ราชอาณาจักรกัมพูชา
(Kingdom of Cambodia)
เมืองหลวง ราชธานีพนมเปญ
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ 10-14 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 102-107 องศาตะวันออก มีพื้นที่ 181,035 ตร.กม. (ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 90 ของโลก)
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับไทย (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์) และลาว
ทิศใต้ ติดกับอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดกับเวียดนาม
ทิศตะวันตก ติดกับไทย (จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด)
ภูมิประเทศ ลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่ตอนกลางประเทศเป็นที่ราบลุ่มระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำบาสัคและมีทะเลสาบขนาดใหญ่อันอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทิศเหนือและตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบสูงป่าโปร่ง ป่าทึบและเทือกเขาสลับซับซ้อนเสมือนเป็นขอบกระทะ
วันชาติ 9 พ.ย. (วันประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส 9 พ.ย.2496)
สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต
(Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet)
นรม. และประธานพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP)
ประชากร ประมาณ 16.99 ล้านคน (ม.ค.2567) ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเขมร 95.4% รองลงมาคือ ชาวจาม (มุสลิม) 2.4% จีน 1.5% เวียดนาม 0.1% ที่เหลือเป็นชาวเขา และไทย 0.9% สัดส่วนประชากรจำแนกตามอายุ:
วัยเด็ก (0-14 ปี) 30.18% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 65.23% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.59% อายุขัยเฉลี่ยของประชากรประมาณ 66.27 ปี เพศชายประมาณ 63.7 ปี เพศหญิงประมาณ 68.95 ปี อัตราการเกิด 20.84 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 7.15 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.08%
การก่อตั้งประเทศ มีวิวัฒนาการมาจาก 3 อาณาจักรโบราณ คือ ฟูนัน เจนละ และจามปา (พุทธศตวรรษที่ 6-14) จนกระทั่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ปี 1345-1395) ก่อตั้งอาณาจักรขอมได้สำเร็จ และต่อมาสามารถขยายอำนาจได้กว้างขวางถึง 1 ใน 3 ของภูมิภาคอินโดจีนรวมระยะเวลาประมาณ 400 ปี จากนั้นเริ่มเสื่อมอำนาจเนื่องจากทุ่มเททรัพยากรก่อสร้างศาสนสถานจำนวนมาก ประกอบกับอาณาจักรข้างเคียงเข้มแข็งขึ้นจึงเสียดินแดนบางส่วนให้สุโขทัย หลังจากนั้นอีกประมาณ 300 ปีตกอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา เวียดนาม และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในฐานะประเทศราชสลับกับมีเอกราชช่วงสั้น ๆ ก่อนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (ปี 2406-2496) ในยุคล่าอาณานิคม
กัมพูชาเปลี่ยนชื่อประเทศและระบบการปกครองรวม 5 ครั้ง ซึ่งเกือบตลอดระยะนั้นเป็นช่วงที่กัมพูชาไร้เสถียรภาพและเกิดสงครามกลางเมือง ดังนี้ ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี 2491-2513 สาธารณรัฐเขมร ปี 2513-2518 กัมพูชาประชาธิปไตย ปี 2518-2522 สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ปี 2522-2532 รัฐกัมพูชา ปี 2532-2534 สิ้นสุดยุคสงครามกลางเมือง สหประชาชาติจัดตั้ง United Nations Advance Mission in Cambodia (UNAMIC) ก่อนปรับเป็น United Nations Transitional Authority in Cambodia (UNTAC) เพื่อช่วยเหลือกัมพูชาควบคุมดูแลการหยุดยิงโดยสมัครใจของฝ่ายต่าง ๆ และเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ช่วงปี 2534-2536 ซึ่งนำมาสู่การปกครองในระบอบปัจจุบันตั้งแต่ปี 2536
การเมือง ปกครองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภามีกษัตริย์ (สมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี)
เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (สภาราชบังลังก์คัดเลือกกษัตริย์)
ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล : หลังการเลือกตั้งทั่วไปพรรคเสียงข้างมากหรือพรรคต่าง ๆ ร่วมกันเสนอชื่อ นรม. ให้สภาแห่งชาติ (สภาผู้แทนราษฎร) รับรองด้วยเสียงเกินครึ่งและกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง รัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโดย นรม.ฮุน มาเนต เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ ส.ค.2566
ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา : ประกอบด้วย 2 สภาคือ 1) วุฒิสภา (62 คน วาระ 6 ปี ชุดปัจจุบันปี 2561-2567) มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ 2 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาแห่งชาติ 2 คน และมาจากสมาชิกสภาตำบล 58 คน และ 2) สภาแห่งชาติ (125 คน วาระ 5 ปี ชุดปัจจุบันปี 2566-2571) มาจากการเลือกตั้งทั่วไป
