ราชอาณาจักรสเปน
(Kingdom of Spain)
เมืองหลวง กรุงมาดริด
ที่ตั้ง ยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ (คาบสมุทรไอบีเรีย) ติดกับอ่าว Biscay ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และเทือกเขาพิเรเน่ มีพื้นที่ 505,992 ตร.กม. ขนาดใหญ่ลำดับที่ 51 ของโลก (ไทยลำดับที่ 50) โดยแบ่งเป็นพื้นดิน 498,980 ตร.กม. และน่านน้ำ 6,390 ตร.กม. จุดยุทธศาสตร์สำคัญของสเปน คือ ช่องแคบยิบรอลตาร์ซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศ ทำให้สเปนเป็นพื้นที่เชื่อมโยงยุโรปกับแอฟริกา และ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรแอตแลนติก
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับทะเลกันตาบริโก อันดอร์รา และฝรั่งเศส
ทิศใต้ ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่องแคบยิบรอลตาร์ และ มหาสมุทรแอตแลนติก
ทิศตะวันออก ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทิศตะวันตก ติดกับโปรตุเกสและมหาสมุทรแอตแลนติก
ภูมิประเทศ ส่วนที่เป็นคาบสมุทร คือ คาบสมุทรไอบีเรีย และดินแดนทางเหนือของโมร็อกโก ได้แก่ Ceuta และ Melilla และมีพื้นที่บางส่วนที่เป็นหมู่เกาะ คือ หมู่เกาะบาเลอาริค และหมู่เกาะคะเนรี
ภูมิอากาศ ฤดูร้อนมีอุณหภูมิปานกลาง มีเมฆมาก และอากาศเย็นบริเวณชายฝั่ง ฤดูหนาวมีเมฆมาก และอากาศเย็น สเปนประสบภัยธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง อุทกภัย
ศาสนา รัฐธรรมนูญสเปนฉบับปี 2521 ได้ถอนการรับรองศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญในสังคมสเปน ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 58.2% ศาสนาอื่น ๆ รวมถึงไม่นับถือศาสนา 41.8%
ภาษา ภาษาสเปน (Castellano/กาสเตยาโน) เป็นภาษาราชการ 74% กาตาลัน 17% กาลิเซียน 7% และบาสก์ 2%
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 98.6% งบประมาณด้านการศึกษา 4.6% ของ GDP
วันชาติ 12 ต.ค. (ปี 2035 ที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา)
นายเปโดร ซานเชส
Pedro Sanchez
(นรม.สเปน)
ประชากร 47,615,034 คน (ต.ค.2566)
รายละเอียดประชากร สเปน 84.8% โมร็อกโก 1.7% โรมาเนีย 1.2% อื่น ๆ 12.3% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 13.37% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 66.13% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 20.5% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 82.78 ปี อายุขัยเฉลี่ยของชาย 80.08 ปี อายุขัยเฉลี่ยของหญิง 85.61 ปี อัตราการเกิด 7.12 คน ต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 10.11 คนต่อประชากร 1,000 คน
การก่อตั้งประเทศ
ชนชาติต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลและยึดครองดินแดนประเทศสเปนตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มจากชาวไอบีเรีย และชาวบาสก์ (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) ชาวเคลต์และชาวฟินีเซียโบราณ (ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล) ชาวกรีก (ศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล) ชาวคาทาจีเนีย (ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล) และชาวโรมัน (ศตวรรษที่ 2 และ 1 ก่อนคริสตกาล) โดยจัดตั้งอาณาจักรคริสต์แห่งสเปน ในยุคคริสตกาลอยู่ภายใต้การปกครองของวิซิกอทชนเผ่าพันธุ์เยอรมันถึง 3 ศตวรรษ หลังจากนั้นในปี 1254 เสียดินแดนให้แก่ชาวมัวร์ (ชาวอาหรับจากแอฟริกาเหนือ) ส่งผลให้สเปนแบ่งเป็นชุมชนชาวคริสต์ในพื้นที่ทางเหนือ และชุมชนมุสลิม (มัวร์) ในพื้นที่ทางใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของสเปน เมื่อปี 2035 ราชอาณาจักรกาสเตลและอารากอนขับไล่ชาวมัวร์ออกจากคาบสมุทรไอบีเรียได้สำเร็จ และปีเดียวกันคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้ค้นพบโลกใหม่ นำไปสู่การกำเนิดจักรวรรดิสเปนที่แผ่ขยายไปทั่วโลก สเปนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปในช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นศตวรรษที่ 19
