่น บุหรี่ นม ขนมปัง ซอสปรุงรส น้ำมันปาล์ม และอื่น ๆ เช่น การส่งออกสินค้าต่อไปประเทศที่ 3 (re-export)
ประเทศส่งออกสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ จีน อินเดีย ไต้หวัน สหรัฐฯ อิรัก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
มูลค่าการนำเข้า : 38,704 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต่าง ๆ (58.7%) เช่น แร่เหล็ก อัญมณี เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (17.1%) เช่น นม ข้าว เนื้อสัตว์ปีกที่กินได้ ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (21.9%) และอื่น ๆ (2.3%)
ประเทศนำเข้าสำคัญ : สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหภาพยุโรป จีน อินเดีย กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และบราซิล
การทหาร กองทัพโอมานมีขนาดกะทัดรัด แต่มีประสิทธิภาพและความเป็นมืออาชีพสูงมาก โดยได้รับความร่วมมือและจัดหายุทโธปกรณ์มาจากสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และฝรั่งเศส เป็นหลัก เมื่อปี 2565 โอมานใช้งบประมาณทางทหารประมาณ 6,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.9% ของ GDP) นอกจากนี้ โอมานอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศได้ เนื่องจากความกังวลหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 2522 สงครามอิรัก-อิหร่านเมื่อปี 2523-2531 รวมทั้งการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตเข้าไปในเยเมนเหนือ และการที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน ทำให้อดีตสุลต่านกอบูส ทรงตกลงในหลักการเมื่อ ก.พ.2523 ให้เกาะมะศีเราะฮ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของโอมาน เป็นที่ตั้งฐานทัพของกองกำลังสหรัฐฯ ในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งมีการลงนามสนธิสัญญาป้องกันร่วมโอมาน-สหรัฐฯ เมื่อ มิ.ย.2523 ซึ่งสาระสำคัญระบุว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่โอมาน รวมทั้ง มีภาระผูกพันต่อความมั่นคงของโอมาน แลกกับการที่โอมานอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของโอมานได้
กองทัพโอมานมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า กองทัพของสุลต่าน (Sultan’s Armed Force-SAF) จัดตั้งขึ้น โดยความช่วยเหลือของสหราชอาณาจักรเมื่อต้นทศวรรษ 1950 ปัจจุบัน มีกำลังพลทั้งสิ้น 42,600 นาย ประกอบด้วย
ทบ. มีกำลังพล 25,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ คือ ถ. (MBT) รุ่น CR2 Challenger จำนวน 38 คัน รุ่น M60A1 จำนวน 6 คัน รุ่น M60A3 จำนวน 73 คัน ถ. (LT/TK) รุ่น FV101 Scorpion จำนวน 37 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่น Pars III 6×6 จำนวน 12 คัน รถทหารราบหุ้มเกราะ (IFV) รุ่น Pars III 8×8 จำนวน 72 คัน รถสายพานลำเลียงหุ้มเกราะ (APC) รุ่น FV4333 Stormer จำนวน 10 คัน รุ่น Pars III 6×6 จำนวน 15 คัน รุ่น Pars III 8×8 จำนวน 47 คัน รุ่น Piranha จำนวน 175 คัน รุ่น AT-105 Saxon จำนวน 15 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะอเนกประสงค์ (AUV) รุ่น FV103 Spartan จำนวน 6 คัน รุ่น FV105 Sultan จำนวน 13 คัน และรุ่น VBL 124 คัน ปืนใหญ่อัตตาจร (SP) รุ่น G6 จำนวน 24 กระบอก ปืนใหญ่ลากจูง (TOWED) รุ่น L118 Light Gun จำนวน 42 กระบอก รุ่น D-30 จำนวน 30 กระบอก รุ่น M-46 จำนวน 12 กระบอก รุ่น Type-59-I จำนวน 12 กระบอก รุ่น FH-70 จำนวน 12 กระบอก เครื่องยิงลูกระเบิด (MOR) ขนาดและรุ่นต่าง ๆ มากกว่า 100 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง (MSL) แบบ SP รุ่น VBL จำนวน 8 ลูก แบบ MANPATS รุ่น FGM-148 Javelin รุ่น Milan และรุ่น TOW/TOW-2A (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน (SAM) รุ่น Mistral รุ่น FGM-148 Javelin และรุ่น 9K32 Strela-2 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่วิถีราบ (GUNS) รุ่น ZU-23-2 จำนวน 4 กระบอก รุ่น GDF-005 จำนวน 10 กระบอก และรุ่น L/60 จำนวน 12 กระบอก นอกจากนี้ มีรายงานว่า โอมานเป็นประเทศที่มีอาวุธปล่อย Scud ไว้ในประจำการมากที่สุดในโลกกว่า 30,000 ลูก