ฝ่ายตุลาการ : เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ สถาบันสูงสุดคือสภาผู้พิพากษาสูงสุดซึ่งมีกษัตริย์เป็นประธาน ทำหน้าที่แต่งตั้งผู้พิพากษา ระบบศาลประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูง
แต่ละจังหวัด/กรุง/ราชธานีมีศาลของตนเอง
พรรคการเมืองสำคัญ : ได้แก่ 1) พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party-CPP) ฝ่ายรัฐบาล ชนะการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อก.ค.2566 โดยมีสมาชิกสภาแห่งชาติ 120 คน สมาชิกวุฒิสภา 58 คน 2) พรรคฟุนซินเปค (Front Uni National pour un Cambodge Indépendant, Neutre, Pacifique, et Coopératif-FUNCINPEC) มีสมาชิกสภาแห่งชาติ 5 คน พรรคแสงเทียน (Candlelight Party-CP) ฝ่ายค้าน เปลี่ยนชื่อจากพรรคซัมรังสี เมื่อปี 2561 (สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคสงเคราะห์ชาติ หรือ CNRP ซึ่งถูกยุบพรรคเมื่อ พ.ย.2560) โดยเข้าร่วมการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อ 5 มิ.ย.2565 ได้รับเลือกตั้ง 4 ที่นั่ง จาก 1,652 ที่นั่ง สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ทางการกัมพูชาตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรค CP
เมื่อ มิ.ย.2566 กัมพูชาปรับแก้กฎหมายการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับสิทธิการเลือกตั้งและสิทธิสมัคร รับเลือกตั้ง โดยตัดสิทธิ์บุคคลผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง (โดยไม่มีเหตุที่ชอบด้วยกฎหมาย) จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของกัมพูชา ด้วยเหตุผลว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องมี
ความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองที่ดีในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้นายซัม รังสี อดีตประธานพรรค CNRP
(ลี้ภัยต่างประเทศ) ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ ก.ค.2566 พรรค CPP ชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นเมื่อ ส.ค.2566 ซึ่งมีการถ่ายโอนอำนาจให้กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ โดยนายฮุน มาเนต (บุตรชายคนโตของนายฮุน เซน อดีต นรม.) ดำรงตำแหน่ง นรม.คนใหม่ และ ครม.กัมพูชาชุดใหม่ส่วนใหญ่เป็นทายาททางการเมืองของแกนนำรัฐบาลรุ่นเก่า เช่น นายเตีย เซยฮา รมว.กห. (บุตรชาย พล.อ.เตีย บัญ อดีตรอง นรม./รมว.กห.) และนายซอ โซ๊ะคา รมว.มท. (บุตรชายนายซอ เค็ง อดีต รอง นรม./รมว.มท.) ทั้งนี้ อดีต นรม.ฮุน เซน ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี และประธานพรรค CPP รวมทั้งยังมีบทบาทสูงในการเมืองกัมพูชา
เศรษฐกิจ แบบทุนนิยม มีนโยบายเปิดเสรีเต็มที่ ภาพรวมเศรษฐกิจกัมพูชาตั้งแต่ปี 2541-2562 เติบโตในอัตราเฉลี่ย 7.7% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของภาคการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อปี 2565 เศรษฐกิจกัมพูชาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาคบริการฟื้นตัวมากที่สุด ในปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตกว่า 5.2% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงชะลอตัวจากการที่สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้ากัมพูชาบางส่วนตั้งแต่ ส.ค.2563 การที่สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาต่ออายุให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่กัมพูชา เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักจากอัตราเงินเฟ้อและราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2567 จาก 6.5% เหลือ 6.2% ต่ำกว่าที่รัฐบาลกัมพูชาคาดการณ์ไว้ที่ 6.6%
กัมพูชาประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศฉบับใหม่ คือ ยุทธศาสตร์เบญจโกณ ระยะที่ 1 (Pentagonal Strategy Phase I) เพื่อเป็นรากฐานให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 และประเทศรายได้สูงในปี 2573 (Cambodia Vision 2050) โดยจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยืดหยุ่นในภาวะวิกฤตการจ้างงาน ลดความยากจน และส่งเสริมสถาบันทางการเมืองและการปกครอง (กุญแจสำคัญในการพัฒนา 5 ประการ ได้แก่ การพัฒนาประชาชน น้ำ ถนน ไฟฟ้า และเทคโนโลยี) การผลักดันโครงการขยายบริการด้านสาธารณสุข จัดอบรมทักษะอาชีพให้เยาวชนในครอบครัวยากจน จัดตั้งสถาบันช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พัฒนาให้เศรษฐกิจนอกระบบใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในระบบ ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างภาคเกษตรและภาคการเงิน และส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรและการรวมตัวของเกษตรกร (นโยบายสำคัญ 6 ประการ) ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ และสอดคล้องกับคุณค่า การเติบโตการจ้างงาน ความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน (คติพจน์ 5 ประการ)
