ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
Kingdom of Saudi Arabia
เมืองหลวง ริยาด
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างเส้นละติจูด 16-33 องศาเหนือ และระหว่างเส้นลองจิจูด 34-56 องศาตะวันออก ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอาระเบีย ซึ่งคั่นระหว่างทะเลแดงกับอ่าวอาหรับ (หรืออ่าวเปอร์เซีย) มีพื้นที่ประมาณ 2,149,690 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก และใหญ่กว่าไทยประมาณ 4 เท่า ริยาดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 5,733 กม. มีชายแดนทางบกยาว 4,272 กม. และมีชายฝั่งยาว 2,640 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจอร์แดน (731 กม.) และอิรัก (811 กม.)
ทิศตะวันออก ติดกับอ่าวอาหรับ/อ่าวเปอร์เซียและมีชายแดนทางบกติดกับคูเวต (221 กม.) กาตาร์ (87 กม.)
และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (457 กม.)
ทิศใต้ ติดกับเยเมน (1,307 กม.) และโอมาน (658 กม.)
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลแดง (มีชายฝั่งยาวประมาณ 1,760 กม.)
ภูมิประเทศ พื้นที่กว้างใหญ่ประมาณ 80% ของคาบสมุทรอาระเบีย ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ไม่มีแม่น้ำและทะเลสาบ จึงมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 1.67% น้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคประมาณ 60-70% มาจากการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (กำลังผลิตวันละ 5.7 ล้านลูกบาศ์กเมตร มากที่สุดในโลก) ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งทางตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งพื้นที่โอเอซิสที่อยู่ลึกเข้าไปด้านในของคาบสมุทรอาระเบีย ภาคตะวันตกเป็นที่ราบสูง ซึ่งแผ่นดินยกตัวจากทะเลแดงไปจนจรดเทือกเขาอัลฮิญาซที่ทอดตัวเป็นแนวยาวไปตามคาบสมุทรอาระเบีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงหลายลูก ความสูงเฉลี่ยประมาณ 3,000 ม. รวมทั้งภูเขาเซาดะฮ์ ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศ สูงถึง 3,200 ม. ภาคกลางเป็นที่ราบสูงนัจญ์ด ที่ราบขนาดใหญ่และมีโอเอซิสอยู่กระจัดกระจาย เป็นที่ตั้งของเมืองหลวง ภาคตะวันออกส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มซึ่งเต็มไปด้วยทรายและโขดหินต่อเนื่องไปจนจรดชายฝั่งอ่าวเปอร์เซีย ภาคใต้เป็นทะเลทรายทุรกันดารจนแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ โดยรู้จักกันในชื่อ อัรรุบอัลคอลี (Empty Quarter) ทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ 647,500 ตร.กม.
วันชาติ 23 ก.ย. (วันประกาศการรวมราชอาณาจักรเมื่อปี 2475)
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาลซะอูด
King Salman bin Abdulaziz Al Saud
(ประมุขของรัฐ และผู้นำรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย)
ประชากร 34,783,757 คน (ประมาณการ ก.ค.2564) โดยเป็นผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศ 38.3%
รายละเอียดประชากร เป็นเชื้อสายอาหรับ 90% และแอฟโฟร-เอเชีย 10% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 24.84% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 71.51% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 3.63% (ประมาณการปี 2563) อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโดยรวม 76.4 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 74.81 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 78.7 ปี อัตราการเกิด 14.56 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.39 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 1.62% (ประมาณการปี 2564)
การก่อตั้งประเทศ ความพยายามสถาปนาราชอาณาจักรขึ้นมาโดยอ้างความชอบธรรมที่จะทำให้ชาวอาหรับในคาบสมุทรอาระเบียกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฐอิสลามเพียงหนึ่งเดียวอีกครั้ง เริ่มปรากฏขึ้นจากการที่มุฮัมมัด อิบนุ ซะอูด เจ้าเมืองอัดดิรอียะฮ์ (อยู่ใกล้ริยาดในปัจจุบัน) สถาปนาราชวงศ์อาลซะอูดขึ้น
เมื่อปี 2287 โดยได้รับการสนับสนุนจากเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ซึ่งถูกขนานนามว่า เป็นผู้ให้กำเนิดแนวทางวะฮาบี (มีความหมายว่า ผู้ปฏิบัติตามแบบอย่างของเชค มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ) อย่างไรก็ดี
ความพยายามดังกล่าวต้องเผชิญอุปสรรคจากการที่ต้องต่อสู้แย่งชิงอำนาจกับอียิปต์ อาณาจักรออตโตมัน
(อุษมานียะฮ์) และราชวงศ์อื่น ๆ ในคาบสมุทรอาระเบีย จนกระทั่งสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ บิน
อับดุรเราะห์มาน อาลซะอูด หรือ “อิบนุ ซะอูด” ทรงรวบรวมดินแดนส่วนใหญ่ในคาบสมุทรอาระเบียได้สำเร็จ และสถาปนาดินแดนเหล่านี้เป็นราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตามชื่อราชวงศ์อาลซะอูด เมื่อ 23 ก.ย.2475
โดยมีริยาดเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