ทร. มีกำลังพล 4,200 นาย เรือรบและอาวุธสำคัญ คือ เรือคอร์เวตต์ติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือ (FSGM) ชั้น Qahir จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ (PCFG) ชั้น Dhofar จำนวน 1 ลำ เรือตรวจการณ์นอกชายฝั่ง (PCO) ชั้น Al Ofouq จำนวน 4 ลำ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (PCC) ชั้น Al Bushra จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลขึ้นบกรุ่นต่าง ๆ จำนวน 6 ลำ และเรือส่งกำลังบำรุงรุ่นต่าง ๆ จำนวน 8 ลำ
ทอ. มีกำลังพล 5,000 นาย และอากาศยานประเภทต่าง ๆ กว่า 200 เครื่อง อากาศยานสำคัญ ได้แก่ บ.ขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-16C จำนวน 17 เครื่อง รุ่น F-16D จำนวน 6 เครื่อง และรุ่น Typhoon จำนวน 12 เครื่อง บ.ลาดตระเวนทางทะเล (MP) รุ่น C295MPA จำนวน 4 เครื่อง บ.ลำเลียง (TPT) รุ่น C-130H จำนวน 3 เครื่อง รุ่น C-130J จำนวน 2 เครื่อง รุ่น C-130J-30 จำนวน 1 เครื่อง รุ่น C259M จำนวน 4 เครื่อง และรุ่น A320-300 จำนวน 2 เครื่อง ฮ.โจมตี (MRH) รุ่น Super Lynx Mk300 จำนวน 15 เครื่อง ฮ.ลำเลียง (TPT) รุ่น NH90 TTH จำนวน 20 เครื่อง รุ่น Bell 206 จำนวน 3 เครื่อง และรุ่น Bell 212 จำนวน 3 เครื่อง อาวุธปล่อยแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) พิสัยใกล้รุ่น NASAMS (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) และ Point-defence รุ่น Rapier จำนวน 40 ลูก ขีปนาวุธแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น AIM-9/M/P Sidewinder และรุ่น AIM-9X Sidewinder ขีปนาวุธแบบนำวิถี ด้วยเรดาร์ (ARH) รุ่น AIM-120C7 AMRAAM แบบอากาศสู่พื้น (ASM) รุ่น AGM-65D/G Maverick และขีปนาวุธต่อต้านเรือ (AShM) รุ่น AGM-84D Harpoon (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ระเบิด (BOMS) แบบนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่น EGBU-10 Paveway II รุ่น EGBU-12 Paveway II และรุ่น GBU-31 JDAM (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– กองกำลังส่วนพระองค์ของสุลต่าน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยตรงจากสุลต่าน ประกอบด้วย กองกำลังภาคพื้นดิน อากาศ และทางเรือ รวมประมาณ 6,400 นาย กับหน่วยรบพิเศษ 2 กรม
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังกึ่งทหาร ประกอบด้วย หน่วยทหารพราน Tribal Home Guard ประมาณ 4,000 นาย หน่วยตำรวจยามฝั่ง 400 นาย และกองบินตำรวจ (ไม่ทราบจำนวน)
ปัญหาด้านความมั่นคง
โอมานเคยประสบปัญหาการรุกล้ำพรมแดนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์จากเยเมนใต้ระหว่างปี 2508-2518 แต่สามารถเอาชนะกลุ่มดังกล่าวได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน จอร์แดน และสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน ยังไม่มีปัญหาจากกลุ่มติดอาวุธใด ๆ ภายในประเทศ อีกทั้ง ไม่ปรากฏว่ามีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ตาม โอมานอาจจะเผชิญปัญหาความมั่นคงที่สำคัญ คือ
1) การแพร่ขยายแนวคิดของกลุ่ม Islamic State (IS) ในโอมาน เนื่องจากตรวจพบวัยรุ่นชาวโอมานเดินทางไปร่วมรบในอิรักและซีเรีย โดยมีบางส่วนเดินทางกลับประเทศแล้ว และรัฐบาลโอมานห่วงกังวลว่า กลุ่มนักรบที่เดินทางกลับจากพื้นที่สู้รบอาจกลับมาจัดตั้งสมาชิกที่สนับสนุนกลุ่ม IS ในโอมานและรอเวลาก่อเหตุรุนแรงในประเทศ รวมทั้งอาจโอมานเป็นช่องทางที่กลุ่มนักรบต่างชาติใช้เดินทาง