ปัจจุบัน กัมพูชามุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสนามบิน ถนน และเส้นทางรถไฟ ควบคู่กับปฏิรูปการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและรองรับการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการเชื่อมต่อทางการเงินดิจิทัลกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ ด้วยการทำความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) กับนานาประเทศ อาทิ จีน เกาหลีใต้ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การหาตลาดใหม่ ขณะเดียวกัน กัมพูชาเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันเพื่อการพาณิชย์จากแหล่งน้ำมันบนบก และอ่าวไทย ซึ่งคาดหวังให้เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : เรียล (Riel)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 4,124 เรียล (ต.ค.2566)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 บาท : 113.82 เรียล (ต.ค.2566) ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินบาทไทยสามารถใช้ซื้อขายสินค้าตามท้องตลาดของกัมพูชา (โดยเฉพาะในพื้นที่ติดชายแดนไทย) ขณะที่ชาวจีนสามารถชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินหยวน ผ่านรหัส QR
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 30,628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ : 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 12.1 เทียบกับปี 2565)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.1%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 298.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 1,784 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 10.8 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 0.3%
อัตราเงินเฟ้อ : 5.3%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 1,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
มูลค่าการส่งออก : 16,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
สินค้าส่งออก : สิ่งทอ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รองเท้า เครื่องหนัง ธัญพืช เฟอร์นิเจอร์ ยางพารา ไข่มุก ของเล่น ผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง กล้วย
มูลค่าการนำเข้า : 18,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ม.ค.-ก.ย.2566)
สินค้านำเข้า : ผ้า วัสดุก่อสร้าง น้ำมัน
คู่ค้าสำคัญ : จีน สหรัฐฯ เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป
การทหารและความมั่นคง
การทหาร
กองทัพแห่งชาติกัมพูชา ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติจากภัยคุกคามทั้งในและนอกประเทศตามนโยบายของรัฐบาลกัมพูชา โดยมี กห.ควบคุมบังคับบัญชา ประกอบด้วย บก.ทสส. ทบ. ทร. ทอ. และ
หน่วย Gendarmerie (คล้าย สห. แต่มีสถานะเทียบเท่าเหล่าทัพ) กำลังพล (ปี 2565) จำนวน 124,300 นาย แบ่งเป็น บก.ทสส. และ ทบ. 75,000 นาย ทร. 2,800 นาย ทอ. 1,500 นาย กองกำลังภูมิภาคทหาร 45,000 นาย ขณะที่หน่วย Gendarmerie ตร. และกองกำลังเสริมรวม 67,000 นาย การประกอบกำลังยึดหลักนิยมของประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกับกองทัพเวียดนาม แบ่งเขตรับผิดชอบเป็น 6 ภูมิภาคทหาร (ภูมิภาคทหาร 1-5 และภูมิภาคทหารพิเศษดูแลพื้นที่ราชธานีพนมเปญ) กำลังพลส่วนใหญ่วางกำลังในภูมิภาคทหารที่ 4 และ 5 ด้านชายแดนไทยรวมประมาณ 22,672 นาย
งบประมาณด้านการทหารปี 2565 กัมพูชาตั้งงบประมาณด้านการทหารและความมั่นคง 1,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเมื่อปี 2564 0.5% การเกณฑ์ทหาร ชายอายุ 18-30 ปีต้องเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 18 เดือน ประชากรที่สามารถเกณฑ์เป็นทหาร ชาย 3.88 ล้านคน หญิง 4 ล้านคน (ปี 2553)
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ กัมพูชาเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศและกลุ่มความร่วมมือรวม 43 องค์การ ที่สำคัญ ได้แก่ ADB, ARF, ASEAN, FAO, G-77, ILO, IMF, IMO, Interpol, NAM, UN, UNCTAD, UNESCO, UNWTO, WHO และ WTO