การเมือง ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) มีสมเด็จพระราชาธิบดี (Malik) ทรงเป็นพระประมุขของรัฐ อีกทั้งทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วยการทรงดำรงตำแหน่ง นรม. อย่างไรก็ดี พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดียังคงถูกจำกัดอยู่ภายใต้บทบัญญัติของศาสนาอิสลาม (ชะรีอะฮ์)
และราชประเพณีของราชวงศ์อาลซะอูด ที่จะต้องได้รับฉันทานุมัติจากสมาชิกพระราชวงศ์และผู้ทรงคุณวุฒิ
ทางศาสนา (อุละมาอ์) ขณะเดียวกัน มีความพยายามยกสถานะทางศาสนาของสถาบันกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย
ให้โดดเด่นในโลกมุสลิมมากขึ้น โดยในรัชสมัยสมเด็จพระราชาธิบดีฟะฮัด บิน อับดุลอะซีซ ทรงประกาศพระองค์เป็น “ผู้พิทักษ์มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง” (The Custodian of the Two Holy Mosques) หมายถึง มัสยิดฮะรอม ที่นครมักกะฮ์ และมัสยิดนะบะวีย์ ที่มะดีนะฮ์ ศาสนสถานสำคัญที่สุดของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้ใช้ตำแหน่งดังกล่าวแทนคำหน้าพระนามว่า “His Majesty” ทั้งนี้ ธรรมเนียมการเรียกขานดังกล่าวยังคงได้รับการปฏิบัติสืบมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบันของสมเด็จพระราชาธิบดี ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาลซะอูด ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 23 ม.ค.2558
ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีทรงขึ้นครองราชย์ และดำรงตำแหน่ง นรม. ด้วยการสืบราชสันตติวงศ์โดยการรับรองของอุละมาอ์ และทรงแต่งตั้ง ครม. (Council of Ministers) ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพระราชวงศ์ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับการทำงานของภาคราชการ อย่างไรก็ดี มีความพยายามสร้างระบบการสืบราชสมบัติให้รัดกุมเป็นระบบมากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติในอนาคต โดยในรัชสมัยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาลซะอูด ทรงออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อ ต.ค.2549 จัดตั้งสภาบัยอะฮ์ (Allegiance Commission) ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูงที่มีบทบาทคัดเลือกบุคคลที่จะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีและมกุฎราชกุมารในอนาคต โดยการประชุมสภาบัยอะฮ์เมื่อ 21 มิ.ย.2560 ที่ประชุมมีมติให้สถาปนาเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาลซะอูด เป็นมกุฎราชกุมาร แทนเจ้าชายมุฮัมมัด บิน นะอีฟ บิน อับดุลอะซีซ อาลซะอูด ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร
ฝ่ายนิติบัญญัติ : สภาที่ปรึกษา (Consultative Council หรือ Majlis al-Shura) ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี วาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีอำนาจออกกฎหมายอย่างจำกัด เนื่องจากกฎหมายส่วนใหญ่จะประกาศใช้ด้วยการออกมติ ครม. ที่ได้รับการรับรองโดยสมเด็จพระราชาธิบดี นอกจากนี้ ยังไม่มีระบบพรรคการเมืองในซาอุดีอาระเบีย แต่มีการรวมกลุ่มผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มศาสนา กลุ่มธุรกิจน้ำมัน และกลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี
ฝ่ายตุลาการ : ใช้ระบบศาลศาสนาตามกฎหมายชะรีอะฮ์ของศาสนาอิสลามทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยยึดหลักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮ์) ของสำนักคิดฮัมบาลี ผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดีตามคำแนะนำของสภายุติธรรมสูงสุด (Supreme Council of Justice) ซึ่งประกอบด้วย
คณะผู้พิพากษาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 10 คน ทั้งนี้ ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้กระทำผิด
เศรษฐกิจ การค้นพบแหล่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียเมื่อ 3 มี.ค.2481 กลายเป็นแหล่งที่มาแห่งความมั่งคั่งของประเทศ อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการรวมตัวของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อผูกขาดการส่งออกน้ำมันในนามกลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) เมื่อปี 2503 แม้ว่าปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสันนิบาตอาหรับ จากการที่อุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศมีสัดส่วนมากถึง 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และการส่งออกน้ำมันก็มีสัดส่วนกว่า 90% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มาของรายได้ภาครัฐเกือบ 90% แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็พยายามส่งเสริมการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันที่อาจหมดลง และลดความเสี่ยงจากการต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในอนาคต ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงเกือบ 50% นับตั้งแต่ มิ.ย.2557 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียลดลงจนทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียต้องอนุมัติงบประมาณประจำปี 2558 แบบขาดดุลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งประกาศลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ เพื่อลดภาระรายจ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในห้วงปี 2560-2564 แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียยังคงอนุมัติงบประมาณประจำปีแบบขาดดุลต่อเนื่องจนถึงปี 2565