ผ่านเพื่อไปเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายในอิรัก ซีเรีย และเยเมน
2) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (Al-Qaeda in the Arabian Peninsula-AQAP) ที่มีฐานมั่นในภาคตะวันออกติดชายแดนภาคใต้ของโอมาน และกลุ่ม IS ในเยเมนที่เข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ของเยเมนเช่นกัน
3) การเฝ้าระวังติดตามการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายทางทะเลและโจรสลัดโซมาเลียที่ขยายพื้นที่ปฏิบัติการไปถึงน่านน้ำนอกชายฝั่งเศาะลาละฮ์ เมืองท่าทางใต้ของโอมาน แม้ว่าสถานการณ์ปล้นเรือและโจรสลัด บริเวณดังกล่าวลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับจากเกิดเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน MV M. Star ของบริษัทเดินเรือญี่ปุ่นได้รับความเสียหายขณะแล่นผ่านน่านน้ำโอมานในช่องแคบฮอร์มุซเมื่อ 28 ก.ค.2553 ที่กลุ่ม Abdullah Azzam Brigades ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายอัลกออิดะฮ์ อ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว และเหตุโจรสลัดโซมาเลียปล้นยึดเรือบรรทุกสารเคมี MT Fairchem Bogey ของอินเดีย บริเวณนอกชายฝั่งเศาะลาละฮ์เมื่อ ส.ค.2554
ความสัมพันธ์ไทย-โอมาน
โอมานกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 30 ก.ค.2523 และไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต เมื่อ 9 ก.ค.2530 ส่วนโอมานเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทพฯ เมื่อ 27 ก.ค.2537 ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดีต่อกันมาโดยตลอด และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างสองฝ่ายที่สำคัญ ได้แก่ การเยือนโอมานอย่างเป็นทางการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รอง นรม. พร้อมด้วยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่าง 31 ม.ค.-1 ก.พ.2559 ขณะที่นาย Yusuf bin Alawi bin Abdullah รมต.รับผิดชอบกิจการต่างประเทศโอมาน เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่าง 9-12 มี.ค.2562 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ โอมานเป็นหนึ่งในมิตรประเทศที่คอยสนับสนุนไทยในการทำความเข้าใจกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นอย่างดี
ด้านเศรษฐกิจ การค้าไทย-โอมาน เมื่อปี 2565 มีมูลค่า 2,748.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (96,215.61 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 1,841.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (58,495.45 ล้านบาท) โดยปี 2565 ไทยส่งออกมูลค่า 468.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,239.53 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 2,279.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (79,976.08 ล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 1,811.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (63,736.55 ล้านบาท) ขณะที่การค้าไทย-โอมาน ห้วง ม.ค.-ต.ค.2566 มีมูลค่า 1,439.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (49,521.10 ล้านบาท) ลดลงเมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันเมื่อปี 2565 โดยไทยส่งออก มูลค่า 342.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,257.46 ล้านบาท) นำเข้ามูลค่า 1,097.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (37,801.40 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ยางและของ ที่ทำด้วยยาง ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาหรือสัตว์น้ำ เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ธัญพืช ผลไม้ เนื้อสัตว์และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ สินค้านำเข้าสำคัญจากโอมาน ได้แก่ เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว เหล็กและเหล็กกล้า ปุ๋ย เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ปลาและสัตว์น้ำ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เกลือ กำมะถัน ดิน และหิน วัตถุจำพวกปลาสเตอร์ ปูนขาวและซีเมนต์ ของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า