สเปนต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองในช่วงปี 2479-2482 และอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของจอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก นานถึง 36 ปี (ปี 2482-2518) หลังจากจอมพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรม จึงปรับเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์ลอสที่ 1 (Juan Carlos I) เป็นประมุข
การเมือง
การปกครองเป็นแบบรัฐสภามีกษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบัน สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 (Felipe 6) ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 19 มิ.ย.2557 ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีฆวนคาร์ลอส ที่ 1 ที่สละราชบัลลังก์ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้รับการรับรองจากสภานิติบัญญัติ เมื่อ 31 ต.ค.2521 และผ่านการลงประชามติ เมื่อ 6 ธ.ค.2521 สมเด็จพระราชาธิบดีทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อ 27 ธ.ค.2521
แบ่งเขตการปกครองเป็นแคว้นอิสระ 17 แคว้น (Autonomous Communities) และ2 จังหวัดอยู่ทางตอนเหนือของโมร็อกโก (Autonomous Provinces) รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้แคว้นต่าง ๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น โดยที่แต่ละแคว้นมีสภาของตนเอง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทุก ๆ 4 ปี ได้รับสิทธิและอำนาจบริหารท้องถิ่นของตนเอง แคว้นอิสระ 17 แคว้น ได้แก่ 1) Andalucia 2) Aragon 3) Asturias 4) Baleares 5) Ceuta 6) Canarias 7) Cantabria 8) Castilla y León 9) Cataluña 10) Communidad 11) Valenciana 12) Extremadura 13) Galicia 14) La Rioja 15) Madrid 16) Melilla และ 17) Murcia ส่วนจังหวัดอิสระ ได้แก่ Navarra และ Pais Vasco (BasqueCountry)
ฝ่ายบริหาร : รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจและทำหน้าที่ฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นผู้กำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันประเทศ รัฐบาลประกอบด้วย นรม. (President of the Government) รอง นรม. รมว. และ รมต.อื่น ๆ การแต่งตั้ง นรม. สมเด็จพระราชาธิบดีทรงปรึกษาหารือกับผู้แทนพรรคการเมืองที่มีสมาชิกในรัฐสภาแล้วเสนอชื่อผู้เห็นสมควรได้รับการเลือกตั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรับรองด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด จากนั้นสมเด็จพระราชาธิบดี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นรม. และ นรม.จะเป็นผู้เสนอรายชื่อ ครม. เพื่อให้สมเด็จพระราชาธิบดี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องขอรับความไว้วางใจจากรัฐสภาอีก ส่วนพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับราชการจะต้องมี นรม. หรือ รมต.ที่เกี่ยวข้องหนึ่งคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อรับผิดชอบ ในพระราชกรณียกิจนั้น รัฐบาลมีวาระ 4 ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป
ผลการเลือกตั้งทั่วไปของสเปนเมื่อ 23 ก.ค.2566 ไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงข้างมากพอในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (ต้องได้อย่างน้อย 176 ที่นั่ง จากที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 350 ที่นั่ง) โดยปัจจุบัน สเปนยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งนายเปโดร ซานเชส รวมถึง ครม.จะปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลรักษาการต่อไป จนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่แทน
อนึ่ง ผลการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 ได้แก่ พรรค People’s Party (PP) (แนวคิดกลางขวา และอนุรักษ์นิยม) นำโดยนาย Alberto Núñez Feijóo ได้รับคะแนน ร้อยละ 33.1 จำนวน 137 ที่นั่ง อันดับ 2 ได้แก่ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติสเปน Spanish Socialist Workers’ Party (PSOE) (แนวคิดซ้าย) ของ นรม. เปโดร ซานเชส ได้รับคะแนนร้อยละ 31.7 จำนวน 121 ที่นั่ง รองลงมา ได้แก่ พรรค VOX (แนวคิดขวาจัด) นำโดยนาย Santiago Abascal ได้รับคะแนนร้อยละ 12.4 จำนวน 33 ที่นั่ง พรรค Sumar (แนวคิดซ้าย) นำโดยนาง Yolanda Diaz ได้รับคะแนนร้อยละ 12.3 จำนวน 31 ที่นั่ง พรรค Republican Left of Catalonia (ERC) แนวคิดซ้าย นำโดยนาย Gabriel Rufian ได้รับคะแนนร้อยละ 1.9 จำนวน 7 ที่นั่ง พรรค Together for Catalonia (Junts) ได้รับคะแนนร้อยละ 1.6 จำนวน 7 ที่นั่ง