นโยบายเศรษฐกิจ ที่สำคัญของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะหลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อ ธ.ค.2548 และการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ Saudi Vision 2030 เมื่อ เม.ย.2559 คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยการแปรรูปกิจการด้านการพลังงานและโทรคมนาคมเพื่อเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจแก่ภาคเอกชน การสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน โดยให้ความสนใจกับการผลิตปิโตรเคมี เวชภัณฑ์ การท่องเที่ยว การบริการทางการเงิน การศึกษา และการวิจัย รวมถึงการสร้างเมืองเศรษฐกิจแห่งใหม่หลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับนโยบายการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานชาวซาอุดีอาระเบีย (Saudization) เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มีสัดส่วนเกือบ 80% ของแรงงานทั้งหมด อาทิ การประกาศโครงการสร้างเมืองใหม่ NEOM ในภาคตะวันตกของประเทศ เมื่อ ต.ค.2560 พื้นที่ 26,500 ตร.กม. งบประมาณกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำหนดจะสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2568
ทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้วประมาณ 261,600 ล้านบาร์เรล (มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเวเนซุเอลา) กำลังการผลิตวันละ 9.213 ล้านบาร์เรล (อันดับ 2 ของโลก เมื่อปี 2563 รองจากสหรัฐฯ ข้อมูลของ IEA) และส่งออกวันละ 6.658 ล้านบาร์เรล (อันดับ 1 ของโลก เมื่อปี 2563 ข้อมูลของ IEA และ OPEC) ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณสำรองที่พิสูจน์ทราบแล้ว 8.438 ล้านล้านลูกบาศ์กเมตร (อันดับ 4 ของโลก เมื่อปี 2563 ข้อมูลของ OPEC) กำลังการผลิตวันละ 119,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร แต่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศทั้งหมด (ประมาณการปี 2563 ของ OPEC) นอกจากนี้ ยังมีแร่เหล็ก ทองคำ และทองแดง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : รียาลซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabian Riyal-SAR)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 3.75 รียาล : 1 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 8.74 บาท : 1 รียาล (พ.ย.2564)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 842,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2564 ของ IMF)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.8%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : 32,610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 48,910 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ : 3.2%
ทุนสำรองทองคำและเงินตราต่างประเทศ : 472,851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณการปี 2563 ของธนาคารโลก)
แรงงาน : 14.45 ล้านคน (ประมาณการปี 2563 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ)
อัตราการว่างงาน : 8.22%
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : เกินดุล 35,856 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อปี 2563 ขององค์การการค้าโลก)
มูลค่าการส่งออก : 173,854 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออก : ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงน้ำมัน (78.6%) สินค้าอุตสาหกรรม (18.5%) เช่น พลาสติกโพลีเมอร์ ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (1.5%) เช่น น้ำผลไม้ นม ขนมปัง สินค้าอุตสาหกรรม(18.7%) และอื่น ๆ (1.2%)
ประเทศส่งออกสินค้าสำคัญ : จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหภาพยุโรป (EU) สิงคโปร์ อินเดีย เบลเยียม ตุรกี คูเวต อียิปต์ บาห์เรน สหรัฐฯ มาเลเซีย และจอร์แดน
มูลค่าการนำเข้า : 137,998 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้า : สินค้าอุตสาหกรรม (63.4%) เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และยานยนต์ ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร (12.2%) เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ปีก เชื้อเพลิงรวมถึงน้ำมัน (4.5%) และอื่น ๆ (19.9%) เช่น เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ เฟอร์นิเจอร์
ประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ : สหภาพยุโรป (EU) จีน สหรัฐฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อินเดีย ตุรกี คูเวต อียิปต์ และบาห์เรน