ด้านพลังงาน ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากโอมานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายผ่านบริษัทค้าน้ำมันระหว่างประเทศ ส่วนการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ฝ่ายโอมานได้ลงนามสัญญาซื้อขายเมื่อปี 2542 โดยเพิ่มปริมาณการขายน้ำมันดิบให้ไทยเป็นวันละ 17,000 บาร์เรล อย่างไรก็ดี การนำเข้าน้ำมันดิบจากโอมานของไทย ห้วงปี 2565-2566 เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และปี 2563
สำหรับการลงทุนของไทยในโอมาน โดยเฉพาะด้านพลังงาน มีบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตน้ำมันในแปลงสัมปทานที่ 44 ครอบคลุมแหล่ง Shams และ Munhamir จากกระทรวงน้ำมันและก๊าซโอมานตั้งแต่ปี 2545 โดย ปตท.สผ. เป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเองทั้งหมด มีการเปิดสำนักงานบริษัท PTTEP Oman Company Limited (PTTEP OM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ที่กรุงมัสกัต เมื่อ 24 ม.ค.2546 และเริ่มการผลิตตั้งแต่ พ.ค.2550 สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณวันละ 19 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวได้ประมาณวันละ 904 บาร์เรล ทั้งนี้ แม้ ปตท.สผ. ปรับการบริหารการลงทุน โดยได้พิจารณาขาย PTTEP OM ให้แก่บริษัท ARA Petroleum LLC ของโอมาน เมื่อ ส.ค.2559 แต่ ปตท.สผ. ยังคงสนใจที่จะลงทุนในโอมานต่อไป โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและโอกาสในการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระหว่าง ปตท.สผ. กับบริษัท Oman Oil Company Exploration and Production L.L.C (OOCEP) ในเครือบริษัท Oman Oil Company ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติโอมาน เมื่อ ก.ค.2559 ขณะที่เมื่อ พ.ค.2565 ปตท.สผ. ลงนามซื้อขายน้ำมันดิบโอมาน กับ PTTEP OM และบริษัท PTTEP MENA Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.สผ. ในโอมาน ปริมาณ 9,000,000 บาร์เรลต่อปี
นอกจากนี้ บริษัท PTTEP HK Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อซื้อสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท Partex Holding B.V. ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมในตะวันออกกลางและร่วมลงทุนกับบริษัทพลังงานในโอมาน ตั้งแต่ 17 มิ.ย.2562 ได้แก่ 1) โครงการ PDO (Block 6) เป็นโครงการผลิตน้ำมันบนบกที่มีศักยภาพและขนาดใหญ่ที่สุดในโอมาน ตั้งอยู่ในภาคกลางและครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ ปริมาณการผลิตเมื่อปี 2561 ประมาณวันละ 610,000 บาร์เรล 2) โครงการ Mukhaizna (Block 53) เป็นแหล่งผลิตน้ำมันบนบกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในภาคใต้ของโอมาน ปริมาณการผลิตเมื่อปี 2561 ประมาณวันละ 120,000 บาร์เรล และ 3) โครงการ Oman LNG Project (OLNG) เป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในประเทศ ตั้งอยู่ในภาคใต้ของโอมาน
มีกำลังการผลิตรวม 10.4 ล้านตันต่อปี