การขนส่งและโทรคมนาคม ระบบขนส่ง 1) ทางอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติและท่าอากาศยาน 16 แห่ง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ที่สำคัญคือ ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (เปิดให้บริการเมื่อ 16 ต.ค.2566) ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดพระสีหนุ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าอากาศยานขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานนานาชาติ Dara Sakor จ.เกาะกง ที่คาดจะเปิดให้บริการสิ้นปี 2567 และท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมา จ.กันดาล (ทดแทนท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ) คาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานในปี 2568 2) ทางรถไฟ 642 กม. จากเมืองศรีโสภณ จ.พระตะบอง-ราชธานีพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ขณะที่ทางรถไฟจากพระตะบอง-ปอยเปต เพื่อเชื่อมกับ จ.สระแก้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงเส้นทาง 3) ทางถนน 44,709 กม. ลาดผิวพื้น 3,607 กม. เส้นทางหลวงสายหลักคือ สาย 1-7 จากราชธานีพนมเปญไปยังจังหวัดชายแดน คือ สวายเรียง ตาแกว กัมปอต พระสีหนุ พระตะบอง บันเตียเมียนเจย กัมปงจาม ตามลำดับ และเมื่อ ต.ค.2565 กัมพูชาเปิดใช้งานทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างราชธานีพนมเปญ-จ.พระสีหนุ และ 4) ทางน้ำ 3,700 กม. มีท่าเรือขนาดใหญ่ 4 แห่ง ที่ราชธานีพนมเปญ (แม่น้ำโขง) เกาะกง และสีหนุวิลล์ (2 แห่ง) อยู่ระหว่างการก่อสร้างท่าเรือใน จ.แกบ และ จ.กัมปอต
โทรคมนาคม บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงพอต่อความต้องการ มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์จำนวน 6 ราย คือ Cellcard, Smart Axiata, Metfone, Seatel, Cootel และ qb ผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐาน 236,962 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอินเทอร์เน็ต 20.8 ล้านเลขหมาย (ก.ค.2564) โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้กันมากทั้งในเขตเมืองและชนบท รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +855 มีบริการเพียงพอติดต่อได้กับทุกประเทศ แต่ค่าบริการสูง สื่อสารมวลชน มีสถานีโทรทัศน์ทั้งของรัฐและเอกชนรวม 19 สถานี และมีโทรทัศน์ระบบเคเบิลและระบบดาวเทียม มีสถานีวิทยุประมาณ 221 แห่ง เป็นของรัฐ 1 แห่ง อินเทอร์เน็ตมีผู้ให้บริการ 47 ราย ผู้ใช้บริการ 17.2 ล้านคน (พ.ย.2565) รหัสอินเทอร์เน็ตประเทศ คือ .kh
การเดินทาง สายการบินไทยมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ราชธานีพนมเปญทุกวัน ระยะเวลาในการบินประมาณ 1 ชม. 10 นาที แต่ปัจจุบัน (ต.ค.2566) การบินไทยยังไม่เปิดเที่ยวบินมายัง จ.เสียมราฐ มีเพียงสายการบินเอกชน คือ สายการบินแอร์เอเชีย และบางกอกแอร์เวย์ ให้บริการ
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตทวิภาคีเมื่อ 19 ธ.ค.2493 ภาพรวมความสัมพันธ์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น บนพื้นฐานการยึดมั่นนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยน
การเยือนทุกระดับร่วมกับการส่งเสริมความร่วมมือรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน แรงงาน การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว รวมถึงการปราบปรามอาชญากรรมข้ามแดนร่วมกัน อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ทวิภาคีมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาเขตแดนและพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน
กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 2 ครั้ง สาเหตุจากข้อพิพาท ครั้งที่ 1 เมื่อ 24 พ.ย.2501 และสถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนเมื่อปี 2502 ครั้งที่ 2 เมื่อ 23 ต.ค.2504 สถาปนาความสัมพันธ์กลับคืนเมื่อปี 2509 ขณะที่ไทยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเหลือเป็นระดับอุปทูต 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จากเหตุการณ์เผา สอท.ไทย ณ กรุงพนมเปญ เมื่อ 30 ม.ค.2546 กลับสู่ระดับปกติเมื่อ 31 พ.ค.2546 และครั้งที่ 2 เมื่อ 5 พ.ย.2552 กรณีแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวของ อดีต นรม.ฮุน เซน ความสัมพันธ์กลับสู่ระดับปกติเมื่อ 24 ส.ค.2553
แนวโน้มความสัมพันธ์ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ของทั้งสองประเทศคาดจะเป็นไปอย่างราบรื่นและแน่นแฟ้นมากขึ้น จากความใกล้ชิดระดับพรรคแกนนำรัฐบาล นโยบายที่สอดคล้องกัน
โดยมุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการแก้ปัญหาพิพาทเขตแดน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามชาติ โดย นรม.ไทยเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เมื่อ 28 ก.ย.2566 ซึ่งถือเป็นประเทศแรกใน ASEAN ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง นรม.
ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การค้าทวิภาคีไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 168,917 ล้านบาท (4,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 14.2% จากปี 2564 (มูลค่าการค้า 4,083 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยกัมพูชานำเข้าจากไทยมูลค่า 138,784 ล้านบาท (3,832
ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่งออก 30,124.3 ล้านบาท (831.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยได้ดุลการค้า 108,651
ล้านบาท (3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีให้สูงถึง 15,000
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมถึงเพิ่มห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ
สำหรับการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อปี 2565 มีมูลค่า 198,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% จากปี 2564 โดยไทยส่งออก 164,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% และไทยนำเข้า 34,129 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.1% ไทยได้ดุลการค้า 130,057 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์นั่ง ยานพาหนะอื่น ๆ และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ ผ้าผืนและด้าย สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีอื่น ๆ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ผักและของปรุงแต่งจากผัก อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล ที่หุ้มฉนวนทองแดงและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ เหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้าใช้ในอุตสาหกรรม มอเตอร์ไฟฟ้า ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลไม้อื่น ๆ และของปรุงแต่งจากผลไม้
การลงทุน หลังจากกัมพูชามีกฎหมายการลงทุนเมื่อปี 2537 จนถึงปี 2564 ไทยลงทุนในกัมพูชาทั้งสิ้น 1,046.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 9 และเมื่อปี 2565 ไทยลงทุนในกัมพูชามากกว่า
2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กัมพูชาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นถึง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 8%
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทย-กัมพูชา : การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (1 ม.ค.2537) การจัดตั้งคณะกรรมการชายแดน (29 ก.ย.2538) สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (6 พ.ค.2541) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (14 มิ.ย.2543) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน (18 มิ.ย.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน (31 พ.ค.2546) พิธีสารยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางราชการ (8 ก.พ.2549) การโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (5 ส.ค.2552) ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดา (17 พ.ย.2553) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ธ.ค.2553 ความตกลงการตรวจลงตราเดียวตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Single Visa) ระหว่างกัมพูชากับไทย (26 ธ.ค.2555) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 ธ.ค.2555 โดยผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราเดียวจากกัมพูชาหรือไทยจะเดินทางเข้าได้ทั้งกัมพูชาและไทย ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง (11 ก.ค.2558) และความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (7 ก.ย.2560) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2561
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
1) การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ก.พ. 2567
2) ความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านกัมพูชาในต่างประเทศ ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว หรือทางผ่านเพื่อเดินทางเข้ากัมพูชา
3) ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหมิ่นสถาบันฯ และกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองของไทยในกัมพูชา
4) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call Center/Scammer) แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ การลักลอบตัดไม้ ยาเสพติด และสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดน
5) บทบาทของมหาอำนาจในกัมพูชาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทหาร
6) การแก้ปัญหาพิพาทเขตแดนระหว่างกัมพูชากับประเทศเพื่อนบ้าน