สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
Federal Republic of Germany
เมืองหลวง กรุงเบอร์ลิน
ที่ตั้ง ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติดกับทะเลบอลติกและทะเลเหนือ พื้นที่ประมาณ 357,022 ตร.กม. ระยะทางจากเหนือสุดถึงใต้สุด 876 กม. ระยะทางจากตะวันตกสุดถึงตะวันออกสุด 640 กม.
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับเดนมาร์ก
ทิศใต้ ติดกับสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย
ทิศตะวันออก ติดกับสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์
ทิศตะวันตก ติดกับเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส
ภูมิประเทศ ภูมิประเทศมีความหลากหลาย มีแนวเขาสูงต่ำสลับกับที่ราบสูง ทะเลสาบ ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ตั้งแต่เหนือถึงใต้ แบ่งเป็น 5 เขตภูมิประเทศ ได้แก่ ที่ราบลุ่มตอนเหนือ เต็มไปด้วยเนินเขา ทุ่งหญ้า และท้องทุ่ง พุ่มไม้ปกคลุม พื้นที่อุดมสมบูรณ์ถึงแนวเทือกเขาตอนกลาง มีแนวอ่าวที่ราบต่ำ ชายฝั่งรัฐนีเดอร์ไรน์ เวสท์ฟาเลนและซัคเซนเธอริงเรนตอนเหนือและตอนใต้ แบ่งแยกด้วยแนวเทือกเขาตอนกลาง มีที่ราบลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนกลางกับที่ราบต่ำในรัฐเฮสเซน ตอนกลางมีแนวเขาฮาร์ซ แนวเขาไบริเชวัลด์ ฟิคเทล และแอร์ซ ป่าชวาซวัลด์ ซเปสซาร์ท และชเวบิเช แอลป์ เรียงรายตามชายที่ราบลุ่มของแม่น้ำไรน์ตอนบน ตอนใต้เต็มไปด้วยเนินเขาและทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ราบและพื้นที่เนินเขาในรัฐไบเอิร์นทางใต้ รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำดานูบ
ภูมิอากาศ อุณหภูมิหนาวเย็นปานกลาง ฝนตกทุกฤดูกาล ฤดูหนาวแถบที่ราบต่ำอุณหภูมิเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส และแถบเทือกเขา -6 องศาเซลเซียส
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 26 % คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ 23.7% อิสสาม 3.6% อื่น ๆ 4.8% ไม่นับถือศาสนา 41.9%
ภาษา ภาษาเยอรมันเป็นภาษาประจำชาติและภาษาราชการ ภาษาถิ่นหลายเผ่า อาทิ เผ่าฟรังค์ซวาเอเบีย ซัคเซิน และไบเอิร์น
การศึกษา อัตราการรู้หนังสือ 99% งบประมาณด้านการศึกษา 4.7% ของ GDP
วันชาติ 3 ต.ค.
นาย Olaf Scholz
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ประชากร 84,079,811 คน (ต.ค.2566)
รายละเอียดประชากร เยอรมัน 86.3% ตุรกี 1.8% โปแลนด์ 1% ซีเรีย 1% โรมาเนีย 1% และอื่น ๆ 8.9% อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 13.75% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 62.97% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 23.28% อัตราการเกิด 9.02 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 11.97 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากร 81.72 ปี เพศชาย 79.37 ปี เพศหญิง 84.2 ปี
การก่อตั้งประเทศ ยุคสงครามเย็น เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกแยกออกจากกัน แต่ช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น เกิดการปฏิวัติอย่างสันติและการทำลายกำแพงเบอร์ลินเมื่อ 9 พ.ย.2532 ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของโลกที่ยุติความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ของโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก และเป็นส่วนหนึ่งของการสิ้นสุดสงครามเย็น จนกระทั่งมีการรวมเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกเมื่อ 3 ต.ค.2533