การทหาร เมื่อปี 2563 ซาอุดีอาระเบียใช้งบประมาณด้านการทหาร 48,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.13% ของ GDP) มากเป็นอันดับ 6 ของโลก และมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคตะวันออกกลาง กองทัพซาอุดีอาระเบียมีกำลังพลไม่มากนัก แต่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก อาวุธและเทคโนโลยีส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย ปากีสถาน และบราซิล และมีบางส่วนที่พัฒนาขึ้นเอง
ซาอุดีอาระเบียมีกองทัพแห่งชาติ (Saudi Armed Forces) อยู่ในกำกับของกระทรวงกลาโหม ประมาณ 227,000 นาย ประกอบด้วย
– ทบ. กำลังพลประมาณ 75,000 นาย ยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ รถถัง (MBT) รุ่น AMX-30 จำนวน 140 คัน รุ่น M1A2/A2S Abrams จำนวน 450 คัน และรุ่น M60A3 Patton จำนวน 370 คัน ยานยนต์ลาดตระเวนหุ้มเกราะ (RECCE) รุ่น AML-60/AML-90 จำนวน 300 คัน รถทหารราบ (IFV) รุ่น AMX-10P จำนวน 380 คัน รุ่น M2A2 Bradley จำนวน 380 คัน และรุ่น VBA Mk3 จำนวน 34 คัน รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) รุ่น M113A4 จำนวน 1,190 คัน รุ่น M3 Panhard จำนวน 150 คัน และรุ่น AF-40-8-1 Al-Fahd ประมาณ 40 คัน ยานยนต์อเนกประสงค์หุ้มเกราะ (AUV) รุ่น Didgori จำนวน 100 คัน รุ่น M-ATV มากกว่า 1,000 คัน รุ่น Terradyne รุ่น Sherpa และรุ่น Al-Shibl 2 ซึ่งผลิตขึ้นเอง (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถัง (MSL/SP) รุ่น AMX-10P มากกว่า 90 ลูก รุ่น VCC-1 ITOW จำนวน 200 ลูก รุ่น M-ATV (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) (MSL/MANPATS) รุ่น Hyeongung รุ่น Luch Corsar รุ่น Luch Skif รุ่น Stugna-P และ รุ่น TOW-2A (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) (RCL) รุ่น Carl Gustaf รุ่น M67 และรุ่น M40A1 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (SP) รุ่น AU-F-1 จำนวน 60 กระบอก รุ่น M109A1/A2 จำนวน 110 กระบอก รุ่น PLZ-45 จำนวน 54 กระบอก (TOWED) รุ่น LG1 จำนวน 62 กระบอก รุ่น M101/M102 จำนวน 100 กระบอก รุ่น M114 จำนวน 50 กระบอก รุ่น M198 จำนวน 60 กระบอก และรุ่น M115 จำนวน 8 กระบอก (MRL) รุ่น ASTROS II Mk3 จำนวน 60 กระบอก รุ่น TOS-1A จำนวน 10 กระบอก เครื่องยิงระเบิด (MOR) ขนาดและรุ่นต่าง ๆ รวม 367 เครื่อง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน (SAM) รุ่น Crotale และรุ่น FIM-92A Stinger (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) นอกจากนี้ ยังมีเฮลิคอปเตอร์รุ่นต่าง ๆ ประจำการ รวม 114 เครื่อง
– ทร. กำลังพลประมาณ 13,500 นาย ในจำนวนนี้ยังไม่รวมนาวิกโยธิน 3,000 นายยุทโธปกรณ์สำคัญ ได้แก่ เรือฟริเกต (FFGHM) ชั้น Al Riyadh จำนวน 3 ลำ ชั้น Madina จำนวน 3 ลำ เรือคอร์เวต (FSG) ชั้น Badr จำนวน 4 ลำ เรือตรวจการณ์เร็วติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถี (PCFG) ชั้น Al Saddiq จำนวน 9 ลำ เรือลาดตระเวนเร็ว (PBF) รุ่น HIS 32 จำนวน 12 ลำ เรือลาดตระเวน (PB) ชั้น Halter Marine จำนวน 17 ลำ ชั้น Plascoa 2200 จำนวน 2 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิด (MHC) ชั้น Al Jawf จำนวน 3 ลำ เรือระบายพลขนาดใหญ่ (LCU) ชั้น Al Qiaq จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ชั้น LCM6 จำนวน 3 ลำ เรือเติมน้ำมัน (AORH) ชั้น Boraida จำนวน 1 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเฮลิคอปเตอร์รุ่นต่าง ๆ สนับสนุนปฏิบัติการทางเรือ จำนวนรวม 46 เครื่อง และขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำแบบอากาศสู่อากาศ (AShM) รุ่น AM39 Exocet และรุ่น AD-15TT (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– ทอ. กำลังพลประมาณ 20,000 นาย อากาศยานและยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องบินขับไล่ (FTR) รุ่น F-15C Eagle จำนวน 56 เครื่อง และรุ่น F-15D Eagle จำนวน 25 เครื่อง เครื่องบินขับไล่และโจมตีภาคพื้นดิน (FGA) รุ่น F-15S Eagle จำนวน 67 เครื่อง รุ่น F-15SA Eagle จำนวน 77 เครื่อง และรุ่น Typhoon จำนวน 71 เครื่อง เครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน (ATK) รุ่น Tornado IDS จำนวน 66 เครื่อง เครื่องบินรบสอดแนม (ISR) รุ่น Tornado GR1A จำนวน 12 เครื่อง และรุ่น Beech 350ER King Air มากกว่า 2 เครื่อง เครื่องบินสนับสนุนภารกิจเตือนภัยและควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (AEW&C) รุ่น E-3A Sentry จำนวน 5 เครื่อง และรุ่น Saab 2000 Erieye จำนวน 2 เครื่อง เครื่องบินลาดตระเวนและหาข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT) รุ่น RE-3A จำนวน 1 เครื่อง และรุ่น RE-3B จำนวน 1 เครื่อง เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศและลำเลียง (TKR/TPT) รุ่น A330 MRTT จำนวน 6 เครื่อง รุ่น KC-130H จำนวน 7 เครื่อง รุ่น KC-130J จำนวน 2 เครื่อง เครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ (TKR) รุ่น KE-3A จำนวน 7 เครื่อง เครื่องบินลำเลียง (TPT) รุ่น C-130H จำนวน 30 เครื่อง และรุ่นอื่น ๆ มากกว่า 14 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์โจมตี (MRH) รุ่น Bell 412 จำนวน 15 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียง (TPT) รุ่น AS532 Cougar จำนวน 10 เครื่อง รุ่น Bell 212 จำนวน 20 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับลาดตระเวนติดอาวุธ (CISR) รุ่น Gongji-1 และรุ่น CH-4 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อากาศยานไร้คนขับลาดตระเวน (ISR) รุ่น Falco (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) อาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่อากาศ (AAM) รุ่น AIM-9P/L รุ่น AIM-9X รุ่น IRIS-T รุ่น AIM-7 และรุ่น AIM-120C อาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่พื้นดิน (ASM) รุ่น AGM-65 Maverick และรุ่น AR-1 ขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำแบบอากาศสู่อากาศ (AShM) รุ่น AGM-48L Harpoon อาวุธปล่อยต่อต้านเรดาร์ (ARM) รุ่น ALARM และจรวดร่อน (ALCM) รุ่น Storm Shadow (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) นอกจากนี้ ยังมีระเบิดนำวิถีทำลายภาคพื้นดิน (BOMBS) รุ่น GBU10/12 Paveway II/IV และรุ่น GBU-31 JDAM และรุ่น FT-9 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน)
– กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ กำลังพล 16,000 นาย แยกตัวจาก ทบ. ตั้งแต่ปี 2524 มีกองบัญชาการใต้ดินที่ริยาด ทำหน้าที่ประสานงานและควบคุมเครือข่ายระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ ที่ได้รับการยอมรับว่าทันสมัยที่สุดในโลก มีอาวุธและระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศที่สำคัญ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบพื้นสู่อากาศ (SAM) รุ่น MIM-140D/F Patriot PAC-2GEM/PAC3 (พิสัยไกล) รุ่น MIM-23B I-HAWK (พิสัยกลาง) รุ่น Crotale รุ่น Shahine (พิสัยใกล้) รุ่น M1097 Avenger และรุ่น Mistral (พิสัยใกล้และใช้อินฟราเรดนำวิถี) ซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 800 ลูก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรุ่นต่าง ๆ มากกว่า 218 กระบอก
– กองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ กำลังพล 2,500 นาย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530 มีกองบัญชาการใต้ดินที่กรุงริยาด เป็นหน่วยทหารด้านขีปนาวุธของซาอุดีอาระเบีย ทำหน้าที่บัญชาการและควบคุมการโจมตีด้วยขีปนาวุธภาคพื้นดิน มีขีปนาวุธสำคัญ ได้แก่ ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (IRBM) รุ่น DF-3 มากกว่า 10 ลูก (พิสัยทำการ 3,500-5,500 กม.) และขีปนาวุธพิสัยกลาง (MRBM) รุ่น DF-21 (พิสัยทำการ 1,000-3,500 กม.) แต่ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังที่เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม เช่น
– กองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard หรือ White Army) เป็นกองกำลังส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชาธิบดี ก่อตั้งขึ้นมาคานอำนาจกับกองทัพแห่งชาติ ได้รับการยกสถานะขึ้นเป็น “กระทรวงพิทักษ์ชาติ” (Ministry of National Guard) เมื่อปี 2556 กำลังพลประมาณ 100,000 นาย ซึ่งถูกคัดเลือกจากชนเผ่าต่าง ๆ ที่ภักดีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีและสมาชิกพระราชวงศ์ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสมาชิกพระราชวงศ์ระดับสูง มีหน้าที่ต่อต้านภัยคุกคามทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ เช่น การอารักขาสมาชิกพระราชวงศ์อาลซะอูด การต่อต้านความพยายามก่อรัฐประหาร การปกป้องสถานที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และการอารักขาศาสนสถานสำคัญในมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ไม่มีรถถัง (MBT) ประจำการ แต่มียานยนต์หุ้มเกราะจู่โจม (ASLT) และรถทหารราบ (IFV) รวม 1,270 คัน รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ (APC) หลายรุ่น รวม 778 คัน ขีปนาวุธต่อต้านรถถัง (MSL/SP) รุ่น LAV-AT จำนวน 182 ลูก (MSL/TOWED) รุ่น TOW-2A และรุ่น M47 (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) ปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดรุ่นและขนาดต่าง ๆ รวมมากกว่า 360 กระบอก อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน (SAM) รุ่น VL MICA (พิสัยใกล้) และรุ่น MPCV (พิสัยใกล้และใช้อินฟราเรดนำวิถี) รวม 73 ลูก อาวุธปล่อยนำวิถีแบบอากาศสู่พื้นดิน (ASM) รุ่น AGM-114R (ไม่ปรากฏข้อมูลจำนวน) รวมทั้งยังมีการประจำการเฮลิคอปเตอร์แบบโจมตีและลำเลียง รวมมากกว่า 90 เครื่อง
– กรมการทหารราชองค์รักษ์ มีสถานะเป็นกรมหนึ่งใน ทบ. ประกอบด้วย กองพันทหารราบเบา 3 กองพัน แต่มีภารกิจพิเศษในการปกป้องราชวงศ์อาลซะอูด และถวายรายงานโดยตรงต่อสมเด็จพระราชาธิบดี มิใช่ รมว.กระทรวงกลาโหม จึงมีมาตรการรักษาความปลอดภัยด้วยการมีเครือข่ายการสื่อสารแยกต่างหากจาก ทบ.
