เมืองหลวง กรุงอัมมาน
ที่ตั้ง ภูมิภาคตะวันออกกลาง ทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาระเบีย ระหว่างเส้นละติจูด 29 องศา 11 ลิปดา-33 องศา 22 ลิปดาเหนือกับลองจิจูด 34 องศา 59 ลิปดา-39 องศา 18 ลิปดาตะวันออก พื้นที่ 89,342 ตร.กม. (พื้นดิน 88,802 ตร.กม. น่านน้ำ 540 ตร.กม.) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 113 ของโลก และเล็กกว่าไทยประมาณ 5.7 เท่า อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 6,830 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับซีเรีย 379 กม.
ทิศใต้ ติดกับทะเลแดง 26 กม. และซาอุดีอาระเบีย
ทิศตะวันออก ติดกับซาอุดีอาระเบีย 731 กม. และอิรัก 179 กม.
ทิศตะวันตก ติดกับอิสราเอล 307 กม. ทะเลสาบ Dead Sea 50 กม.
เขตเวสต์แบงก์ (ปาเลสไตน์) 148 กม.
ภูมิประเทศ ทางตะวันออกส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย ทางตะวันตกเป็นที่ราบสูงและป่าเมดิเตอร์เรเนียน มีหุบเขา Great Rift กั้นระหว่างจอร์แดนกับเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์และอิสราเอล มีพื้นที่ต่ำสุดของโลก คือ ทะเลสาบ Dead Sea ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,378 ฟุต (408 ม.) จุดที่สูงที่สุดในประเทศ คือ ภูเขา Umm adDami สูง 1,854 ม. พื้นที่เพาะปลูก 11.4%
ภูมิอากาศ แบบผสมระหว่างเมดิเตอร์เรเนียนกับแห้งแล้งแบบเขตทะเลทราย โดยทางตอนเหนือและตะวันตกสภาพอากาศเป็นแบบเมดิเตอร์เรเนียน มี 2 ฤดู คือ ฤดูหนาว ช่วง พ.ย.-มี.ค. มีฝนตกและมีหิมะตก
ในอัมมาน อุณหภูมิเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส และฤดูร้อนในช่วงที่เหลือของปี อากาศร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส ภัยธรรมชาติที่เคยประสบ ได้แก่ ภัยแล้งและแผ่นดินไหว
ศาสนา อิสลาม (ส่วนใหญ่เป็นซุนนี) 97.2% คริสต์ 2.2% (ส่วนใหญ่นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์) อื่น ๆ (พุทธ ฮินดู ยูดาย และไม่มีศาสนา) 0.6%
ภาษา ภาษาราชการ คือ ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษใช้อย่างแพร่หลายในการติดต่อธุรกิจ ราชการ รวมทั้งในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูง
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 98.4% จำนวนปีเฉลี่ยของการเข้ารับการศึกษาของประชาชน คือ 13 ปี
วันชาติ 25 พ.ค. (วันได้รับเอกราชจากอาณัติของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2489)
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2
His Majesty King Abdullah Ibn al Hussein
(ประมุขของประเทศ)
ประชากร 11,086,716 คน (ต.ค.2566)
รายละเอียดประชากร เป็นชาวอาหรับ 97.4% (ชาวจอร์แดน 69.3% แรงงานและผู้อพยพชาวซีเรีย 13.3% ชาวปาเลสไตน์ 6.7% ชาวอียิปต์ 6.7% ชาวอิรัก 1.4%) และอื่น ๆ 2.6% (เซอร์คัสเซียนและอาร์เมเนียน) อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 31.42% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 64.53% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 4.05% อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 76.01 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 74.51 ปี และอายุขัยเฉลี่ยเพศหญิง 77.6 ปี อัตราการเกิด 22.37 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 3.47 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.79%
การก่อตั้งประเทศ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมาน (อุษมานียะฮ์) สหราชอาณาจักรซึ่งได้อาณัติในการปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง แบ่งเขตกึ่งปกครองตนเอง Transjordan ออกจากปาเลสไตน์ ต่อมาสหราชอาณาจักรร้องขอต่อสันนิบาตชาติเพื่อให้เอกราช Transjordan เมื่อปี 2489 และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นราชอาณาจักร “จอร์แดน” ตั้งแต่ปี 2493 โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 1 เป็นผู้ปกครองพระองค์แรก อนึ่ง ความพ่ายแพ้ในสงคราม 6 วันกับอิสราเอลเมื่อปี 2510 ส่งผลให้จอร์แดนต้องสูญเสียดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เขตเวสต์แบงก์) ให้อิสราเอล ก่อนที่จะประกาศสละการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวเป็นการถาวรตั้งแต่ปี 2531
การเมือง
ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจการปกครองแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ กษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ 7 ก.พ.2542 เจ้าชายฮุสเซน พระราชโอรสองค์โตทรงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 ก.ค.2552
ฝ่ายบริหาร : สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีอำนาจแต่งตั้ง นรม. และ นรม.แต่งตั้ง ครม. โดยผ่าน ความเห็นชอบของสมเด็จพระราชาธิบดี นรม.คนปัจจุบัน คือนาย Bisher Al-Khasawneh ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 12 ต.ค.2563
ฝ่ายนิติบัญญัติ : มี 2 สภาได้แก่ 1) วุฒิสภา (Majlis al-Ayan หรือ House of Notables) สมาชิก 65 คน แต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี มีวาระ 4 ปี 2) สภาผู้แทนราษฎร (Majlis al-Nuwaab หรือ House of Representatives) สมาชิก 130 คน วาระ 4 ปี โดยมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบสัดส่วน/บัญชีรายชื่อ 115 คน (ในจำนวนนี้มีโควตาที่สงวนไว้สำหรับชนกลุ่มน้อย 12 คน แบ่งเป็น ชาวคริสต์ 9 คน และผู้ที่มีเชื้อสายเชเชนหรือเซอร์แคสเซีย อีก 3 คน) ที่เหลือเป็นโควตาที่สงวนไว้สำหรับสตรี 15 คน การเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อ 10 พ.ย.2563 (กำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2567)
ฝ่ายตุลาการ : ระบบกฎหมายมีพื้นฐานจากหลักกฎหมายอิสลามและระบบกฎหมายแบบ Civil Law มีศาลฎีกาเป็นศาลสูงสุดของประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีทรงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ส่วนผู้พิพากษาคนอื่น ๆ มาจากการเสนอชื่อของสภาตุลาการสูงสุดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงพิจารณารับรอง นอกจากนี้ ยังมีศาลศาสนา และศาลพิเศษอื่น ๆ เช่น ศาลภาษี ศาลทหาร และศาลคดีความมั่นคง
พรรคการเมือง : แบ่งเป็น 5 ฝ่ายหลัก ได้แก่ ฝ่ายอิสลามนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม ชาตินิยมอาหรับ และสายกลาง พรรคการเมืองสำคัญ เช่น พรรค Islamic Action Front พรรค Islamic Centre Party พรรค National Current Party และพรรค Jordanian Arab Socialist Ba’ath Party นอกจากนี้
ยังมีกลุ่มพลังทางการเมืองที่สำคัญ เช่น 1) Anti-Normalization Committee 2) Jordan BarAssociation และ 3) Jordanian Press Association และ 4) Jordanian Muslim Brotherhood
เศรษฐกิจ แบบเสรีนิยม เศรษฐกิจมีขนาดเล็กที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ขาดแคลนน้ำ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ รายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคบริการและพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งความช่วยหลือจากต่างชาติ จอร์แดนเป็นประเทศที่จัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยจัดทำกับสหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป (EU) ตูนิเซีย แอลจีเรีย ลิเบีย อิรัก ตุรกี และซีเรีย ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและปรับปรุงภาคการเงินการธนาคาร เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน เงินเฟ้อ และขาดดุลงบประมาณ รวมถึงมีการทำข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แม้ว่าเศรษฐกิจจอร์แดนจะเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของCOVID-19 ด้วยการขยายตัวของภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่หนึ่งในความกังวลด้านเศรษฐกิจของจอร์แดนคืออัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนและสตรี รวมถึงผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาสูงขึ้น ขณะที่ประชากรของจอร์แดนมากกว่า 15.7% อาศัยอยู่ใต้เส้นความยากจน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าจอร์แดนจำเป็นต้องปฏิรูปทางการเงิน เนื่องจากจอร์แดนมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมให้พลเมืองในระดับสูง เช่น บริการทางการแพทย์ที่ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย การให้ทุนการศึกษา เป็นต้น เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อระบอบการปกครอง
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ดีนาร์จอร์แดน (Jordanian dinar:JOD)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 0.71 ดีนาร์จอร์แดน
อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 0.020 ดีนาร์จอร์แดน (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 48,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.7% (ปี 2566)
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 3,924 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
แรงงาน : 3,041,209 คน (ปี 2565)
อัตราการว่างงาน : 22.51% (ไตรมาสที่สองของปี 2566 )
อัตราเงินเฟ้อ : 0.9% (ก.ค.2566)
ผลผลิตทางการเกษตร : มะเขือเทศ สัตว์ปีก มะกอก นม มันฝรั่ง แตงกวา
ผลผลิตอุตสาหกรรม : การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ปุ๋ย โพแทซ เหมืองแร่ฟอสเฟต เวชภัณฑ์ ปิโตรเลียมกลั่น เคมีภัณฑ์ และการผลิตหลอดไฟ
ดุลการค้าระหว่างประเทศ : ขาดดุล 2,390 ล้านดีนาร์จอร์แดน (พ.ค.2566 สำนักงานสถิติจอร์แดน) หรือประมาณ 3,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 9,720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้าส่งออก : ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป คู่ค้าส่งออกที่สำคัญ : สหรัฐฯ 21.6% ซาอุดีอาระเบีย 11.8% อินเดีย 10.4% อิรัก 6.81% และจีน 5.76%
มูลค่าการนำเข้า : 19,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563)
สินค้านำเข้า : ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้า รองเท้า สินแร่โลหะ
คู่ค้านำเข้าที่สำคัญ : จีน 16.9% ซาอุดีอาระเบีย 12.4% สหรัฐฯ 7.02% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 6.73% และเยอรมนี 3.88%
คู่ค้าสำคัญ : สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย จีน และอินเดีย
ทรัพยากรธรรมชาติ : ฟอสเฟต โพแทซ น้ำมันจากหินดินดาน (shale oil)
การทหารและความมั่นคง
การทหาร : งบประมาณด้านการทหาร 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2566)
ยุทโธปกรณ์สำคัญ : รถหุ้มเกราะอย่างน้อย 1,900 คัน บ.โจมตี 57 เครื่อง ฮ.ประมาณ 75 เครื่อง เรือลาดตระเวน 9ลำ
กำลังพลรวม : ทหาร 100,500 นาย (ทบ. 86,000 นาย ทร. 500 นาย และ ทอ. 14,000 นาย) ตำรวจ (Gendarmerie) 15,000 นาย กำลังสำรอง 65,000 นาย โดยเป็นกำลังสำรอง ทบ. 60,000 นาย กำลังสำรองร่วม 5,000 นาย
ปัญหาด้านความมั่นคง
1) จอร์แดนแบกรับภาระผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง จากเหตุความไม่สงบภายในประเทศเพื่อนบ้าน ค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งมีอายุมากกว่า 10 ปี ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มากกว่า 2,300,000 คน (นับเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNRWA) ชาวซีเรียประมาณ 675,000 คน (นับเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNHCR) และผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น เช่น อิรัก และเยเมน ทำให้จอร์แดนที่มีทรัพยากรจำกัดและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ช้า
2) สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงมีความขัดแย้งภายใน อาจทำให้มีผู้อพยพและ ผู้ลี้ภัยเข้าไปยังจอร์แดนมากขึ้น
3) ข้อพิพาทการแบ่งเขตแดนกับอิสราเอลในหลายพื้นที่ เช่น ในทะเล เพื่อจัดสรรแหล่ง ก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่บริเวณแม่น้ำจอร์แดน ที่อยู่ระหว่างการเจรจา
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ABEDA, AFESD, AMF, CAEU, CD, CICA, EBRD, FAO, G-11, G-77, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt, ICRM, IDA, IDB, IFAD, IFC, IFRCS, ILO, IMF, IMO, IMSO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITSO, ITU, ITUC (NGOs), LAS, MIGA, MI-NUSTAH, MINUSMA, MONUSCO, NAM, OIC, OPCW, PCA, UN, UNAMID, UNCTAD, UNESCO, UNHCR, UNIDO, UNMIL, UNMISS, UNOCI, UNRWA, UNWTO, UPU, WCO, WFTU (NGOs), WHO, WIPO, WMO, WTO และเป็นคู่เจรจาของ OSCE
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก เนื่องจาก
ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ โดยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมวิทยาศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สนับสนุนให้บริษัทเอกชนเป็นหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการสร้างงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การขนส่งและโทรคมนาคม ท่าอากาศยาน 18 แห่ง ท่าอากาศยานสำคัญคือ ท่าอากาศยานนานาชาติ Queen Alia ที่อัมมาน และท่าอากาศยานนานาชาติ King Hussein ที่อะกาบา ท่าเรือ 1 แห่ง คือ ท่าเรือ