การเมือง ปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ประกอบด้วย 13 รัฐและ 3 รัฐอิสระที่ปกครองด้วยรัฐสภาและรัฐบาลของตนเอง มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการสรรหาของสมัชชาแห่งสหพันธรัฐ วาระ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Frank-Walter Steinmeier (ดำรงตำแหน่งเมื่อ 19 มี.ค.2560) ระบบการปกครองมีพื้นฐานจากรัฐธรรมนูญปี 2492 หรือเรียกว่า Grundgesetz (กฎหมายหลัก)
ฝ่ายบริหาร : นรม. เป็นหัวหน้ารัฐบาลและมีอำนาจในการบริหาร ครม. แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีตามการเสนอของ นรม. ปัจจุบัน นรม. คือ นาย Olaf Scholz สังกัดพรรค Social Democratic Party (SPD) (เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 8 ธ.ค.2564)
ฝ่ายนิติบัญญัติ : ระบบ 2 สภา 1) สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) 709 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วาระ 4 ปี ประธานสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่แทน นรม. ในกรณีที่ นรม. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 2) สภามลรัฐหรือสภาสูง (Bundesrat) เป็นผู้แทนจาก 16 รัฐ 69 ที่นั่ง แต่ละรัฐมีสิทธิออกเสียงตามจำนวนประชากร
ฝ่ายตุลาการ : ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธรัฐ ตุลาการครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของสภาผู้แทนราษฎร อีกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งของสภามลรัฐ
พรรคการเมือง : พรรคการเมืองที่สำคัญ ได้แก่ 1) พรรค Social Democratic Party (SPD) มีนาง Saskia Esken และนาย Lars Klingbeil เป็นหัวหน้าพรรค 2) พรรค The Greens (หรือพรรค Alliance 90) มีนาง Ricarda Lang และนาย Omid Nouripour เป็นหัวหน้าพรรค 3) พรรค Free Democratic Party (FDP) มีนาย Christian Lindner เป็นหัวหน้าพรรค 4) กลุ่มพรรค Union ซึ่งประกอบด้วยพรรค Christian Democratic Union (CDU) มีนาย Friedrich Merz เป็นหัวหน้าพรรค และพรรค Christian Social Union of Bavaria (CSU) มีนาย Markus Soder เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรค CSU มีฐานะเป็นพรรค sister party ที่จะร่วมมือกับพรรค CDU เสมอ 5) พรรค Alternative for Germany (AfP) แนวคิดขวาจัด มีนาย Tino Chrupalla และนาง Alice Weidel เป็นหัวหน้าพรรค 6) พรรค The Left (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพรรค LINKE) มีนาง Janine Wissler และนาย Martin Schirdewan เป็นหัวหน้าพรรค
เศรษฐกิจ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ จีน และ ญี่ปุ่น) และอันดับ 1 ในยุโรป เยอรมนีมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เป็นฐานด้านอุตสาหกรรมของโลก อาทิ ยานยนต์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์
สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : ยูโร (Euro)
อัตราแลกเปลี่ยนต่อดอลลาร์สหรัฐ : 1 ยูโร : 1.06 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราแลกเปลี่ยนต่อบาท : 1 ยูโร : 38.43 บาท (ต.ค.2566)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ (ปี 2565)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 4,072,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 1.8%
รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี : 48,432 ดอลลาร์สหรัฐ
แรงงาน : 44.51 ล้านคน
อัตราการว่างงาน : 3.0%
อัตราเงินเฟ้อ : 6.9%
ดุลบัญชีเดินสะพัด : เกินดุล 172,723,853 ดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออก : 1,655,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ : เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และแผงวงจรไฟฟ้า