– กองกำลังระงับเหตุฉุกเฉิน (หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกระทรวงกลาโหม) กำลังพล 500 นาย ภารกิจหลักในช่วงแรกหลังจากก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 คือ การควบคุมฝูงชนที่พยายามก่อจลาจล รวมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมต่าง ๆ แต่หลังจากเกิดเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายในซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกที่ริยาด เมื่อปี 2538 มีการปรับภารกิจของกองกำลังให้เน้นปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นหลัก ปัจจุบันมีศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของกองกำลังระงับเหตุฉุกเฉินทั้งสิ้น 13 แห่งทั่วประเทศ
– กองกำลังรักษาความมั่นคงชายแดนและชายฝั่ง กำลังพลรวม 15,000 คน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่ริยาด ภารกิจหลัก คือ การดูแลรักษาความปลอดภัยชายแดน ซึ่งติดกับเยเมน อิรัก รวมทั้งชายฝั่งแถบทะเลแดง และอ่าวเปอร์เซีย เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย การค้ายาเสพติด และผู้ลักลอบเข้าเมือง
ปัญหาด้านความมั่นคง
- 1. การก่อการร้ายสากล โดยในห้วงปี 2557 จนถึงปี 2562 เซลล์ก่อการร้ายของกลุ่ม Islamic State (IS) อ้างเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีในซาอุดีอาระเบียด้วยระเบิดฆ่าตัวตายและกราดยิง รวมถึงพยายามก่อเหตุโจมตีศาสนสถานของชาวชีอะฮ์ เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานความมั่นคง สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในซาอุดีอาระเบีย และสถานที่สำคัญในซาอุดีอาระเบีย โดยมีการวางแผนและสั่งการจากต่างประเทศ ขณะที่เหตุโจมตีครั้งล่าสุดที่กลุ่ม IS อ้างเป็นผู้ก่อเหตุในซาอุดีอาระเบีย คือ เหตุระเบิดที่สุสานแห่งหนึ่งในเมืองเจดดาห์ เมื่อ 11 พ.ย.2563 ขณะนักการทูตจากสถานทูตของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ในซาอุดีอาระเบีย รวมตัวกันจัดพิธีรำลึกถึงการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียดำเนินมาตรการกวาดล้างเครือข่ายกลุ่ม IS ในประเทศอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังห่วงกังวลและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาระเบีย (Al Qaida in the Arabian Peninsula-AQAP) ซึ่งเป็นกลุ่มสาขาของอัลกออิดะฮ์ที่มีฐานที่มั่นในเยเมนที่มีพรมแดน
ติดภาคใต้ของซาอุดีอาระเบีย - 2. การขยายอิทธิพลของอิหร่าน โดยซาอุดีอาระเบียยังคงกังวลที่อิหร่านให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องแก่ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวชีอะฮ์เพื่อต่อต้านรัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ในประเทศรัฐรอบอ่าวอาหรับ เฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบียเชื่อว่า อิหร่านสนับสนุนกลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษีในภาคเหนือของเยเมน ซึ่งมีพรมแดนติดกับซาอุดีอาระเบีย ให้ก่อรัฐประหาร และบุกยึดกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน
ทำให้ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่รัฐบาลเยเมน ด้วยการใช้ปฏิบัติทางอากาศโจมตีกลุ่มกบฏฮูษีมาตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่กลุ่มกบฏฮูษีตอบโต้ซาอุดีอาระเบีย ด้วยการยิงปืนใหญ่และขีปนาวุธข้ามชายแดนเข้าไปโจมตีพื้นที่ทางภาคใต้ จนถึงริยาด (เมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่เกือบใจกลางประเทศ) นครมักกะฮ์และเมืองเจดดาห์ (ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย) รวมทั้งส่งอากาศยานไร้คนขับติดตั้งขีปนาวุธและระเบิด ข้ามชายแดนเข้าไปโจมตีเป้าหมายทางทหาร โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ท่าอากาศยาน แหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 2559 โดยเหตุโจมตีครั้งรุนแรงที่สุด คือ การที่กลุ่มกบฏเผ่าฮูษีอ้างเป็นผู้ส่งอากาศยานไร้คนขับจำนวน 10 ลำ เข้าไปโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมัน 2 แห่ง ในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 14 ก.ย.2562
ความสัมพันธ์ไทย–ซาอุดีอาระเบีย
ไทยและซาอุดีอาระเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ 1 ต.ค.2500 และดำเนินความสัมพันธ์กันอย่างราบรื่น จนกระทั่งเกิดคดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายฟัยศอล บิน ฟะฮัด คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย (3 คดี รวม 4 ศพ) และคดีการหายสาบสูญของนายมุฮัมมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย ระหว่างปี 2532-2533 ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียมีมาตรการตอบโต้ไทยด้วยการห้ามชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทย การไม่ตรวจลงตราให้ชาวไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น การไม่ตรวจลงตราหนังสือเดินทางแบบ Exit-re-entry Visa แก่แรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ พร้อมทั้งลดระดับตัวแทนทางการทูตเป็นระดับอุปทูต