การลงทุนด้านพลังงานที่ไม่ใช่น้ำมัน มีบริษัท Gulf Energy Development ของไทย ลงนามเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท Duqm Power Company L.L.C. ของโอมาน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงผลิตไฟฟ้าและน้ำจืดโดยใช้ก๊าซธรรมชาติ (Duqm Independent Power & Water Project) ร่วมกับบริษัท Oman Oil เมื่อ 6 ก.ย.2561 ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำจืดป้อนให้โรงกลั่นน้ำมันที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Duqm (Duqm Special Economic Zone-SEZAD) มูลค่าโครงการ 483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านแรงงาน การท่องเที่ยว การบริการด้านโรงแรม และการแพทย์ มีชาวโอมานเดินทางมาไทย ปีละมากกว่า 90,000 คน โดยห้วงปี 2566 อยู่ที่กว่า 74,500 คน (ข้อมูลเมื่อ ต.ค.2566 ของกระทรวงการท่องเที่ยว) กลับมาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับห้วงปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ทั่วโลก รวมถึงไทยและโอมานต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ส่วนชาวไทยในโอมาน มีประมาณ 590 คน (ข้อมูลปี 2564 กระทรวงแรงงานไทย) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคบริการในธุรกิจโรงแรม ร้านเสริมสวย สปา และพ่อครัว ปัจจุบันมีภาคธุรกิจโรงแรมเครือโรงแรมเซ็นทาราของไทยเข้าไปลงทุนเปิดโรงแรมเซ็นทารา มัสกัต โอมาน ซึ่งเปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ค.2560 ด้านบริการการแพทย์ ชาวโอมานนิยมเดินทางมารักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพในไทย (ประมาณปีละ 3,000 คน) และมีโรงพยาบาลของไทย ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลปิยะเวท และโรงพยาบาลเวชธานี เข้าไปเปิดสำนักงานส่งต่อผู้ป่วย (Referral office) ที่กรุงมัสกัต เพื่อให้บริการผู้ป่วยชาวโอมานที่ประสงค์จะมารับการรักษาพยาบาลในไทย
ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (5 มิ.ย.2522) ความตกลงว่าด้วยการค้า (8 มิ.ย.2541) ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร (13 ต.ค.2546) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ (27 เม.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (21 ก.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งรัฐสุลต่านโอมาน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการหารือว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งรัฐสุลต่านโอมาน (1 ก.พ.2559)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) ความพยายามของโอมานในการเป็นคนกลางผลักดันการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ในประเด็นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หลังจากร่วมกับกาตาร์ผลักดันให้อิหร่านปล่อยชาวอเมริกันที่ถูกควบคุมตัวในอิหร่าน แลกกับการที่สหรัฐฯ ผ่อนปรนให้อิหร่านสามารถเข้าถึงเงินทุนมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของอิหร่านในเกาหลีใต้ รวมถึงการปล่อยตัวชาวอิหร่านที่ถูกสหรัฐฯ ควบคุมตัวได้สำเร็จ เมื่อ 18 ก.ย.2566
2) การผลิตและพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของโอมาน โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency-IEA) ประเมินว่า โอมานมีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่เอื้อต่อการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว และรัฐบาลโอมานส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หากโอมานสามารถพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวให้บรรลุได้ตามเป้าหมายภายในปี 2573 โอมานจะเป็นผู้ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) คาดการณ์ส่วนแบ่งการส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวในอนาคต โอมานจะสูงถึงร้อยละ 61 ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ร้อยละ 20 และซาอุดีอาระเบียร้อยละ 16