มูลค่าการนำเข้า : 1,571,455 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าสำคัญ : อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก๊อก วาล์วและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง คู่ค้าสำคัญ : เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส จีน เบลเยียม อิตาลี สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ
การทหาร มีกำลังพลประจำการรวม 183,150 นาย (แยกเป็น ทบ. 62,950 นาย ทร. 15,900 นาย ทอ. 27,200 นาย หน่วยสนับสนุนร่วม 27,900 นาย หน่วยร่วมบริการทางการแพทย์ 19,850 นาย ไซเบอร์ 14,250 นาย และอื่น ๆ 15,100 นาย) นอกจากนี้ ยังมี กกล.สำรอง 32,650 นาย (แยกเป็น ทบ. 7,600 นาย ทร. 1,450 นาย ทอ. 3,750 นาย หน่วยสนับสนุนร่วม 12,500 นาย หน่วยร่วมบริการทางการแพทย์ 4,000 นาย ไซเบอร์ 1,350 นาย และอื่น ๆ 2,000 นาย) ภารกิจหลัก คือ ปกป้องอธิปไตย ป้องกันการรุกรานจากภายนอกประเทศ ปฏิบัติภารกิจร่วมระหว่างประเทศ และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งช่วยเหลือตำรวจกรณีเกิดความไม่สงบภายใน งบประมาณทางการทหาร 1.39% ของ GDP
สถานการณ์ด้านความมั่นคง
1) กระแสขวาจัดที่ขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้น ความนิยมของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Deutschland: AfD) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดในเยอรมนี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจความคิดเห็นระบุว่าคะแนนนิยมต่อพรรค AfD ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 เนื่องจากแนวทางของพรรคฯ ในการโจมตีนโยบายรับผู้อพยพของรัฐบาลปัจจุบันอย่างรุนแรง ต่อต้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเรียกร้องการยุติส่งอาวุธให้ยูเครน นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจที่เข้าสู่สภาวะถดถอยของเยอรมนีมีแนวโน้มส่งเสริมความนิยมของพรรค AfD ให้เพิ่มขึ้นในอนาคต และอาจนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกของประเทศในการเลือกตั้งห้วงปี 2567 ซึ่งสร้างความกังวลต่อบรรดาผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันที่ต้องเตรียมตัวสู้ศึกแข่งขันสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2568 ทั้งนี้ กระแสนิยมของฝ่ายขวาที่เพิ่มขึ้นในเยอรมนี ส่งผลให้มีความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงจากความเกลียดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิม
2) เยอรมนีต้องการคงรักษาบทบาทและขยายความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเอเชีย ตอ.ต. ต่อไปในปี 2567 จากปัจจัยผลักดัน อาทิ สภาพแวดล้อมภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังรัสเซียรุกรานยูเครน การตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ตอ.ต. รวมถึงการเฝ้าระวังอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประเด็นห่วงกังวลของเยอรมนีต่อเอเชีย ตอ.ต. ที่เกี่ยวเนื่องกับจีน อาทิ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ (ประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศของเยอรมนีอาศัยเส้นทางการเดินเรือผ่านทะเลจีนใต้) ช่องแคบไต้หวัน การละเมิดหลักกฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน เสรีภาพปัจเจกบุคคล เป็นต้น โดยมิติด้านความมั่นคง เยอรมนีต้องการคงบทบาทร่วมในการจัดการความมั่นคงในภูมิภาค จึงมีแนวโน้มจะสนับสนุนการส่งกองกำลังเข้ามายังภูมิภาคต่อไป เพื่อกระชับความสัมพันธ์ความมั่นคงกับภูมิภาค และเพื่อตรวจสอบอิทธิพลของจีนไปพร้อมกัน มิติความสัมพันธ์เศรษฐกิจ เยอรมนีผลักดันการขยายความร่วมมือกับเอเชีย ตอ.ต. ตามศักยภาพของแต่ละประเทศ อาทิ เยอรมนีมองว่าสิงคโปร์เป็นเสมือนประตูสู่เอเชีย ตอ.ต. และมองว่าเวียดนามเป็นแหล่งทางเลือกในการเป็นศูนย์ภาคการผลิต เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูงสุดประเทศหนึ่งในเอเชีย ตอ.ต.