Al Aqaba ทางใต้ของประเทศ ถนน 7,499 กม. (ข้อมูลสำนักงานสถิติจอร์แดน ปี 2561) ทางรถไฟ 509 กม. โดยมีรถไฟ 1 สายเชื่อมตอนเหนือกับตอนใต้ของประเทศไปจนถึงซาอุดีอาระเบียและซีเรีย อีก 1 สายเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกกับตะวันตก มีนโยบายจะสร้างทางรถไฟต่อไปยังอิรักและอิสราเอล
การโทรคมนาคม มีโทรศัพท์พื้นฐานให้บริการประมาณ 391,489 เลขหมาย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 6.98 ล้าน
เลขหมาย (ปี 2563) รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +962 สื่อสารมวลชน โทรทัศน์และวิทยุอยู่ในการควบคุมของรัฐมี Jordan Radio and Television Corporation (JRTV) เป็นแม่ข่าย และมีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ซึ่งสามารถรับสัญญาณโทรทัศน์อิสราเอลและซีเรียได้ มีสถานีวิทยุประมาณ 30 สถานี จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 6.76 ล้านคน (ปี 2562) รหัสอินเทอร์เน็ต คือ .jo
การเดินทาง สายการบินของไทยไม่มีเที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-อัมมาน แต่มีสายการบินของจอร์แดนที่บินตรงมาไทย ได้แก่ สายการบิน Royal Jordanian มีเที่ยวบินตรงมาไทยทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน ระยะเวลาในการบิน 8 ชั่วโมง 45 นาที เวลาที่จอร์แดนช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าจอร์แดนต้องขอรับการตรวจลงตรา ใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการ เว็บไซต์ท่องเที่ยว www.visitjordan.com
ความสัมพันธ์ไทย-จอร์แดน :
ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยและจอร์แดนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 10 พ.ย.2509 จนกระทั่งในช่วงก่อนเกิดสงครามสหรัฐฯ อิรักเมื่อ มี.ค.2546 เจ้าหน้าที่ สอท.ไทย ณ แบกแดด ได้อพยพออกจากอิรัก และตั้งสำนักงานชั่วคราวในอัมมาน จอร์แดน ภายหลังไทยได้เปิด สอท. ณ กรุงอัมมาน เป็นการถาวรและมีภารกิจครอบคลุมอิรัก
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
เมื่อปี 2564 การค้าระหว่างไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 199.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,320.34 ล้านบาท) ไทยส่งออกไปจอร์แดน 177.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,595.78 ล้านบาท) และนำเข้าจากจอร์แดน 22.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (724.56 ล้านบาท) ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าจอร์แดน 154.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4,871.22 ล้านบาท) และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2565 การค้าไทย-จอร์แดน มีมูลค่า 219.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,460.82 ล้านบาท) ไทยส่งออก 184.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,274.92 ล้านบาท) และนำเข้า 34.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,185.91 ล้านบาท) ไทยได้เปรียบดุลการค้าจอร์แดน 150.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(5,089.01 ล้านบาท)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปจอร์แดน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2565 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และใบยาสูบ
สินค้าที่ไทยนำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และพืชสำหรับทำพันธุ์ และในช่วง ม.ค.-ก.ย.2565 ได้แก่ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ มีคนไทยในจอร์แดน 235 คน (ปี 2564)
ด้านการท่องเที่ยว ปี 2566 (ห้วง ม.ค.-ก.ย.) นักท่องเที่ยวจอร์แดนเดินทางมาไทย จำนวน 8,209 คน ขณะที่ ปี 2565 มีเพียง 3,341 คน เป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 4,868 คน ในห้วงเวลาเดียวกัน
ข้อตกลงสำคัญ : กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ลงนามเมื่อ 30 ก.ค.2547) บันทึกความเข้าใจด้านการบิน (24 ส.ค.2548) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (15 ธ.ค.2548) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรม (19 มิ.ย.2549)