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภา (National Assembly) ได้แก่ 1) วุฒิสภา (Senate หรือ Senado) มีสมาชิก 266 ที่นั่ง วาระ 4 ปี โดย 208 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อีก 58 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งของสภานิติบัญญัติท้องถิ่น และ 2) สภาผู้แทนราษฎร (Congress of Deputies หรือ Congreso de los Diputados) มี 350 ที่นั่ง วาระ 4 ปี
หลักเกณฑ์การเลือกตั้งกำหนดว่า ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่เป็น รมต.ในคณะรัฐบาล (ไม่รวมถึง นรม.) ข้าราชการ พลเรือน และทหารจะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนจึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้
ฝ่ายตุลาการ : รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษาและ จนท.ตุลาการ เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่บริหารราชการตุลาการอย่างอิสระในนามของสมเด็จพระราชาธิบดี ผู้ใดจะถอดถอน ไล่ออก สั่งพักราชการ และโยกย้ายมิได้ เว้นแต่การกระทำข้างต้นจะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
พรรคการเมืองสำคัญ : 1) พรรค Spanish Socialist Workers’ Party (PSOE)แนวคิดกลางซ้าย มีนาง Christina Narbona เป็นหัวหน้าพรรค) 2) พรรค People’s Party (PP) แนวคิดกลางขวา มีนาย Alberto Núñez Feijóo เป็นหัวหน้าพรรค 3) พรรค VOX แนวคิดขวาจัด มีนาย Santiago Abascal เป็นหัวหน้าพรรค 4) พรรค Sumar แนวคิดซ้าย มีนาง Yolanda Diaz เป็นหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองที่ผลักดันการแยกแคว้นกาตาลุญญาให้เป็นเอกราชจากการปกครองโดยรัฐบาลสเปน เช่น พรรค Republican Left of Catalonia (ERC) มีผู้นำพรรค คือนาย Gabriel Rufian และพรรค Together for Catalonia (Junts) มีผู้นำพรรค คือ นาง Mariam Nogueras รวมถึงพรรคการเมืองที่ส่งเสริมการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นบาสก์ เช่น พรรค Basque Nationalist Party (PNN) มีนาย Andoni Ortuzar เป็นผู้นำพรรค และพรรค Basque Country Unite (EHB) มีนาย Arnaldo Otegi เป็นผู้นำพรรค
เศรษฐกิจ
ขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 15 ของโลก และอันดับ 6 ในยุโรป มีเทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตทางเกษตรกรรมและเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งด้านพลังงานทดแทน
ผลผลิตการเกษตร : เมล็ดพันธุ์ข้าว น้ำมันมะกอก ไวน์ที่ผลิตจากองุ่น หัวบีตที่ใช้ทำน้ำตาล (Sugar Beets) การประมง
อุตสาหกรรม : สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (รวมถึงรองเท้า) อาหารและเครื่องดื่ม โลหะและผลิตภัณฑ์เคมี การต่อเรือและรถยนต์ เครื่องจักรกล การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากดินเหนียวและทนความร้อน รองเท้า ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์
ทรัพยากรธรรมชาติ : ถ่านหิน ลิกไนต์ เหล็ก ทองแดง ยูเรเนียม ทังสเตน ยิปซัม พลังงานน้ำ
นโยบายเศรษฐกิจ : ให้ความสำคัญกับการคิดค้น การวิจัย และการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และศักยภาพการผลิต การรักษาสภาวะดุลงบประมาณ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และการลดอัตราการว่างงาน
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.06 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.43 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2566)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 1,397,509 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 5.5%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 29,350 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 25.48 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 13.0%