3) เยอรมนีเผยแพร่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ มิ.ย.66 ใช้ชื่อว่า “Robust Resilient Sustainable Integrated Security for Germany, National Security Strategy” มุ่งเน้นการรับมือกับระเบียบโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกับพันธมิตรเนโตและสหภาพยุโรป (EU) ทั้งนี้ เยอรมนีตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของระเบียบระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ 1) รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงของยุโรป 2) ระเบียบโลกเคลื่อนสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ และ 3) การปรากฏของพฤติกรรมบางรัฐที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกปัจจุบัน (Revisionist state) ซึ่งอาจมีนัยพาดพิงถึงจีน การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกดังกล่าวส่งผลให้เยอรมนีต้องการคงไว้ซึ่งค่านิยม เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ ระเบียบโลกภายใต้กฎระเบียบและการค้าเสรี โดยรัฐบาลเยอรมนีจะใช้แนวทางเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านการสร้างความมั่นคงแบบบูรณาการ
ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี
สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 7 ก.พ.2405 โดยการทำสนธิสัญญาทางไมตรีการค้าและการเดินเรือระหว่างกัน ไทยมีสถานกงสุลใหญ่ในเยอรมนี 1 แห่ง ที่นครแฟรงค์เฟิร์ต และมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในเยอรมนี 4 แห่ง คือ ที่นครมิวนิก ฮัมบูร์ก ดึสเซลดอร์ฟ และชตุทท์การ์ท ขณะที่เยอรมนีมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในไทย 3 แห่ง คือ ที่เชียงใหม่ ภูเก็ต และเมืองพัทยา ทั้งนี้ การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เยอรมนี ครบรอบ 160 ปี เมื่อ 7 ก.พ.2565 ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-เยอรมนีดำเนินไปด้วยความราบรื่น มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ โดยทั้งสองฝ่ายต้องการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่เยอรมนีเชี่ยวชาญ อาทิ พลังงานทดแทน การเกษตร เทคโนโลยีการรับมือกับภัยพิบัติ
ด้านการค้า : เมื่อปี 2565 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทยในตลาดโลก และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป มูลค่าการค้ารวม 378,208.93 ล้านบาท ไทยส่งออกมูลค่า 165,863.85 ล้านบาท ไทยนำเข้ามูลค่า 212,345.08 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้า 46,481239 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ก๊อก วาวล์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เลนซ์ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
สินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์นั่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ
ด้านการลงทุน : เมื่อปี 2565 เยอรมนีลงทุนในไทยผ่าน BOI จำนวน 24 โครงการ รวมมูลค่า 3,795 ล้านบาท
ด้านการท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวเยอรมนีที่เดินทางมาไทยเมื่อปี 2565 มีจำนวน 365,030 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 45,874 คน
ข้อตกลงสำคัญ : สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน (24 มิ.ย.2545) ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (5 มี.ค.2505) อนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน (10 ก.ค.2510) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (17 ก.พ.2513) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม (24 มี.ค.2526) สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (26 พ.ค.2536) ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางทะเล (31 ก.ค.2544) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ (31 มี.ค.2546) ความตกลงว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่น (7 พ.ค.2546) ความตกลงด้านการเงินเพื่อเป็นกรอบความตกลงสำหรับการให้กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร Kreditanstalt fuer Wiederaufbau (KfW) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (30 ก.ย.2548) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ความร่วมมือแก่ประเทศที่สาม (5 มิ.ย.2551) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในสาขาการบริหารจัดการภัยพิบัติ (20 ก.ย.2555) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทย-เยอรมนี ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (16 พ.ค.2556) แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงค์ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration ofIntent on the Further Development of the Cooperation in the Field of Railways) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (23 พ.ย.2559) ปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนง (Joint Declaration of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยกับกระทรวงอาหารและเกษตรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเรื่องการส่งเสริมด้านการเกษตร (26 ส.ค.2563)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีต นรม.เยือนเยอรมนีเมื่อห้วง 27-28 พ.ย.2561 โดยได้เข้าพบ นางอังเกลา แมร์เคล นรม.เยอรมนีสมัยนั้น ประเด็นที่มีการหารือ อาทิ การพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรม 4.0 ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ SMEs และการอาชีวศึกษา
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม :
เยอรมนีเผชิญแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า จากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ เช่น ราคาพลังงานและต้นทุนภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ระบบราชการล้าหลัง ธุรกิจขนาดกลางและเล็กต้องจ่ายภาษีที่สูงเกินไป สังคมผู้สูงอายุและปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ เช่น ความผันผวนของการค้าโลก ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงมาตรการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อลดลง จะยิ่งกระทบต่อภาคธุรกิจของยุโรปและเยอรมนี โดยรัฐบาลเยอรมนีพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น 1) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ซึ่งต้องใช้การลงทุนสูงและระยะเวลาพัฒนา 2) การคงนโยบายรับผู้อพยพ (กลุ่มแรงงานทักษะสูง) เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