หลังจากเกิดปัญหาดังกล่าว ไทยพยายามประคับประคองมิให้ความสัมพันธ์เสื่อมถอยลงไปกว่าเดิม และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยซาอุดีอาระเบียเริ่มอนุมัติการตรวจลงตราแก่นักธุรกิจไทยให้ไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ริยาดและเจดดาห์ตั้งแต่ปี 2540 และการผ่อนคลายมาตรการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแบบ Exit-re-entry Visa แก่แรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียตั้งแต่ปี 2543 อย่างไรก็ดี คดีโจรกรรมเครื่องเพชรของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟะฮัด และคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียในไทย หมดอายุความ (20 ปี) ไปตั้งแต่ปี 2552 และปี 2553 ตามลำดับ ยกเว้นคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี ซึ่งกลายเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตั้งแต่ 28 พ.ค.2557 หลังจากผู้แทนทางการทูตซาอุดีอาระเบียประจำไทยและญาตินายอัลรูไวลี ไม่พอใจที่ศาลอาญาไทยมีคำพิพากษาเมื่อ 31 มี.ค.2557 ยกฟ้องจำเลยในข้อหาลักพาตัวและฆาตกรรมนายอัลรูไวลี เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ และตั้งข้อสงสัยต่อการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาคดีดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา เป็นเหตุให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียตัดสินใจเรียกอุปทูตซาอุดีอาระเบียประจำไทยกลับประเทศเมื่อ 18 ก.ค.2557 และพิจารณาแต่งตั้งอุปทูตกลับมาปฏิบัติหน้าที่เมื่อ ก.ค.2558 จนถึงปัจจุบัน ส่วนความคืบหน้าของคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวลี ศาลฏีกามีคำพิพากษาเมื่อ 22 มี.ค.2562 ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองประเทศ ฝ่ายไทยมีการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุด คือ การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อ 12 ม.ค.2563 ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยได้พบหารือกับเจ้าชายฟัยศอล บิน ฟัรฮาน อาลซะอูด รมว.กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และนายอาดิล อัลญุเบร รมต.แห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศ (อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย) เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หลังจากในห้วงปี 2560 – 2562 กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์ที่จะปรับความสัมพันธ์และมีการหารือแนวทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งนี้ การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายดอน ปรมัตถ์วินัย ถือเป็นการเยือนของ รมว.กระทรวงการต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี
ส่วนการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของฝ่ายซาอุดีอาระเบียที่สำคัญ คือ การเยือนไทยของนายอาดิล อัลญุเบร รมว.กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น) ระหว่าง 8-10 ต.ค.2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD Summit) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งพบหารือร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นรม.ไทย และเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อาลเคาะลีฟะฮ์ นรม.บาห์เรน และครั้งหลังสุด คือ นายคอลิด อัลฟาลิห์ รมว.กระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย (Asean Ministrial Energy Roundtable-AMER) ครั้งที่ 7 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่าง 31 ต.ค.-3 พ.ย.2560
ไทยและซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ดีทางการค้า โดยซาอุดีอาระเบียไม่ได้ปิดกั้นความสัมพันธ์ทางการค้าและการทำธุรกิจระหว่างเอกชนทั้งสองฝ่าย และซาอุดีอาระเบียยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในตะวันออกกลาง (รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยมูลค่าการค้า ไทย–ซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 7,579.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (237,429.47 ล้านบาท) ลดลงจากเมื่อปี 2561 ที่มีมูลค่า 8,777.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (284,292.84 ล้านบาท) โดยปี 2562 ไทยส่งออกมูลค่า 1,851.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (57,250.07 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 5,727.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (180,179.40 ล้านบาท) ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า 3,876.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (122,929.34 ล้านบาท) ขณะที่มูลค่าการค้าห้วง ม.ค.-ก.ย.2563 อยู่ที่ 4,268.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (133,657.59 ล้านบาท) ไทยส่งออกมูลค่า 1,254.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (38,943.10 ล้านบาท) และนำเข้ามูลค่า 3,013.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (94,714.48 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ แทรกเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์น้ำ ไม้และของทำด้วยไม้ ถ่านไม้ ยางและของที่ทำด้วยยาง เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ธัญพืช ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า สินค้านำเข้าสำคัญจากซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม แวดดิ้ง สักหลาด และผ้าไม่ทอด้ายชนิดพิเศษ เหล็กและเหล็กกล้า ยางและของที่ทำด้วยยาง เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ สิ่งสกัดที่ใช้ฟอกหนัง หรือย้อมสีแทนนิน และอนุพันธ์ของแทนนินสีย้อม
ด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 มีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 30,292 คน แม้ว่าทางการซาอุดีอาระเบียยังมีคำสั่งห้ามคนชาติของตนเดินทางมาไทย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นชาวซาอุดีอาระเบียที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวจำนวน 28,888 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2561 ที่มีจำนวน 27,782 คน ขณะที่ห้วง ม.ค.-ก.ย.2563 มีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทยรวม 4,193 คน
ส่วนชาวไทยมุสลิมที่ประสงค์ไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ที่ซาอุดีอาระเบีย ยังได้รับการอนุมัติการตรวจลงตราต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเมื่อปี 2562 มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์จำนวน 8,462 คน (ซาอุดีอาระเบียกำหนดโควตาสำหรับชาวไทยมุสลิมที่ต้องการไปบำเพ็ญฮัจญ์ปีละ 13,000 คน) ปัจจุบัน