อัตราเงินเฟ้อ : 8.4%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 7,575,157 ดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 418,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ข้าวสาลี ยาสูบ ผลิตภัณฑ์พลังงาน และเคมีภัณฑ์
มูลค่าการนำเข้า : 493,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : น้ำมันดิบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เวชภัณฑ์ และก๊าซธรรมชาติ
คู่ค้าสำคัญ : ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โปรตุเกส สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์
การทหาร มีกำลังพลประจำการรวม 124,150 นาย (แยกเป็น ทบ. 71,900 นาย ทร. 20,500 นาย ทอ. 20,350 นาย กกล.ร่วม 11,400 นาย) และ กกล.สารวัตรทหาร 75,800 นาย นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรอง อีก 14,700 นาย (แยกเป็น ทบ. 8,550 นาย ทร. 3,100 นาย ทอ. 2,550 นาย และอื่น ๆ 500 นาย) งบประมาณด้านการทหาร 1.46% ของ GDP
ปัญหาด้านความมั่นคง ประเด็นความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นกาตาลุญญา กระแสเรียกร้องเอกราชในแคว้นกาตาลุญญายังคงดำเนินอยู่ โดยรัฐบาลสเปนเน้นจุดยืนเดิมว่า การประกาศเอกราชฝ่ายเดียวของแคว้นกาตาลุญญาเมื่อห้วง ต.ค.2560 ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งชาติสเปนที่ระบุชัดเจนว่าดินแดนสเปนไม่อาจแบ่งแยกได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาล นรม.เปโดร ซานเชส มีนโยบายต่อแคว้นกาตาลุญญาในลักษณะผ่อนปรนกว่าสมัยรัฐบาลของอดีต นรม.มาริอาโน ราคอย โดย นรม. ซานเชส พยายามสร้างความปรองดองระหว่างแคว้นกาตาลุญญากับแคว้นอื่น ๆ ยุติความขัดแย้งและการแบ่งแยก รวมถึงได้ดำเนินการอภัยโทษนักเคลื่อนไหวชาวกาตาลุญญา
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด นรม.ซานเชส พบหารือกับพรรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายผลักดันการแยกตัวเป็นเอกราชของดินแดนออกจากการปกครองของรัฐบาลกลางสเปน เช่น แคว้นกาตาลุญญา แคว้นบาสก์ โดยนายซานเชส แสดงความเชื่อมั่นในการก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งและการร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าว ขณะเดียวกัน นายซานเชส ยังต้องการเสียงสนับสนุนจากผู้แทนพรรคการเมืองกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้สำเร็จ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในสเปนเมื่อห้วง ก.ค.2566 ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงข้างมากเพียงพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เช่น OECD, OSCE, UN, FAO, ILO, IAEA, WTO, WHO, ADB (สมาชิกนอกภูมิภาค), Interpol, NATO และ AIIB
การขนส่งและโทรคมนาคม มีท่าอากาศยาน 135 แห่ง มีทางวิ่งลาดยาง 102 แห่ง และมีทางวิ่งแบบไม่ลาดยาง 33 แห่ง ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 13 แห่ง ท่าอากาศยานนานาชาติที่สำคัญ คือ ท่าอากาศยาน Barajas ที่มาดริด เส้นทางท่อส่งก๊าซ 10,481 กม. ท่อส่งน้ำมัน 358 กม. เส้นทางรถไฟระยะทาง 15,489 กม. ถนนระยะทาง 683,175 กม. และเส้นทางเดินทางทางน้ำ1,000 กม. ด้านโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 19.07 ล้านเลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 56.80 ล้านเลขหมาย โดยมีระบบเครือข่ายที่ทันสมัยและพัฒนาอย่างดี มีสถานีติดตั้งดาวเทียมภาคพื้นดินระบบ Intelsat 2 แห่ง คือ ที่มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ คือ +34 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 42.47 ล้านคน รหัสอินเทอร์เน็ต .es
การเดินทาง เวลาที่สเปนช้ากว่าไทย 5 ชม. นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าสเปนจะต้องขอรับการตรวจลงตราเข้าสเปน หรือขอรับการตรวจลงตราเชงเกนที่ สอท.สเปน/กรุงเทพฯ
ความสัมพันธ์ไทย-สเปน