ยังมีชาวไทยพำนักอยู่ในซาอุดีอาระเบีย โดยเมื่อ ต.ค.2562 มีชาวไทยพำนักอยู่ในซาอุดีอาระเบียประมาณ
8,700 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีอายุระหว่าง 50-65 ปี ประมาณ 8,000 คน ซึ่งเดินทางไปทำงานในซาอุดีอาระเบียก่อนที่ไทยจะมีปัญหาความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย และพำนักอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ มักกะฮ์ เจดดาห์ และมะดีนะฮ์ คนไทยที่เหลือพำนักอยู่ในเมืองอื่น ๆ อาทิ ริยาด
อัลโคบาร์ และคามิสมูเชต์ นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาชาวไทยมุสลิม ซึ่งได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย รวมประมาณ 350 คน ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในซาอุดีอาระเบีย
ความตกลงที่สำคัญระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (8 ก.ค.2527) และความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติในส่วนของการเรียกเก็บจากกิจกรรมของวิสาหกิจขนส่งทางอากาศของประเทศทั้งสอง (10 พ.ค.2537)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
- 1. การพัฒนาและปฏิรูปประเทศในห้วงปี 2559-2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ที่มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (MbS) รอง นรม.คนที่ 1 และ รมว.กระทรวงกลาโหม (พระราชโอรส
ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน) ทรงประกาศใช้มาตั้งแต่ 26 เม.ย.2559 โดยปัจจุบัน มกุฎราชกุมาร MbS
ทรงผลักดันการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านต่าง ๆ ภายใต้ Saudi Vision 2030 เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ ที่มีเป้าหมายการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน จึงมีการผลักดันนโยบายและมาตรการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนและสร้างงานในประเทศ และการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวด้วยการเริ่มออก visa ประเภทท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกเมื่อ 27 ก.ย.2562
เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ปีละ 30 ล้านคน ภายในปี 2573 (ไม่นับรวมผู้แสวงบุญมุสลิมจากทั่วโลกที่เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในซาอุดีอาระเบียทุกปี) ขณะที่ด้านสังคม ทรงผลักดันการเปลี่ยนแปลงประเทศจากสังคมที่เคร่งครัดหลักศาสนาให้เป็นประเทศอิสลามสายกลางที่เปิดกว้าง เช่น การอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถในซาอุดีอาระเบียได้เป็นครั้งแรกเมื่อ มิ.ย.2561 การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจบันเทิงที่ส่งผลให้มีการอนุญาตให้เปิดโรงภาพยนตร์ในซาอุดีอาระเบียได้เป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี เมื่อ เม.ย.2561
และการจัดการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงในซาอุดีอาระเบียมาตั้งแต่ปี 2561 - 2. การกระชับพระราชอำนาจของมกุฎราชกุมาร MbS โดยเฉพาะการที่มกุฎราชกุมาร MbS ทรงผลักดันการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มสมาชิกพระราชวงศ์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงตั้งแต่ปี 2560 จนทำให้ทรงถูกกล่าวหาว่าใช้ประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันเป็นข้ออ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามบุคคลที่มีท่าทีเห็นต่างและไม่สนับสนุนพระองค์
- 3. ภาพลักษณ์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของมกุฎราชกุมาร MbS มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนายญะมาล บิน อะห์มัด คอชุกญี นักหนังสือพิมพ์ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ สกญ.ซาอุดีอาระเบีย/อิสตันบูล ตุรกี เมื่อ 2 ต.ค.2561 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะมกุฎราชกุมาร MbS ทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้สังหารนายคอชุกญี เนื่องจากนายคอชุกญีวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบียและมกุฎราชกุมาร MbS นับตั้งแต่ทรงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารเมื่อปี 2560
- 4. แนวโน้มการเจรจาเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์และยุติความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่มีอิรักเป็นคนกลาง ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับอิหร่านมาตั้งแต่ 3 ม.ค.2559 หลังจากชาวอิหร่านชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจกรณีศาลซาอุดีอาระเบียมีคำตัดสินประหารชีวิตนักการศาสนานิกายชีอะฮ์ชาวซาอุดีอาระเบียในข้อหาก่อการร้าย และบุกเข้าไปวางเพลิง สอท.ซาอุดีอาระเบีย/เตหะราน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าอิหร่านให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษีในเยเมน เพื่อใช้โจมตีข้ามชายแดนเข้าไปยังพื้นที่เมืองทางภาคใต้ จนถึงกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมัน 2 แห่งในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบียเมื่อ 14 ก.ย.2562 แม้ว่ากลุ่มกบฏชาวชีอะฮ์เผ่าฮูษีในเยเมนอ้างเป็นผู้ก่อเหตุ
- 5. ปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงซาอุดีอาระเบีย โดยนับตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายแรกในประเทศเมื่อ 2 มี.ค.2563 จนถึง 31 ต.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อเชื้อ COVID-19 ในซาอุดีอาระเบีย รวม 548,617 ราย และเสียชีวิต 8,794 คน (มากเป็นอันดับ 7 ของประเทศตะวันออกกลาง อันดับ 22 ของประเทศเอเชีย และอันดับที่ 59 ของโลก)