สเปนเริ่มติดต่อกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 23 ก.พ.2413 และลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีการพาณิชย์และการเดินเรือ มีแผนปฏิบัติการร่วมครอบคลุมทุกสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่างกัน ด้านการเมือง สเปนต้องการเพิ่มการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระดับสูงกับไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ นโยบายการเข้าเมือง การต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ การปฏิรูปสหประชาชาติ การแก้ไขปัญหาความยากจนตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ด้านเศรษฐกิจ สเปนกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไทยในสาขาที่สเปนมีศักยภาพ ได้แก่ พลังงานทางเลือก การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมอุตสาหกรรม การเกษตร การผลิตไบโอดีเซล และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ด้านการทหาร ความร่วมมือทวิภาคีในด้านการฝึกอบรมทางทหาร ความช่วยเหลือพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ไทยให้ทันสมัย โดยเฉพาะกองทัพบก
ด้านการค้า เมื่อปี 2565 สเปนเป็นคู่ค้าอันดับ 40 ของไทยในตลาดโลก และอันดับ 6 ของไทยในตลาดกลุ่ม EU มีมูลค่าการค้า 56,792 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 30,180 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 26,612 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้า 3,567 ล้านบาท
สินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ
สินค้าหลักที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
ด้านการลงทุน เมื่อปี 2565 สเปนลงทุนในไทยผ่าน BOI จำนวน 2 โครงการ มูลค่ารวม 3,008 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวสเปนที่เดินทางมาไทยเมื่อปี 2565 มีจำนวน 87,400 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 3,514 คน
ข้อตกลงสำคัญ : ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ (6 ก.ย.2522) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (12 ธ.ค.2529) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (17 มี.ค.2530) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญาระหว่างไทย–สเปน (7 ธ.ค.2526) มีผลบังคับใช้เมื่อ 20 พ.ย.2530 ความตกลงด้านวัฒนธรรม (17 มี.ค.2530) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งกำลังบำรุงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทย–กระทรวงกลาโหมสเปน (18 ก.ค.2537) อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.ย.2541 แผนปฏิบัติการร่วมความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูต (7 ต.ค.2553) การลงนามในแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Plan of Action) ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2553-2558 เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สเปนในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน (7 ต.ค.2553)
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
ทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของสเปนยังไม่แน่นอน โดยหากจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ อาจต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกในห้วงปี 2567 ทั้งนี้ นรม.เปโดร ซานเชส ถูกวิจารณ์จากท่าทีที่ต้องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน (ซึ่งเผชิญข้อหากรณีการจัดทำประชามติสนับสนุนการแบ่งแยกแคว้นกาตาลุญญาเมื่อปี 2560) โดยแลกเปลี่ยนกับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแบ่งแยกดินแดน เพื่อหนุนให้นายเปโดร ซานเชส เป็น นรม.อีกสมัยและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ลุล่วง โดยปัจจุบัน สเปนยังตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จนับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อห้วง ก.ค.2566 อนึ่ง พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ผลักดันแนวทางการแยกเป็นเอกราชของดินแดนในสเปน เช่น พรรค Junts per Catalunya พรรค Republican Left of Catalonia ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการเป็นเอกราชของแคว้นกาตาลุญญา พรรค Basque nationalist parties พรรค EH Bildu ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการเป็นเอกราชของแคว้นบาสก์ พรรค Galician Nationalists Bloc ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนการเป็นเอกราชของแคว้นกาลิเซีย